Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

อุปกรณ์ไล่สุนัข

ปัญหาสุนัขฉี่ใส่ล้อรถ หรือแมวมารดน้ำต้นไม้ให้ แต่ต้นไม้เหี่ยวลงทุกวันจะหมดไปด้วยอุปกรณ์ไล่สุนัขและแมว คอยปกป้องพื้นที่จากเจ้าสี่ขา หลายคนมีวิธีจัดการหรือป้องกันอาณาเขตหวงห้ามให้ปลอดภัยจากฉี่ ของเจ้าสี่ขา (หมา) ที่แตกต่างกันไป

บ้างก็โรยพริกไทไว้บริเวณสวนเพาะปลูกกันเจ้าเหมียวมาฉี่ใส่ต้นไม้ แน่นอนว่าต้องโรยกันแทบทุกวัน ส่วนคนรักรถก็ใช้ขวดน้ำวางล้อมรอบรถยนต์คันโปรดไม่ให้สุนัขมาฉี่ใส่ล้อรถ เมื่อจอดรถก็เอามาวาง แต่พอต้องการใช้รถก็ต้องมาเก็บออก ซึ่งดูแล้วไม่สะดวกสักเท่าไหร่ เหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเลยทีเดียว

แต่จะดีกว่ามั้ยหากมีอุปกรณ์ที่สามารถสอดส่อง เป็นหูเป็นตาแทนคุณ และแถมยังติดตั้งง่าย สะดวก รวดเร็ว เพียงคุณนำไปวางในพื้นที่ที่คุณต้องการปกป้อง ซึ่งเจ้าอุปกรณ์นี้มีระยะทำการที่หวังผลได้ประมาณ 15 ถึง 20 ฟุต ซึ่งก็ไกลเพียงพอสำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก

รูปแบบการทำงาน
เห็นชื่อโครงงานแล้วอย่าเพิ่งคิดว่าเราจะใช้เสียงไล่ให้รำคาญหูคนอื่น หรือสร้างความทรมานให้กับเจ้าสี่ขานะครับ เพราะผู้เขียนก็เป็นอีกคนที่รักในความขี้อ้อนของพวกมัน แต่มันก็ต้องมีพื้นที่หวงห้ามกันบ้างเป็นธรรมดา การขับไล่นี้เราใช้วิธีละมุนละม่อมด้วยการฉีดน้ำไล่ โดยอาศัย ZX-PIR เป็นตัวตรวจจับความเคลื่อนไหวของเจ้าสี่ขา เมื่อ ZX-PIR ตรวจพบความเคลื่อนไหวที่เข้ามาในบริเวณหวงห้าม ZX-PIR จะส่งกระแสไฟฟ้าไปจ่ายให้กับรีเลย์เพื่อเปิดปั้มน้ำให้ทำงานนั่นเอง และที่สำคัญไม่ต้องเขียนโปรแกรม โครงงานนี้จึงเหมาะสำหรับทุกคน โดยไม่ต้องมีความรู้อิเล็กทรอนิกส์มากมายนัก มีเพียงความสามารถในการบัดกรีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็กน้อยก็พอแล้วครับ

การทำงานของวงจร
จากรูปที่ 1 เป็นวงจรขับขดลวดรีเลย์อย่างง่ายที่รับการสั่งงานจากขา OUT ของ ZX-PIR การทำงานเริ่มจากเมื่อจ่ายไฟเข้าวงจร ZX-PIR จะเริ่มตรวจจับความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต เมื่อตรวจพบความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต ZX-PIR จะส่งแรงดัน +5V ออกทางขา OUT เพื่อไบอัสให้กับ Q1 ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลลงกราวด์รีเลย์ต่อหน้าสัมผัส C และ NO ส่งผลให้ปั้มน้ำ ทำงาน

สำหรับหลักการทำงานของวงจรก็มีเพียงเท่านี้ ต่อไปก็มาถึงการจัดวางอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์

การติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์
เนื่องจากโครงงานนี้ใช้อุปกรณ์ไม่มากจึงไม่ต้องทำแผ่นวงจรพิมพ์ใหม่ให้เสียเวลา ในที่นี้ใช้แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์รุ่น uPCB01F (ดูรายละเอียดได้จากหน้า TPE Shop) โดยนำอุปกรณ์ตามรายการมาจัดวางดังรูปที่ 2.1 และเชื่อมต่อจุดต่างๆ ด้านล่างให้ถึงกันดังรูปที่ 2.2

เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์แล้วให้นำอะแดปเตอร์ไฟตรง +5V มาถอดเอาเฉพาะวงจรแล้วจั้มสายไฟออกดังรูปที่ 3.3 นำไปต่อเข้ากับเทอร์มินอลบล็อกที่จุด Vin ของแผงวงจรหลัก พักส่วนของวงจรไว้แค่นี้ก่อนต่อไปก็เป็นงานฝีมือสร้างกล่องบรรจุให้โครงงานกัน

การสร้างกล่องบรรจุโครงงาน
สำหรับกล่องบรรจุนี้ออกแบบให้สามารถปรับมุมก้มเงยได้ดังรูปที่ 4 (รูปที่ 4 จะใช้อ้างอิงตลอดการสร้างกล่อง) โดยวัสดุที่ใช้สร้างตัวต้นแบบก็คือ พลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 จำนวน 2 แผ่น นำมาตัดให้ได้ขนาดและจำนวนดังรูปวาดที่ 5 แล้วเริ่มสร้างตามขั้นตอนต่อไปนี้

 

 

(1) ประกอบเป็นกล่องสำหรับติดตั้งวงจรโดยใช้ชิ้นส่วน A, B, D และ E ประกอบกันให้ได้ลักษณะดังรูปที่ 4 ด้วยกาวร้อน จะได้โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นช่อง 2 ชั้นดังรูปที่ 6 ชั้นล่างสำหรับติดตั้งท่อ PVC 4 หุน ( 1/2 นิ้ว ) ชั้นบนสำหรับติดตั้งแผงวงจร

(2) ใช้ปืนเป่าลมร้อนเป่าปลายท่อ PVC ให้อ่อนตัวลง จากนั้นบีบให้ได้รูปทรงดังรูปที่ 7 ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อให้น้ำที่ฉีดออกมาเป็นมุมกว้างและกระจายตัวเป็นฝอย

(3) นำพลาสวูดแผ่น F มาเจาะเป็นช่อง 2 ช่องดังรูปที่ 8.1 โดยช่องบนสำหรับติดตั้ง ZX-PIR ช่องล่างสำหรับติดตั้งท่อ PVC ที่เราพับปลายไว้จากขั้นตอนที่ 2 จากนั้นนำมาติดเป็นด้านหน้ากล่องด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 8.3

(4) ติดตั้ง ZX-PIR ด้วยปืนยิงกาวให้ส่วนโดมยื่นออกมาดังรูปที่ 9.1 และติดตั้งแผงวงจรดังรูป 9.3 จากนั้นเชื่อมต่อสายจากจุดต่อ IDC 3 ขา ของแผงวงจรหลักเข้ากับ ZX-PIR ระวังต่อผิดขั้วนะครับ

(5) เจาะรูพลาสวูดแผ่น G ให้มีขนาดเท่ากับท่อ PVC ที่เตรียมไว้ดังรูปที่ 10.1 และสอดท่อเข้าไปดังรูปที่ 10.2 จากนั้นประกบแผ่น G เข้าไปด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 10.3

(6) เชื่อมต่อวงจรด้านในโดยอ้างอิงจากรูปวงจรที่ 1 ให้มีจุดต่อยื่นออกมาด้านนอกเพียง 2 จุดคือ จุดต่อไฟเข้า 220Vac และจุดต่อปั้มน้ำดังรูปที่ 11.2

(7) นำพลาสวูดแผ่น H มาเป่าด้วยปืนเป่าลมร้อนที่กึ่งกลางของแผ่นจนพลาสวูดเริ่มอ่อนตัวแล้วพับให้เข้ากับขอบของภาชนะที่เราจะนำมาใส่น้ำเพื่อเอาไว้ไล่เจ้าสี่ขาดังรูปที่ 12

(8) เจาะรูขนาด 3 มม. สำหรับเป็นจุดหมุนให้กับแผ่นพลาสวูด i, J, K, L จากนั้นตัดชิ้น k และ L ให้โค้งรับกับแผ่น H ดังรูปที่ 13.1 จับคู่โดยการนำแผ่น i และ K ร้อยเข้าด้วยกันด้วยสกรูขนาด 3×15 มม. ดังรูปที่ 13.2 จะได้ส่วนขาของกล่อง 2 ขาที่สามารถปรับมุมก้มเงยได้ตามต้องการ

(9) นำขาในส่วนของ K และ L ประกบเข้ากับส่วนโค้งของแผ่น H ด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 14.1 ส่วนด้านของแผ่น i และ J ให้ยึดเข้ากับด้านล่างของกล่องดังรูปที่ 14.2

(10) นำชิ้นงานที่ประกอบเสร็จแล้วไปติดตั้งกับขอบของภาชนะดังรูปที่ 15.1 แล้วติดตั้งปั้มน้ำพร้อมสายยางดังรูปที่ 15.2

(11) เชื่อมต่อสายไฟด้านหลังให้เรียบร้อยและใช้เทปกาวพันระหว่างท่อ PVC และสายยางให้แน่น เพื่อกันน้ำรั่วออกมาดังรูปที่ 16.1 จากนั้นเติมน้ำให้ท่วมปั้มแล้วนำไปวางในบริเวณที่ต้องการปกป้องเพื่อทำการทดสอบ

การทดสอบและปรับแต่ง
เริ่มด้วยการจ่ายไฟ 220Vac เข้าวงจร แล้วเริ่มทดสอบการทำงานโดยการเดินผ่านในระยะหวังผลหากใช้กับสวนขนาดเล็กก็ประมาณ 5 เมตร ปั้มน้ำจะต้องทำการฉีดน้ำ หากวงจรทำงานได้ในระยะใกล้เพียง 2 ถึง 3 เมตร ให้สลับจั้มเปอร์ที่ตัว ZX-PIR มาทางฝั่ง L จะทำให้ ZX-PIR ตรวจจับได้ไวขึ้น

หากปั้มน้ำทำงานบ่อยมาก ทั้งที่ไม่มีความเคลื่อนไหวตัดผ่าน อาจเป็นเพราะ ZX-PIR ถูกรบกวนจากอินฟราเรดของดวงอาทิตย์ ควรใช้ท่อ PVC ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ตัดให้ได้ความยาวประมาณ 2 นิ้ว นำมาครอบโดมของ ZX-PIR เอาไว้ เพื่อลดการรบกวนของแสงภายนอก จะช่วยให้การทำงานแม่นยำขึ้น

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็นำพลาสวูดแผ่น C มาปิดด้านบนก็เป็นอันเสร็จสิ้นการสร้างพร้อมนำไปใช้งานจริง

การประยุกต์ใช้งานอื่นๆ
(1)ประยุกต์ให้เคลื่อนย้ายได้
หากต้องการเคลื่อนย้ายวางที่ใดก็ได้ตามต้องการนั้น ทำได้โดยใช้ปั้มน้ำ ไฟตรงขนาด 12 โวลต์ สำหรับฉีดน้ำล้างกระจกรถยนต์ ส่วนภาคจ่ายไฟสำหรับวงจรก็สามารถใช้กะบะถ่าน AA 4 ก้อนจ่ายเข้าจุดต่อ Vin ได้โดยตรงเลย ส่วนแหล่งจ่ายไฟสำหรับปั้มน้ำแนะนำให้ใช้แบตเตอรี่ 12V สำหรับรถจักรยานยนต์

(2)ประยุกต์ใช้กับวาล์วไฟฟ้า
การใช้กับวาล์วไฟฟ้าหรือโซลินอยด์วาล์ว เพียงคุณเปลี่ยนจากการใช้รีเลย์ผ่านไฟให้กับปั้มน้ำ มาเป็นวาล์วไฟฟ้าแทน แต่ต้องดูเรื่องแรงดันไฟฟ้าที่ขดลวดของวาล์วต้องการให้ดี ซึ่งมีข้อดีคือ คุณไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะหมดหรือไม่ เพราะสามารถต่อกับท่อน้ำปะปาที่บ้านได้เลย เหมาะสำหรับการติดตั้งแบบถาวร

(3)ประยุกต์เป็นไฟอ่านหนังสือและไฟทาง
นำสายปลั๊กสำเร็จรูปที่ปลายด้านหนึ่งเป็นปลั๊กและอีกปลายเป็นสายเปลือยต่อเข้ากับจุดต่อ 220V ที่ด้านหลังกล่อง แล้วนำโคมไฟตั้งโต๊ะต่อเข้ากับจุดต่อปั้มน้ำ คุณก็จะได้ไฟอ่านหนังสือและไฟนำทาง เมื่อคุณลุกขึ้นจากเตียงไฟก็จะติดสว่างทันที

พอหอมปากหอมคอกับโครงงานง่ายๆ ที่เราสามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย ลองประดิษฐ์ไว้ใช้ดูนะครับ ใครจะนำไปใช้งานอะไรก็สุดแท้แต่จินตนาการ แต่ที่สำคัญอย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

รายการอุปกรณ์
– โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR
– ทรานซิสเตอร์ 2N3904
– ไดโอด 1N4001
– รีเลย์ 5V 1A
– ตัวต้านทาน 1kW 1/4W 5% หรือ 1%
– เทอร์มินอลบล็อก DT-26 2 ขา 2 ตัว
– คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมีย 3 ขา
– สาย IDC1MF จำนวน 3 เส้น
– แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ uPCB01F
– ปั้มน้ำ 220Vac
– แผ่นพลาสวูด หนา 5 มม. ขนาด A4 จำนวน 2 แผ่น
– ท่อ PVC 4 หุน ( 1/2 นิ้ว ) 1 ฟุต
– สายยางสำหรับต่อปั้มน้ำกับท่อ PVC
กาวร้อน (สั่งซื้อคลิก)
หมายเหตุ : ZX-PIR, แผ่นพลาสวูด ขนาด A4 หนา 5 มม., แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ uPCB01F และ สาย IDC1MF สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.inex.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Car Watchdog

“สุนัขเฝ้ารถ” สิ่งประดิษฐ์ประเภทรักษาความปลอดภัยที่จะคอยเฝ้าระวังรถยนต์ของคุณ ยามที่ต้องจอดในที่ลับตาคน โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนสุนัขเฝ้ารถและจะโทรหาคุณทันทีที่มีผู้บุกรุกมาเยือนพร้อมส่งเสียงเตือนหัวขโมยว่าเจ้าของรถรู้แล้ว

ในยุคสมัยข้าวยากหมากก็แพง แต่จะแพงยังไงรถใหม่ป้ายแดงก็วิ่งกันให้เกลื่อนท้องถนน ยิ่งเป็นรถยนต์คันแรกด้วยแล้ว ความกังวลใจที่ต้องจอดไกลหูไกลตาก็มากขึ้นเป็นทวีคูณ ผู้อ่านหลายท่านคงมีประสบการณ์แบบนี้เป็นแน่ แต่ครั้นจะนำไปติดตั้งสัญญาณกันขโมย ก็ได้แค่ส่งเสียงเรียกร้องความสนใจจากผู้คนที่เดินผ่านไปมา บางคันปรับแต่งไม่ดี แค่มีรถบรรทุกวิ่งผ่านสัญญาณก็ดังเสียแล้ว จนคนที่เดินผ่านไปมาเริ่มชาชินและไม่สนใจกับเสียงเตือนภัยแบบนี้ (รวมทั้งผมด้วย) ที่สำคัญเจ้าหัวขโมยสมัยนี้รู้เรื่องระบบไฟฟ้าของรถยนต์เป็นอย่างดีว่า จะต้องตัดวงจรที่จุดใดก่อนจะสะเดาะกุญแจเข้ามาในตัวรถ

ดังนั้นสิ่งประดิษฐ์เครื่องนี้จึงถูกออกแบบให้ทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องติดตั้งเข้ากับระบบของรถยนต์ โดยติดตั้งชุดอุปกรณ์ไว้ในถังขยะ ขนาดเล็ก เพียงนำถังขยะตั้งไว้บริเวณที่นั่งด้านหน้าคู่กับตำแหน่งคนขับ เมื่อมีผู้บุกรุกเข้ามาในรถของเรา มันก็จะทำการกดโทรศัพท์เข้ามายังเครื่องของเจ้าของรถทันทีพร้อมกับส่งเสียงพูดเตือนผู้บุกรุกที่กำลังพยายามสตาร์ต รถให้ทราบว่าเจ้าของรถรู้แล้ว ถึงแม้เจ้าหัวขโมยจะไม่สนใจกับเสียงเตือนแต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่า ขณะนี้กำลังเกิดความผิดปกติในรถยนต์ของเรา

ต่อไปมาดูการทำงานของวงจรและอุปกรณ์ที่ต้องใช้กันก่อนดีกว่าครับ รับรองว่า งบไม่บานปลายแน่นอน

การทำงานของวงจร

จากรูปวงจรที่ 1 โมดูล POP-MCU ควบคุมการทำงานของระบบร่วม กับโมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR , ออปโต้คัปเปลอร์เบอร์ PC817 และรีเลย์ 5Vdc โดยเริ่มจากโมดูล POP-MCU รอรับสัญญาณการตรวจพบผู้บุกรุกจากโมดูล ZX-PIR ที่ขา Di2 ว่ามีค่าเป็น HIGH หรือไม่ เมื่อมีค่าเป็น HIGH ให้ส่งค่าควบคุมเป็นจังหวะ(ดูตามโค้ดโปรแกรมที่ 1) ให้กับ IC2 ซึ่งเป็นออปโต้คัปเปลอร์ที่ขา Di3 เพื่อตัดต่อหน้าสัมผัสของสวิตช์ สมอลทอร์ก ตามด้วยการสั่ง HIGH ออกทางขา Di4 ให้กับ Q1 เพื่อขับรีเลย์ให้ต่อหน้าสัมผัสจ่ายไฟแก่เครื่องเล่น MP3 เล่นไฟล์เสียงใน SD การ์ดและจากนั้นระบบจะทำงานวนซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่า ZX-PIR จะไม่พบความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตใดๆ หรือมีการปิดสวิตช์

การติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์

เนื่องจากวงจรนี้ใช้อุปกรณ์ไม่กี่ชิ้นจึงขอแนะนำให้บัดกรีติดตั้งอุปกรณ์ลงบนแผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ได้เลย โดยแผ่นวงจรพิมพ์ อเนกประสงค์สำหรับงานนี้เลือกใช้แบบ uPCB01A จากนั้นติดตั้งอุปกรณ์ดังรูปที่ 2 โดยจุดติดตั้งโมดูล POP-MCU ใช้คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมียแถวเดี่ยว 12 ขา จำนวน 2 ชุด ทำเป็นซ็อกเก็ต, คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมียแถวเดี่ยว 3 ขาเป็นจุดเชื่อมต่อสายดาวน์โหลด, IDC ตัวผู้แถวเดี่ยว 3 ขาสำหรับเชื่อมต่อ ZX-PIR, IDC ตัวผู้แถวเดี่ยว 2 ขา 2 ชุด สำหรับต่อกับสายสมอลทอร์กและเครื่องเล่น MP3 ตามลำดับ ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ก็บัดกรีติดตั้งตามรูปที่ 2 ได้เลย

จากนั้นทำการเชื่อมต่อลายวงจรด้านล่างแผ่นวงจรพิมพ์เข้าด้วยกันโดยใช้สายไฟขนาดเล็กตามแบบในรูปที่ 3

การจัดเตรียมอุปกรณ์และขั้นตอนการสร้าง

(1) แกะฝาครอบสวิตช์ของสายสมอลทอร์กออกมา จะเห็นแผงวงจรขนาดเล็กจากนั้นนำสายไฟเส้นเล็กๆ บัดกรีกับขั้วของสวิตช์ดังรูปที่ 4.1 จากนั้นนำสาย IDC ตัวเมียที่แถมมากับโมดูล ZX-PIR มาตัดครึ่งและบัดกรีกับปลายอีกด้านหนึ่งของสายไฟเส้นเล็ก จะได้สายสำหรับต่อกับขั้ว A และ B บนแผ่นวงจรพิมพ์ดังรูปที่ 4.2

(2) แกะเครื่องเล่น MP3 ดังรูปที่ 5 เอาแต่แผงวงจรและลำโพง ส่วนแบตเตอรี่เอาออกเพราะเราจะใช้ไฟเลี้ยงร่วมกับแผงวงจรหลัก เพราะหากใช้ไฟเลี้ยงแยกเราจะต้องคอยประจุแบตเตอรี่ให้กับเครื่องเล่น MP3 แยกต่างหากทำให้ไม่สะดวกในการใช้งานจริง

(3) นำสาย IDC ตัวเมียที่แถมจาก โมดูล ZX-PIR ตัดครึ่งและบัดกรีเข้ากับจุดต่อไฟเลี้ยงของเครื่องเล่น MP3 แล้วเสียบเข้ากับแผงวงจรในตำแหน่ง C เข้ากับขั้วบวก และ D เข้ากับขั้วลบของเครื่องเล่น MP3 แล้วเสียบสายโมดูล ZX-PIR เข้ากับแผงวงจรหลักในตำแหน่ง ZX-PIR สุดท้ายขาดไม่ได้คือแหล่งจ่ายไฟ +9V ในต่อในตำแหน่ง Vin (ห้ามต่อผิดขั้ว) จะได้ชุด Car Watchdog พร้อมเขียนโปรแกรมทดสอบ ดังรูปที่ 6

(4) ก่อนไปถึงขั้นตอนการเขียนโปรแกรม ต้องมาทำตัวเชื่อมต่อสายดาวน์โหลดของ UCON-4 เฉพาะกิจสำหรับแผงวงจรสุดพิเศษนี้กันก่อนครับ โดยการนำคอนเน็กเตอร์ RJ-11 มาเชื่อมต่อสายเข้ากับคอนเน็กเตอร์ IDC ตัวผู้แถวเดี่ยว 3 ขา ดังรูปที่ 7.1 จากนั้นใช้ท่อหดหุ่มปลายสายให้เรียบร้อยจะได้ตัวเชื่อมต่อสายดาวน์โหลดดังรูปที่ 7.2

เขียนและอัปโหลดโปรแกรม

ขออนุญาตข้ามขั้นตอนการติดตั้งและการตั้งค่าซอฟต์แวร์ Arduino โดยเปิดโปรแกรม Arduino ขึ้นมาแล้วพิมพ์ชุดคำสั่งต่อไปนี้และเชื่อมต่อสาย UCON-4 เข้ากับคอนเน็กเตอร์ที่สร้างขึ้นจากขั้นตอนที่ 4 แล้วจึง อัปโหลดโปรแกรมลงตัว POP-MCU แต่หากท่านใดที่เป็นมือใหม่และยังไม่เข้าใจการปรับแต่งก็สามารถดูรายละเอียดได้ในบทความเครื่องให้อาหารแมวอัตโนมัติ

———————————————————————-

#define phone 3
#define mp3 4
int val = 0;
void setup()
{
pinMode(phone, OUTPUT);
pinMode(mp3, OUTPUT);
}

void loop()
{
val = digitalRead(PIN2);
if (val == HIGH)// PIR Detected
{
phonecall();
mp3play();
}
}

void phonecall()
{
digitalWrite(phone,HIGH); // show last number
delay(1000);
digitalWrite(phone,LOW);
delay(2000);
digitalWrite(phone,HIGH); // call
delay(1000);
digitalWrite(phone,LOW);
delay(1000);
digitalWrite(phone,LOW); //delay 15sec.
delay(15000);
digitalWrite(phone,HIGH); // end call
delay(1000);
digitalWrite(phone,LOW);
delay(1000);
}

void mp3play()
{
digitalWrite(mp3,HIGH);// mp3 power on 15sec.
delay(15000);
digitalWrite(mp3,LOW); // mp3 power off
delay(1000);
}

———————————————————————-
โปรแกรมที่ 1 โปรแกรมควบคุมการทำงานของ Car Watchdog
———————————————————————-

การติดตั้งอุปกรณ์ลงถังขยะ
นี่คือขั้นตอนการนำอุปกรณ์ติดตั้งลงถังขยะนะครับ ไม่ใช่เอาไปทิ้งถังขยะ ท่านผู้อ่านสามารถทำวิธีอื่นก็ได้ตามที่เห็นสมควร เนื่องจากขนาดและรูปทรงของถังขยะอาจแตกต่างไปจากตัวต้นแบบได้

(1) เริ่มจากนำถังขยะทรงกลมแบบมีฝาเปิดปิดขนาดพอเหมาะสำหรับใส่ในรถยนต์ดังรูปที่ 8.1 มาทำการถอดส่วนยางด้านล่างดังรูปที่ 8.2 (ผู้ผลิตถังขยะคงตั้งใจทำไว้ถ่วงน้ำหนัก)

(2) เจาะรูด้านหน้าสำหรับติดตั้ง ZX-PIR ดังรูปที่ 9.1 แล้วยึด ZX-PIR ให้แน่นด้วยปืนกาว

(3) เจาะรูขนาด 3 มม. ด้านล่างของถังให้เป็นรูพรุนบริเวณที่ต้องการติดตั้งลำโพงของเครื่องเล่น MP3 ดังรูปที่ 10

(4) นำแผ่นยางด้านล่างมาเจาะเป็นร่องสำหรับติดตั้งสวิตช์เปิดปิดดังรูปที่ 11

(5) เซาะแผ่นยางจากขั้นตอนที่ 4 ให้มีพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่องโทรศัพท์และแบตเตอรี่ 9 โวลต์ จากนั้นตัดสายไฟของขั้วแบตเตอรี่ 9 โวลต์ให้ผ่านสวิตช์เปิดปิด และเจาะรูสอดสายไฟเข้าไปในถังดังรูปที่ 12 อ้อ…อย่าลืมสอดสายหูฟังลงมาเสียบกับเครื่องโทรศัพท์ด้วยนะครับ

(6) จัดวางแผงวงจรทั้งหมดไว้ภายในถังขยะแล้วยึดด้วยปืนกาวดังรูปที่ 13

(7) ตัดพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด 3×3 ซม. จำนวน 3 ชิ้น ดังรูปที่ 14.1 สำหรับใช้เป็นขารองแผ่นปิดชุดวงจร โดยจัดวางให้ระยะห่างเท่ากันดังรูปที่ 14.2 แล้วยึดด้วยปืนกาว

(8) ใช้วงเวียนคัตเตอร์ตัดพลาสวูดขนาดหนา 5 มม. ให้ได้เส้นผ่านศูนย์กลาง 12.5 ซม. สำหรับทำแผ่นปิดแผงวงจร ดังรูปที่ 15

(9) สุดท้ายตัดเศษพลาสวูดเป็นรูปทรงอะไรก็ได้สำหรับทำเป็นมือจับแล้วติดกับแผ่นปิดแผงวงจรด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 16.1 ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์แล้วครับ

การทดสอบและปรับแต่ง
เมื่อทุกอย่างถูกติดตั้งเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการทดสอบโดยเริ่มจาก

(1) เปิดเครื่องโทรศัพท์และโทรออกยังหมายเลขที่คุณต้องการเพื่อให้เบอร์ล่าสุดที่โทรออกเป็นเบอร์ที่คุณต้องการ จากนั้นเปิดสวิตช์จ่ายไฟเข้าระบบ Car Watchdog จะเริ่มโทรออกไปหาเบอร์ล่าสุด หากไม่มีการโทรเข้าเบอร์ของคุณให้สลับคอนเน็กเตอร์ที่จุด A และ B

(2) เมื่อระบบโทรเข้าเครื่องและวางสายเรียบร้อยแล้ว จะต่อหน้าสัมผัสรีเลย์เพื่อจ่ายไฟเข้าเครื่องเล่น MP3 และเล่นไฟล์เสียงที่อยู่ใน SD การ์ด

(2.1) หากรีเลย์ทำงานต่อหน้าสัมผัสแล้ว แต่ไม่มีเสียงดังออกมาให้ตรวจสอบคอนเน็กเตอร์ที่จุด C และ D ว่าต่อถูกขั้วหรือไม่

(2.2) หากได้ยินเสียงหน้าสัมผัสรีเลย์ต่อแบบรัวๆ แสดงว่ากระแสไฟฟ้าที่ออกจากภาคจ่ายไฟไปยังขดลวดของรีเลย์ไม่ราบเรียบพอจึงทำให้เกิดอาการกระชาก ให้ตรวจสอบจุดบัดกรีบริเวณไฟออกที่ขาของ C2 ว่าสนิทดีหรือไม่

การนำไปใช้งาน
มาถึงขั้นตอนนี้ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากแล้วครับ เพียงเล็งตำแหน่งในการวางให้เหมาะสมดังรูปที่ 17 เมื่อต้องการใช้งานคุณเพียงเปิดสวิตช์ ระบบจะโทรหาคุณทันที เมื่อปิดประตูล็อกรถเรียบร้อยแล้วระบบก็จะหยุดโทรหาคุณ จนกว่าจะพบความเคลื่อนไหวภายในรถยนต์ของคุณอีกครั้ง ระบบจึงจะเริ่มทำงาน คราวนี้คุณก็ไปทำธุระได้แล้ว โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Car Watchdog เฝ้ารถให้คุณ

แต่อย่าลืมนะครับว่า แบตเตอรี่ที่ใช้เลี้ยงวงจรทั้งหมดเป็นแบตเตอรี่ +9V ซึ่งกระแสไฟฟ้าไม่ได้มากมายอะไร การเปิดใช้งานบ่อยๆ ควรตรวจสอบพลังงานคงเหลือของแบตเตอรี่บ้างก็ดี แต่หากไม่เน้นว่าแหล่งพลังงานต้องเล็ก ก็เอาแบตเตอรี่แบบประจุได้ขนาด AA สัก 6 ก้อนต่อแทนได้เลย

อย่างไรก็ตามอย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าพอมีโทรศัพท์เรียกจากรถของเราก็รีบกุรีกุจอเข้าไป หากหัวขโมยยังอยู่ในรถและมีอาวุธจะไม่คุ้มกัน ทางที่ดีควรชวนใครไปเป็นเพื่อนด้วยจะดีกว่า ท้ายนี้ขอให้สนุกกับการสร้างสุนัขเฝ้ารถ และขอให้ทุกท่านผ่านพ้นความน่ากลัวของสังสารวัฏฏ์ไปได้ด้วยดี

รายการอุปกรณ์
• โมดูล POP-MCU
• โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR
• เครื่องเล่น MP3
• เครื่องโทรศัพท์พร้อมสายหูฟังสมอลทอร์ก
• ถังขยะขนาดเล็กสำหรับวางในรถยนต์
• Q1 – ทรานซิสเตอร์ BC337
• IC1 – ไอซีเรกูเลเตอร์ เบอร์ LM2940-5.0
• IC2 – ออปโต้คัปเปลอร์ PC817
• R1 – ตัวต้านทาน 150Ω 1/4 วัตต์ ± 5%
• R2 – ตัวต้านทาน 1kΩ 1/4 วัตต์ ± 5%
• C1 – ตัวเก็บประจุ 47µF โพลีเอสเตอร์
• C2 – ตัวเก็บประจุ 220µF 16V อิเล็กทรอไลต์
• D1 – ไดโอด 1N4001
• S1 – สวิตช์เปิดปิดแบบใดก็ได้ตามชอบ
• S2 – สวิตช์กดติดปล่อยดับตัวเล็ก 4 ขา
• แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์รุ่น uPCB01A
• แจ๊กโมดูล่าร์ RJ-11 4 ขา
• สายดาวน์โหลด UCON-4
• คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมีย แถวเดี่ยว 12 ขา 2 ตัว
• คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมีย แถวเดี่ยว 3 ขา
• คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมีย แถวเดี่ยว 2 ขา
• คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวผู้ แถวเดี่ยว 3 ขา 2 ตัว
• คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวผู้ แถวเดี่ยว 2 ขา 3 ตัว
• แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4
• ขั้วแบตเตอรี่ 9 โวลต์


หมายเหตุ โมดูล POP-MCU, ZX-PIR, สาย UCON-4 และแผ่นพลาสวูด ขนาด A4 สั่งซื้อออนไลน์ที่ www.inex.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

การทำแป้งปั้นซิลิโคน

ทำแป้งปั้นที่คงตัวได้ แข็งแต่ไม่แข็ง มีความยืดหยุ่นเหมือนยาง ใช้กับงานต่างๆ ได้หลากหลาย เช่นทำตัวรองอุปกรณ์กันกระแทก ฐานยึดมอเตอร์กันสะเทือน หรือจะใส่ LED ไว้ภายในเพื่อสร้างเป็นโครงงานอาร์ตๆ 


จากบทความแนะนำ Sugru ที่ผ่านมาหลายคนคงทึ่งและเริ่มสนใจในคุณสมบัติอันน่าอัศจรรย์ของมันที่เราสามารถปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ตามต้องการ หลายคนนึกค้านในใจว่า ก็ไปซื้อแป้งปั้นหรือดินญี่ปุ่นมาก็สิ้นเรื่องหาซื้อก็ง่าย ใช่ครับปั้นได้ หาซื้อง่าย แต่พอแข็งแล้วก็แข็งจริงๆ ไม่มีคุณสมบัติเหมือนยางซิลิโคน ทำให้ประโยชน์ของมันสิ้นสุดลงที่ความสวยงามเป็นหลัก

แต่สำหรับ i-Gru (เป็นชื่อเฉพาะที่ผมตั้งเองครับ ไม่ต้องไปค้นใน Google) ที่เราจะมาชวนท่านผู้อ่านทำกันนี้ จะมีคุณสมบัติคล้ายกับ Sugru ต่างที่การทนความร้อนทีี่ Sugru ทนได้ถึง 180oC แต่ i-Gru จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของซิลิโคนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำ ก่อนอื่นเรามาเตรียมวัตถุดิบกันก่อนดังรูป

ส่วนผสมและอุปกรณ์ประกอบด้วย
1. แป้งข้าวโพด
2. ซิลิโคนสีใส แนะนำให้ซื้อชนิดที่ไม่มีกลิ่น และห้ามใช้ชนิดแห้งเร็ว
3. ไม้ไอศครีมหรืออะไรก็ได้ที่ใช้กวนได้
4. ถ้วยหรือชาม
 
ขั้นตอนการทำ
(1) บีบซิลิโคนลงในภาชนะในปริมาณที่ต้องการดังรูปที่ 2 แนะนำว่าไม่ควรผสมเกิน 3 ช้อนโต๊ะ เพราะจะทำให้ส่วนผสมเข้ากันไม่ดี
(2) เทแป้งข้าวโพดลงไป ในอัตราส่วน 1:1 ดังรูปที่ 3 จากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องใช้ความเร็วในการคลุกหน่อยนะครับ คนให้เข้ากันจนรู้สึกว่าซิลิโคนและแป้งข้าวโพดเริ่มจับตัวกันดี (หากใครต้องการใส่สีก็ให้หยดลงไปในขั้นตอนนี้ โดยสีที่ใช้ควรเป็นสีน้ำมันหยดลงไปในอัตราส่วน 1:10 เพราะหากหยดมากเกินไปส่วนผสมจะเหลวมากและแห้งช้า) คลุกเคล้าต่ออีกสักครู่ก็จะเริ่มจับตัวเหมือนแป้งปั้นดังรูปที่ 3.4 ก็เป็นอันใช้ได้แล้วครับ
(3) ตอนนี้ท่านสามารถปั้นเป็นรูปทรงตามต้องการ ในตัวอย่างนี้เราจะนำมาห่อหุ้มแผงวงจร ZX-01 (แผงวงจรสวิตช์) เพื่อกันกระแทกและรองรับงานหนักๆ อย่างเช่นการทุบ โดยเริ่มจากผ่าครึ่งลูกปิงปองแล้วทา i-Gru เพื่อรองพื้นให้รอบ ดังรูปที่ 4.1 เมื่อทาจนทั่วแล้วก็นำ ZX-01 คว่ำหน้าลงไปดังรูปที่ 4.2 แล้วโปะ i-Gru เพื่อห่อหุ้มให้ทั่วทั้งแผงวงจรดังรูปที่ 4.3 รอให้แห้งประมาณ 10 นาที
(4) เมื่อชิ้นงานแห้งแล้วก็มาทำการแกะออกจากแบบ โดยการบีบขอบลูกปิงปองให้ชิ้นงานคลายตัวดังรูปที่ 5.1 แล้วค่อยๆ ดึงออกมาจะได้แป้นกดปุ่มยางซิลิโคนที่ฝังแผงวงจรสวิตจช์ไว้ภายใน นำไปใช้งานได้ทันทีดังรูปที่ 5.2 และ 5.3
(5) แถมท้ายด้วยการนำ i-Gru มาห่อหุ้ม LED แล้วปั้นเป็นรูปทรงที่เราต้องการ เมื่อจ่ายไฟให้ LED เราก็จะพบกับความสวยงามของแสง LED ที่ส่องผ่าน i-Gru ออกมาดังรูปที่ 6.2
เพียงเท่านี้ก็จะได้วัสดุใหม่ที่ใช้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการทำโครงงานอิเล็กทรอนิกส์อาร์ตของเราแล้ว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

สอนประดิษฐ์รองเท้าไฟฉาย

อยากเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน แต่ไม่อยากเปิดไฟหัวเตียงเพราะกลัวแสงไฟจะรบกวนคนนอนข้างๆ หรือกระทั่งน้ำท่วมบ้านโดนตัดไฟต้องการไฟฉายแต่ไม่รู้วางไว้ที่ไหน

สิ่งประดิษฐ์นี้จะมาช่วยคุณได้ นั่นคือรองเท้าติดไฟ เพียงแค่คุณสวมรองเท้าคู่นี้เข้าไป จะทำให้คุณหมดปัญหาในเรื่องของแสงสว่างยามค่ำคืน การใช้งานเพียงสวมรองเท้าแล้วเดิน ก็จะมีแสงไฟส่องออกมาจากปลายของรองเท้า โอ้ว !! มันยอดมากเลยใช่ไหม ลงมือทำกันเลย

เตรียมอุปกรณ์
รองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน 1 คู่
กะบะถ่าน CR2032   1 อัน
ถ่าน  CR2032  3V   1 ก้อน
LED สีขาวขนาด 8 มม.    1 ดวง/ข้าง
แถบตีนตุ๊กแก ขนาด 4 x 1.5 ซม. 1 เส้น
สายไฟเส้นเล็กๆ
กาวร้อน  (กาวตราช้าง)
เข็มและด้าย

ลงมือประดิษฐ์กันเลย
(1) ขั้นตอนแรกนำรองเท้าใส่ในบ้านมา 1 คู่ หาซื้อได้ตามร้านไดโซ ที่ขายสินค้าราคาเดียวเพียง 60 บาท จากนั้นใช้คัตเตอร์หรือที่เลาะด้ายเลาะส้นรองเท้าออกประมาณ 5 ซม. ดังรูปที่ 1.1

(2) ขั้นต่อไปวางกะบะถ่านแล้วขีดเส้นเพื่อกำหนดตำแหน่งสำหรับติดตั้ง แล้วใช้คัตเตอร์เจาะตามรอยที่ขีดไว้ลึกลงไป โดยเผื่อให้กะบะถ่านโผล่ขึ้นมาประมาณ 1 มม.

(3) ต่อไปเป็นขั้นตอนการเชื่อมต่อวงจร ดัดขา LED สีขาวขนาด 8 มม. ดังรูปที่ 3.1 บัดกรีสายไฟเข้ากับขาของ LED แล้วนำ LED เสียบเข้าร่องส่วนปลายของรองเท้าเพื่อซ่อนขา LED และสายไฟดังรูปที่ 3.3 เก็บสายไฟให้เรียบร้อยโดยเหน็บเข้าร่องด้านข้างของรองเท้าดังรูปที่ 3.4 เจาะรูเล็กๆ ด้านข้างรองเท้าแล้วสอดสายไฟเข้าไปดังรูปที่ 3.6 เมื่อสอดสายไฟเข้าไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะนำกะบะถ่านไปวาง ให้ใช้คีมดัดขั้วกะบะถ่านด้านขั้วบวกขึ้นดังรูปที่ 3.8 แล้ววางลงไปในรูที่เจาะไว้ในขั้นตอนที่ 2 บัดกรีสายไฟให้เรียบร้อยตามรูปการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ต้องสังเกตขั้วบวกขั้วลบในการต่อให้ดี เพราะถ้าผิดขั้วอาจทำให้ LED พังได้

 

(4) เย็บเก็บชายให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้ผ้าหลุดลุ่ย ดังรูปที่ 4.1  นำแถบตีนตุ๊กแกขนาด 4 x 1.5 ซม. ทากาวร้อนแล้วติดลงไปดังรูปที่ 4.2 เมื่อติดแถบตีนตีนตุ๊กแกเพื่อใช้เปิด-ปิดเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่เสร็จแล้วให้ปิดส้นรองเท้าลง แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ด้วยอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น คุณก็สามารถเดินไปทั่วบ้าน โดยไม่ต้องเปิดไฟเลยสักดวงก็ได้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Electronics Arts Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

กระถางต้นไม้สื่ออารมณ์

มาฝึกให้เด็กๆ สนุกกับการดูแลต้นไม้ในบ้าน ไม่ให้เหี่ยวเฉาด้วยโครงงานนี้ Emotional POT ที่เหมือนมีต้นไม้เป็นเพื่อน โดยมันจะแสดงหน้าเศร้าบอกเรายามที่ดินเริ่มแห้ง และยิ้มยามดินชุ่มชื้น

โครงงานนี้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความชื่นชอบส่วนตัวจริงๆ ครับ เพราะการปลูกต้นไม้ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลายยามละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี และก็เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงรู้สึกเช่นเดียวกันที่สำคัญหากทำไว้ให้เด็กๆ ได้เล่นก็น่าจะเป็นของเล่นที่สอนให้พวกเขาได้รู้จักฝึกดูแลต้นไม้ได้อีกด้วย

เจ้า Emotional POT นี้ใช้หลักคิดง่ายๆ คือ เราจะตรวจสอบสภาพของดิน เมื่อดินชื้นจะให้มันแสดงหน้ายิ้ม และเมื่อดินแห้งจะต้องแสดงหน้าเศร้าหรือบึ้งนั่นเอง โดยใช้อุปกรณ์มาต่อกันเป็นวงจรง่ายๆ ที่นักอิเล็กทรอนิกส์มือใหม่และเก่าทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพื่อทำหน้าที่ตรวจจับความต้านทานของดิน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาออกแบบหน้าตากันเสียก่อนว่าจะให้ยิ้มยังไง และบึ้งแบบไหนจะได้รู้ว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

การออกแบบหน้าตา
สำหรับตัวต้นแบบผมใช้ LED แบบความสว่างสูงสีฟ้านำมาจัดเรียงกันบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบจุดไข่ปลาขนาดเล็กดังรูปที่ 1 จากนั้นบัดกรีขา K (แคโทด) ของ LED ทุกดวงเข้าด้วยกัน ส่วนขา A (แอโนด) บัดกรีแยกเป็นชุด จะได้ LED ทั้งหมด 5 ชุด ดังรูปที่ 2 เมื่อทำหน้าตาเสร็จแล้วก็มาดูวงจรที่จะใช้งานกันสักนิดนะครับ ดังรูปที่ 3

การทำงานของวงจร

วงจรนี้จะอาศัยทรานซิสเตอร์ Q1 และ Q2 เป็นตัวควบคุมการทำงานโดยที่จุด P ทั้งสองจุดจะถูกปักลงดิน โดยหากดินแห้งก็จะมีความต้านทานมาก กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านดินที่จุด P ได้ ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้ขา B ของ Q2 แทน ทำให้ Q2 ทำงานขับ Ry1 ให้ทำงาน รีเลย์ทำการต่อหน้าสัมผัส NO จ่ายไฟให้กับ LED 4 ดวงของชุดที่แสดงหน้าบึ้ง
ในทางกลับกันหากดินมีความชื้นค่าความต้านทานในดินต่ำ จึงมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจุด P ไปเข้าขา B ของ Q1 ทำให้ Q1 ทำงานและ Q2 จึงหยุดทำงาน หน้าสัมผัสของรีเลย์จึงกลับมาอยู่ที่ NC ซึ่งมีแรงดันจ่ายไปยัง LED 4 ดวงที่แสดงเป็นหน้ายิ้ม สำหรับความไวในการตรวจจับความชื้นปรับได้จาก VR1 ส่วน LED อีก 3 ชุดที่เหลือไม่มีผลใดๆ ต่อการทำงานของวงจรครับ เพราะมันจะติดตลอดเวลาที่เราจ่ายไฟเข้าวงจร

การติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์

เนื่องจากโครงงานนี้มีอุปกรณ์ไม่มาก จึงไม่ต้องเสียเวลาทำแผ่นวงจรพิมพ์ โดยวงจรตรวจจับความชื้นตัวต้นแบบนี้ผมใช้แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบไอซีบอร์ดมีลักษณะเป็นลายทองแดงแบ่งเป็นแถวยาวหลายแถว โดยมีจุดที่ต้องทำให้ลายทองแดงขาดจากกัน 3 จุด อยู่ใต้ตัวถังของรีเลย์ และจุดเชื่อมต่อที่เป็นเส้นสีดำตามรูปที่ 4 ใช้เศษขาอุปกรณ์ก็ได้ นอกนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับให้ดูการวางอุปกรณ์ตามรูปที่ 4 ได้เลย เมื่อบัดกรีอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วให้ตรวจดูความเรียบร้อย

โดยเฉพาะช่องระหว่างลายทองแดงที่มักจะมีเศษตะกั่วจากการบัดกรีไปติดอยู่ อาจใช้แปรงขัดออกก็ได้ ต่อไปทำการเชื่อมแผงวงจรส่วนหน้าเข้ากับส่วนควบคุมด้วยสายแพ 6 เส้น โดยเผื่อความยาวของสายแพให้เท่ากับความสูงของกระถางก็เป็นอันเรียบร้อย พร้อมรับการทดสอบ

ทดสอบการทำงานของวงจร

เริ่มทดสอบโดยการนำอะแดปเตอร์ไฟตรง 6 ถึง 9V มาต่อเพื่อจ่ายไฟ LED จำนวน 4 ชุดคือ คิ้วซ้าย,คิ้วขวา,ตา+กึ่งกลางปาก และ หน้าบึ้ง จะต้องติด และเมื่อนำปลายสายของจุด P มาสัมผัสกัน LED ชุดปากยิ้มจะติดแทน แสดงว่า วงจรพร้อมทำงานแล้วครับ ต่อไปก็เป็นการสร้างกระถางน่ารักๆ ให้วงจรพักพิง

การสร้างกระถางต้นไม้
ในขั้นตอนนี้ผมถือว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความอดทนพอสมควร แต่โชคดีที่ในโลกนี้มีพลาสวูด จึงทำให้งานของผมเสร็จได้อย่างรวดเร็ว มาเริ่มกันเลยครับ
(1) นำพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 ที่ซื้อมาจาก TPE Shop ตัดตามแบบดังรูปที่ 5 นำชิ้นส่วนที่เป็นผนังของกระถางทั้ง 4 ชิ้นมาเฉือนขอบด้านข้างด้วยคัตเตอร์ให้ได้มุมประมาณ 45 องศา จากนั้นเจาะช่องของชิ้น A ที่จะใช้เป็นด้านหน้า แล้วนำพลาสวูดทั้ง 4 ชิ้น (A, B, C และ D) มาประกอบกันโดยใช้กระดาษกาวแปะเพื่อช่วยประคองไว้ดังรูปที่ 6.3 จากนั้นยึดด้วยกาวร้อนหรือกาวตราช้างก็จะได้โครงสร้างกระถางที่แน่นหนา ต่อไปอุดร่องด้านในกระถางเพื่อเสริมความแข็งแรงด้วยกาวซิลิโคนสีขาวแบบแห้งเร็วดังรูปที่ 6.4 เสร็จแล้วรอให้ซิลิโคนแห้งประมาณ 1 ชั่วโมง
(2) นำพลาสวูดส่วนฐาน E มาบากเป็นร่องขนาด 5 x 20 มม. จากนั้นนำแผงวงจรแสดงอารมณ์และสายไฟสำหรับวัดความต้านทานในดินมาพาดไว้ที่ปากกระถางก่อน แล้วจึงวางแผ่นฐานลงไปในกระถางดังรูปที่ 7 โดยแผ่นฐานนี้จะไม่ลงไปสุดก้นกระถาง เพราะเราต้องการเหลือพื้นที่ส่วนล่างไว้ติดตั้งแผงวงจรควบคุมนั่นเอง จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แผ่นฐาน E ก็จะเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแรงของกระถางได้เป็นอย่างดี
(3) การสร้างห้องให้กับแผงวงจรแสดงอารมณ์ ให้ตัดแผ่น PVC สีขาวชนิดที่แสงผ่านได้ให้มีขนาดกว้างกว่าช่องด้านหน้าของผนังกระถางเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นแผ่นหน้ากากกรองแสง แล้วใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดด้านในกระถางดังรูปที่ 8.1 ต่อไปติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ด้วยการนำแผ่นพลาสวูด F ที่มีรูปทรงเหมือนผนังกระถางแต่สั้นกว่า (ดูจากแบบรูปที่ 5) มายึดเข้ากับแผ่นพลาสวูด G ด้วยกาวร้อน จากนั้นใช้ดอกสว่านขนาด 3 มม. คว้านรูของแผ่นวงจรพิมพ์เพื่อให้สามารถสอดสกรูเกลียวปล่อยขนาดจิ๋วเข้าไปได้ จากนั้นก็ขันสกรูยึดแผงวงจรแสดงอารมณ์ดังรูปที่ 8.2 แต่อย่าให้แน่นมากเพราะจะทำให้แผ่นวงจรพิมพ์แตกหักได้ ต่อไปให้วางแผ่นพลาสวูด F ที่ติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ให้ระยะห่างระหว่าง LED กับแผ่นPVC ห่างกันเล็กน้อยประมาณ 2 ถึง 3 มม. จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แล้วนำกาวซิลิโคนมาอุดตามร่องเพื่อความเรียบร้อยและกันน้ำรั่วซึมในกรณีที่นำกระถางไปปลูกพืชน้ำ
(4) การติดตั้งแผงวงจรควบคุมให้คว่ำกระถางลงแล้วใช้ดอกสว่าน 3 มม. คว้านรูแผ่นวงจรพิมพ์ จากนั้นนำสกรูเกลียวปล่อยตัวจิ๋วขันยึดเข้าไปได้เลย ต่อไปเจาะรูเพื่อติดตั้งตัวต้านทานปรับค่าได้และแจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียดังรูปที่ 9.2
(5) ทำฝาปิดด้านบนด้วยแผ่นพลาสวูด H ขนาด 3 x 8.9 ซม. และพลาสวูด i และ J เป็นขา 2 ข้างสำหรับเป็นตัวล็อกไม่ให้ฝาหลุดออกมาโดยง่าย นำมาประกอบกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 10.1 เพียงเท่านี้คุณก็จะได้กระถางต้นไม้เล็กๆ น่ารัก ที่สร้างด้วยฝีมือตัวเองแล้วล่ะครับ
การนำไปใช้งานและปรับแต่ง
หาพรรณไม้สำหรับปลูกในร่ม เช่น ว่านต่างๆ บอน เฟิร์น พลูด่าง ฯลฯพรรณไม้พวกนี้จะไม่มีรากแก้วและไม่ต้องการแสงแดดมาก จึงเหมาะที่จะปลูกในร่ม การให้น้ำก็จะให้เมื่อดินแห้งเท่านั้น จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโครงงานนี้
 
เมื่อเตรียมพรรณไม้แล้ว ก็นำดินปลูกใส่ลงในกระถาง ทำการเสียบแจ็กอะแดปเตอร์เข้าที่ด้านหลังกระถาง หากดินที่ใส่ลงในกระถางแห้ง กระถางจะต้องแสดงหน้าบึ้ง แต่หากพบว่าแสดงหน้ายิ้มอยู่ให้ค่อยๆ ปรับตัวต้านทานปรับค่าได้ด้านหลังกระถาง เพื่อปรับความไว้ในการตรวจจับว่าต้องการให้ดินแห้งขนาดไหนจึงจะแสดงหน้าบึ้ง ในทางตรงกันข้ามเมื่อลองฉีดน้ำ (แนะนำให้ใช้กระบอกฉีดเอานะครับเพราะหากใช้วิธีรดน้ำอาจมีปริมาณน้ำมากเกินไปทำให้ต้นไม้เฉาได้) กระถางจะแสดงหน้ายิ้มก็เป็นอันสำเร็จพร้อมใช้งาน จากนั้นนำพรรณไม้ลงปลูกได้เลยครับ
ทิ้งท้ายอีกนิดครับ จากหลักการทำงานของวงจร ท่านสามารถนำวงจรนี้ไปใช้ในงานระบบใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน เพราะโครงงานนี้ใช้รีเลย์เป็นตัวจ่ายไฟให้ LED ดังนั้นหากเปลี่ยนจากการจ่ายไฟให้ LED เป็นจ่ายให้ปั้มน้ำขนาดเล็กแทนเพื่อรดน้ำต้นไม้ในสวนหน้าบ้านของคุณก็ย่อมได้ แต่อย่าลืมว่า ปั้มน้ำต้องการกระแสไฟฟ้าสูงกว่า LED มาก ดังนั้นต้องคำนึงถึงการทนกระแสที่หน้าสัมผัสของรีเลย์ด้วย ขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกต้นไม้ครับ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

อุปกรณ์ป้องกันน้ำล้นบ่อปลา

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการจัดสวนหย่อมหน้าบ้านขนาดเล็ก โดยเฉพาะสวนน้ำและเลี้ยงปลาไว้ในบ่อสำเร็จรูป (บ่อที่ซื้อมาวางแล้วใส่น้ำใช้ทันที) คงจะทราบกันดีว่ายามเข้าสู่ฤดูฝน ให้ทุกข์ใจกับปัญหาน้ำล้นบ่อเป็นยิ่งนัก สาเหตุที่ทุกข์ใจน่ะหรือครับ ก็เมื่อฝนตกมากๆ ปริมาณน้ำในบ่อปลาที่เพิ่มขึ้นทำให้เจ้าปลาตัวน้อยๆ แทนที่จะแหวกไว้ในบ่อปลามันดันออกมาว่ายบนพื้นดินซะอย่างนั้น ดูแล้วมันคงไม่สนุกเท่าไหร่มั้ง

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่นี้จะช่วยคุณได้ เพราะมันใช้อุปกรณ์บ้านๆ มาช่วยในการรักษาระดับน้ำในบ่อให้อยู่ในระดับที่เราต้องการได้ โดยมันจะทำการสูบน้ำออกเมื่อปริมาณน้ำในบ่อเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับที่เรากำหนด งานนี้ไม่มีไมโครฯ ไม่ต้องเขียนโปรแกรม ทำให้คุณพ่อบ้านอย่างเราๆ ก็ลงมือสร้างให้เสร็จได้ภายในเวลาอันสั้น (หากอุปกรณ์ครบ) โดยมีโครงสร้างง่ายๆ ดังรูปที่ 1 เห็นแล้วเป็นต้องร้อง อ๋อ..

หลักการทำงาน
เมื่อระดับน้ำอยู่ในระดับปกติ สวิตช์ปรอทจะยังไม่ต่อวงจร ทุกอย่างจึงเงียบสงบ ปั้มน้ำไม่ทำงาน แต่เมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นทำให้ลูกปิงปองที่ฝังสวิตช์ปรอทไว้ลอยสูงขึ้น ส่งผลให้สวิตช์ปรอทอยู่ในแนวตั้งจึงมีกระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้กับรีเลย์เพื่อทำการต่อหน้าสัมผัส ทำให้ปั้มน้ำทำงานสูบน้ำออกจากบ่อ จนระดับน้ำเริ่มลดลงถึงระดับที่ต้องการ ลูกปิงปองก็ค่อยๆ ลดระดับตามผิวน้ำลงมา ทำให้สวิตช์ปรอทกลับมาอยู่ในแนวนอนจึงไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายให้รีเลย์ ปั้มน้ำจึงหยุดทำงานตามไปด้วยดังรูปที่ 1 

ต่อไปมาดูการสร้างกันเลยครับ

การสร้าง
(1) เริ่มด้วยการทำลูกลอยที่ถือว่าเป็นพระเอกของงานนี้ โดยนำลูก

ปิงปองหรือบอลพลาสติกอะไรก็ได้ที่ลอยน้ำได้ ในที่นี้ผมใช้ลูกกอล์ฟเด็กเล่น ซึ่งเป็นพลาสติกด้านในกลวงคล้ายลูกปิงปอง เจาะรูให้กว้างพอที่จะสอดสวิตช์ปรอทเข้าไปได้

(2) ตัดขาสวิตช์ปรอทให้เหลือความยาวประมาณ 3 มม. จากนั้นนำสายชีลด์สเตอริโอ (เส้นเล็ก) มาบัดกรีเข้ากับขาของสวิตช์ปรอทแล้วหุ้มด้วยท่อหดดังรูปที่ 2.1 เพื่อกันขาช็อตกัน จากนั้นหุ้มด้วยท่อหดขนาดใหญ่ดังรูปที่ 2.2 แล้วสอดตัวสวิตช์ปรอทเข้าไปด้านในลูกปิงปองดังรูปที่ 2.3 โดยต้องให้สวิตช์ปรอทตั้งตรง แล้วใช้กาวซิลิโคนอุดรูไม่ให้น้ำเข้าได้ รอให้กาวแห้งก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำลูกลอยครับ

(3) เตรียมอุปกรณ์สำหรับทำท่อตรวจสอบระดับดังรูปที่ 3 ความยาวของท่อ PVC ขนาด 4 นิ้วนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความลึกของบ่อปลา โดยตัดให้สูงกว่าระดับน้ำของบ่อประมาณ 20 ซม. หรือเผื่อสูงกว่านั้นก็ได้

(4) ทำร่องสำหรับปรับระดับลูกลอยโดยนำท่อ PVC 4 นิ้ว มาเซาะเป็นร่องยาวประมาณ 25 ซม. กว้าง 3 มม. สำหรับร้อยนอตขนาด 3×15 มม. ดังรูปที่ 4.2 จากนั้นนำฝาครอบมาสวมด้านล่างแล้วเจาะรูระบายน้ำ โดยเจาะให้เหนือขอบของฝาครอบขึ้นมาจะได้รูสำหรับระบายน้ำดังรูป 4.3

(5) นำชุดลูกลอยมาพันยึดกับสรู 3×15 มม. โดยใช้นอตตัวเมียล็อกตำแหน่งดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำไปติดตั้งในท่อตรวจสอบระดับน้ำดังรูปที่ 5.2 แล้วล็อกตำแหน่งที่เราต้องการตรวจจับระดับน้ำด้วยนอตตัวเมียดังรูปที่ 5.3 ส่วนปลายสายสอดขึ้นด้านบนรอการต่อวงจร

(6) วางปั้มน้ำลงไปในฝาครอบด้านล่างดังรูปที่ 6.1 ตัดหัวปลั๊กออกแล้วเดินสายไฟพร้อมสายยางน้ำออกขึ้นมาด้านบน จากนั้นติดตั้งกะบะถ่าน AA 4 ก้อนและรีเลย์ 5V ไว้ภายในฝาครอบด้านบนยึดด้วยปืนกาวดังรูปที่ 6.2 จากนั้นเจาะรูสอดชุดปลั๊กสายไฟแล้วทำการต่อวงจรตามรูปที่ 1 เมื่อต่อวงจรเสร็จแล้วควรใช้กาวซิลิโคนหยอดทับจุดต่อของไฟ 220Vac และตัวรีเลย์ให้มิดชิดเพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่เมื่อนำไปวางในบ่อแล้วอุปกรณ์ของเราเกิดล้มลงในน้ำ ปิดท้ายด้วยการใส่แบตเตอรี่ AA จำนวน 4 ก้อนลงไปในกะบะถ่าน ดังรูปที่ 6.3

(7) ยึดสายไฟเข้าด้วยปืนกาว เจาะรูสอดท่อปั้มน้ำออกมาด้านบน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน

จากขั้นตอนการสร้างที่ผ่านมาหากมีภาพไหนที่ไม่ชัดหรือยังนึกไม่ออกแนะนำให้ย้อนไปดูรูปที่ 1 ครับ

การใช้งาน
เพียงหาตำแหน่งเหมาะๆ เพื่อนำเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ลงไปวางในบ่อปลาในวันฝนตก โดยแนะนำให้นำหินก้อนใหญ่ๆ วางทับด้านบนไม่ให้อุปกรณ์ของเราล้มได้ แล้วเสียบปลั๊กทิ้งไว้ เมื่อฝนตกลงมาในบ่อจนระดับน้ำสูงขึ้นถึงระดับที่ลูกลอยยกตัวขึ้นดังรูปที่ 8 ปั้มน้ำก็จะเริ่มทำการสูบน้ำออกจากบ่อทันที

ข้อควรระวัง
เนื่องจากโครงงานนี้ผมนำไปควบคุมปั้มน้ำ 220Vac ก่อนทำการปรับแต่งหรือแก้ไขส่วนหนึ่งสวนใดของอุปกรณ์ ต้องถอดปลั๊กไฟออกก่อนทุกครั้ง และไม่ควรวางอุปกรณ์ทิ้งไว้เป็นการถาวรเพราะสภาพแสงแดดที่ร้อนจัดตอนกลางวันและน้ำในบ่ออาจส่งผลให้เกิดละอองน้ำ (การควบแน่น) จับภายในสวิตช์ปรอทและรีเลย์ได้หากกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยจากไฟ 220Vac คุณก็สามารถหาซื้อปั้มน้ำ 12V ที่ใช้กับที่ฉีดน้ำปัดกระจกในรถยนต์มาใช้ได้ โดยใช้อะแดปเตอร์ 12V ต่อแทนปลั๊กไฟบ้านได้เลย

การประยุกต์ใช้งาน
คุณสามารถนำเทคนิคของโครงงานนี้ไปใช้กับงานที่ต้องการรักษาระดับน้ำได้ 

• นำไปใช้เป็นลูกลอยอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตัดต่อโซลินอยด์วาล์วแทน
ลูกลอยแบบเดิมที่มักจะมีปัญหาลูกยางเสื่อมกั้นน้ำไม่อยู่
• วัดระดับน้ำของเครื่องซักผ้าแบบฝาบน (สำหรับเครื่องซักผ้ารุ่นเก่า) โดยทำก้านติดตั้งลูกลอยกับฝาปิดเครื่องซักผ้าควบคุมโซลินอยด์วาล์วให้ปิดน้ำเมื่อถึงระดับที่เราต้องการก็ได้
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโครงงานง่ายๆ (แต่ใช้จริง) ที่คัดสรรมาให้ได้ลับฝีมือเชิงช่างกันเป็นประจำ แต่ไม่ว่าโครงงานจะง่ายแค่ไหนก็อย่าลืมเรื่องความปลอดภัยไว้ก่อนนะครับ

**********************************************
รายการอุปกรณ์
**********************************************

– ท่อ PVC 4 นิ้ว ยาว 50 ซม. หรือขึ้นอยู่กับความลึกของบ่อ
– ฝาครอบ 4 นิ้ว
– ปั้มน้ำ 220V ขนาดที่ใส่ในท่อ PVC 4 นิ้วได้ พร้อมสายยาง
– รีเลย์ 5V 5A
– กะบะถ่านขนาด AA 4 ก้อน แบบมีสายต่อ
– สวิตช์ปรอท
– ลูกปิงปอง
– สายชีลด์สเตริโอขนาดเล็กหรือสายไฟอ่อนๆ
สำหรับทำสายสวิตช์ลูกลอย
– สายไฟสำเร็จพร้อมปลั๊ก
– ท่อหดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มม. ยาว 1 ฟุต
– สกรู 3×15 มม. 1 ตัว
– นอต 3 มม. จำนวน 3 ตัว
– กาวซิลิโคนใสสำหรับหยอดทับอุปกรณ์เพื่อกันน้ำ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Exit mobile version