Categories
Gadget iBEAM the Series Toy คุณทำเองได้ (DIY)

หุ่นยนต์กระปุกออมสินจอมเขมือบ

ช่วงเวลานี้เชื่อว่าหลายคนคงมีเวลาอยู่กับบ้านกันมากขึ้น เรามาหากิจกรรมทำในครอบครัวกันดีกว่า หรือน้องๆ จะประดิษฐ์เป็นโครงงานส่งคุณครูก็เก๋ไก๋ไม่ใช่เล่นเลยนะเออ และนี่ก็คือกระปุกออมสินจอมเขมือบ ที่มีนจะทำงานเมื่อเราวางเหรียญให้แล้วมันก็จะยกเทเข้าปากตัวเองทันที ที่สำคัญไม่ต้องใช้หัวแร้งบัดกรีแต่อย่างใด

เครื่องมือและอุปกรณ์

  1. แผงวงจร i-BEAM (จะซื้อเฉพาะแผงวงจรหรือซื้อเป็นชุดหุ่นยนต์ i-Beam ก็ได้) (สั่งซื้อ i-Beam มาใช้งานคลิกที่นี่)
  2. แผงวงจรตรวจจับแสงอินฟราเรดสะท้อน (ZX-03 หากมีชุดหุ่นยนต์ i-Beam อยู่แล้ว ไม่ต้องซื้อเพิ่ม) (สั่งซื้อ ZX-03 มาใช้งานคลิกที่นี่)
  3. เฟืองขับมอเตอร์ BO1 อัตราทด 120:1 (สั่งซืื้อชุดเฟืองมอเตอร์ BO1 มาใช้งานคลิกที่นี่)
  4. กระดาษแข็ง (Card Board) หนาไม่เกิน 3 มิลลิเมตร
  5. ลวดงานประดิษฐ์หรือสายไฟแข็งเบอร์ 4 สำหรับทำกลไกขยับแขนและยกปากให้อ้า
  6. ปืนยิงกาวซิลิโคน

เมื่อเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วก็มาลงมือประดิษฐ์กันได้เลยจ้า

ชมคลิปการประดิษฐ์จาก YOUTUBE

ขั้นตอนการประดิษฐ์

เริ่มจากส่วนหัว

1. ตัดกระดาษขนาด 8x8cm. จำนวน 4 ชิ้น ดังรูปที่ 1.1

2. ประกอบเข้าด้วยกันด้วยปืนกาว ดังรูปที่ 2.1 นำกระดาษแข็งอีกแผ่นมาทาบแล้วประกอบทำส่วนปิดหัวแล้วยึดด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 2.2 ถึง 2.4

3. ใช้คัตเตอร์กรีดทำปากให้เหนือปากกล่องขึ้นมาประมาณ 2cm. จากนั้นใช้คัตเตอร์กรีดด้านหน้าและด้านข้างทั้งซ้ายและขวา จะได้ส่วนหัวที่อ้าปากได้ดังรูปที่ 3.3

ส่วนของลำตัว

4. ตัดกระดาษขนาด 9×6.5cm 2 ชิ้น และ 8×6.5cm. 2 ชิ้น

5. ประกอบเป็นกล่องด้วยปืนกาวดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำกระดาษแข็งอีกแผ่นมาทาบแล้ววาดด้วยดินสอและตัดเพื่อใช้ประกอบเป็นส่วนปิด (ตัดมา 2 ชิ้น) เพื่อจะได้นำไปต่อกับส่วนหัวได้ดังรูปที่ 5.4

6. ประกอบส่วนหัวเข้ากับลำตัวด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 6.2

7. นำกระดาษแข็งอีกชิ้นที่ตัดไว้จากข้อ 5 มาประกบปิดกล่องลำตัวด้วยปืนกาว

ต่อเติมส่วนขา

8. นำกระดาษแข็ง 8×2.5cm. มาประกอบเป็นส่วนขาด้วยปืนกาวดังรูปที่ 8.2

ทำส่วนกลไก

9. ใช้ดินสอวาดไม้ไอติมให้เป็นรูปทรงดังรูปที่ 9.1 จากนั้นใช้สว่านเซาะให้เป็นรูปทรงวงรีและนำมาสวมกับแกนของเฟืองขับมอเตอร์ BO1 ดังรูปที่ 9.3 และ 9.4

10. ใช้ลวดหรือสายไฟแข็ง มาดัดเป็นรูปตัวยู เพื่อใช้เป็นตัวกระเดื่องรับการตีจากไม้ไอติมที่เราติดตั้งไว้ในขั้นตอนที่ 9

11. ใช้คัตเตอร์เจาะส่วนหัวและลำตัวให้ทะลุถึงกัน

12. ติดตั้งเฟืองขับมอเตอร์ BO1 ในลักษณะตั้งขึ้น โดยเจาะรูด้านล่างให้ขนาดเท่ากับส่วนหัวของมอเตอร์ดังรูปที่ 12.2 จากนั้นสอดส่วนหัวมอเตอร์ลงด้านล่าง โดยระวังอย่าให้ใกล้กับลวดมากเกินไป เพราะจะทำให้เมื่อไม้ไอติมเหวี่ยงไปตีลวดแล้วจะทำให้ติดขัดได้ ควรวางให้ห่างออกมาเล็กน้อยหรือวางชุดเฟืองมอเตอร์เอนไปด้านหลังเล็กน้อยด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 12.5 และ 12.6

13. สอดลวดที่ดัดไว้จากขั้นตอนที่ 10 ลงไป (ดูวิดีโอการทำในยูทูป)

14. ทำส่วนถาดรับเหรียญที่เราจะฝังตัวตรวจจับแบบอินฟราเรดสะท้อน (ZX-03) ไว้ด้านใน ในตัวต้นแบบทำแบบสี่เหลี่ยมง่ายๆ และใช้ปืนยิงกาวยึดตัวตรวจจับไว้ด้านใน


15. ทำแขนโดยตัดกระดาษแข็งขนาดประมาณ 2x9cm จำนวน 4 ชิ้น นำมาประกบกันข้างละ 2 ชิ้น ด้วยปืนยิงกาว

16. ติดตั้งแขนโดยใช้ปลายลวดแทงทะลุออกมาดังรูปที่ 16.2 และพับลวดดังรูป 16.3 (ระวังอย่าให้แขนชิดกับลำตัวจนแน่นเกินไป) จากนั้นติดให้แน่นด้วยปืนยิงกาว

17. นำไม้ไอติมยึดระหว่างแขนทั้งสองข้างดังรูปที่ 17.2 จากนั้นนำชุดตัวตรวจจับที่ทำไว้ในขั้นตอนที่ 14 มาติดตั้งด้วยปืนยิงกาว

18. นำชุดแผงวงจร iBeam มาวางทาบด้านหลังเพื่อทำที่วางแผงวงจร ใช้ดินสอร่างตามรอยแผงวงจรดังรูปที่ 18.2 ตัดกระดาษแข็งมามาติดตามรูปทรงที่ร่างไว้ดังรูปที่ 18.3 และจะได้กะบะบรรจุแผงวงจร iBeam ดังรูปที่ 18.4 เจาะช่องสอดสายมอเตอร์ออกมาจากด้านในดังรูปที่ 18.5


19. ใช้ไม้กลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5cm ยาว 12cm. ทำเป็นเหมือนสกรูที่โผล่ออกมาจากหัวของแฟรงเกน ทำกลไกสำหรับอ้าปาก โดยการดัดสายไฟเป็นวงกลมคล้องกับไม้อีกปลายหนึ่งเสียบเข้ากับแขน จากนั้นตัดกระดาษแข็งทรง 6 เหลี่ยมทำเป็นหัวสกรูแล้วยึดเข้ากับปลายไม้กลมทั้ง 2 ด้าน ดังรูปที่ 19.3 ถึง 19.5


20. เสร็จแล้วหุ่นยนต์กระปุกออมสินจอมเขมือบของเรา

ต่อไปก็ระบายสีตามจินตนาการได้เลยจ้า


ปัญหาที่พบ

(1) การติดขัดของกลไกการยกแขน

  • แกนมอเตอร์ใกล้ลวดมากเกินไป ควรติดตั้งมอเตอร์เอนไปด้านหลังเล็กน้อย

(2) เหรียญไม่เข้าปาก

  • ระยะของลวดยกปากไม่เหมาะสม ลองย้ายตำแหน่งที่แขนออกมาเล็กน้อยเพื่อเพิ่มระยะการอ้าของปาก

ชมคลิปการประดิษฐ์จาก YOUTUBE


 

Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

Solar-Junk Amplifier

วงจรขยายเสียงที่สร้างด้วยอุปกรณ์พื้นๆ ใช้ไฟเลี้ยงต่ำจากแบตเตอรี่ก้อนเดียวก็ดังได้แถมเกาะติดกับกระแสอีโคด้วยการใช้ไฟเลี้ยงจากพลังงานแสงอาทิตย์

นี่คือวงจรขยายเสียงขนาดเล็ก ที่ไม่ได้เอาไว้ฟังกันเป็นเรื่องเป็นราว แต่มีจุดประสงค์เพื่อเอาไว้ใช้กับงานบางประเภท เช่น ขยายเสียงให้กับไอซีเสียงเพลง วงจรเตือน หรือนำไปทำเป็นอินเตอร์คอม เป็นต้น โดยคุณภาพของมันก็พอฟังได้ อุปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นอุปกรณ์พื้นๆ ที่หาได้ในร้านอะไหล่ย่านบ้านหม้อ ที่สำคัญคือ ทำงานที่แรงดันไฟเลี้ยงต่ำครับ เพียง 1.2 ถึง 1.5V หรือจากแบตเตอรี่เพียงก้อนเดียวก็สามารถขยายเสียงได้ ดังนั้นในวงจรขยายที่นำมาเสนอนี้จึงใช้ถ่านไฟฉายเพียงก้อนเดียวเท่านั้นสามารถขับเสียงออกลำโพง 8Ω ได้อย่างสบาย

ยังเท่านี้ยังเท่ไม่พอครับ ต้องเพิ่มลูกเล่นอีกนิด เมื่อวงจรขยายเสียงตัวนี้ใช้ไฟเลี้ยงเพียง +1.5V ก็ดังได้ จึงเกิดแนวคิดต่อยอดไปว่า หากหันมาใช้พลังงานจากธรรมชาติที่มีต้นทุนถูกแถมไม่ต้องเปลี่ยนถ่านเวลาหมด ก็น่าจะดีไม่น้อย จึงนำแผงรับแสงอาทิตย์หรือโซล่าร์เซลมาต่อเข้ากับภาคจ่ายไฟของโครงงานนี้ ก็จะทำให้วงจรขยายเสียงพื้นๆ มีเสน่ห์ชวนฝันขึ้นมาทันตา


รูปที่ 1 วงจรสมบูรณ์ของ Solar-Junk Amplifier วงจรขยายเสียงที่ใช้แบตเตอรี่ 1.5V เพียงก้อนเดียว

เห็นวงจรทั้งหมดของ Solar-Junk Amplifier ในรูปที่ 1 อย่าได้แปลกใจ เพราะนี่คือ วงจรขยายสัญญาณสุดพื้นฐานและเรียบง่าย สัญญาณที่เข้ามาทางอินพุทจะได้รับการขยายให้แรงขึ้นในขั้นต้นด้วยทรานซิสเตอร์ Q1 เบอร์ 9014 จากนั้นสัญญาณจะได้รับการถ่ายทอดต่อจากขาคอลเล็กเตอร์ของ Q1 ไปยังทรานซิสเตอร์ Q2 ซึ่งทำหน้าที่จัดเฟสให้กับทรานซิสเตอร์ขยายกำลังในภาคสุดท้ายทั้งสองตัวคือ Q3 และ Q4 ผ่านทางหม้อแปลงเอาต์พุต T1 โดยที่ Q3 และ Q4 ถูกจัดการทำงานในแบบพุช-พูล มีตัวต้านทาน R7 และไดโอด D1ทำหน้าที่ไบอัส สัญญาณที่ได้รับการขยายจากทรานซิสเตอร์ทั้งสองตัว สัญญาณจะเกิดการเหนี่ยวนำจากขดปฐมภูมิมาสู่ขดทุติยภูมิของหม้อแปลง T2 เพื่อขับออกลำโพงต่อไป

การใช้หม้อแปลงเอาต์พุตมาใช้ในการจัดเฟสของสัญญาณและใช้ในการคับปลิ้งสัญญาณออกไปยังลำโพง เป็นการใช้งานอุปกรณ์พื้นฐานในการสร้างวงจรขยายเสียงในแบบดั้งเดิม ที่อาจไม่พบแล้วในการออกแบบวงจรขยายเสียงสมัยใหม่

ด้วยการใช้หม้อแปลงเอาต์พุตจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้วงจรขยายเสียงนี้สามารถขับเสียงออกลำโพง 8Ω ได้โดยใช้แรงดันไฟเลี้ยงที่ต่ำมาก นั่นคือ ใช้แบตเตอรี่เพียง 1 ก้อนเป็นแหล่งจ่ายไฟ จะใช้แบบประจุได้หรือแบบอัลคาไลน์ก็ได้ รวมทั้งการนำแผงเซลรับแสงอาทิตย์หรือโซล่าร์เซลมาใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟก็ยังไหว

การสร้าง

เนื่องจากนี่คือโครงงานวงจรขยายเสียงที่ใช้หลักการแบบพื้นฐาน การสร้างจึงต้องทำได้ด้วยขั้นตอนพื้นฐานเช่นกัน เริ่มจากจัดหาอุปกรณ์ให้พร้อม อุปกรณ์ทั้งหมดสามารถหาซื้อได้จากร้านขายอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ในย่านบ้านหม้อได้สบายๆ สำหรับทรานซิสเตอร์หากหาเบอร์ตรงไม่ได้ ก็ใช้เบอร์แทนได้ และที่อาจทำให้คนขายอะไหล่ตกใจนิดหน่อยคือ การซื้อหม้อแปลงเอาต์พุต (output transformer) ในยุคสมัยหนึ่งหม้อแปลงแบบนี้ได้รับความนิยมสูงมาก ใช้ในการคับปลิ้งสัญญาณเล็กๆ ให้ขับออกลำโพงได้ดังฟังชัด แต่มาถึงสมัยนี้ การใช้หม้อแปลงแบบนี้ลดลงมาก สำหรับโครงงานนี้มีจุดมุ่งหมายในการนำเสนอพื้นฐานของวงจรขยายเสียง ดังนั้นการจัดหาหม้อแปลงเอาต์พุตนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ


รูปที่ 2 ลายทองแดงของแผ่นวงจรพิมพ์ขนาดเท่าแบบของโครงงาน Solar Junk Amplifier (ดาวน์โหลดลายทองแดงขนาดเท่าจริง)


รูปที่ 3 แบบการลงอุปกรณ์บนแผ่นวงจรพิมพ์

จากนั้นทำแผ่นวงจรพิมพ์ตามแบบลายทองแดงในรูปที่ 2 แล้วบัดกรีลงอุปกรณ์ตามแบบในรูปที่ 3 การบัดกรีก็เริ่มจากใส่อุปกรณ์ตัวเตี้ยๆ เช่น ลวดจั๊มเปอร์ที่ได้มาจากเศษขาอุปกรณ์และตัวต้านทานก่อน จากนั้นจึงใส่อุปกรณ์ตัวที่มีความสูงถัดมา ตัวเก็บประจุอิเล็กทรอไลต์และทรานซิสเตอร์ทั้ง 4 ตัวต้องระมัระวังเรื่องขั้วก่อนบัดกรี ต้องติดตั้งให้ถูกต้อง สำหรับหม้อแปลงเอาต์พุตก่อนบัดกรีแนะนำให้ใช้คัตเตอร์ขูดขาทั้งหมดให้สะอาดก่อน มิฉะนั้นอาจจะบัดกรีไม่ติดได้ เพราะที่ขาของมันมีน้ำยาเคลือบอยู่

สำหรับหน้าตาของวงจรขยายเสียง Solar-Junk Amplifier ที่ใช้ไฟเลี้ยงต่ำมากหลังจากประกอบเสร็จแล้ว แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ดังรูปที่ 4

ทดสอบวงจรขยายเสียง

เนื่องจากเป็นวงจรขยายเสียง จึงแสดงผลการทดสอบให้เห็นเป็นรูปภาพไม่ได้ ดังนั้นหากอยากรู้ว่า จะขยายเสียงได้ดังแค่ไหน ก็ต้องลงมือทำเองล่ะครับ เพียงต่อแบตเตอรี่ 1 ก้อนเข้าที่จุดต่อ Vcc และต่อลำโพง 8Ω เข้าที่จุดต่อ SPEAKER จากนั้นป้อนสัญญาณเสียงเข้ามาทางอินพุต หากไม่มีอะไรผิดพลาด ต้องได้ยินเสียงที่ดังขึ้นออกจากลำโพง ปรับความดังเบาด้วย VOLUME

วงจรนี้ใช้กระแสไฟฟ้าไม่มาก ดังนั้นแบตเตอรี่ 1 ก้อนจึงใช้งานได้หลายวัน หรือจะขยับงบประมาณอีกหน่อยไปใช้แบตเตอรี่แบบประจุได้ 1.2V ที่จ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูง หรือใช้แบตเตอรี่ก้อนใหญ่ SIZE-D ก็ทำได้เลยตามต้องการ


รูปที่4 หน้าตาโครงงาน Junk Amplifier เมื่อประกอบเสร็จแล้ว

การดัดแปลงวงจรเพื่อใช้กับแผงเซลรับแสงอาทิตย์

สำหรับการดัดแปลงให้ใช้กับแผงเซลรับแสงอาทิตย์ได้นั้น อันที่จริงไม่มีอะไรยุ่งยาก นำขั้วบวกลบของแผงเซลรับแสงอาทิตย์มาต่อแทนแบตเตอรี่ได้เลย แต่มันอาจดูไม่ค่อยลงตัวสักเท่าไหร่เพราะต้องวางชุดวงจรทั้งหมดไว้ในที่ๆ มีแสงอาทิตย์จึงจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น
ในตัวต้นแบบจึงได้ทำเป็น 2 ระบบโดยการเพิ่มไมโครสวิตช์ชนิดที่มีหน้าสัมผัส NC และ NO เข้าไปดังรูปที่ 5 ส่วนจะนำไปติดตั้งกับบ้านต้นไม้แบบในรูปตัวอย่างได้อย่างไรนั้น กรุณาติดตามอ่านในส่วนการสร้างบ้านต้นไม้ต่อไปครับ


รูปที่ 5 การต่อไมโครสวิตช์สำหรับสลับแหล่งพลังงานระหว่างแบตเตอรี่และเซลรับแสงอาทิตย์



รูปที่ 6 แบบชิ้นส่วนของบ้านต้นไม้ (ดาวน์โหลดขนาดเท่าจริง)

ขั้นตอนการสร้างบ้านต้นไม้

(1) ตัดพลาสวูดหนา 5 มม. ตามแบบในรูปที่ 6 หรือดาวน์โหลดขนาดเท่าจริง

(2) นำแผ่นหลังคา 1 และ 2 มาเฉือนด้านที่มีความกว้าง 14 ซม. 1 ด้าน ให้ได้มุม 120 องศา ทั้งสองแผ่น ดังรูปที่ 7


รูปที่ 7 ลักษณะการเฉือนแผ่นหลังคา

(3) นำแผ่นจั่วมาทาบกับแผ่นเพดานแล้วใช้ดินสอวาดตามมุมเอียงของแผ่นจั่วดังรูปที่ 8 ใช้คัดเตอร์เฉือนตามแนวดินสอจะได้แผ่นเพดานที่มีมุมรับกับแผ่นจั่วดังรูปที่ 8.3


รูปที่ 8 การวัดมุมแผ่นเพดานเพื่อเฉือนให้ได้แนวเอียงที่รับกับแผ่นจั่ว

(4) ประกอบแผ่นจั่วเข้ากับแผ่นเพดานด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 9.1 จากนั้นนำแผ่นหลังคาทั้ง 2 แผ่นมาประกอบดังรูปที่ 9.3 จะได้ชุดหลังคาที่เราจะนำแผงวงจรมาติดตั้งไว้ด้านใน


รูปที่ 9 การประกอบชุดหลังคา จั่ว และแผ่นเพดาน

(5) นำลำโพงมาทาบกับแผ่นเพดานแล้วใช้ดินสอวาดตามขอบลำโพง จากนั้นใช้ดอกสว่านขนาด 3 มม. เจาะเป็นช่องให้เสียงออกดังรูปที่ 10.1 แล้วจึงยึดลำโพงไว้ด้านในด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 10.2


รูปที่ 10 ลักษณะการติดตั้งลำโพง

(6) เจาะรูบนแผ่นหลังคาด้านใดก็ได้สอดปลายสายของแผงเซลรับแสงอาทิตย์เข้าไปดังรูปที่ 11.1 จากนั้นยึดแผงเซลรับแสงอาทิตย์ด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 11.2


รูปที่ 11 ลักษณะการติดตั้งแผงเซลรับแสงอาทิตย์

(7) เชื่อมต่อสายลำโพงและสายไฟเลี้ยงเข้ากับเทอร์มินอลบล็อกของแผงวงจรดังรูปที่ 12.1 ต่อไมโครสวิตช์แบบ 2 ทาง 3 ขาสำหรับสลับระหว่างแผงเซลรับแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ดังรูปที่ 5 สำหรับตัวต้นแบบเลือกใช้ไมโครสวิตช์ติดไว้ที่ด้านในของช่องหลังคาด้วยปืนยิงกาว หากต้องการใช้พลังงานจากแผงโซล่าร์เซลล์ก็ปิดฝาเข้าไปพออยู่ ถ้าหากต้องการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ก็ปิดเข้าไปให้สุดจะทำให้ฝาไปกดก้านสวิตช์เพื่อต่อหน้าสัมผัสที่จุด NO ของไมโครสวิตช์


รูปที่ 12 การติดตั้งไมโครสวิตช์

(8) เจาะรูที่แผ่นจั่วให้ก้านของ VR1 รอดออกมาได้ดังรูปที่ 13.1 จากนั้นติดตั้งแผงวงจรเข้าไปด้านในโดยใช้เสารองโลหะยาว 25 มม. รองแผงวงจรให้สูงกว่าลำโพงดังรูปที่ 13.2 ให้แกนของ VR1 โผล่ออกมาดังรูปที่ 13.3 เจาะรูที่แผ่นเพดานขนาด 3 มม. 2 รู ให้ตรงกับตำแหน่งเสารองโลหะที่รองแผ่นวงจรด้านในแล้วใช้สกรูขนาด 3×10 มม.ขันยึดให้แน่นดังรูปที่ 13.4


รูปที่ 13 การติดตั้งแผงวงจรภายในห้องหลังคา

(9) ติดตั้งบานพับที่แผ่นจั่วอีกหนึ่งชิ้นที่ยังไม่ได้ประกอบ ดังรูปที่ 14.1 บากแผ่นเพดานเป็นร่องรองรับบานพับดังรูปที่ 14.2


รูปที่ 14 การติดตั้งบานพับเข้ากับแผ่นจั่วเพื่อทำเป็นฝาเปิดปิดสำหรับเก็บเครื่องเล่น MP3

(10) ก่อนจะติดตั้งฝาปิดจากขั้นตอนที่ 9 แนะนำให้ติดตั้งมือจับเสียก่อน โดยออกแบบเป็นรูปทรงเครื่องเล่น MP3 และส่วนปรับระดับความดังเสียงก็ออกแบบเป็นรูปทรงดอกไม้ โดยพิมพ์บนกระดาษสติ๊กเกอร์แล้วตัดให้ได้รูปทรงตามแบบ ตัดพลาสวูดให้มีรูปทรงตามแบบ หรือหากมีฝีมือในการวาดก็สามารถใช้สีอะครีลิกวาดจะดีมากๆ เพราะหากเจอสภาพแวดล้อมนอกบ้านสีจะคงทนกว่าการใช้สติ๊กเกอร์


รูปที่ 15 รูปแบบแป้นปรับระดับเสียงและมือจับแผ่นจั่ว

(11) เจาะรูกลางแผ่นพลาสวูดรูปดอกไม้ขนาดพอดีกับแกนของ VR1 แล้วสวมลงไปดังรูปที่ 16.1 นำภาพดอกไม้แปะลงไปดังรูปที่ 16.2 ส่วนแผ่นจั่วสำหรับเปิดปิดใส่เครื่องเล่น MP3 ให้นำแผ่นพลาสวูดรูปทรงเครื่องเล่น MP3 มาติดด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 16.3 แล้วแปะรูปเครื่องเล่น MP3 ลงไป


รูปที่ 16 การติดตั้งแป้นปรับระดับเสียงและมือจับแผ่นจั่ว

(12) นำแผ่นจั่วที่ติดตั้งบานพับแล้วมาประกอบกับแผ่นเพดานด้วยสกรูเกลียวปล่อยขนาด 2 มม. ดังรูปที่ 17


รูปที่ 17 การติดตั้งแผ่นจั่วสำหรับเปิดปิดห้องหลังคา

(13) นำแผ่นผนัง 1, 2, 3 และ 4 มาประกอบเข้ากับด้านล่างของเพดานด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 18.1 สำหรับแผ่นผนัง 2 ต้องบากออกเล็กน้อยให้คร่อมบานพับดังรูปที่ 18.2 และเพื่อความแข็งแรงแนะนำให้ตัดเศษพลาสวูดมาเสริมระหว่างรอยต่อดังรูป


รูปที่ 18 การประกอบแผ่นผนัง

(14) นำแผ่นพื้นระแนงทั้ง 4 ชิ้นมาประกอบกับส่วนล่างของแผ่นผนังด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 19.1​สุดท้ายตัดเศษพลาสวูดเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมมาติดไว้ทั้ง 4 มุม เพื่อทำเป็นขารอง เผื่อนำไปปลูกต้นไม้น้ำจะได้ไหลลงได้สะดวกยิ่งขึ้น


รูปที่ 19 การประกอบแผ่นพื้นระแนง

(15) สุดท้ายเป็นขั้นตอนที่ห้ามละเลย ให้นำซิลิโคนมาอุดกันน้ำเข้าตามร่องของแผงเซลรับแสงอาทิตย์ และตามร่องหลังคา โดยใช้เทปพันสายไฟหรือกระดาษกาวปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ซิลิโคนเปื้อนดังรูปที่ 20.2 จากนั้นก็ปาดซิลิโคนลงไปในร่องให้รอบแผง แล้วจึงลอกเทปกาวออกดังรูปที่ 20.3 ปล่อยไว้ให้กาวซิลิโคนแห้งประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วนำไปใช้งานได้


รูปที่ 20 การอุดซิลิโคนกันน้ำเข้า

การใช้งาน

เสร็จแล้วครับเครื่องขยายเสียง 2 ระบบ การนำไปใช้งานก็ง่ายมากๆโดยหากต้องการใช้ไฟเลี้ยงจากแผงเซลรับแสงอาทิตย์ก็ให้ปิดฝาหลังในระดับพอดีหรือระดับที่ฝาปิดไม่สัมผัสกับก้านสวิตช์นั่นเอง แต่หากต้องการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ก็ให้ดันฝาหลังเข้าไปจนสุดเพื่อดันก้านไมโครสวิตช์ต่อหน้าสัมผัส NO จากนั้นก็นำไปปลูกไม้ประดับแล้วตั้งไว้ในสวนได้เลย จะเปิดเพลงหรือฟังธรรมะในสวนก็ตามสะดวกครับ

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน ขนาด 1/8W 5% หรือ 1%
R1 – 220kΩ
R2 และ R4 – 100Ω 2 ตัว
R3 – 2.2kΩ
R5 – 47Ω
R6 – 22kΩ
R7 – 270Ω
ตัวเก็บประจุ
C1, C4, C7, C9, C11 และ C12 – 0.1µF 50V หรือ 63V โพลีเอสเตอร์ หรือเซรามิก 6 ตัว
C2 – 0.02µF หรือ 0.022µF 50V หรือ 63V โพลีเอสเตอร์หรือเซรามิก
C3 – 0.01µF 50V หรือ 63V โพลีเอสเตอร์หรือเซรามิก
C5 – 0.001µF 50V หรือ 63V โพลีเอสเตอร์หรือเซรามิก
C6 – 100µF 16V อิเล็กทรอไลต์
C8 – 1000µF 16V อิเล็กทรอไลต์
C10 – 220µF 16V อิเล็กทรอไลต์
อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
D1 – ไดโอด 1N4148
Q1 และ Q2 – ทรานซิสเตอร์ NPN เบอร์ 9014 2 ตัว
Q3 และ Q4 – ทรานซิสเตอร์ NPN เบอร์ 9013 2 ตัว

อื่นๆ
VR1 – ตัวต้านทานปรับค่าได้แบบโปเทนชิโอมิเตอร์ 10kW แบบ B ขาลงแผ่นวงจรพิมพ์
S1 – สวิตช์เลื่อน 3 ขาลงแผ่นวงจรพิมพ์
T1 และ T2 – หม้อแปลงเอาต์พุตขนาดเล็ก 2 ตัว
SP1 – ลำโพง 8W 1W ขึ้นไป
กะบะถ่าน AA หนึ่งก้อนแบบมีสายต่อ, เทอร์มิน็อลบล็อก 2 ขาตัวเล็ก รุ่น DT-126 (3 ตัว), แผ่นวงจรพิมพ์

หมายเหตุ
– หม้อแปลงเอาต์พุตขนาดเล็กมีจำหน่ายที่ ร้านอีเลคทรอนิคส์พาร์ทซัพพลาย (EPS) หรือประกิตแอนด์เซอร์คิทในบ้านหม้อพลาซ่าชั้นสอง หรือร้านจำน่ายอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ในย่านบ้านหม้อ

รายการอุปกรณ์สร้างบ้านต้นไม้
แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 จำนวน 4 แผ่น
กระดาษสติ๊กเกอร์ 1 แผ่น
เสารองโลหะ 25 มม.
สกรู 3×10 มม. 2 ตัว
สกรูเกลียวปล่อย 2 มม. ยาว 6 มม. 8 ตัว
กาวร้อน
กาวซิลิโคน
ปืนยิงกาวพร้อมแท่งกาว

หมายเหตุ
แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 มีจำหน่ายที่ www.inex.co.th

Solar-Junk Amplifier คือ โครงงานเครื่องขยายเสียงที่ต้องการนำเสนอให้นักเล่นนักทดลองวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ได้รับทราบถึงการใช้งานอุปกรณ์พื้นฐานในการสร้างเป็นเครื่องขยายเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้อุปกรณ์อย่างหม้อแปลงเอาต์พุต และที่เป็นจุดเด่นซึ่งเน้นย้ำมาตลอดคือ การใช้แหล่งจ่ายไฟจากแบตเตอรี่เพียงก้อนเดียวสำหรับวงจรขยายเสียงแล้วเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และท้าทายนักเล่นโครงงานเครื่องเสียงที่ต้องการใช้ไฟเลี้ยงต่ำที่สุดในการสร้างเครื่องขยายเสียงโดยไม่พึ่งวงจรทวีคูณแรงดันในแบบต่างๆ

Solar-Junk Amplifier ไม่ใช่แอมป์ขยะ แต่มันคือ เครื่องขยายเสียงที่สร้างจากอุปกรณ์ที่ถูกลืม….


 

Categories
Basic electronics Gadget Toy คุณทำเองได้ (DIY)

DIY โทรโข่งขยายเสียง MEGAPHONE

เห็น​รับ​น้องใหม่​กัน​แต่ละ​ที มี​แต่​คน​เหม็นหน้า​พี่​ว้าก​แสน​โหด ตะโกน​อยู่​ได้​ทั้งวัน แต่​ใคร​จะ​รู้ว่า​หลังจากนั้น​พี่​แก​ต้อง​มา​นั่ง​กิน​ยารักษา​คอหอย​กัน​เป็น อาทิตย์ เฮ้อ.. ถ้า​ยังไงๆ ก็​ต้อง​ว้าก มัน​ก็​ต้องหา​เครื่อง​ทุ่นแรง​กัน​หน่อย​สิ​ครับ​พี่

ด้วย​สิ่ง​ประดิษฐ์​ง่ายๆ สร้าง​จาก​ขวด​น้ำ​พลาสติก​และ​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​อีก​ไม่​กี่​ตัว​ก็​สำเร็จ​เสร็จ​เป็น​โทรโข่ง อย่าง​นี้​น้องๆ สามารถ​ทำ​ไป​ให้​พี่​ว้าก และ​คน​ที่​ชอบ​ว้าก ถือ​ติดมือ​ไว้​คนละ​อัน​เลย

การทำงานของวงจร
เมื่อกดสวิตช์แล้วพูด ไมโครโฟน MIC1 จะทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าผ่านตัวเก็บประจุ C2 ไปเข้าขา 3 ของไอซีออปแอมป์เบอร์ TLC2272 ทำหน้าที่ขยายสัญญาณที่รับมาจากไมโครโฟนให้แรงขึ้นแล้วส่งออกทางขา 1 ผ่าน VR1 ค่า 100kΩ แบบเกือกม้า ทำหน้าที่ปรับอัตราขยายสัญญาณให้มีระดับความแรงที่เหมาะสม (หากปรับอัตราขยายสัญญาณนี้แรงเกินไป อาจทำให้เกิดการหวีดหรือไมค์หอน) จากนั้นสัญญาณนี้จะถูกส่งผ่านให้กับ VR2 ค่า 10kΩ สำหรับปรับความแรงสัญญาณตามความต้องการของผู้ใช้งานก่อนส่งไปเข้าขา 3 ของไอซีออปแอมป์ยอดนิยมเบอร์ LM386 เพื่อขยายสัญญาณออกทางขา 5 ไปขับลำโพง

รูปที่ 1 แสดงวงจรของ Megaphone

ดังนั้นระดับความแรงของสัญญาณเสียงที่ออกลำโพงจะขึ้นอยู่กับการปรับ VR2 10kΩ พูดง่ายๆ ก็คือทำหน้าที่เพิ่มและลดระดับความดังของเสียงที่ออกทางลำโพงหรือเป็นโวลุ่มปรับเสียงนั่นเอง

การ​ลง​อุปกรณ์​และ​ปรับ​แต่ง

รูปที่ 2 แสดงลายทองแดงของแผ่นวงจรพิมพ์ (ดาวน์โหลดลายวงจรพิมพ์ขนาดเท่าจริง)

รูปที่ 3 แสดงการวางอุปกรณ์บนแผ่นวงจรพิมพ์

(1) เริ่มจากทำแผ่นวงจรพิมพ์ตามลายทองแดงที่แสดงในรูปที่ 2 แล้วบัดกรีลง​อุปกรณ์​ตาม​รูป​ที่ 3 ไล่​ลำดับ​การ​วาง​และ​ค่อย​บัดกรี​จากอุปกรณ์​ตัว​เตี้ย​ที่สุด​ไป​ถึง​ตัว​ที่สูง​ที่สุด​ก็​คือ​ตัว​เก็บ​ประจุ สำหรับ​มือใหม่​ไม่​ควร​บัดกรี​ไอซี​ตรงๆ เพราะ​ความ​ร้อน​จาก​ปลาย​หัวแร้ง​อาจ​ทำให้​ไอซี​ได้รับ​ความ​เสียหาย ควร​ใส่​ซ็อกเก็ต​ไอซี​ด้วย เมื่อ​ติดตั้ง​อุปกรณ์​บน​แผ่น​วงจร​พิมพ์​เสร็จ​แล้วก็​เดินสาย​กับ​อุปกรณ์​ต่างๆ ได้แก่​ คอนเดนเซอร์​ไมค์ ให้​บัดกรี​สายไฟ​ออกมา​ทั้ง 2 ขั้ว​โดย​ให้​สาย​มี​ความ​ยาว​กว่า​ขวด​น้ำ​เล็กน้อย , สวิตช์​กด​ติด​ปล่อย​ดับ, โวล​ลุ่ม 10kΩ , ลำโพง และ​ขั้ว​แบตเตอรี่ 9V

(2) เมื่อ​บัดกรี​และ​เดินสาย​อุปกรณ์​เรียบร้อย ​ทดลอง​ต่อ​แบตเตอรี่ 9V แล้ว​กด​สวิตช์​กด​ติด​ปล่อย​ดับ​ค้าง​ไว้ หมุนโว​ลุ่ม 10kΩ ทวน​เข็ม​นาฬิกา​จน​สุด (คือ​การ​เร่ง​ให้​ดัง​ที่สุด) อาจ​ทำให้เกิด​เสียง​หอน​ ให้​ค่อยๆ ปรับ​ VR1 แบบ​เกือกม้าอย่าง​ช้าๆ จน​เสียง​หอน​นั้น​หายไป แล้ว​ปรับ​โว​ลุ่ม 10kΩ ตาม​เข็ม​นาฬิกา​ไป​จน​สุด (คือ​การ​ลดเสียงให้​เบา​ที่สุด) แล้ว​ลอง​พูด​ใส่​ไมค์​ไป​เรื่อยๆ พร้อมกับ​ค่อยๆ หมุน​โว​ลุ่มทวน​เข็ม ​เสียง​จะ​ต้อง​ดังขึ้น​เรื่อยๆ ​เป็นอัน​เสร็จการ​ปรับ​แต่ง

รูปที่ 4 การต่อสายไปใช้งาน

ขั้นตอน​การ​สร้าง
(1) นำ​ฝา​ขวด​พลาสติก​มา​เจาะ​รู​สำหรับ​ติดตั้ง​คอนเดนเซอร์​ไมค์ ดังรูป​ที่ 5 จากนั้น​ปลด​สายไฟ​ที่ต่อ​ไว้​กับ​แผง​วงจร​จาก​ขั้นตอน​การ​ปรับ​แต่งออกมา ใช้​กระดาษ​แข็ง​ตัด​เป็น​วงกลม​มา​ปิด​เอา​ไว้ เพื่อ​ช่วย​ป้องกัน​สัญญาณ​ของ​ไมโครโฟน​ไป​รบกวน ​ลำโพง​ทำให้​ลด​อาการ​เสียง​หวีด​หรือ​ไมค์​หอน​ขณะ​พูด


รูปที่ 5 ติดตั้งคอนเดนเซอร์ไมค์

(2) นำ​ขวด​น้ำ​พลาสติก​หรือขวดน้ำอัดลมขนาด 1.25 ลิตร ตัด​ส่วน​ก้น​ขวด​ออก​พอประมาณ แล้ว​เจาะ​รู​ติดตั้ง​สวิตช์​กด​ติด​ปล่อย​ดับ​และ​โวลุ่มในตำแหน่ง​ที่​มือของ​ผู้ใช้งาน​สามารถ​กด​ได้​ถนัด​ดัง​รูป​ที่ 6


รูปที่ 6 ตำแหน่งการเจาะรูติดตั้งสวิตช์และโวลุ่ม

(3) พอ​เตรียม​ขวด​น้ำ​เรียบร้อย​แล้วก็​มาถึง​ขั้นตอน​การ​ติดตั้ง​อุปกรณ์ลง​ไป​ ลำดับแรก​ให้​นำ​ฝา​ขวด​ที่​ติดตั้ง​คอนเดนเซอร์​ไมค์​ไว้​จาก​ขั้น​ตอนที่ (2) สอด​ปลายสาย​คอนเดนเซอร์ไมค์เข่าทาง​ปาก​ขวด​ เพื่อ​นำมา​ต่อ​กับ​แผง​วงจร จากนั้น​ติดตั้ง​สวิตช์​และ​ตาม​ด้วย​โว​ลุ่ม​ก็​จะ​ช่วย​ให้​แผง​วงจร​ถูก​ยึด​กับ​ขวด​ไป​ด้วย​ แต่​ไม่​ควร​วางใจ ให้เสริม​ความ​แข็งแรง​ด้วย​กาว​สองหน้าอีกที อ๊ะๆ อย่าลืม​ใส่​แบตเตอรี่ 9V ใน​ขั้น​ตอนนี้​นะ​ครับ

(4) ขั้นตอน​สุดท้ายนี้​เป็น​ส่วน​ของ​การ​ติด​ตั้งตัว​ลำโพง ให้​นำกระดาษ​แข็ง​หรือ​แผ่น​ฟิวเจอร์​บอร์ด (พี​พี บอร์ด) หนา​ประมาณ 3 ถึง 5 มิลลิเมตร ตัด​เป็น​แผ่น​วงกลม​ขนาด​เส้น​ผ่าน​ศูนย์กลาง​เท่ากับ​ก้น​ขวด​ที่​ถูก​ตัด​ออกไป เพื่อ​ใช้​เป็น​ฐาน​สำหรับ​ยึด​ลำโพง แล้ว​ใช้​กาว​สองหน้า​ยึด​เข้ากับ​แม่เหล็ก​ของ​ลำโพง เมื่อ​แน่นหนา​ดีแล้ว ก็​ให้​ยัด​เข้าไป​ใน​ขวด​พลาสติก​ดัง​รูป​ที่ 7 ก็​เป็นอัน​เสร็จ​การ​ติดตั้ง​ลง​ขวด​แล้ว​ครับ


รูปที่ 7 Megaphone แบบเสร็จสมบูรณ์

การ​ทดสอบ

หลังจาก​ประกอบ​เสร็จ​แล้วก็​มา​ทดสอบ​เสียง​กัน​ก่อน​จะ​นำไป​มอบให้​กับ​พี่​ว้ากของ​เรา โดย​เริ่มจาก​การ​กด​สวิตช์​กด​ติด​ปล่อย​ดับ​ค้าง​ไว้​แล้ว​ลอง​พูด​เข้าที่​ไมค์ จะ​ต้อง​ได้ยิน​เสียง​ออก​ทาง​ลำโพง หาก​เงียบ​เหมือนเป่า​ครก ก็​ให้​ลอง​หมุน​โว​ลุ่ม​จน​ได้ยิน​เสียง​ก็​เท่านี้​เอง​ครับ

เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้วครับสำหรับสิ่งประดิษฐ์ช่วยว้าก ง่ายๆ แค่นี้ลองทำเล่นกันดูครับ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ก็ตลาดซะขนาดนี้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ขอให้สนุกกับของเล่นใหม่และถูกใจคนชอบว้ากนะครับ

รายการอุปกรณ์

ตัวต้านทาน ¼ W 5%

R1 – 1kΩ 1 ตัว
R2 – 10 kΩ 1ตัว
R3, R4 – 100 kΩ 2 ตัว
R5 – 4.7 kΩ 1 ตัว
R6 – 10Ω 1 ตัว
VR1 – 100 kΩ แบบเกือกม้า 1 ตัว
VR2 – 10kΩ แบบโปเทนชิโอมิเตอร์ 1 ตัว

ตัวเก็บประจุชนิดโพลีเอสเตอร์

C2, C5, C6 – 0.1µF 50V หรือ 63V 3 ตัว

ตัวเก็บประจุชนิดบอิเล็กทรอไลต์

C1 – 47µF 16V หรือ 25V 1 ตัว
C3 – 100µF 16V 1 ตัว
C4 – 22µF 16V หรือ 50V 1 ตัว
C7 – 470µF 16V 1 ตัว

คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน 1 ตัว

อุปกรณ์​สาร​กึ่ง​ตัวนำ

IC1 – TLC 2272 1 ตัว
IC2 – LM 386N-1 1 ตัว

อื่นๆ

สวิตช์กดติดปล่อยดับ 1 ตัว
ซ็อกเก็ตไอซี 8 ขา 2 ตัว
ลูกบิดสำหรับ VR2 1 ตัว
ลำโพงขนาด 0.25W 8Ω 1 ตัว
ขวดน้ำขนาด 1.25 ลิตร 1 ขวด
แบตเตอรี่ 9V 1 ก้อน
ขั้วแบตเตอรี่สำหรับแบตเตอรี่ 9V 1 อัน
แผ่นกระดาษแข็งหรือฟิวเจอร์บอร์ด หนา 3 ถึง 5 มม.
ขนาด 1×1 ฟุต


 

Categories
Gadget Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Spa Lighting

โครงงานสำหรับคนรักสุขภาพ นำแสงสีต่างๆ ที่มีความหมายแตกต่างกัน ช่วยผ่อนคลายและบำบัดความเครียดจากการทำงานหนักของคนในสังคมเมือง ด้วย Spa lighting ใช้ลอยน้ำให้แสงสี 7 สี “เพียงแค่พลิกฝ่ามือสีก็เปลี่ยน”

การใช้สีบำบัด (Color Therapy)
เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในแวดวงแพทย์ทางเลือกว่าสีมีผลต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของร่างกายของมนุษย์ด้วย จากการศึกษายังพบว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแสงที่สลัว อย่างเช่น ตอนฝนกำลังจะตกจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกเศร้าหมองตามไปด้วย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นน่ะหรือ

สมาคมแพทย์ทางเลือกกล่าวไว้ว่าเมื่อยามเจ็บป่วยทำให้จังหวะการทำงานของอวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติ ในขณะที่แสงและสีแต่ละสีก็มีความยาวคลื่นแสงและความถี่ที่แตกต่างกันออกไปและส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบประสาทรวมทั้งสามารถช่วยเสริมสร้างจังหวะการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะในร่างกายได้ ดูประโยชน์ของสีแต่ละสีได้จากตาราง

แนวคิดการทำงานของวงจร
หัวใจของการสร้างไฟสีสวยๆ นั้น มาจากหลอด LED ที่มีสีแดง, เขียว และน้ำเงิน ซึ่งเป็นแม่สีของแสงในหลอดเดียว และผสมกันเป็นสีต่างๆ วงจรนี้จะสร้างสีพื้นฐานทั้งหมด 7 สี ซึ่งสีที่ได้ก็จะเรียงเหมือนกับโลโก้ของช่อง 7 สีเลยครับ คือ แดง น้ำเงิน ม่วง เขียว เหลือง ฟ้าคราม และขาว


รูปที่ 1 แสดงแม่สีแมื่อวางซ้อนกันจะได้สีต่างๆ

โดย LED ที่เลือกใช้เป็นตัวถังแบบ SMD เบอร์ LRGB9553 (หาซื้อได้ที่ อีเลคทรอนิคส์ ซอร์ส) ที่เลือกใช้ตัวนี้เพราะต้องการความสว่างมากพอสมควร มีมุมกระจายแสงที่กว้าง ขนาดเล็กเพื่อไม่ให้บังแสงไฟที่เกิดขึ้น

ถามถึงวงจรที่เลือกใช้ในครั้งนี้ ไม่ซับซ้อน วุ่นวาย ไม่ต้องใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ ไม่มีโปรแกรมอะไรทั้งนั้น ถ้าเป็นมือใหม่ ก็ใช้ฝีมือประกอบวงจรและบัดกรีให้ถูกต้องก็พอ โดยหัวใจในการทำงานของวงจรเป็นไอซีนับเลขฐานสองเบอร์ CD4040 ตัวเดียวเท่านั้น

เลขฐานสองจะเกี่ยวกับการผสมสีได้ยังไง?
มาดูลำดับของค่าที่ได้จากไอซีนับกันก่อน โดยให้ดูเฉพาะเลข 3 บิตล่างเท่านั้น จะมีอยู่เพียง 8 ลำดับเท่านั้น

เริ่มจาก 000 ⇒ 001 ⇒ 010 ⇒ 011 ⇒ 100 ⇒ 101 ⇒ 110 ⇒ 111 หลังจากนั้นค่าจะทดไปบิตที่สี่และสามบิตนี้จะวนนับค่านี้ไปเรื่อยๆ สังเกตเห็นอะไรไหมครับ ถ้าแทนตำแหน่งบิตขวาสุดด้วยสีแดง, ตำแหน่งบิตตรงกลางด้วยสีน้ำเงิน และตำแหน่งบิตซ้ายสุดด้วยสีเขียว โดยถ้าตำแหน่งไหนเป็น “0” ก็ไม่มีไฟติด และตำแหน่งที่เป็น “1” ก็ให้ไฟติด ก็จะได้ผลลัพธ์ดังตาราง


ตารางที่ 2 การลำดับค่าของไอซีนับในแต่ละบิต

พอเห็นแบบนี้ ก็จัดการวางวงจรขับ LED ต่อกับไอซี 4040 ได้เลย โดยต่อขา Q1 กับวงจรทรานซิสเตอร์ขับกระแสสำหรับสีแดง, ขา Q2 สำหรับวงจรขับสีน้ำเงิน และ ขา Q3 สำหรับวงจรขับสีเขียว ส่วนขา Q อื่นๆ ไม่ใช้ครับ เพราะเราสนใจแค่ 3 บิตล่างเท่านั้น


รูปที่ 2 วงจร Spa Lighting

หลัง​รูปแบบ​การ​ผสม​สี​เรียบร้อย​แล้ว ก็​มา​ดู​เรื่อง​การ​สั่งงาน​กัน​บ้าง ใน​เมื่อ​สี​ของ​ลูกบอล​แสง​สามารถ​เปลี่ยน​ได้ 7 สี และ​สภาวะ​ไฟ​ดับ​ทั้งหมด รวม 8 ลำดับ​แล้ว ข้อแม้​ใน​การ​เปลี่ยนสี​ของ​ลูกบอล​จะ​เกิด​จาก​การ​ป้อน​สัญญาณ​เข้าไป​ที่​ขา CLK ของ​ไอซี 4040 โดย​ป้อน​สัญญาณ​ลูก​หนึ่ง จะ​เพิ่มค่า​นับ​ทีละ “1” เช่นกัน โดย​ขา CLK จะ​รับสัญญาณ​จังหวะ​สัญญาณ​เปลี่ยน​จาก​ลอจิก​สูง​มา​ลอจิก​ต่ำ และ​เป็น​แบบชมิตต์ทริกเกอร์ ซึ่งเหมาะสำหรับ​รับสัญญาณ​จาก​อุปกรณ์​ตรวจจับ​ภายนอก​ได้ดี โดย​มี​การ​ต่อตัว​ต้านทาน​พูลอัป​เอา​ไว้​แล้ว

การเปลี่ยนสีของลูกบอล
คราวนี้มาลองนึกถึงการใช้งานดูครับว่าเวลาจะเปลี่ยนสีลูกบอลนั้น ถ้าจะใช้สวิตซ์กดธรรมดาพื้นๆ ที่มีขายกันอยู่ทั่วไปมากดๆ ใช้งาน ก็จะดูน่าเบื่อมิใช่น้อย แต่จะใช้ตัวตรวจจับแปลกๆ ก็จะดูวุ่นวายไปกันใหญ่

อย่างนี้ต้องทำให้ใช้ง่าย “แบบพลิกฝ่ามือ“ สิครับ

เซนเซอร์ตรวจจับการพลิกฝ่ามือ? ใช้อะไรดี หาซื้อได้ง่ายมั้ย หรือทำเองได้หรือเปล่า

ตัวตรวจจับที่สามารถเอามาใช้ได้มีหลากหลายแบบครับ ไม่ว่าจะเป็นสวิตช์ปรอท หรือจะเป็นสวิตช์ตรวจจับแรงโน้มถ่วงหรือ Gravity sensor ก็ดี แต่ดีเกินไปสำหรับงานนี้

ตัวที่แนะนำคือสวิตช์ตรวจจับระดับแบบลูกเหล็กครับ หลักการจะคล้ายๆ กับสวิตช์ปรอท แต่จะเปลี่ยนจากโลหะปรอทที่เป็นของเหลว เป็นลูกเหล็กกลมๆ แทน เวลาเอียงหรือเขย่า จะได้ยินเสียง กุกๆ กักๆ ให้ความรู้สึกที่ดีว่าเขย่าแล้วและพอหาซื้อได้ในร้านแถวบ้านหม้อ

ในวงจรจะใช้สวิตช์ต่อเข้ากับตัวต้านทาน 220Ω และตัวเก็บประจุ 10µF เพื่อเวลาต่อวงจร เพื่อลดการเกิดบาวซ์ หน้าสัมผัสสวิตช์ ที่จะทำให้เกิดสัญญาณรบกวนและทำงานซ้อนได้ ทำให้การทำงานมีเสถียรภาพมากขึ้น พลิกมือหนึ่งครั้ง จะได้สัญญาณ 1 ลูกแน่นอนมากขึ้น

ดูที่ขาสัญญาณรีเซต จะต่อวงจร RC เพื่อทำหน้าที่ล้างค่านับเป็น 000 ให้ LED ดับ

การประดิษฐ์เซนเซอร์ตรวจจับการพลิกฝ่ามือ
ถ้าหาซื้อเซนเซอร์ไม่ได้ หรืออยากทำเองก็ไม่ยากครับ หาลวดทองเหลืองหรือขาคอนเน็กเตอร์ชุบทองได้จะดีมาก ใช้ยางลบหมึกขัดขาคอนเน็กเตอร์ให้สะอาด ดัดเป็นมุมฉาก 2 ชิ้น จากนั้นหาเสารอง PCB พลาสติกสีดำตัวยาว ที่มีขายตามแผงลอยย่านบ้านหม้อ มาเจาะรูสองรูทะลุทั้งสองฝั่ง จากนั้นนำลวดที่เตรียมไว้มาร้อยรูดังรูป

จากนั้นหาเม็ดลูกปืนกลมๆ ขนาดประมาณ 2 ถึง 3 มม. เช็ดให้สะอาด ใส่เข้าไปในรู จากนั้นเจาะรูด้านล่างทะลุตรงกลาง แล้วเอาลวดร้อยปิดไม่ให้ลูกเหล็กหลุดออกมา ลองเขย่าจะต้องมีเสียง และเมื่อเอามิเตอร์วัดที่ปลายลวดสองเส้นด้านบน จะต้องต่อวงจรเมื่อเขย่าลูกเหล็กไปแตะขั้วทั้งสองพร้อมกัน ก็จะได้สวิตซ์ตรวจจับการเขย่า ฝีมือเราเองแล้ว

วงจรภาคจ่ายไฟ
วงจรส่วนถัดมาเป็นวงจรไฟเลี้ยง โดยได้รับแรงดันจากแบตเตอรี่ขนาด AAA 3 ก้อน ซึ่งเพียงพอสำหรับไอซี 4040 รวมถึงการขับ LED ให้ติดสว่างได้ โดยวงจรนี้ได้เพิ่มเติมวงจรไดโอดเรียงกระแสแบบบริดจ์ เพื่อต่อกับวงจรประจุแบตเตอรี่ภายนอกลูกบอล เพราะเวลาใช้งานจริงเราจะผนึกลูกบอลให้กันน้ำ ดังนั้นเวลาไฟหมด จะแกะออกมาเปลี่ยนก้อนใหม่ก็ทำไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีการต่อภายนอกแทน และเมื่อต่อลูกบอลเข้ากับวงจรประจุแรงดันแล้ว ไฟที่ส่งเข้ามาจะผ่านไปยังไดโอด 1N4148 ซึ่งจะต่อพ่วงไปที่ขารีเซต ทำให้แสงไฟที่อาจจะเปิดค้างอยู่ก่อนหน้านี้ กลับไปที่สถานะ 000 ไฟจะดับหมด เพื่อให้ประจุแรงดันได้อย่างเต็มที่

การประกอบสร้างวงจร
ในส่วนของการสร้าง หลังจากที่ได้แผ่น PCB มาแล้วให้ตัด-แต่งจนได้แผ่นกลมสวยงาม ค่อยๆใส่อุปกรณ์เรียงลำดับจากตัวเตี้ยไปหาตัวสูง และไอซี 4040 ก็บัดกรีลงไปเลยครับ ไม่ต้องใช้ซ็อกเก็ตก็ได้ เชื่อฝีมือกันอยู่แล้ว ถัดมาเป็นตัวเก็บประจุที่ต้องพับขาวางนอน และดูขั้วให้ดีก่อนใส่เสมอ


รูปที่ 3 ลายทองแดงของ Spa Lighting (ดาวน์โหลดลายวงจรพิมพ์ขนาดเท่าจริง)

รูปที่ 4 การลงอุปกรณ์ทั่วไปบนแผงวงจร

รูปที่ 5 การติดตั้ง LED และตัวเก็บประจุด้านที่เป็นลายทองแดง

ทรานซิสเตอร์ KTD1146 แนะนำให้เผื่อขาไว้พับ โดยหงายเบอร์ขึ้นด้านบน เพื่อให้ความสูงอุปกรณ์น้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ตอนยึดกะบะถ่านให้ขั้นตอนสุดท้าย

เรื่องค่าตัวต้านทาน RR, RB และ RG นั้น เป็นตัวต้านทานที่จำกัดกระแสไหลผ่าน LED ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความสว่างในแต่ละสี RR เป็นของสีแดง, RB เป็นของสีน้ำเงิน และ RG เป็นของสีเขียว ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้ค่า 220Ω เท่ากันหมด ซึ่งจะให้กระแสไหลผ่าน LED ไม่มากจนเกินไป และได้ความสว่างที่เหมาะกับลูกบอลที่ใช้งาน สำหรับคนที่อยากจะปรับแต่งความสว่างของแต่ละสี ก็สามารถเพิ่มหรือลดค่าความต้านทานได้ตามชอบ แต่ก็ไม่ควรใช้ค่าต่ำกว่า 120W เพราะจะทำให้กระแสไหลผ่านสูงเกินไป จนอาจทำให้ LED ร้อนและเสียหายได้

จากนั้นใส่ไดโอดบริดจ์ ดูทิศทางให้ถูกต้อง ต่อสายไฟเชื่อมจุด 1-R , 2-B , 3-G และลวดจัมป์แถวๆ ไฟ + และต่อสายไฟจากกะบะถ่าน และต่อสายไฟที่จุดไฟเข้า เผื่อออกมาไว้ก่อน ดังรูปที่ 5

สังเกตว่าวงจรนี้มีการวางอุปกรณ์สองด้าน อุปกรณ์ส่วนใหญ่วางอยู่ปกติ ส่วน LED LRGB9553 จำนวน 6 ดวง และตัวเก็บประจุ 0.1 µF (ที่อยู่ตรงกลาง) บัดกรีไว้ด้านลายทองแดง การบัดกรี LED แบบ SMD ให้ใช้ความระมัดระวัง เพราะตัวเล็กและต้องดูทิศทางให้ดีก่อนบัดกรีเสมอ สังเกตง่ายๆ ว่า ทิศของมุมบากขา 1 จะเรียงชี้วนตามเข็มนาฬิกา

ส่วนสวิตช์ลูกเหล็กที่ทำไว้ ก็ให้ใส่ด้านอุปกรณ์ตามปกติ แล้วบัดกรีให้เรียบร้อย ตรวจสอบความถูกต้องให้แน่ใจอีกครั้ง หงายแผ่นวงจรให้ LED หันหน้าขึ้นด้านบนก่อน

การทดสอบ
นำแบตเตอรี่แบบประจุได้ขนาด AAA 3 ก้อนใส่ในกะบะถ่านให้เรียบร้อย LED จะยังคงดับอยู่ เมื่อพลิกวงจรคว่ำลง แล้วหงายหน้าขึ้นมา LED จะต้องเปล่งแสงสีแดงออกมา และเมื่อคว่ำลงอีกครั้งแล้วหงายหน้าขึ้นมาใหม่ สีจะต้องเปลี่ยนตามจังหวะที่กำหนดเอาตามตารางก่อนหน้านี้ ถ้าสีใดขาดหายไปทั้งหมด ให้ตรวจสอบวงจรทรานซิสเตอร์ที่สีนั้นๆ รวมถึงสายไฟที่เชื่อมออกมาด้วยว่าถูกต้องหรือไม่ แต่ถ้าหากมีเฉพาะบางดวงที่ดับไป หรือสีหายไปเป็นบางจุด ให้ถอดแบตเตอรี่ออกก่อน แล้วตรวจสอบจุดบัดกรี LED และอย่าให้ตะกั่วลัดวงจรได้

การทำลูกบอลสำหรับใส่วงจร
สำหรับลูกบอลที่ใช้นี้เป็นบอลพลาสติกใส (หาซื้อได้แถวสำเพ็งร้านที่มีภาชนะพลาสติกเยอะๆ ร้านไหนก็ได้ มีแทบทุกร้าน) มีส่วนประกบกัน 2 ส่วนเป็นส่วนฝาและส่วนรองรับแผงวงจร แต่เพื่อความสวยงามและต้องการให้แสงกระจายให้สีที่นุ่มนวลกับสายตามากขึ้นจึงต้องลงมือตกแต่งสีด้วยการพ่นสีสเปรย์สีขาว โดยให้พ่นด้านในของลูกบอล แต่ก่อนพ่นต้องห่อหุ้มผิวด้านนอกเสียก่อน อาจใช้เทปกระดาษกาวแปะกับกระดาษหนังสือพิมพ์เพื่อป้องกันสีไปเลอะบริเวณผิวด้านนอกของบอลดังรูปที่ 6


รูปที่ 6 การทำสีให้เป็นบอลสปา


รูปที่ 7 ทำสีเสร็จแล้วพร้อมประกอบ

เมื่อได้บอลที่ทำสีแล้ว ให้เจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มม. ที่ฝาด้านล่างดังรูปที่ 10 จำนวน 2 รู โดยเจาะห่างกันประมาณ 4 ซ.ม. เพื่อใส่ตะปูเป๊กเป็นจุดต่อกับชุดวงจรประจุไฟ ที่เรากำลังจะทำในขั้นต่อไปแล้วใช้กาวร้อน กาวแท่ง หรือกาวยางติดยึดตะปูและอุดรูกันน้ำให้เรียบร้อย แล้วบัดกรีต่อสายไฟเข้ากับแผ่นวงจร ทดสอบวงจรของลูกบอลอีกครั้งว่าไฟยังคงทำงานถูกต้องทุกสี ทุกหลอด แล้วถอดแบตเตอรี่ออกก่อน


รูปที่ 8 เจาะรูเพื่อติดตะปูเป็กสำหรับเป็นจุดประจุแบตเตอรี่

วงจรประจุไฟให้บอลแสง
ส่วนของวงจรประจุแบตเตอรี่ ใช้ไฟจากอะแดปเตอร์ 9V ผ่านวงจรไดโอดเพื่อจัดเรียงขั้วไฟให้ถูกต้องเสมอ แล้วผ่านไอซี LM317T ที่จัดวงจร เพื่อจ่ายกระแสคงที่ คำนวณจากสูตร

I set = 1.2 / RS

ในที่นี้ RS มีค่า 15W กระแสที่จ่ายได้มีค่าประมาณ 80mA. ถ้าคิดคร่าวๆ การประจุแบตเตอรี่ AAA ความจุ 800 mAh ได้เต็ม จะใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงนั่นเอง แต่ถ้าใจร้อน ก็สามารถลดค่า RS ลงได้ เพื่อให้กระแสไฟออกมากขึ้น แต่ก็จะทำให้ไอซี LM317T ร้อนมากขึ้นและต้องติดแผ่นระบายความร้อนเพิ่มเติมด้วย แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรตั้งค่ากระแสไฟออกมากกว่า 200mA เพราะจะทำให้เกิดความร้อนมากทั้งตัววงจรประจุและแบตเตอรี่ที่อยู่ในลูกบอลด้วย รวมถึงวงจรนี้ไม่ได้ออกแบบให้ตัดไฟเมื่อประจุเต็มแล้ว ทำให้ถ้ายังคงจ่ายกระแสต่อไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อายุการใช้งานของแบตเตอรี่อาจจะเสื่อมเร็วกว่าปกติได้ ส่วน LED สีเขียว จะแสดงสถานะให้ทราบว่ามีไฟเข้า และไฟ LED สีแดงจะติดเมื่อมีการต่อลูกบอลเข้ากับจุดต่อไฟครบวงจรและเริ่มการประจุไฟ


รูปที่ 9 วงจรประจุแบตเตอรี่ของลูกบอลแสง


รูปที่ 10 ลายทองแดงและการวางอุปกรณ์ของวงจรชาร์จ  (ดาวน์โหลดลายวงจรพิมพ์ขนาดเท่าจริง)

สร้าง​แท่น​ยึด​วงจร​ประจุ​ไฟ​และ​รองรับ​การ​วาง​ของ​บอล​แสง
สำหรับแท่นยึดวงจรประจุแบตเตอรี่นั้น ทำจากแผ่น พลาสวูดสีขาวขนาดหนา 5 มม. ตัดให้มีส่วนโค้งด้วยวงเวียนใบมีดตามแบบในรูปที่ 11 ดูเข้ากันกับลูกบอลแสงของเรา จุดที่จะต่อกับตะปูเป๊กที่อยู่บนลูกบอลนั้น เลือกใช้กระดุมแม่เหล็ก ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์งานฝีมือเย็บปักถักร้อย ถ้าซื้อของแถวบ้านหม้อแล้ว ให้เดินลงมาแถวย่านพาหุรัด สะพานหันและสำเพ็งรับรองว่ามีแน่นอนครับ เลือกเอาขนาดเล็กมา 1 คู่ ใช้เฉพาะฝั่งที่มีแม่เหล็กเพื่อดูดตะปูเป๊กจะได้นำไฟฟ้าได้ดีขึ้นดังรูปที่ 11
ประกอบวงจรประจุแบตเตอรี่และการทดสอบ

รูปที่ 11 ตัดแผ่นพลาสวูดตามแบบจำนวน 2 ชิ้นส่วนโค้งตัดด้วยวงเวียนใบมีด ยี่ห้อ OLFA สำหรับทำโครงสร้างของแท่นวงจรประจุไฟลูกบอลแสง

ทำการบัดกรีวงจรให้เรียบร้อย ต่อสายไฟออกไปยังกระดุมแม่เหล็กที่เจาะยึดไว้กับแผ่นพลาสวูด แล้วนำฉากเหล็กตัวจิ๋วที่ซื้อมาจากโฮมโปร ยึดสกรูเกลียวปล่อยเข้ากับฐานอีกทีหนึ่งดังรูปที่ 12  จากนั้นเสียบสายอะแดปเตอร์ 9 Vdc เข้าไป จะต้องเห็น LED สีเขียวติด และเมื่อนำลูกบอลที่ใส่แบตเตอรี่แบบประจุได้ มาเขย่าให้ LED ติดสีไหนก็ได้ โดยการหันด้านตะปูเป๊กดูดติดกับจุดกระดุมแม่เหล็กทั้งสองจุด LED ของลูกบอลจะต้องดับลง และ LED สีแดงที่แสดงสถานะ CHARGE จะต้องติดสว่างขึ้นมา เป็นอันใช้ได้

ตรวจสอบการทำงานทั้งหมดให้แน่ใจอีกครั้ง แล้วขันสกรู รองเสารองพลาสติก ยึดวงจรประจุไฟเข้ากับฐานให้เรียบร้อย อาจจะหาแผ่นสติ๊กเกอร์ปิดช่องขันสกรูให้ดูเรียบร้อยมากขึ้น และหากลูกยางรองฐานให้ดูมั่นคงมากขึ้น


รูปที่ 12 ประกอบแผ่นพลาสวูดที่ตัดแล้ว 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน

ผนึกลูกบอลขั้นสุดท้าย
เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผน ให้นำกะบะใส่แบตเตอรี่ ขนาด AAA 3 ก้อน ยึดเข้ากับแผ่นวงจรลูกบอลให้แน่นหนา ด้วยเทปโฟมกาวสองหน้าแบบแรงยึดสูง ให้ทดลองเขย่าดู จนมั่นใจว่าแน่นหนาดีแล้ว จากนั้นให้ใช้กาวร้อนหยดลงไปที่รอยประกบส่วนฝาล่างของลูกบอล แล้วนำฝาส่วนบนมาประกบโดยไม่ต้องประกบกันสนิทให้เผยอขอบให้เป็นร่องไว้ประมาณ 1 ถึง 2 มิลลิเมตรดังรูปที่ 13.2 รอให้กาวแห้งสัก 10 วินาที ทำการคาดเทปกระดาษกาวหรือเทปพันสายไฟที่กาวไม่เหนียวยืดอาจใช้ของ 3M ก็ได้ พันให้รอบขอบบริเวณรอยต่อของฝาบนและฝาล่าง เพื่อป้องกันการเลอะของกาวซิลิโคน

รูปที่ 13 การผนึกลูกบอลแสงให้กันน้ำได้

จากนั้น บีบกาวซิลิโคนลงไปตามร่องแล้วใช้นิ้วมือปาดซ้ำลงไปให้เนื้อกาวซิลิโคนอัดแน่นลงไปในร่องจนรอบลูกบอล วิธีนี้จะช่วยให้กันน้ำได้ดี เพราะซิลิโคนมีคุณสมบัติที่เหนียวและยืดหยุ่นตัวได้ดี

เมื่อปาดกาวซิลิโคนจนรอบลูกบอลแล้ว ให้ดึงเทปกาวที่คาดกันไว้ออกทันที ไม่ต้องรอจนกาวซิลิโคนแห้ง เพราะจะทำให้ลอกออกยาก จากนั้นปล่อยให้เนื้อกาวซิลิโคนแห้งสนิทประมาณ 4 ถึง 5 ชั่วโมงเป็นอันเสร็จพร้อมนำไปใช้งานในอ่างน้ำที่บ้านได้ทันที

การนำไปใช้งาน
สำหรับการนำไปใช้งานก็ไม่มีอะไรยุ่งยากแล้วครับ เพราะอย่างที่บอกว่าแค่พลิกฝ่ามือสีก็เปลี่ยน ดังนั้นในการใช้งานก็เพียงคว่ำลูกบอลแล้วหงายขึ้นก็ทำให้ LED ส่อง สว่างเป็นสีที่เราต้องการเรียงลำดับกันไปเรื่อยๆ ตามตารางที่ 2 และสามารถดูความหมายและประโยชน์ของสีต่างๆ ได้ในตารางที่ 1

**********************************************
รายการอุปกรณ์ลูกบอลแสง
**********************************************
R1,R2 – 10kΩ 1/8 ±5% 2 ตัว
R3,RR,RB,RG – 220Ω 1/8W ±5% 19 ตัว
R4-R6 2.2kΩ 1/8W ±5% 3 ตัว
C1 – 0.1µF 50V. แบบ MKT. ขากว้าง 5 มม. 1 ตัว
C2 10µF 16V. อิเล็กทรอไลต์ 2 ตัว
D1 1N5819 1 ตัว
D2 1N4148 1 ตัว
BD1 DB104G บริดจ์ไดโอด 1A. แบบตัวถัง DIP 1 ตัว
Q1-Q3 KTD1146 3 ตัว
IC1 CD4040 หรือ MC14040 1 ตัว
LED1-LED6 LRGB9553 ตัวถัง SMD 4 ขา 6 ตัว
SW1 สวิตซ์ตรวจจับแบบลูกเหล็ก 1 ตัว
อื่นๆ กะบะถ่าน AAA 3 ก้อน, แบตเตอรี่แบบประจุได้
ขนาด AAA 3 ก้อน, สายไฟ
กล่องลูกบอลใส, อุปกรณ์ทำสีเคลือบผิวด้านในกล่อง, ตะปูเป๊ก, กระดาษกาว

*******************************************************
รายการอุปกรณ์วงจรประจุแบตเตอรี่
******************************************************
R1,R2 1kΩ 1/4W ±5% 2 ตัว
R3 15Ω 1/2W ±5% 1 ตัว
C1 220µF 16V. อิเล็กทรอไลต์ 2 ตัว
D1-D2 1N4001 2 ตัว
BD1 DB104G บริดจ์ไดโอด 1A. แบบตัวถัง DIP 1 ตัว
LED1 สีแดง 3 mm. 1 ตัว
LED2 สีเขียว 3 mm. 1 ตัว
IC1 LM317T 1 ตัว
J1 แจ๊คอะแดปเตอร์ 1 ตัว
อื่นๆ กระดุมแม่เหล็ก, แผ่นพลาสวูด, สายไฟ, เสารอง PCB พลาสติกตัวสั้น, สกรู 3 x 15มม.หัวตัด พร้อมนอต, ฉากเหล็กตัวจิ๋ว


 

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Alarm Touch

สร้างสิ่งประดิษฐ์อันน่าฉงน แค่สัมผัสเส้นด้ายก็ส่งเสียงเตือน ไม่ต้องใช้เซนเซอร์อะไรให้ยุ่งยาก ติดตั้งเข้ากับกระเป๋าสะพายของน้องหนูกันหาย ใครหยิบเป็นต้องร้อง ดีมั้ยล่ะครับ หรือจะเอาไปแขวนไว้ที่ลูกบิดประตู
พอใครมาจับลูกบิด ก็จะส่งเสียงเพลงเตือนไม่ต้องเคาะประตูเลย

บ่อยครั้งที่บุตรหลานของท่าน มักประสบกับปัญหาของในกระเป๋าหายขณะอยู่ที่โรงเรียน ในเมื่อเราแก้ที่คนอื่นไม่ได้ ก็มาคิดวิธีเตือนง่ายๆ กันดีกว่า มองไปมองมา เจอด้ายนำไฟฟ้าที่ยังเหลืออยู่บนโต๊ะทำงาน เลยปิ๊งไอเดียในการใช้ด้ายนำไฟฟ้ามาเย็บไว้กับกระเป๋าในส่วนที่คนจะต้องจับ ก็คือหูหิ้ว แล้วก็ออกแบบวงจรอีกนิดหน่อยที่สามารถตรวจจับการสัมผัสได้ เพื่อซ่อนไว้ในกระเป๋า แล้วเอาด้ายนำไฟฟ้ามามัดเอาไว้ตรวจจับ

การทำงานของวงจร
จากวงจรในรูปที่ 1 เริ่มจากแหล่งจ่ายไฟที่ได้มาจากแบตเตอรี่ 4 ก้อนได้แรงดัน 6V ทำหน้าที่เลี้ยงวงจรทั้งหมดรวมทั้ง IC1 เบอร์ LM555 ที่ทำหน้าที่ 2 ประการด้วยกันคือ รับการกระตุ้นจากการสัมผัสและหน่วงเวลาเพื่อให้ไอซีเสียงเพลงทำงานด้วยระยะเวลาที่ต้องการ


รูปที่ 1 วงจรสมบูรณ์ของ Alarm Touch

ส่วนรับการกระตุ้นจากการสัมผัสจะมีตัวต้านทาน R1 และตัวเก็บประจุ C1 ต่อเป็นวงจรกรองความถี่ต่ำผ่าน เพื่อไม่ให้วงจรทำงานเมื่อเกิดสัญญาณรบกวนจากภายนอก เมื่อได้รับการกระตุ้น IC1 จะให้ขา 3 มีลอจิกเป็น “1” (แรงดันใกล้เคียงไฟเลี้ยง ) เป็นระยะเวลาประมาณ 11 วินาที ซึ่งคำนวณมาจากสูตรการหาค่าคาบเวลาของไอซี LM555

ค่าคาบเวลา = 1.1 x R2 x C2
แทนค่า C2 = 100 µF = 100 x 10-6
R2 = 100 kΩ
ค่าคาบเวลา = 1.1 x (100 x 10-6) x (100 x 103 )
= 11 วินาที

ซึ่งค่าคาบเวลานี้จะใช้เพื่อจ่ายไฟให้กับ IC2 ไอซีเสียงเพลงเบอร์ UM66 ขับเสียงเพลงไประยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะหยุดทำงาน โดยปกติไอซี UM66 สามารถขับลำโพงได้ทันทีโดยไม่ต้องต่อวงจรเพิ่ม แต่เสียงจะดังเบาเกินไปในที่นี้จึงใช้ทรานซิสเตอร์ Q1 เบอร์ BC547 ทำหน้าที่ขยายสัญญาณเสียง โดยมีตัวต้านทาน R3 ทำหน้าที่จำกัดกระแส

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/4w ±5% หรือ ±1%
R1 : 10kΩ 1 ตัว
R2 : 100kΩ 1 ตัว
R3 : 4.7kΩ 1 ตัว

ตัวเก็บประจุ
C1 : 33pF เซรามิก 1 ตัว
C2 : 100μF 16V อิเล็กทรอไลต์ 1 ตัว

อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 : ไอซี LM555 1 ตัว
IC2 : ไอซีเสียงเพลง UM66 1 ตัว
Q1 : ทรานซิสเตอร์ BC547 1 ตัว

อื่นๆ
ซ็อกเก็ตไอซี 8 ขา 1 ตัว
ลำโพง 0.5Ω 8W 1 ตัว
กะบะถ่านขนาด AAA 4 ก้อน 1 ตัว
แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ 1 แผ่น

การสร้าง
จากวงจรที่ไม่ซับซ้อน ใช้แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แผ่นเดียวก็เพียงพอ ก่อนอื่นหาแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ลักษณะดังแสดงในรูปที่ 2 ใช้สว่านเซาะเอาลายทองแดงออกบางส่วน จากนั้นตัดแผ่นวงจรพิมพ์ให้ครอบคลุมลายทองแดงตามเส้นประก็จะได้ขนาดที่เราจะนำไปใช้ลงอุปกรณ์


รูปที่ 2 ตัดแผ่นวงจรพิมพ์ตามเส้นประ (ด้านลายทองแดง)


รูปที่ 3 แสดงตำแหน่งการวางอุปกรณ์และการตัดลายทองแดง

การติดตั้งอุปกรณ์ลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ เริ่มจากลวดจั๊มก่อน แนะนำให้ใช้ขาของตัวต้านทาน แต่สำหรับจุดที่อยู่ใกล้กันมากๆ อาจใช้ตะกั่วถมลายทองแดงทั้งสองข้างให้เชื่อมถึงกันก็ได้ อ้อ อย่าลืมบัดกรีสายต่อระหว่างขา 8 และขา 4 ของไอซี LM555 ที่แผ่นวงจรพิมพ์ด้านล่างด้วยนะครับ

จากนั้นบัดกรีตัวต้านทาน,ตัวเก็บประจุ,ซ็อกเก็ตไอซี,ไอซี UM66 และทรานซิสเตอร์ตามลำดับ แล้วจึงค่อยบัดกรีสายไฟที่เชื่อมต่อไปยังกะบะถ่าน และลำโพง สุดท้ายให้ใช้ขาอุปกรณ์ทำเป็นห่วงดังรูปที่ 4 ตรงจุดสัมผัส จัดวางอุปกรณ์ทั้งหมดลงบนแผ่นเพลตพลาสติกเพื่อให้เป็นชิ้นเดียวกันจะได้สะดวกเวลานำไปใส่ในกระเป๋า

รูปที่ 4 การต่ออุปกรณ์เพื่อนำไปใช้งานจริง

จับ Alarm Touch ลงกระเป๋า
(1) เริ่มด้วยการหากระเป๋าใบเก่งของน้องหนู จากนั้นหาเศษผ้าที่มีสีโทนเดียวกันมาทำซองผ้าให้กับแผงวงจร อย่าลืมเย็บเก็บชายผ้ากันมันหลุดลุ่ยด้วย


รูปที่ 5 เย็บเป็นถุงผ้า

(2) เย็บ​แถบ​ตีนตุ๊กแก​ติด​ไว้​ด้านหลัง​ของ​ซอง​ผ้า​และ​อีก​ชิ้น​ที่​เป็น​คู่​ของ​มัน​ก็​เย็บ​ติด​ไว้​ด้านใน​ของ​กระเป๋า​ดัง​รูป​ที่ 6


รูปที่ 6 เย็บตีนตุ๊กแกติดซองผ้าและด้านในกระเป๋า

(3) นำ​ผ้า​มา​เย็บ​เป็น​ปลอกหุ้ม​ที่จับ​ของ​กระเป๋า​ส่วน​ที่​เอา​ไว้​หิ้ว​นั่นแหละ​ครับ แล้ว​ใช้​แถบ​ตีนตุ๊กแก​ติด​อีก​เช่นเคย แต่​ที่​พิเศษ​หน่อย​ก็​คือ​ให้​ใช้​ด้าย​นำ​ไฟฟ้า​เย็บ​เดิน​แนว​ดัง​รูป​ที่ 7 เหลือ​ปลาย​ด้าย​นำ​ไฟฟ้า​ให้​ยาว​ประมาณ 15 ซม.


รูปที่ 7 หุ้มปลอกผ้าตรงหูจับของกระเป๋า

(4) ร้อยปลายด้ายนำไฟฟ้าที่เหลือไว้เข้ากับเข็มเย็บผ้าเบอร์ 7 แทงทะลุกระเป๋าเข้าไป เพื่อนำไปผูกกับขาอุปกรณ์ที่ทำเป็นห่วงไว้บนแผงวงจร เป็นอันเสร็จสิ้น


รูปที่ 8 ผูกด้ายนำไฟฟ้าที่แทงทะลุเข้ามาในกระเป๋าเข้ากับห่วงบนแผงวงจรที่ทำไว้

(5) ใส่แบตเตอรี่ขนาด AAA 3 ก้อนลงในกะบะถ่านให้เรียบร้อย แล้วใส่แผงวงจร Alarm Touch เข้าไปในถุงผ้า แปะเข้ากับตีนตุ๊กแกที่เย็บไว้ในขั้นตอนที่ 2


รูปที่ 9 สอดแผงวงจรที่ผู้ด้ายนำไฟฟ้าแล้วเข้าไปในถุงผ้า


รูปที่ 10 รูปหลังจากติดถุงผ้าเข้าไปในกระเป๋าแล้ว

ประโยชน์ในการนำไปใช้งาน
(1) นำไป​แขวน​ไว้​กับ​ลูกบิดประตู​เมื่อ​มี​คน​มา​จับ​ลูกบิดประตู​อีก​ด้าน​หนึ่ง วงจร​ก็​จะ​ส่งเสียง​เพลง​ทำให้​เรา​รู้ว่า​มี​คน​กำลัง​จะ​มาเยี่ยม​แล้ว

(2) ใช้ในที่ส่วนรวม เช่น วางไว้ในล็อกเกอร์ หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีชอบมารื้อของในกระเป๋า พอจับที่หูหิ้วของกระเป๋า Alarm Touch ก็จะส่งเสียงให้เรารู้ตัว

เพียงแค่​วงจร​ง่ายๆ กับ​อุปกรณ์​ไม่​กี่​ตัว​แถม​ยัง​ไม่​ต้อง​ทำ​แผ่น​วงจร​พิมพ์ ก็​สามารถ​สร้าง​เป็น​อุปกรณ์​เตือน​คน​มือบอน​ได้​แล้ว​ครับ


 

Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

Pillow Speaker

สำหรับผู้ที่รักในเสียงเพลง ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ ก็มักจะมีหูฟังคอยฟังเพลงอยู่ตลอดเวลา แล้วในยามนอนล่ะจะฟังอย่างไร ไอ้ครั้นจะใส่หูฟังนอนก็ไม่สะดวกเท่าไร  แต่ถ้าจะเปิดเครื่องเสียงล่ะก็ อาจจะเสียงดังเกินไป
จนรบกวนคนรอบข้างที่นอนอยู่ แล้วจะทำยังไงดีล่ะ นี่คือทางออกของผู้ที่รักเสียงเพลงครับ “Pillow Speaker” หรือหมอนลำโพงนั่นเอง จะใช้หนุนนอนเหมือนหมอนธรรมดาก็ได้ หรือจะใช้ฟังเพลงระหว่างนอนก็ดี แล้วเขาทำกันยังไงล่ะ ตามมาทางนี้เลย…

คิดแล้วยังเสียดายหูฟังคู่เก่งของกระผมไม่หาย ที่นอนทับจนสายขาด แต่จะโทษใครได้ล่ะก็ต้องโทษตัวเองนี่แหละ ที่อยากฟังเพลงก่อนนอน หากใครเคยเจอเรื่องแบบนี้ คงต้องหันมาดูไอเดียนี้กันแล้วครับ

Pillow Speaker สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องมีทักษะอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงลึกก็ทำได้แล้วครับ และที่สำคัญมันใช้งานได้ค่อนข้างดีทีเดียว เพราะขณะเราเอนศีรษะลงหมอน น้ำหนักศีรษะของเราจะกดหมอนลงไป ทำให้หูฟังที่ติดตั้งไว้ด้านในจะนูนขึ้นมาใกล้กับหูของเรา ทำให้สามารถได้ยินเสียงดนตรีได้อย่างชัดเจน แต่หากศีรษะใครเล็กก็หาหมอนที่มีขนาดไม่ใหญ่นักเวลานอนจะได้พอดี ลองมาดูการประดิษฐ์กันเลยครับ

เตรียมอุปกรณ์กันก่อน

รูปที่ 1 อุปกรณ์กองอยู่ตรงหน้าเตรียมลุย

1.หมอน ขนาดตามที่ต้องการ จำนวน 1 ใบ
2.หูฟังแบบครอบศรีษะ จำนวน 1 อัน
(จะใช้หูฟังเก่าที่ไม่ใช้แล้วก็ได้)
3.แจ็คสเตอริโอ ขนาด 3.5 ม.ม. จำนวน 1 ตัว
4.เข็มและด้าย (ด้ายให้ใช้สีตามสีพื้นของหมอน)
5.คัตเตอร์
6.กรรไกร
7.หัวแร้งและตะกั่วบัดกรี
8.ปลอกหมอน (แบบตามชอบ)
9. สายรัด

ขั้นตอน​การ​สร้าง​หมอน​ลำโพง
(1) ​นำ​หูฟัง​แบบ​ครอบ​ศีรษะ​ที่​เตรียมไว้​มา​ทำการ​แยก​เอา​ส่วน​ของ​ลำโพง​ออก​จากที่​ครอบ​


รูปที่ 2 หูฟังแบบครอบซื้อมือสองมาจากบ้านหม้ออันละ 30 กว่าบาท


รูปที่ 3 แยกส่วนประกอบหูฟังแบบครอบศีรษะ

(2) เมื่อ​แยกส่วน​หูฟัง​แล้ว จากนั้น​ก็​ทำการ​เลาะ​ตะเข็บ​ด้าน​ข้าง​ของ​หมอน​ออกด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อ​นำ​หูฟัง​เขัาไป​ติดตั้ง โดย​ใช้​คัตเตอร์​ค่อยๆ เลาะ​ด้าย​ออกมา


รูปที่ 4 เลาะตะเข็บข้างหมอนออกข้างใดข้างหนึ่ง

(3) สอด​หูฟัง​ที่​แยก​ไว้แล้ว เข้าไป​ติด​ด้านใน​ของ​หมอน โดยกะระยะให้หูฟังอยู่ 2 ด้านของศีรษะด้วยการทดลองกดตรงกลางหมอนหรือจะลองหนุนเพื่อทิ้งน้ำหนักของศีรษะลงตรงกลางหมอนเลยก็ดี จะทำให้เรารู้ระยะที่เหมาะสมของการติดตั้งหูฟัง เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วก็​ทำการ​ใช้ด้ายเย็บ​หูฟังติดกับหมอน เพื่อ​ไม่​ให้​หูฟัง​เลื่อนไป​มาได้


รูปที่ 5 หูฟังล่อนจ้อนเตรียมซุกในหมอน


รูปที่ 6 สอดเข้าไปในตำแหน่งเหมาะๆ


รูปที่ 7 เย็บหูฟังติดกับหมอน

(4) ​เก็บสายไว้ตามแนวตะเข็บขางหมอน แล้วปล่อยสายหูฟังออกมาด้านนอก ก่อนเย็บปิดผมใช้สายรัดล็อกสายสัญญาณส่วนที่อยู่ด้านใน เพื่อป้องกันสายหูฟังขาดเพราะอาจมีคนมาดึงปลายสาย (โดยเฉพาะแม่บ้านของกระผม) จากนั้นใช้ด้ายเย็บ​ปิดด้าน​ข้าง​ของ​หมอน​ให้สนิท


รูปที่ 8 สอดสายปลายสายหูฟังออกแล้วเย็บปิด

(5) เสร็จแล้วก็หาปลอกหมอนมาสวม หรืออาจวาดลวดลาย​บนปลอก​หมอน​ตามต้องการ โดย​ใช้​สี​สำหรับ​ย่อม​ผ้า เพื่อ​ความ​คงทน

(6) บัดกรีแจ็กสเตริโอตัวผู้ขนาด 3.5 มม. ที่ปลายสายสัญญาณก็เป็นอันพร้อมใช้แล้วครับ

การใช้งาน
แทบไม่ต้องอธิบาย ก็เสียบแจ๊กเข้ากับเครื่องเล่นเพลง แต่คุณภาพเสียงอาจไม่ดังสะใจเท่าการครอบกับหูโดยตรง แต่ยังไงก็สะดวกกว่าการครอบหูนอนก็แล้วกัน เพราะไม่มีสายเกะกะรุงรังกวนใจนะจะบอกให้


 

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Brake lamp Tester

หากคุณอยากรู้ว่าไฟเบรคของคุณทำงานปกติหรือไม่ คุณจะต้องทำอย่างไร?

คำตอบอยู่ที่นี่แล้วครับ ด้วยนวัตกรรมใหม่แห่งมนุษยชาติได้กำเนิดขึ้นแล้วที่นี่ที่เดียว กับอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบไฟเบรครถยนต์ ที่ใช้หลักการทำงานสุดแสนจะง่ายดาย แต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพในการทำงาน อาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียงไม่กี่ชิ้น กับฝีมือด้านการประดิษฐ์อีกเล็กน้อย ก็ได้ตุ๊กตาจุ๊บๆ ดูดติดไฟเบรคยามต้องการทดสอบว่าไฟเบรคของคุณยังทำงานปกติดีหรือไม่

​สิ่ง​ประดิษฐ์​ขนาดเล็ก​ก​ะทัด​รัด แต่ช่วย​ลดภาระคน​​ใช้​รถยนต์ เพราะ​ใน​ยาม​ที่​ต้องการ​ตรวจสอบ​ว่า​ไฟ​เบรค​ทำงาน​ดี​อยู่​หรือไม่ วิธี​ที่​ง่าย​ที่สุด​คือ เรียก​คน​มา​ช่วย​ดู​ที่​ท้าย​รถ​ขณะ​เรา​เหยียบ​เบรค หาก​ปกติ​ดี ไฟ​เบรค​ที่​ควร​ติด ก็​จะ​ติด แล้ว​ถ้าหากไม่มี​แม้​ใคร​สัก​คน​มา​ช่วย​ดู​ให้​ล่ะ​ จะทำไง​ดี..ง่าย​ที่สุด​ก็​หาทาง​จอด​รถ​ไว้หน้า​กระจก จากนั้น​ดู​การ​ทำงาน​ผ่าน​กระจก​มอง​หลังแต่ไอ้กระจกที่ว่านั้นจะหาได้ที่ไหนหนอ งั้นเรามา​ออกแรง​นิดหน่อย กับ​ลงทุน​เล็กน้อย มา​สร้างตัว​ช่วย​ตรวจสอบ​การ​ทำงาน​ของ​ไฟ​เบรค​กันดีกว่า

แนวคิด
ถ้าหาก​ไฟ​เบรค​มี​สภาพ​ดี เวลา​เหยียบ​เบรค ไฟ​ต้อง​ติด​สว่าง ถ้า​ไฟ​เบรค​เสีย มัน​ก็​ไม่ติด ดังนั้น​การ​ตรวจสอบ​จึง​ใช้​แสง​ของ​ไฟ​เบรค​นี่​ล่ะ​ครับ อุปกรณ์​ตรวจจับ​แสง​ที่​หา​ง่าย​ราคาถูก​คือ LDR หรือ​ตัว​ต้านทาน​แปร​ค่า​ตาม​แสง ใน​ภาวะ​ที่​ไม่มี​แสง​มา​กระทบ มัน​จะ​มี​ค่า​ความ​ต้านทาน​สูง​และ​ลดลง​เมื่อ​ได้รับ​แสง เมื่อ LDR ได้รับ​แสง​ก็​จะ​ทำให้​วงจร​ทำงาน​แล้ว​ขับ LED ให้​กะพริบ และ​กะพริบ​ไป​ตลอด​จนกระทั่ง​ปิดสวิตช์​จ่ายไฟ ดังนั้น​ใน​การ​ใช้งาน​จึง​ให้​นำ​ชุด​ตรวจสอบ​นี้​ไป​ติด​เข้าที่​ตำแหน่ง​ของ​ไฟ​เบรค แล้ว​เปิดสวิตช์จ่ายไฟ พอ​เหยียบ​เบรค แล้ว​ไฟ​เบรค​ทำงาน​ปกติ LDR จะ​ได้รับ​แสง​จาก​ไฟ​เบรค วงจร​จึง​ทำงาน แสดงผล​ด้วย​ไฟกะพริบ


รูป​ที่ 1 แสดง​วงจร​สมบูรณ์​ของ Break lamp Tester

วงจร​และ​การ​ทำงาน
แสดง​ใน​รูป​ที่ 1 อุปกรณ์​ที่​เป็น​หัวใจ​หลัก​คือ LDR1 และ SCR1 โดย​ใน​ภาวะ​ปกติ LDR1 ไม่​ได้รับ​แสง จะ​มี​ค่า​ความ​ต้านทาน​สูงมาก จน​ไม่มี​กระแสไฟฟ้า​ไหล​เข้าที่​ขาเกต (G) ของ SCR1 ทำให้ SCR1 ไม่ทำงาน เมื่อ LDR1 ได้รับ​แสงสว่าง​มากพอ ค่า​ความ​ต้านทาน​ลดลง จึง​เริ่มมี​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน LDR1 ไป​ยัง​ขาเกต​ของ SCR1 ได้ ทำให้ SCR1 ทำงาน เกิด​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน​ตัว​มัน​ไป​ทำให้ LED1 และ LED2 ทำงาน

LED1 และ LED2 เป็น LED แบบ​พิเศษ​หน่อย​ครับ มัน​เป็น​แบบ​กะพริบ​ได้​เมื่อ​ได้รับ​แรงดัน​ไบแอส​ตรง ดังนั้น​เมื่อ SCR1 ทำงาน​ก็​จะ​มี​แรงดัน​ไบแอส​ตรง​ให้​แก่ LED1 และ LED2 ทำให้​มัน​ทำงาน เป็น​ไฟกะพริบ 2 ดวง

ตัว​ต้านทาน R1 มี​ความ​สำคัญมาก ใน​ภาวะ​ที่ LED1 และ LED2 ดับ (เพราะ​การ​ทำงาน​เป็น​ไฟกะพริบ​จะ​ต้อง​มี​ช่วงเวลา​หนึ่ง​ที่​ดับ) หาก​ไม่มี R1 จะ​ทำให้เกิด​ภาวะ​วงจรเปิด ทำให้​มี​แรงดัน​ตก​คร่อม​ที่​ขา A (แอโนด) และ K (แคโทด) ของ SCR1 ส่งผลให้​มัน​หยุด​ทำงาน​เอง​ได้ เมื่อ​มี R1 ต่อ​เข้าไป จะ​ทำให้​มี​กระแสไฟฟ้า​ไหล 2 ทาง​คือ ทาง​หนึ่ง​ผ่าน LED1 กับ LED2 และ​ทาง​หนึ่ง​ผ่าน R1 ใน​สภาวะ​ที่ LED1 และ LED2 ดับ ก็​ยังคงมี​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน R1 ทำให้​แรงดัน​ที่​ขา A และ K ของ SCR1 ยังคงมี​อยู่ SCR1 จึง​ยัง​ทำงาน​อยู่​ต่อไป​ได้ จนกว่า​จะ​มี​การ​ปิดสวิตช์​จ่ายไฟ​เลี้ยง กระแสไฟฟ้า​ที่​ไหลผ่าน R1 เรียกว่า กระแส​โฮลดิ้ง (Holding current) ควร​มี​ค่า​อย่าง​น้อย 5.8mA

การ​สร้าง
วงจร​นี้​มี​อุปกรณ์​ไม่​กี่​ตัว จึง​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ออกแบบ​ลาย​วงจร​พิมพ์ สำหรับ​ตัว​ต้น​แบบผม​ใช้​แผ่น​วงจร​พิมพ์​เอ​นก​ประสงค์​ดัง​รูป​ที่ 2 มา​ตัด​เป็น​วงกลม​ขนาด​เส้น​ผ่า​นศูนย์กลาง 2.5 ซม. ให้​สามารถ​ใส่ลง​ไป​ใน​ตัว​ตุ๊กตา​ได้


รูป​ที่ 2 ขวดเครื่องปรุงแฟนซีใช้เป็นตุ๊กตาและแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ที่เลือกใช้

การ​ติดตั้ง​อุปกรณ์​ให้​ติดตั้ง​ด้าน​ลาย​ทองแดง​โดย​บัดกรี​แปะ​ลง​ไป​เหมือน​การ​บัดกรี​พวก​อุปกรณ์ SMD ดัง​รูปที่ 3 และในรูปที่ 4 จะเป็นรูปวาดการวางอุปกรณ์ทั้งบนแผ่นวงจรพิมพ์และอุปกรณ์ที่ต้องใช้การโยงสายไฟเพื่อติดตั้งกับหัวตุ๊กตา สำหรับกะบะถ่านให้ติดตั้งด้านบนของแผ่นวงจรพิมพ์​แต่รอไว้ติดตั้งในขั้นตอนประกอบเป็นตุ๊กตาเพราะกะบะถ่านจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยึดเกาะกับตุ๊กตา


รูป​ที่ 3 ลักษณะการบัดกรีอุปกรณ์


รูป​ที่ 4 รูปแบบการต่อวงจรเช็กไฟเบรค

เมื่อบัดกรีอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วก็มาทำการทดสอบ เริ่มด้วยการจ่ายไฟ +3V จากนั้นหาแสงไฟที่มีความสว่างพอๆ กับไฟเบรค แล้วส่องเข้าหา LDR จะทำให้ LED ติดและกะพริบ หากไม่ติดให้ทำการ​ปรับ​ความ​ไว​ใน​การ​ตรวจจับ​แสง​ของ​วงจร ด้วย​การ​ปรับ​ค่า​ของ VR1 ​ในขณะยังส่องไฟให้กับ LDR อยู่ โดยให้ค่อยๆ หมุน VR1 จน LED ติด ก็จะได้จุดที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานแล้วครับ

การ​ประกอบ​เป็น​ตุ๊กตาจุ๊บๆ
(1) ติดตั้ง LDR เข้ากับกึ่งกลางของตัวดูดกระจก โดยเจาะรูขนาดเล็ก 2 รู พอให้ขาของ LDR สอดเข้าไปได้ จากนั้นดัน LDR เข้าไปจนแนบสนิทกับตัวดูดกระจก แล้วแยกขา LDR ออกไปคนละด้านแล้วใช้สายไฟขนาดเล็กบัดกรีจากขา LDR ไปยังแผงวงจรดังรูปที่ 4 จากนั้นใช้กาวซิลิโคนใสปิดรูที่ขา LDR สอดเข้าไปเพื่อให้ตัวดูดกระจกยังสามารถรักษาความเป็นสุญญากาศขณะดูดติดกับท้ายรถได้ดังเดิม


รูป​ที่ 5 ติดตั้ง LDR เข้ากับตัวดูดกระจก

(2) นำฝาของขวดเครื่องปรุงที่เป็นเหมือนหัวตุ๊กตา มาตัดส่วนที่เป็นรูสำหรับเทเครื่องปรุงออก เจาะรูตรงดวงตา 2 ข้างด้วยดอกสว่านขนาด 3 มม. เพื่อติดตั้ง LED 2 ดวง และรูด้านข้าง 2 ข้าง สำหรับร้อยสกรู 3 มม. ยาว 25 มม. เพื่อยึดตัวดูดกระจก สุดท้ายให้เจาะรูสำหรับติดตั้งสวิตช์เปิดปิด

(3) นำแผงวงจรที่ลงอุปกรณ์และโยงสายไฟเรียบร้อยแล้วติดตั้งลงไปด้านในดังรูปที่ 6 จากนั้นติดตั้งสวิตช์สำหรับเปิดปิด และ LED ทั้ง 2 ดวงเข้ากับรูที่เจาะไว้ตรงดวงตาด้วยปืนกาวซิลิโคนดังรูปที่ 6 สำหรับแสดงสภาวะไฟเบรค


รูป​ที่ 6 ติดตั้งแผ่นวงจรพิมพ์ลงไปด้านใน รวมทั้งส่วนที่ใช้การโยงสายสวิตช์เปิดปิด และ LED แสดงสภาวะไฟเบรค

(4) บัดกรีกะบะถ่าน 3V รุ่น CR2032 ไว้ด้านบนของแผ่นวงจรพิมพ์ ด้วยขนาดของกะบะถ่านที่มีขนาดกว้างกว่าส่วนหัวของตุ๊กตาเล็กน้อย เมื่อบัดกรีแล้วจึงทำให้แผ่นวงจรพิมพ์ด้านในถูกยึดติดเข้ากับหัวตุ๊กตาได้อย่างแน่นหนาดังรูปที่ 7


รูป​ที่ 7 การติดตั้งกะบะถ่านรุ่น CR2032 จะเห็นว่ากะบะถ่านมีขนาดกว้างกว่าหัวคุ๊กตาเล็กน้อยเมื่อติดตั้งแล้วทำให้แผ่นวงจรพิมพ์ด้านในถูกยึดเอาไว้อย่างแน่นหนา

(5) ตกแต่งช่องติดตั้งสวิตช์ด้วยสติ๊กเกอร์ลายหนัง แล้วนำฝาครอบสวิตช์มาสวมลงไปดังรูปที่ 8


รูป​ที่ 8 ตกแต่งตรงลอยเจาะสวิตช์ด้วยสติกเกอร์และสวมฝาครอบลงไป

(6) ติดตั้งตัวดูดกระจกเข้าส่วนหัวตุ๊กตาด้วยการใช้สกรู 3 มม. ยาว 30 มม. ร้อยเข้าไปตรงรูด้านข้างของหัวตุ๊กตาสอดทะลุห่วงของตัวดูดกระจกโดยให้ร้อยทะลุไปอีกด้านของของหัวตุ๊กตาแล้วล็อกด้วยนอตตัวเมียดังรูปที่ 9


รูป​ที่ 9 ติดตั้งตัวดูดกระจกด้วยชุดสกรู 3 มม. ยาว 30 มม.

เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ การใช้งานก็เพียงนำไปจุ๊บไว้กับฝาครอบไฟเบรคแล้วก็เดินไปเหยียบคันเบรค หาก LED ติดก็แสดงว่าไฟเบรคของเราทำงานปกติ เป็นไงครับลงทุนเพียงไม่กี่บาทก็สร้างความสะดวกให้กับชีวิตได้ ที่สำคัญยังไม่เคยเห็นมีขายในท้องตลาด อาจทำไปจำหน่ายก็เข้าท่าดีนะครับ


 

Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

เครื่องเพาะถั่วงอก ระบบน้ำหยด

ลงมือสร้างเครื่องเพาะถั่วงอกประจำครัวเรือนที่หน่วงเวลาการรดน้ำได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า

การเพาะถั่วงอกนั้นจริงแล้วเป็นเรื่องไม่ยากหากมีเวลาดูแล หมั่นรดน้ำทุก 3 หรือ 4 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยก็ต้องรดเช้าและเย็นอย่าให้ขาด แต่ภารกิจของคนเมืองที่ต้องเร่งรีบออกจากบ้านก่อนไก่ตื่นเพื่อหลีกเลี่ยงความคับคั่งของการจราจร ผลสุดท้ายลืมสิคร๊าบ แต่จะดีแค่ไหน หากหน้าที่นี้ปล่อยให้ระบบน้ำหยดเป็นผู้ดูแลการรดน้ำแทนเรา

อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไป ถั่วงอกจะสมบูรณ์ ขาวอวบ น่ารับประทานได้นั้น การรดน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ แต่ถ้าจะเอาให้ง่ายก็ใช้เครื่องตั้งเวลามาควบคุมวาล์วไฟฟ้าหรือปั้มน้ำให้รดน้ำตามเวลาที่เราต้องการ แต่แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องตามมานอกจากค่าไฟแล้วยังมีค่าเครื่องตั้งเวลากับวาล์วไฟฟ้า(โซลินอยด์วาล์ว) ดังนั้นการทำระบบน้ำหยดพักน้ำไว้ในถัง แล้วใช้ระบบกาลักน้ำ (Siphon) ดึงน้ำจากถังพักไหลลงไปยังตะกร้าเพาะถั่วจึงเป็นทางเลือกที่น่าจะตอบโจทย์นี้

หากยังนึกภาพไม่ออกลองดูหลักการทำงานของเครื่องเพาะถั่วงอกในหน้าถัดไปครับ

เตรียมอุปกรณ์ (ไม่รวมเครื่องมือช่าง)
1. ภาชนะทึบแสง 2 ใบ ทรงกลมก็ดี ทรงเหลี่ยมก็ได้
2. ตะกร้ารูปทรงและขนาดที่สามารถใส่ลงในภาชนะตามข้อ 1 ได้ 1 ใบ
3. ท่อ PVC ขนาด 4 หุนพร้อมหัวอุด
4. ก้านลูกโป่ง หรือหลอดกาแฟ
5. หัวน้ำหยด
6. ข้อต่อ 4 หุน สำหรับต่อจากวาล์วน้ำให้ขนาดเข้ากับสายยางได้
7. สายยางเล็ก (ท่อ PE)
8. วาล์วน้ำ (สต๊อปวาล์ว)
9. กาวซิลิโคน
10. พลาสวูดหรือแผ่นพลาสติกอะคริลิก



รูปที่ 1 อุปกรณ์หลักๆ สำหรับทำเครื่องเพาะถั่วงอกระบบน้ำหยด

หลักการทำงานของเครื่องเพาะถั่วงอกระบบน้ำหยด
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการสร้าง เรามาดูหลักการทำงานกันก่อนจะได้เห็นภาพรวมของการทำงาน เพื่อการจัดเตรียมอุปกรณ์อย่างไม่ขาดตกบกพร่องกันนะครับ
1. เริ่มจากเปิดน้ำเข้าถังบน หัวน้ำหยดจะปล่อยให้น้ำหยดลงถังน้ำอย่างช้าๆ (มากน้อยขึ้นอยู่กับการปรับวาล์วน้ำและหัวน้ำหยดด้วย)
2. เมื่อระดับน้ำสูงจนถึงปลายท่อระดับ (ในที่นี้คือก้านลูกโป่ง) น้ำจะค่อยๆ ไหลลงท่อ แต่จะไหลลงอย่างช้าๆ
3. เมื่อน้ำภายในท่อไหลเข้าไปแทนที่อากาศทั้งหมดระบบกาลักน้ำ (Siphon) ก็เริ่มสูบน้ำลงด้านล่าง ตอนนี้น้ำจะไหลผ่านแผ่นกระจายน้ำที่เป็นแผ่นพลาสติกเจาะรูไว้ทั่วทั้งแผ่นลงไปยังตะกร้าที่บรรจุเมล็ดถั่วไว้
4. น้ำที่ผ่านตะกร้าจะไหลออกทางท่อน้ำทิ้งด้านล่าง

โดยระบบจะทำงานซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าถั่วของเราจะได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ และได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลา 3 วันแน่นอน

รูปที่ 2 แสดงโครงสร้างของเครื่องเพาะถั่วงอก

ขั้นตอนการสร้าง
สำหรับขั้นตอนการสร้าง ผู้เขียนจะอ้างอิงจากภาพประกอบที่ 2 ซึ่งเป็นภาพวาดโครงสร้างและส่วนประกอบของเครื่อง
(1) นำตะกร้ามาตัดขอบออกดังรูปที่ 3 จะได้ตะกร้าที่ใส่ลงในถังน้ำได้พอดี แต่หากท่านที่มีตะกร้าขนาดพอดีกับถังน้ำอยู่แล้วก็ข้ามขั้นตอนนี้ไปเลย


รูปที่ 3 การตัดขอบปากตะกร้าให้ใส่ลงในถังน้ำได้พอดี

(2) ตัดท่อ PVC ขนาด 3 หรือ 4 หุน ก็ได้ เป็นชิ้นเล็กๆ นำมาผูกติดก้นตะกร้าด้วยสายรัด (การหนุนให้ก้นตะกร้าสูงจากพื้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดถั่วถูกน้ำขังจนทำให้เน่าได้) ดังรูปที่ 4



รูปที่ 4 ใช้ท่อ PVC หนุนตะกร้าป้องกันน้ำขัง

(3) เจาะรูที่ก้นถังน้ำให้พอดีกับท่อน้ำทิ้งขนาด 4 หุน ที่เตรียมไว้ จากนั้นใช้กาวซิลิโคนอุดภายในถังน้ำเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมจากรอยเจาะ


รูปที่ 5 การติดตั้งท่อน้ำทิ้ง

(4) ทำแผ่นกระจายน้ำโดยตัดแผ่นพลาสวูดหนา 3 หรือ 5 มม. ให้ขนาดสามารถปิดลงไปกึ่งกลางของถังน้ำได้ดังรูป 6.3 (ถังน้ำส่วนใหญ่มีรูปทรงก้นเล็กปากบาน) แล้วตัดพลาสวูดชิ้นเล็กๆ ไว้เป็นที่จับติดด้วยกาวร้อนตรงกลางแผ่นจากนั้นเจาะรูด้วยดอกสว่าน 3 มม. ให้ทั่วทั้งแผ่นให้น้ำกระจายได้ทั่วตะกร้าดังรูปที่ 6.4


รูปที่ 6 ตัดแผ่นกระจายน้ำ

(5) นำสายยางขนาดเล็กมาหุ้มแผ่นกระจายน้ำเพื่อให้แผ่นกระจายน้ำแนบสนิทกับถังน้ำโดยไม่หลุดล่วงได้ง่าย โดยใช้กรรไกรผ่ากลางสายยางดังรูปที่ 7.2 แล้วนำไปหุ้มที่ขอบของแผ่นให้รอบดังรูปที่ 7.3


รูปที่ 7 การหุ้มขอบแผ่นกระจายน้ำ

(6) ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. สำหรับทำฝาปิดถังล่างขนาดเท่ากับปากถังแล้วเจาะรูกลางแผ่นสำหรับสอดท่อน้ำจากถังบน


รูปที่ 8 ทำฝาปิดถังล่าง

(7) นำถังอีกใบมาเจาะรูกลางถังขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ถึง 3 ซม. จากนั้นตัดแผ่นพลาสวูดเป็นทรงกลมมาแปะทับรูที่เจาะไว้ที่ก้นถัง เจาะรูให้มีขนาดเท่ากับก้านลูกโป่ง (ให้คับก้านลูกโป่ง) ดังรูปที่ 9.1 จากนั้นนำก้านลูกโป่งสอดเข้าไปในรู โดยให้ความสูงพอประมาณหรือเท่ากับระดับน้ำที่เราต้องการ


รูปที่ 9 ทำท่อระดับจากก้านลูกโป่ง

(8) นำท่อ 4 หุน มาบากให้มีรูปทรงดังรูปที่ 10.1 โดยความสูงของท่อขึ้นกับความสูงของท่อระดับ (ก้านลูกโป่ง) แต่ต้องสูงกว่าท่อระดับ 1 ถึง 2 มม. จากนั้นครอบหัวอุดแล้วนำไปวางสวมท่อระดับดังรูปที่ 10.4


รูปที่ 10 ทำท่อระบบไซฟอน

(9) ติดตั้งหัวน้ำหยดเข้ากับส่วนบนของถังน้ำดังรูปที่ 11.1 ส่วนปลายสายอีกด้านก็ต่อเข้ากับหัวต่อท่อ 4 หุนดังรูปที่ 11.2 สุดท้ายสวมท่ออ่อนเข้ากับน้ำทิ้งของถังน้ำล่าง ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการสร้างแล้วครับ


รูปที่ 11 ติดตั้งหัวน้ำหยดและท่อน้ำทิ้ง

ขั้นตอนการใช้งาน
(1) นำเมล็ดถั่วเขียวแช่น้ำอุ่นไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง
(2) เทเมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำอุ่นแล้วลงตะกร้า
(3) ปิดแผ่นกระจายน้ำให้ได้ระดับดับไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
(4) ปิดฝาของถังน้ำใบล่าง
(5) นำถังบนมาวางซ้อนให้ก้านลูกโป่งสอดลงในรูของฝาปิด
(6) เปิดวาล์วน้ำน้อยๆ แล้วปรับหัวน้ำหยดให้ได้ปริมาณน้ำประมาณ 1 ชั่วโมงต่อ 500 มิลลิลิตร (ใช้น้ำ 3 ชั่วโมงต่อ 1.5 ลิตร)
(7) ทิ้งไว้ 2 ถึง 3 วัน แล้วลองเปิดดูผลผลิต



รูปที่ 12 ขั้นตอนการใช้งาน

หลังจากผ่านไป 2 วัน ลองเปิดดูผลผลิตกันสักหน่อยครับ ผลที่ออกมาก็เป็นดังรูปที่ 13.1 และวันที่ 3 เป็นดังรูปที่ 13.2 นำไปล้างและรับประทานได้เลย


รูปที่ 13 ผลผลิตในวันที่ 2 และ 3

เพียงเท่านี้เราก็จะได้เครื่องเพาะถั่วงอกที่รดน้ำให้เราทุก 3 ชั่วโมง(อยู่ที่การปรับหัวน้ำหยด) แล้วล่ะครับ แนะนำให้รับประทานแบบปรุงสุกจะดีที่สุด สำหรับคนที่ชื่นชอบการรับประทานแบบดิบๆ ก็ต้องดูแลเรื่องปริมาณให้เหมาะสมด้วยนะ เพราะหากมากเกินไปย่อมมีโทษเสมอ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Smartphone Holder for Car

ประดิษฐ์ที่จับยึดสมาร์ตโฟนเพื่อทำหน้าที่เป็นกล้องติดหน้ารถและแผนที่นำทาง โดยไม่ต้องยึดกับกระจกหน้ารถ ทำได้ด้วยพลาสวูด A4 เพียงแผ่นเดียว

แค่เห็นภาพผู้อ่านคงร้องอ๋อโดยไม่ต้องบรรยายอะไรมาก ว่าเจ้าอุปกรณ์ที่ว่านี้มันเอาไว้ทำอะไร แต่ก็แฝงด้วยความสงสัยกันต่อว่าจะทำไปเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แบบนี้มันก็มีขายกันให้เกลื่อนตลาดแถมยังราคาหลักร้อยต้นๆ ซื้อเค้าไม่ดีกว่าเหรอ? แน่นอนครับว่าซื้อเอาทั้งสะดวกและสวยงาม แต่หากใครที่ต้องจอดรถกลางแดดทุกวันคงจะรู้ซึ้งถึงความร้อนที่สะสมอยู่หน้ากระจกรถของเราทำให้เจ้าตัวดูดกระจกที่เราซื้อมาไม่สามารถทานทนได้และจำต้องลาจากเราไปในเวลาอันแสนสั้น

ดังนั้นอุปกรณ์นี้จึงเป็นอีกทางเลือกของคนจอดรถกลางแจ้งและต้องการใช้สมาร์ตโฟนทำหน้าที่เป็นกล้องหน้ารถหรือใช้งานแผนที่สำหรับนำทาง โดยอุปกรณ์นี้ออกแบบให้เสียบเข้ากับที่บังแดดในรถ ลองมาดูอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมกันก่อน

เตรียมอุปกรณ์
1. ตัวจับสมาร์ตโฟน (ถอดจากไม้ Selfie)
2. แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 (ซื้อได้ที่ www.inex.co.th)
3. สกรู 3×15 มม. พร้อมนอต 1 ชุด
4. สกรู 4×20 มม. พร้อมนอตตัวเมียแบบหางปลา 1 ชุด
5. กาวร้อน
6. ปืนเป่าลมร้อน
7. คัตเตอร์
8. กระดาษทราย

ขั้นตอนการประดิษฐ์
(1) ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 10×29 ซม. นำมาพับครึ่ง ด้วยปืนเป่าลมร้อน โดยการเป่าให้ความร้อนทั้งสองด้านของแนวที่ต้องการพับ เมื่อเห็นว่าแผ่นพลาสวูดเริ่มอ่อนตัวแล้ว ให้นำไปทาบกับวัสดุอะไรก็ได้ที่มีความหนาใกล้เคียงกับที่บังแดด (ในที่นี้ใช้พลาสวูด 10 มม.) แล้วพับให้แนบกับวัสดุที่นำมาทาบดังรูปที่ 1.3 รอให้พลาสวูดเย็นลงค่อยดึงออกมาจะได้ขาหนีบกับที่บังแดดรถยนต์ดังรูปที่ 1.4


(2) ตัดพลาสวูดขนาด 3×4 ซม. 2 ชิ้น และขนาด 3×5 ซม. 1 ชิ้น เจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 มม. ทั้งสามชิ้น จากนั้นนำชิ้น 3×5 ซม. มาทาบกับส่วนพับของตัวหนีบดังรูปที่ 2.2 ใช้ดินสอวาดตามแนวโค้ง แล้วตัดให้ได้ส่วนโค้งตามแนวดินสอดังรูปที่ 2.4 แล้วยึดกับส่วนโค้งของตัวหนีบด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 2.5

(3) นำพลาสวูดขนาด 3×4 ซม. ที่ตัดไว้จากขั้นตอนที่แล้วมาประกบเข้าด้วยกันด้วยสกรูขนาด 4×20 มม.และขันล็อกด้วยนอตแบบหางปลาดังรูปที่ 3.2


(4) นำตัวจับสมาร์ตโฟนมาทาบกับพลาสวูดแล้วตัดให้ได้ขนาดเท่ากับฐานของตัวจับ หรืออาจใหญ่กว่าเล็กน้อยก็ได้ จากนั้นเจาะรูขนาด 3 มม. สำหรับร้อยสกรู แล้วยึดตัวจับสมาร์ตโฟนเข้ากับแผ่นพลาสวูดด้วยสกรู 3×15 มม. และล็อกด้วยนอตจะได้ดังรูปที่ 4.4

(5) นำชุดตัวหนีบกับฐานตัวจับสมาร์ตโฟนมาประกอบกันด้วยกาวร้อนโดยวางให้คร่อมนอตดังรูปที่ 5.2 ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย จะได้อุปกรณ์ยึดสมาร์ตโฟนเข้ากับที่บังแดดหน้ารถดังรูปที่ 5.3

การใช้งาน
สำหรับคนที่ต้องการนำไปใช้เป็นกล้องติดหน้ารถ แนะนำให้ลงแอปพลิเคชั่นก่อน สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์แนะนำแอปฯที่ชื่อว่า AutoGuard กับ AutoBoy BlackBox นะครับ (ส่วน iOS ไม่รู้ครับ) เพราะมีฟังก์ชั่นที่เหมาะกับการใช้งาน ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือมีการตรวจจับการสั่นหรือกระแทกอย่างรุนแรงของสมาร์ตโฟน นั่นก็หมายความว่ารถเราอาจกำลังเกิดอุบัติเหตุและสามารถเลือกได้ว่าจะให้โทรออกไปยังเบอร์ที่เราระบุไว้หรือไม่ เมื่อลงแอปฯ และตั้งค่าเรียบร้อยแล้ว ก็เพียงนำไปเสียบไว้กับที่บังแดดดังรูปที่ 6 และปรับมุมก้มเงยได้ตามต้องการด้วยนอตหางปลาก็เป็นอันเรียบร้อยพร้อมเดินทางแล้วจ้า

ลองทำใช้กันดูนะครับ ง่ายๆ ประหยัดงบ ไม่ต้องดูดกระจกให้ลุ้นว่าสมาร์ตโฟนของเราจะล่วงลงมาเมื่อไหร่


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Simple Tablet Stand

ทุกวันนี้ใครๆ ก็มีแท็บเล็ต สมาร์ตโฟน หรืออุปกรณ์อัจฉริยะพกพาอื่นๆ และหลายท่านก็ใช้มันเป็นเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิตอลบ้าง เครื่องเล่นไฟล์ภาพยนตร์บ้าง เพื่อสร้างความบันเทิงในครอบครัว แต่ด้วยความหลากหลายของยี่ห้อ ขนาด รูปทรง โดยเฉพาะทางผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

ทำให้ซองที่ผลิตออกมา ยากที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ครบถ้วน เช่น ช่องหูฟังไม่ตรง บ้างก็ช่องลำโพงไม่ตรง ทำให้เสียงเบาเกินไป นี่จึงเป็นที่มาของขาตั้งแท็ปเล็ตราคาประหยัดสุดคุ้มตัวนี้ หากสนใจก็มาเริ่มประดิษฐ์กันเลย

(1) เตรียมพลาสวูดขนาด 2.5 x 12 ซม. จำนวน 2 ชิ้น ดังรูป

(2) บากร่องของพลาสวูดทั้งสองชิ้นโดยวัดให้ได้ขนาดดังรูป

(3) เมื่อบากร่องเสร็จแล้วนำมาเกาะกันไว้ดังรูป

(4) นำแท็บเล็ตมาวางทาบด้านบนเพื่อหาตำแหน่ง ความกว้างของร่องและมุมเอียงที่เหมาะสม แล้วใช้ดินสอวาดเป็นแนวตามขนาดและความเอียงที่ต้องการดังรูป

(5) ใช้คัตเตอร์บากพลาสวูดให้เป็นร่อง โดยตั้งใบมีดให้ตรงแล้วค่อยๆ กดลงไปจนได้ระดับที่วาดไว้ดังรูป

(6) นำไปทาบกับพลาสวูดอีกชิ้นหนึ่งแล้วบากเป็นร่องเช่นเดียวกัน จะได้พลาสวูด 2 ชิ้นที่บากเป็นร่องชิ้นละ 2 ร่องดังรูป

(7) ขั้นตอนสุดท้ายเพียงนำพลาสวูดทั้ง 2 ชิ้นมาวางไขว้กันให้แนวของร่องที่เราบากไว้ในขั้นตอนที่แล้วหันไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรองรับตัวอุปกรณ์ดังรูป

เพียงแค่นี้ก็ได้แท่นวางแท็บเล็ตอย่างง่ายๆ จากวัสดุที่เราคุ้ยเคย สามารถถอดแยกชิ้นเพื่อพกพาใส่กระเป๋าเสื้อไปกับเราได้ทุกที่

ผ่านไปอีกหนึ่งไอเดียง่ายๆ ที่นำมาแนะนำ โอกาสหน้าจะมีไอเดียการประดิษฐ์อะไรอีกก็อย่าลืมติดตามให้ได้นะครับ สำหรับตอนนี้ขอลาไปก่อน

หมายเหตุ : แผ่นพลาสวูดขนาด A4 มีจำหน่ายที่ www.inex.co.th 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Exit mobile version