Categories
ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

ติดตั้ง Solar cell ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ Solar cell ที่ถูกต้องมีส่วนสำคัญที่จะทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าทำได้ผลสมบูรณ์ เต็มขีดความสามารถของแผง ผู้ใช้หรือผู้ติดตั้งจำเป็นต้องพิถีพิถันในการติดตั้งเป็นพิเศษ

และควรคำนึงถึงองค์ประกอบด้านต่างๆ ที่อยากจะแนะนำกันในบทความตอนนี้ เราจึงได้ไปเก็บรวมรวมข้อมูลจากที่ต่างๆ มาให้ศึกษากัน

ติดตั้งอย่างไร

การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องคำนึงถึงสถานที่ตั้งและภูมิประเทศเป็นหลัก สำหรับประเทศไทยนั้นตำแหน่งที่ตั้งจะอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 15 องศาเหนือ ดังนั้นหากต้องการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้ได้ผลดีที่สุด จะต้องหันหน้าแผงไปทางทิศใต้ โดยทำมุมกับพื้นราบ 10-15 องศา ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องเลือกสถานที่ ที่สามารถให้แผงหันองศาหรือปรับทิศทางได้จากทางทิศเหนือไปจรดทิศใต้

สถานที่ติดตั้งต้องไม่มีเงาไม้หรือสิ่งกีดขวางใดๆ มาบดบังในระหว่างวัน หรือปราศจากเศษใบไม้ที่จะหล่นมาปกปิดแผง ทั้งนี้ผู้ใช้ต้องตรวจตราอยู่เป็นประจำด้วย

ลักษณะของโครงสร้างรองรับแผง

โครงสร้างรองรับแผงโดยมากจะออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และจำนวนแผงที่จะติดตั้ง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปจะพิจารณาว่าเป็นพื้นที่ราบที่มีน้ำท่วมถึงหรือไม่ หรือเป็นพื้นที่ลาดชัน ทั้งนี้เพื่อจะได้กำหนดความสูงของฐานรองรับแผง

ในบางกรณีหากแผงมีจำนวนไม่มากอาจใช้หลังคาบ้านเพื่อติดตั้งแผงได้ แต่สภาพโครงหลังคาต้องมีความแข็งแรงพอ อีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือสภาพพื้นที่ทำการติดตั้ง บางพื้นที่จะมีปัญหาเรื่องต้นไม่หรือเงาไม้ บางพื้นที่กลับพบว่าจุดที่ติดตั้งเป็นแอ่ง จึต้องใช้ฐานแบบสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำ ในบางพื้นที่มีปัญหาด้านการขนส่งในการออกแบบโครงสร้างรองรับแผงจึงต้องพิจารณาในปัญหาเหล่านี้ด้วย เช่น โครงสร้างเหล็กมีขนาดยาวและน้ำหนักมากมีปัญหาด้านการขนส่งเข้าไปในพื้นที่ติดตั้ง

พอจะสรุปได้ว่าลักษณะโครงสร้างรองรับแผง จะต้องคำนึงถึงจำนวนแผงและพื้นที่ติดตั้ง ตลอดจนการขนส่ง เป็นสำคัญ แต่ที่นิยมติดตั้งกันตามบ้านพักอาศัยมักจะเป็นการติดตั้งบนหลังคาเนื่องจากใช้จำนวนแผงไม่มากและไม่สิ้นเปลื้องพื้นที่

การติดตั้งแผงจำนวนไม่มาก

สามารถติดตั้งบนหลังคาบ้าน โดยหันทิศทางด้านหน้าแผงไปทางทิศใต้ให้ทำมุมกับพื้นราบ 15 องศา ในกรณีที่หลังคาทำมุม 15 องศาอยู่แล้ว ก็สามารถติดตั้งได้เลย หากหลังคาทำมุมเกิน 15 องศาก็ให้รองแผงส่วนล่างขึ้นเพื่อให้ได้มุม 15 องศา

การเชื่อมต่อสายไฟหลังแผง

ควรต่อสายไฟด้านหลังแผงก่อนการยึดแผงเข้ากับโครงสร้าง เพราะบางกรณีเมื่อติดตั้งอย่างแน่นหนาแล้วจะไม่สามารถถอดออกมาได้ โดยการต่อวงจรด้านหลังแผงพอจะสรุปได้ดังนี้

กรณีแผงเดี่ยว

อันนี้ไม่มีปัญหาเพราะใช้กล่องชุดเดียวดูที่สัญลักษณ์ขั้วบวก + ขั้วลบ – ก็จะได้แรงดันออกมาเป็น 12 โวลต์

การต่อแผงแบบขนาน

กรณีต้องต่อมากกว่าหนึ่งแผง แต่ต้องการแรงดัน(V) เท่าเดิม แต่ได้กระแส (A) เพิ่มขึ้น ต้องต่อแบบขนาน โดยเอาขั้วบวกของแผงแรก ต่อกับขั้วบวกของแผงต่อไป แล้วเอาขั้วลบของแผงแรกต่อกับขั้วลบของแผงต่อไป เมื่อต่อจนครบทุกแผงแล้ว ก็สามารถนำสายไฟบวกและลบไปใช้ได้ทันที การต่อแบบนี้ แรงดันที่ได้จะยังคงเป็น 12V เท่าเดิม แต่กระแสจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนแผงที่ต่อ

กรณีนี้จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ กินกระแสมากกว่ากระแสที่ได้จากแผงแผงเดียว หรือแผงเดียวไม่สามารถประจุแบตเตอรี่ได้ เช่นอุปกรณ์ไฟฟ้า 12V ต้องการกระแสวันละ 3.88×5 = 19.4A ซึ่งไม่เพียงพอ จึงต้องเพิ่มแผงโซล่าร์เซลล์ เป็น 3 แผง

การต่อแผงแบบอนุกรม

ในบางกรณ๊จะพบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสตรง จะระบุให้ใช้กับไฟฟ้ากระแสตรง 24V, 48V หรือมากกว่านั้นซึ่งแผงโวล่าร์เซลล์ต่อแผงจะให้แรงดันเพียง 12V ทำให้ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มแรงดันโดยการเพิ่มแผงโวล่าร์เซลล์มาต่อกันแบบอนุกรม จะทำให้แรงดันเพิ่มขึ้นตามจำนวนแผงที่ถูกอนุกรมเข้าไป แต่กระแสจะไม่เพิ่มขึ้น

วิธีการต่อแบบอนุกรมให้เอาสายจากขั้วลบของแผงแรก ต่อเข้ากับขั้วบวกของแผงที่สอง และขั้วลบของแผงที่สอง ต่อเข้ากับขั้วบวกของแผงที่สาม ทำสลับกันไปจนได้แรงดันที่ต้องการ ซึ่งขั้วที่เหลือของแผงแรกและแผงสุดท้ายจะเป็นขั้วที่จำไปใช้งาน

เพื่อความสะดวกและความสวยงาม จึงมักเดินสายของขั้วที่เหลือจากแผงแรกไปเก็บไว้ที่แผงชุมสาย(Junction Box) ของแผงสุดท้าย เพื่อจะได้ชุดสายขั้วบวกและลบออกมาจากกล่องเดียวกัน

การต่อแผงแบบผสม

ในบางครั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าระบุว่าจะใช้แรงดันเกิน 12V และก็ยังต้องการกระแสมากกว่าแผงเดียวเสียด้วย เช่นระบุว่าใช้แรงดัน 48V และต้องการกระแส 6A สมมติว่าในหัวข้อที่แล้วเราต่ออนุกรมแผงขนาด 64W จำนวน 4 แผง ก็จะได้แรงดันเป็น 48V กระแส 6A ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุปกรณ์ จึงจำเป็นต้องต่อแบบผสม เพื่อให้ได้แรงดันและกระแสตามต้องการ

โดยนำแผงขนาด 64W ซึ่งให้กระแสไฟฟ้าได้ 3.88A/แผง มาต่อแบบอนุกรมให้ได้ 48V จำนวน 2 ชุด จากนั้นนำปลายขั้วบวกและลบของทั้งสองชุดมาต่อขนานกัน ก็จะได้ แรงดันขนาดใช้งาน 48V จากการต่ออนุกรม 4 แผง และได้กระแสจากการขนานกันของทั้งสองชุดเป็น 7.76A ดังรูป


 

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

ลิขสิทธิ์

นับจากช่วง 1 – 2 ปีหลังมานี้ ผู้คนให้ความสนใจเรื่องของลิขสิทธิ์กันมาก หากนับจากเมื่อ 7 ปีที่แล้วในการรับบทบรรณาธิการนิตยสาร INVENTION ของผม ซึ่งต้องยอมรับว่าการออกนิตยสารเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้น โดยเฉพาะการนำเสนอความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในยุคนั้น
มันชั่งไม่มีใครสนใจเสียจริงๆ บางคนบอกว่าผมออกนิตยสารเร็วเกินไป อาจเป็นได้ว่ามันยังไม่ถึงเวลาของคนไทยเพราะวันนั้นการแข่งขันยังไม่สูง อีกทั้งกระแสของ Creative Economic ก็ยังไม่เห็นมีใครพูดถึง TCDC ก็พึ่งเริ่มสร้าง จึงทำให้ความตื่นตัวของผู้คนนั้นมีน้อยมาก

แต่วันนี้ผมคิดว่ามันเป็นยุคของนักประดิษฐ์ที่ไม่ใช่เอาแต่ประดิษฐ์แล้วคิดแต่เรื่องฟังก์ชั่นของชิ้นงาน แต่นักประดิษฐ์จำเป็นต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปให้มากกว่าแต่ก่อน
เพราะวันนี้ลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าแค่ประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียว แต่เขามองที่รูปลักษณ์ของสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ เอาล่ะครับเรามารู้จักกับคำว่า “ลิขสิทธิ์” กันดีกว่าว่าเราจะป้องกันความคิดสร้างสรรค์ของเราไม่ให้คนอื่นมาลอกเลียนไปโดยง่ายได้อย่างไร

ความหมายของลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น โดยการแสดงออกตามประเภทงานลิขสิทธิ์ต่างๆ
ลิขสิทธิ์ เป็นผลงานที่เกิดจาการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา”ประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเจ้าของผลงานทางลิขสิทธิ์จึงควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ลิขสิทธ์ เป็นทรัพย์สินประเภทที่สามารถ ซื้อ ขาย หรือโอนสิทธิกันได้ ทั้งทางมรดก หรือโดยวิธีอื่น ๆ การโอนลิขสิทธิ์ควรที่จะทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทำเป็นสัญญาให้ชัดเจน จะโอนสิทธิทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ได้ 

ลิขสิทธิ์มีได้ในงาน 9 ประเภทดังนี้ 

1. งานวรรณกรรม ได้แก่ หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา โปรแกรมคอมพิวเตอร์

2. งานนาฏกรรม ได้แก่ งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว การแสดงโดยวิธีใบ้ 

3. งานศิลปกรรม ได้แก่ งานจิตกรรม งานปฏิมากรรม งานภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม งานภาพถ่าย ภาพประกอบ แผนที่โครงสร้าง งานศิลปประยุกต์ และรวมทั้งภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าว 

4. งานดนตรีกรรม หมายถึง งานที่เกี่ยวกับเพลง ทำนองและเนื้อร้อง หรือทำนองอย่างเดียว และรวมถึงโน้ตเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว 

5. งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วิดีโอเทป แผ่นเลเซอร์ดิสก์

6. งานภาพยนตร์

7. งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทปเพลง แผ่นคอมแพ็คดิสก์

8. งานแพร่เสียงและภาพ เช่น งานที่นำออกเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์

9. งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

ผลงานที่ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์

1. ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

2. รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ หรือของท้องถิ่น

4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ

5. คำแปลและการรวบรวม ตามข้อ 1 – 4 ซึ่งทางราชการจัดทำขึ้น 

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์

สิทธิ์ ในลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยทันที นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ค์ได้สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องจดทะเบียน ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ของตนเอง โดยการเก็บรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้ทำการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์สิทธิ์ หรือความเป็นเจ้าของในโอกาสต่อไป

ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์นอกจากจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานแล้ว บุคคลอื่นอาจมีสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์นั้นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงต่างๆ ในการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ เช่นการสร้างสรรค์งานร่วมกัน การว่าจ้างให้สร้างสรรค์งาน การโอนสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ เป็นต้น ดังนั้นผู้มีลิขสิทธิ์จะเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ต่อไปนี้

1. ผู้สร้างสรรค์งานขึ้นใหม่ ทั้งที่สร้างสรรค์งานด้วยตนเองเพียงผู้เดียว หรือผู้สร้างสรรค์งานร่วมกัน

2. ผู้สร้างสรรค์ในฐานะพนักงาน หรือลูกจ้าง

3. ผู้ว่าจ้าง

4. ผู้รวบรวมหรือประกอบกันเข้า

5. กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือท้องถิ่น

6. ผู้รับโอนลิขสิทธิ์

7. ผู้สร้างสรรค์ซึ่งเป็นคนชาติภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญากรุงเบอร์น และประเทสในภาคีสมาชิกโองการค้าโลก

8. ผู้พิมพ์โฆษณางานที่ใช้นามแฝงหรือนามปากกกาที่ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ 

การคุ้มครองลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ ต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของตน ดังนี้

1. ทำซ้ำ หรือดัดแปลง

2. การเผยแพร่ต่อสาธารณชน

3. ให้เช่าต้นฉบับ หรือสำเนางาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

5. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ในการเช่าซื้อ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน และให้เช่าต้นฉบับ

6. อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์

ผลของการคุ้มครองลิขสิทธิ์

โดยทั่วไป การคุ้มครองลิขสิทธิ์ จะมีผลเกิดขึ้นโดยทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยความคุ้มครองนี้จะมีผลตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะคุ้มครองต้องไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต หากแต่มีงานบางประเภทจะมีการคุ้มครองที่แตกต่างกันไป โดยสรุปดังนี้

1. ในงานทั่วไป ลิขสิทธิ์ จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย กรณีเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม ก็ให้นับจากผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตาย กรณีเป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ที่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น กรณีผู้สร้างสรรค์ค์ใช้นามแฝง หรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ค์ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น

2. งานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น

3. งานที่สร้างสรรค์ โดยการว่าจ้าง หรือตามคำสั่งให้มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น

4. งานศิลปประยุกต์ ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 25 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น กรณีที่ได้มีการโฆษณางานเหล่านั้น ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่โฆษณาครั้งแรก ยกเว้นในกรณีงานศิลปประยุกต์ให้ลิขสิทธิ์มีอายุต่อไปอีก 25 ปี นับแต่โฆษณาครั้งแรก

ประโยชน์ของลิขสิทธิ์

1. ประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองตามกฏหมาย ลิขสิทธิ์ และมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้น หรือผลงานตามข้อใดข้อหนึ่งดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิ์ทำซ้ำ หรือดัดแปลง จำหน่าย ให้เช่า คัดลอก เลียนแบบ ทำสำเนา การทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ของตนทั้งหมด หรือแต่บางส่วนก็ได้ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

2. ประโยชน์ของประชาชนหรือผู้บริโภค การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ในผลงานลิขสิทธิ์มีผลให้เกิดแรงจูงใจแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าทางวรรณกรรมและศิลปกรรมออกสู่ตลาดให้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความรู้ ความบันเทิง และได้ผลงานที่มีคุณภาพ

ข้อมูล : จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

หลังจากรู้จักกับประเภทของงานสร้างสรรค์ที่ได้รับความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ และประโยชน์ที่ตกสู่รุ่นลูกกันเลยทีเดียว แล้วใครล่ะจะไม่อยากให้ผลงานของตัวเองได้รับความคุ้มครองจริงมั้ยครับ

ความจริงที่หลายคนรู้ก็คือ ผลงานที่เข้าข่ายการได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้น จะเป็นไปโดยอัตโนมัตินับแต่วันที่เจ้าของผลงานเริ่มเผยแพร่ต่อบุคคลที่สาม แต่เพื่อป้องการปัญหามรกรณีเกิดข้อพิพาท ฟ้องร้องกันขึ้นมา ว่าใครทำก่อนใครกันแน่ ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้เปิดรับการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ซึ่งหลายคนชอบบอกว่าจดลิขสิทธิ์ ก็เข้าใจเสียใหม่นะครับ ว่าไม่ใช่การจดทะเบียน แต่เป็นเพียงการแจ้งข้อมูล เพื่อให้ง่ายต่อการอ้างอิงในกรณีเกิดเรื่องฟ้องร้องกันขึ้น ต่อไปมาดูขั้นตอนการเตรียมเอกสารและการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของเรากันเลยครับ

วิธีดำเนินการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

1. การกรอกข้อมูลและระบุรายละเอียดต่างๆ

(1)  ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์  ให้ระบุชื่อสัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล (แล้วแต่กรณี)  และที่อยู่ของเจ้าของลิขสิทธิ์

(2)  ชื่อตัวแทน  กรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการมอบอำนาจให้กับผู้รับมอบอำนาจมาดำเนินการใด ๆ  เกี่ยวกับการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์และระบุถึงขอบเขตอำนาจของผู้รับมอบอำนาจ โดยให้ระบุ ชื่อ สัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล (แล้วแต่กรณี)  และที่อยู่ของผู้รับมอบอำนาจ

(3) สถานที่ติดต่อในประเทศไทย  ให้ระบุสถานที่และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อเจ้าของสิทธิหรือตัวแทน  เพื่อสะดวกในการติดตามเอกสารและผลงาน  กรณีเอกสารและผลงานมีความไม่ครบถ้วน

(4) ชื่อผู้สร้างสรรค์หรือนามแฝง  ให้ระบุชื่อ สัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือนิติบุคคล  ที่อยู่ผู้สร้างสรรค์ นามแฝง กรณีผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่จดทะเบียนนิติบุคคล และกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตแล้วให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต

(5) ชื่อผู้สร้างสรรค์ร่วมหรือนามแฝง  ให้ระบุชื่อ  สัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล  ที่อยู่ของผู้สร้างสรรค์หรือนามแฝง  กรณีมีผู้สร้างสรรค์ร่วมมากกว่า 1 คน  ให้ระบุในช่องนี้  กรณีผู้สร้างสรรค์ร่วมเป็นนิติบุคคล  ให้ระบุ  วัน  เดือน  ปี  ที่จดทะเบียนนิติบุคคล  และกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมเสียชีวิตแล้ว  ให้ระบุ  วัน  เดือน  ปี ที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต

(6) ชื่อผลงาน  ให้ระบุชื่อผลงานที่สะกดถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการระบุในหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูล

(7) ประเภทของงาน  ให้ระบุประเภทของงานและลักษณะงานที่ประสงค์จะยื่นแจ้งข้อมูลพร้อมระบุผลงานที่ยื่นประกอบคำขอ  เช่น หนังสือ 1 เล่ม หรือแผ่นซีดี 1 แผ่น  ฯลฯ  เป็นต้น

(8) ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์  ให้ระบุว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยวิธีใด เช่น เป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้ว่าจ้าง  ผู้รับจ้าง  นายจ้าง  หรือผู้รับโอนลิขสิทธิ์ ฯลฯ  เป็นต้น

(9) ลักษณะการสร้างสรรค์  ให้ระบุว่า  เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นเองทั้งหมด สร้างสรรค์บางส่วน โดยระบุว่ามีส่วนใดบ้างหรือเป็นกรณีอื่นๆ เช่น เป็นผู้รวบรวมผลงานหรือผู้ดัดแปลงผลงาน  ฯลฯ

(10) สถานที่สร้างสรรค์ให้ระบุว่า การสร้างสรรค์ผลงานกระทำในประเทศใด

(11) ปีที่สร้างสรรค์ให้ระบุปีที่ทำการสร้างสรรค์ผลงาน

(12)  การโฆษณางาน  ให้ระบุ  วัน  เดือน  ปี  และประเทศที่มีการโฆษณาครั้งแรก  โดยการทำสำเนางานออกจำหน่ายโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์และสำเนางานมีจำนวนมากพอสมควร  กรณียังไม่มีการโฆษณางานให้ระบุโดยทำเครื่องหมายในช่องยังไม่ได้โฆษณาในต่างประเทศหรือไม่  โดยให้ทำเครื่องหมายลงในช่องการแจ้งหรือจดทะเบียน  (แล้วแต่กรณี)

(13)  การแจ้ง/จดทะเบียนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ  ให้ระบุว่าเคยแจ้ง/จดทะเบียนลิขสิทธิ์

(14) การอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์  ให้ระบุเครื่องหมายลงในช่องว่าเคยอนุญาต/โอนลิขสิทธิ์หรือไม่  เช่น  หากไม่เคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์  ให้ทำเครื่องหมายในช่องไม่เคยอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์หรือโอนลิขสิทธิ์ในงานของตน  หากเคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์ ให้ระบุว่าอนุญาตให้ใช้หรือโอนลิขสิทธิ์แก่ใคร เมื่อใด เป็นการอนุญาตโอนลิขสิทธิ์โดยให้สิทธิทั้งหมดหรือบางส่วน และมีระยะเวลาในการอนุญาต/โอนลิขสิทธิ์เท่าใด

(15) การเผยแพร่ข้อมูลลิขสิทธิ์  ให้ระบุว่าอนุญาตให้คนอื่นตรวจดูเอกสารในแฟ้มคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์และผลงานหรือไม่

(16) การลงนามในคำขอให้เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนเป็นผู้ลงนาม

2. ใบต่อท้ายคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ 

ในกรณีที่ข้อมูลที่กรอกในคำขอ (ลข.01) มีจำนวนมาก และผู้ขอไม่อาจกรอกข้อมูลได้ครบถ้วนในแต่ละข้อ เช่น ในกรณีที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์  ตัวแทน ผู้สร้างสรรค์ร่วมมากกว่า 1 คน ผู้ขอสามารถระบุข้อมูลเพิ่มเติมได้ในใบต่อท้ายฯ

3. แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ

ให้ระบุวิธีการและขั้นตอนในการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อหรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ผู้ลงนามในแบบแสดงรายละเอียดการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ คือ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทน

 

4. หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ 

ให้ระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่อยู่ ทะเบียนนิติบุคคล

5. ผลงานลิขสิทธิ์ที่ใช้ยื่นประกอบคำขอ
– วรรณกรรม เช่น หนังสือ ชุดเอกสาร แผ่นซีดี ฯลฯ
– โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น  สำเนา Source Code จำนวน 10 หน้าแรกและ 10 หน้า สุดท้าย หรือส่งซีดีหรือแผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และในกรณีที่มี Source Code น้อยกว่า 50 หน้า ให้ส่งแผ่นซีดีหรือแผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์อาจผนึกและลงลายมือชื่อกำกับด้วยก็ได้
– นาฏกรรม  เช่น  แผ่นซีดี ภาพการแสดงพร้อมบรรยายประกอบท่าทางทุกขั้นตอน ฯลฯ
– ศิลปกรรม  เช่น  ภาพถ่ายผลงาน  ภาพร่างผลงาน  ภาพพิมพ์เขียว
– สิ่งบันทึกเสียง เช่น แผ่นซีดี เทปเพลง ฯลฯ
– โสตทัศนวัสดุ เช่น แผ่นซีดี แผ่นดีวีดี ฯลฯ
– ภาพยนตร์ เช่น แผ่นซีดี แผ่นดีวีดี ฯลฯ
– ดนตรีกรรม เช่น เนื้อเพลง แผ่นซีดี เทปเพลง โน้ตเพลง ฯลฯ
– แพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น แผ่นวีซีดี แผ่นซีดี ฯลฯ
– งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ เช่น ภาพถ่ายของผลงาน ฯลฯ

6. เอกสารที่ใช้ประกอบการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์
1. สำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา)
2. สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ของเจ้าของลิขสิทธิ์
(กรณีเป็นนิติบุคคล)
3. หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ  พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีมีการมอบอำนาจ)
4. หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบาลใช้สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กรฯ รวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นคำขอ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
5. มูลนิธิใช้สำเนาหนังสือการจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

ข้อมูลจาก : กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

สำหรับขั้นตอนการยื่นจดเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ซับซ้อนเหมือนการจดสิทธิบัตร และมีค่าใช้จ่ายไม่มาก แต่เนื่องจากความง่ายในการจดทะเบียนจึงมีผู้ประกอบการจำนวนมากยื่นจด ทำให้คุณอาจพบกับอุปสรรคใหม่นั่นก็คือการถูกคัดค้านจากผู้ประกอบการรายอื่น

เช่นเครื่องหมายของคุณคล้ายคลึงกับของเขา หรือกระทั่งความคุ้มครองครอบคุลมมากเกินไปทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์เป็นต้น ดังนั้นคุณควรสืบค้นไปก่อนล่วงหน้าว่าเครื่องหมายที่คุณจะยื่นจดนั้น มีส่วนเหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นหรือไม่ จากนั้นเตรียมเอกสารและใบคำขอรวมทั้งหนังสือมอบอำนาจในกรณีที่ให้ผู้อื่นไปจดให้ก็เป็นอันใช้ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนการขอจดทะเบียนโดยยื่นคำขอจดทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมตามจำนวนรายการสินค้าหรือบริการที่จะจดทะเบียนอย่างละ500 บาท และเมื่อรับคำสั่งให้จดทะเบียนสินค้า/บริการ ให้ชำระค่าธรรมเนียมตามจำนวนสินค้า/บริการอีก อย่างละ 300 บาท เพื่อนายทะเบียนสั่งรับจดทะเบียนภายหลังครบกำหนดประกาศโฆษณาและไม่มีผู้คัดค้านการจดทะเบียน มีรายละเอียดขั้นตอนการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังนี้

1) การตรวจค้น

แนะนำให้ผู้ยื่นดำเนินการตรวจค้นเครื่องหมายที่จะขอจดว่าเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายของผู้อื่นหรือไม่ ผู้ค้นต้องเสียค่าธรรมเนียมในการตรวจค้น 100 บาท/1 ชั่วโมง

2) การยื่นขอจดทะเบียน

– ผู้ยื่นต้องเตรียมเอกสารตามที่กฎหมายกำหนดและกรอกข้อความให้สมบูรณ์ ได้แก่

2.1) คำขอจดทะเบียน (ก. 01) 1 ฉบับ พร้อมสำเนา จำนวน 5 ฉบับ

2.1) คำขอจดทะเบียน (ก. 01) 1 ฉบับ พร้อมสำเนา จำนวน 5 ฉบับ

2.3) หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามีการมอบอำนาจ) ติดอากร 30 บาท ต่อผู้รับมอบอำนาจ 1 คน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับมอบอำนาจ

2.4) สำเนาบัตรประจำตัว (ถ้าผู้ขอเป็นบุคคลธรรมดา)

2.5) ต้นฉบับหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน นับจนถึงวันยื่นคำขอ (ถ้าผู้ขอเป็นนิติบุคคล)

2.6) ถ้าผู้ขออยู่ต่างประเทศให้โนตารี พับลิครับรองเอกสารด้วย

2.7) รูปเครื่องหมายจำนวน 8 รูป ขนาดไม่เกิน 5X5 เซนติเมตร (ถ้าเกินคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเซนติเมตรละ 100 บาท)

– ยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียม 500 บาท ต่อสินค้า/บริการ 1 อย่าง

3) การตรวจสอบ

– ในขั้นแรกเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary check) คือตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารเท่านั้น (Documentary check)

– ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและนายทะเบียนจะตรวจสอบว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียน มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ กล่าวคือ

3.1.1) ต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะ

3.1.2) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายและ

3.1.3) ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของผู้อื่นในชั้นนี้จะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 4 เดือนต่อ 1 คำขอ

– ภายหลังตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งผู้ยื่นคำขอทราบผลการตรวจสอบตามแต่กรณี ดังต่อไปนี้

3.2.1) การรับจดทะเบียน

3.2.2) ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน

3.2.3) ให้แก้ไขคำขอ

3.2.4) แจ้งผู้ยื่นคำขอว่า เครื่องหมายที่ขอจดทะเบียน มีผู้อื่นยื่นขอจดทะเบียนไว้เช่นกัน ขอให้ผู้ยื่นไปตกลงกันเองก่อน

4) การแจ้งให้แก้ไขคำขอ

ผู้ขอจดทะเบียนต้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ผิด ระบุข้อความไม่ครบถ้วน ไม่ได้ลงลายมือชื่อ ฯลฯ โดยคิดค่าธรรมเนียมคำขอละ 200 บาท

5) การแจ้งให้ตกลงกันก่อน

– ถ้าผู้ยื่นคำขอตกลงกันได้ และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าใครได้สิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นไป เจ้าหน้าที่จะดำเนินการประกาศโฆษณาต่อไป

– ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถตกลงกันได้คำขอจดทะเบียนที่ยื่นก่อนจะได้รับการจดทะเบียน ตามหลัก ใครยื่นก่อนมีสิทธิดีกว่า (first-to-file)

6) การแจ้งไม่ปฏิเสธคำขอ

– เจ้าหน้าที่จะดำเนินการประกาศโฆษณาต่อไป

– บางกรณีเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอสละสิทธิในคำขอบางส่วนเนื่องจากบางส่วนของเครื่องหมายเป็นสิ่งที่ใช้กับสามัญในการค้าขายหรือไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ

6.1) ถ้าผู้ยื่นคำขอยอมสละสิทธิ ผู้ยื่นคำขอต้องแจ้งนายทะเบียนทราบ

6.2) ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับนายทะเบียน ผู้ยื่นคำขออาจดำเนินการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ได้ ภายใน 90วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง โดยชำระค่าธรรมเนียมการอุทธรณ์คำขอฉบับละ 2,000 บาท

7) การแจ้งปฏิเสธ

– ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่อุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ นายทะเบียนก็จะจำหน่ายคำขอนั้นออกจากสารบบ

– ถ้าผู้ยื่นคำขอประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน90 วันนับตั้งแต่วันที่รับหนังสือแจ้งคำสั่ง โดยชำระค่าธรรมเนียมคำขอฉบับละ 2,000 บาท

8) แจ้งคำวินิจฉัยให้นายทะเบียน

เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยแล้ว จะแจ้งคำวินิจฉัยให้นายทะเบียนทราบดังนี้

– ถ้าวินิจฉัยเห็นควรให้จดทะเบียน นายทะเบียนจะดำเนินการประกาศโฆษณาต่อไป

– ถ้าวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียน นายทะเบียนจะจำหน่ายคำขอจดทะเบียนออกนอกสารบบและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถือเป็นที่สุด

9) การประกาศโฆษณา

– ถ้านายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียน นายทะเบียนมีคำสั่งประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนและมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนมาชำระค่าธรรมเนียมประกาศโฆษณาคำขอละ 200 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

9.1.1) ถ้าไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายใน 30 วันถือว่าละทิ้งคำขอ

9.1.2) เมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว นายทะเบียนจะประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนและจะรอการประกาศเอาไว้ 90 วัน

9.1.3) ถ้าไม่มีการคัดค้านการจดทะเบียนเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายนั้นต่อไป

9.1.4) ถ้ามีการคัดค้านการจดทะเบียน โดยเหตุหนึ่ง เหตุใดเช่น เครื่องหมายการค้าไม่มีลักษณะที่จดทะเบียนได้, เครื่องหมายการค้าไม่ได้เป็นของผู้จดทะเบียน หรือการจดทะเบียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านต้องยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่พร้อมแสดงหลักฐานและเหตุผล และชำระค่าธรรมเนียมค่าคำคัดค้าน 1,000 บาท

– เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบว่ามีบุคคล คัดค้านการจดทะเบียนคำขอนั้น

9.2.1) ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่ประสงค์จะโต้แย้งการคัดค้านนายทะเบียนจะจำหน่ายคำขอออกจากสารบบ

9.2.2) ถ้าผู้ยื่นคำขอประสงค์จะโต้แย้งการคัดค้านให้ยื่นคำโต้แย้งต่อนายทะเบียนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาการคัดค้าน

– นายทะเบียนจะพิจารณาในประเด็นที่คัดค้านนั้น เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้ว จะแจ้งไปให้คู่กรณีทราบ

– คู่กรณีที่เสียประโยชน์อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนได้โดนยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียน โดยชำระค่าธรรมเนียมคำขอฉบับละ2,000 บาท

– เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยแล้วนายทะเบียนจะแจ้งผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้แก่คู่กรณีทราบ

– ถ้าคู่กรณีฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ผู้นั้นอาจนำคดีขึ้นฟ้องศาลได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ทราบผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า

10) การจดทะเบียน

– เครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เมื่อผ่านการตรวจสอบจากนายทะเบียนและได้ประกาศโฆษณาแล้ว และผ่านกระบวนการคัดค้านและอุทธรณ์ จนถึงที่สุดเป็นเครื่องหมายที่สามารถจดทะเบียนได้ นายทะเบียนจะแจ้งไปยังผู้ยื่นคำขอทราบให้ดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเจ้ง

– เมื่อผู้ยื่นคำขอชำระค่าธรรมเนียม ผู้ยื่นคำขอจะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน โดยชำระค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการอย่างละ 300 บาท

จำพวกสินค้าของเครื่องหมายการค้า

ในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะต้องระบุจำพวกสินค้าให้ถูกต้องตามประเภทสินค้าที่ได้ขอยื่น ปัจจุบันจำพวกสินค้าของเครื่องหมายการค้ามีทั้งสิ้น 45 จำพวก ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2546 เป็นต้นมา

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

เครื่องหมายการค้า

นักประดิษฐ์ที่คิดจะประกอบกิจการคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะมีตราสัญลักษณ์ อาจใช้เพียงสินค้าของท่าน หรือบางรายอาจใช้ตราดังกล่าวนี้กับหน่วยงานและประทับลงไปบนสินค้าให้เป็นที่ประจักในคราวเดียวกันก็เป็นได้

ดังนั้นความยุ่งยากก็มาเยื่อนอีกครั้งกับการหาตราสัญลักษณ์เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายทางการค้า ดังนั้นเรามาดูความหมายและความจำเป็นกันสักนิดหากคิดจะจดเครื่องหมายการค้า

องค์ประกอบของเครื่องหมายการค้าที่รับจดทะเบียน

เครื่องหมายการค้าที่จะจดทะเบียนได้จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ลักษณะ คือ มีลักษณะบ่งเฉพาะ เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย และไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว

ความคุ้มครองและประเภทเครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วจะได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเป็นพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 เครื่องหมายการค้าแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม

1) ความหมายเครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น

2) ความหมายเครื่องหมายบริการ

เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น

3) ความหมายเครื่องหมายรับรอง

เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้านั้น หรือเพื่อรับรองเกี่ยวกับสภาพคุณภาพ ชนิด หรือคุณลักษณะอื่นใดของบริการนั้น

4) เครื่องหมายร่วม หมายความว่า

เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้หรือจะใช้โดยบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกันหรือโดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน

แนวทางการออกแบบเครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายที่จะขอจดทะเบียนจะต้องเป็น ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตราชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างประกอบกันเป็นเครื่องหมาย เจ้าของเครื่องหมายจึงควรที่จะคิดสร้างสรรค์เครื่องหมายด้วยตนเอง จะได้ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือต่างจำพวกที่สินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน โดยการตรวจสอบเครื่องหมายก่อนยื่นคำขอจดทะเบียน

เครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียน

เครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียน คือ รูป หรือเครื่องหมาย ที่มีลักษณะเหมือน หรือคล้ายกับ รูปหรือเครื่องหมาย ที่บุคคลอื่นจดทะเบียนไว้แล้ว / สิ่งที่บุคคลทั่วไปเคารพ นับถือ เช่น ชาติ ศาสนา / สิ่งที่เกิดขึ้น หรือมีในธรรมชาติ / สิ่งที่เป็นสาธารณะ เช่น ตัวอักษร คำในพจนานุกรมต่าง ๆ เป็นต้น

สิทธิความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า

เมื่อเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนแล้ว เจ้าของจะมีสิทธิต่าง ๆ ในเครื่องหมายการค้าแต่เพียงผู้เดียวเป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียน ได้แก่ สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าในการที่ได้จดทะเบียนไว้ สิทธิในการทำสัญญาอนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้า สิทธิในการโอนเครื่องหมายการค้า สิทธิในการฟ้องร้องและเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่มีผู้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้ยังมีสิทธิในการใช้สีเครื่องหมายการค้าได้ทุกสี (กรณีจดทะเบียนแบบไม่จำกัดสี)

ประโยชน์ของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

ประโยชน์ของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถจดจำหรือเรียกขานสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะเพื่อเลือกซื้อสินค้าเจ้าของเครื่องหมายนั้นได้ โดยไม่สับสนกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าอื่นๆ ด้วย

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

ขั้นตอนการจดอนุสิทธิบัตร

ปัจจุบันมีนักประดิษฐ์หันมาให้ความสำคัญและจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรกันมากขึ้น โดยเฉพาะตามสถาบันการศึกษาที่ไหนๆ ก็ส่งผลงานเข้าประกวดในระดับรางวัลต่างๆ แล้วยังได้มีการยื่นจดอนุสิทธิบัตรด้วย เนื่องจากมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนการจดทะเบียนสิทธิบัตร เรามาดูขั้นตอนกันเลยครับ

เงื่อนไขการขอรับอนุสิทธิบัตร
– ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิมยังไม่เคยมีการใช้หรือแพร่หลายก่อนวันยื่นขอ หรือยังไม่เคยมีการเปิดเผยสาระสำคัญของการประดิษฐ์นั้นก่อนวันยื่นขอทั้งในหรือต่างประเทศ
– สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้

ขั้นตอนการยื่นจดอนุสิทธิบัตร

เอกสารประกอบ
– แบบพิมพ์คำขอ (สป/สผ/อสป/001-ก)
– รายละเอียดการประดิษฐ์
– ข้อถือสิทธิ
– บทสรุปการประดิษฐ์
– รูปเขียน (ถ้ามี)

– เอกสารประกอบคำขอ เช่น
1.) เอกสารหลักฐานแสดงสิทธิในการขอรับอนุสิทธิบัตร
2.) หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะมอบอำนาจให้ตัวแทน ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น)
3.) หนังสือสัญญาโอนสิทธิในการขอรับอนุสิทธิบัตร
4.) หนังสือรับรองการแสดงการประดิษฐ์ที่หน่วยงานราชการจัดขึ้น (กรณีที่มีการนำไปแสดง)
5.) ต้นฉบับหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีที่ผู้ขอเป็นนิติบุคคล, ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน)

อายุการให้ความคุ้มครอง
อนุสิทธิบัตรให้อายุความคุ้มครอง 6 ปี นับตั้งแต่วันขอรับอนุสิทธิบัตร และต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ตั้งแต่เริ่มต้นปีที่ 5 และปีที่ 6 และสามารถต่ออายุได้อีกสองครั้ง ครั้งละ 2 ปี (รวม 10 ปี)

สถานที่ยื่นคำขอ
สามารถยื่นได้ที่ สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิบัตรและค่าธรรมเนียมรายปี

มาดูค่าใช้จ่ายที่นักประดิษฐ์ส่วนมากจะคิดหนักกันหน่อยครับ เพราะยิ่งอายุสิทธิบัตรนานปีเข้าจะเจอกับค่าธรรมเนียมรายปีที่เพิ่มมากขึ้น ที่เป็นอย่างนี้ไม่เฉพาะในประเทศไทยหรอกนะครับ แต่ทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ เพราะเขาไม่ต้องการให้คนที่ไม่ทำประโยชน์จากเทคโนโลยีที่จดไว้ ไปปิดช่องทางในการพัฒนาของผู้อื่น จะส่งผลให้เกิดการชลอตัวในการพัฒนาเทคโนโลยียังไงล่ะครับ

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน
– ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ 500 บาท
– ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ 250 บาท
– ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ 250 บาท
– คำขอแก้ไขเพิ่มเติม 50 บาท
– การประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร 250 บาท
– รับจดทะเบียนและประกาศโฆษณาอนุสิทธิบัตร 500 บาท
– คำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ (กรณีการประดิษฐ์) 250 บาท
– รับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตร 500 บาท
– คำคัดค้าน 250 บาท
– คำอุทธรณ์ 500 บาท
– คำขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสิทธิ 100 บาท

อัตราค่าธรรมเนียมรายปีของสิทธิบัตรการประดิษฐ์
ปีที่ 5 = 1,000 บาท
ปีที่ 6 = 1,200 บาท
ปีที่ 7 = 1,600 บาท
ปีที่ 8 = 2,200 บาท
ปีที่ 9 = 3,000 บาท
ปีที่ 10 = 4,000 บาท
ปีที่ 11 = 5,200 บาท
ปีที่ 12 = 6,600 บาท
ปีที่ 13 =  8,200 บาท
ปีที่ 14 = 10,000 บาท
ปีที่ 15 = 12,000 บาท
ปีที่ 16 = 14,200 บาท
ปีที่ 17 = 16,600 บาท
ปีที่ 18 = 19,200 บาท
ปีที่ 19 = 22,000 บาท
ปีที่ 20 = 25,000 บาท
หรือชำระทั้งหมดในคราวเดียวตั้งแต่แรก 140,000 บาท

ค่าธรรมเนียมรายปีของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
ปีที่ 5 = 500 บาท
ปีที่ 6 = 650 บาท
ปีที่ 7 = 950 บาท
ปีที่ 8 = 1,400 บาท
ปีที่ 9 = 2,000 บาท
ปีที่ 10 = 2,750 บาท
หรือชำระทั้งหมดในคราวเดียวตั้งแต่แรก 7,500 บาท

ค่าธรรมเนียมรายปีของอนุสิทธิบัตร
ปีที่ 5 = 750 บาท
ปีที่ 6 = 1,500 บาท
หรือชำระทั้งหมดในคราวเดียวตั้งแต่แรก 2,000 บาท

ค่าธรรมเนียมการต่ออายุอนุสิทธิบัตร
ครั้งที่ 1 = 6,000 บาท
ครั้งที่ 2 = 9,000 บาท


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

ขั้นตอนการจดสิทธิบัตร

ต่อไปนี้เรามาดูขั้นตอนการขอจดสิทธิบัตรกันอย่างคร่าวๆ นะครับ ที่ต้องบอกว่าคร่าวๆ ก็เพราะว่า ถึงแม้เราจะเตรียมเอกสารไว้พร้อมเพียงใด บางกรณีการตีความของเรากับของเจ้าหน้าที่อาจคลาดเคลื่อนกัน เป็นผลให้เราต้องกลับมาเตรียมเอกสารใหม่อีกครั้งก็เป็นได้โดยเฉพาะข้อถือสิทธิที่บ่อยครั้งพบว่า นักประดิษฐ์เขียนไว้ครอบคลุมมากเกินไป พูดง่ายๆ ก็คือเกินจริงนั่นเองครับ

ขั้นตอนการจดสิทธิบัตร

การยื่นขอรับสิทธิบัตร-การประดิษฐ์ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งในคำขอต้องประกอบด้วย

– แบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตร (แบบ สป/สผ/อสป/001-ก) ซึ่งมี 2 หน้า
– รายละเอียดการประดิษฐ์
– ข้อถือสิทธิ
– บทสรุปการประดิษฐ์
– รูปเขียน (ถ้ามี)
– เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี) เอกสารประกอบอันแสดงถึงสิทธิของผู้ขอ เช่น หนังสือโอนสิทธิสัญญาการว่าจ้าง หนังสือมอบอำนาจ เป็นต้น
– เมื่อยื่นคำขอตามข้อ 1 แล้ว ถ้ามีสิ่งบกพร่องที่พอจะแก้ไขได้จะแจ้งให้ผู้ขอหรือตัวแทนทราบ เพื่อปฏิบัติหรือแก้ไขตามคำสั่งในหนังสือแจ้งนั้นๆ
– ขอต้องใช้แบบ สป/สผ/อสป/003-ก ในการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียม
– ในกรณีคำขอตามข้อ 1 ถูกต้องหรือได้แก้ไขถูกต้องตามข้อ 3 แล้วจะส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ขอชำระค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาในหนังสือจดหมายเหตุสิทธิบัตร
– เมื่อประกาศโฆษณาแล้ว ผู้ขอต้องยื่นขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์โดยใช้ (แบบ สป.003-ก) ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ประกาศโฆษณา
– ถ้าอธิบดีเห็นว่าคำขอถูกต้องตามกฎหมาย และสั่งให้รับจดทะเบียนสิทธิบัตร แล้วจะส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ขอ มาชำระค่าธรรมเนียม
– เมื่อผู้ขอชำระค่าธรรมเนียมตามข้อ 1.6 แล้วจะออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอต่อไป

อายุการให้ความคุ้มครอง
– สิทธิบัตรการประดิษฐ์ มีอายุ 20 ปี นับแต่วันที่ขอรับสิทธิบัตร
– สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีอายุ 10 ปี นับแต่วันที่ขอรับสิทธิบัตร

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

ค้นสิทธิบัตรออนไลน์

ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของนวัตกรรมก็เป็นได้ และเราก็ได้พบเห็นผลงานสร้างสรรค์มากมายออกสู่ตลาดในราคาที่พอจับต้องได้และเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านอาจกำลังมีแผนที่จะสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมของ ตัวเองออกสู่ตลาดอยู่เช่นกัน

แต่ช้าก่อน..ก่อนที่จะออกแบบหรือลงมือสร้างสิ่งที่ท่านคิดว่าเจ๋งสุดๆ แล้วขายได้ ท่านจะต้องค้นหาข้อมูลก่อนว่าสิ่งที่ท่านกำลังจะลงมือสร้าง นั้นมีผู้อื่นได้สร้างสรรค์หรือจดสิทธิบัตรเอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ มิฉะนั้นแล้วท่านอาจต้องตกเป็นจำเลยในข้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ อื่นโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

เพราะจากประสบการณ์ของผมที่เคยอยู่ในแวดวงทรัพย์สินทางปัญญาได้พบเจอคดีความ ที่ไม่น่าจะเป็นคดีมามากมาย แต่ที่พบบ่อยพอๆ กับคดีละเมิดโดยเจตนาก็คือการยื่นจดซ้ำกับข้อถือสิทธิของผู้อื่น หมายความว่าลงมือทำแล้วค่อยไปจดทำให้ต้องเสียเวลาไปกับการพัฒนาสิ่งที่มีผู้ อื่นทำอยู่ก่อนแล้ว

ในกรณีดังกล่าวอาจเป็นไปได้ว่าในสมัยก่อนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการสืบค้นนั้นทำได้ค่อนข้างลำบากและขาดการอัปเดตข้อมูลที่เพียง พอ เพราะต้องเบิกแฟ้ม(เสียเงิน)จากกรมทรัพย์สินทางปัญญามาเปิดดู แถมข้อมูลที่ได้ก็เป็นข้อมูลเฉพาะสิทธิบัตรในประเทศเท่านั้น แหมมันชั่งไม่สะดวกและเสียเวลามากจริงๆ ผมขอยืนยัน

ค้นหาสิทธิบัตรผ่านอินเทอร์เน็ต

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับนักประดิษฐ์ไทย เพราะด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน พัฒนาไปมาก ทำให้เราสามารถสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับผลงานของเรา ได้จากเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยท่านสามารถเข้าไปที่

http://patentsearch.ipthailand.go.th/DIP2013/simplesearch.php

โดยในเว็บนี้ ได้มีการเชื่อมโยงคำที่เราต้องการค้นหาไปยังฐานข้อมูลของสำนักสิทธิบัตรทั่วโลกเลยทีเดียว

เมื่อเข้าไปยังหน้าเว็บ จะพบกับช่องให้กรอกคำค้น และเรายังสามารถเลือกได้ว่าต้องการค้นสิทธิบัตรจากแหล่งใดบ้าง หรือต้องการค้นหาแบบใด วิธีการค้นก็สุดแสนจะง่ายดายเพียงใส่คำที่ต้องการค้นหาหรือ Keyword ลงไป แล้วกดปุ่มค้นหา รอสักครู่สิทธิบัตรในฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและฐานข้อมูลสิทธิ บัตรจากต่างประเทศ ก็พรั่งพรูออกมา ผมทดลองค้นหาคำว่า “ล็อคเบรค” ผลก็ปรากฏออกมาดังรูปด้านบนครับ ทำให้เราได้เห็นว่า ยุคนี้โจรขโมยมันเยอะขนาดต้องมีอุปกรณ์กันขโมยจดสิทธิบัตรกันมากมายขนาดนี้ เลยทีเดียว

ยังไงก็ทดลองค้นหากันก่อนจะลงไม้ลงมือกันนะครับ จะได้ไม่เสียเวลาไปขึ้นศาลด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

หมายเหตุ

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

สิทธิบัตรอาวุธสำคัญของนักประดิษฐ์

การได้รับฟังสื่อต่างๆ ที่ประโคมกันอยู่ทุกวัน เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ดี สิทธิบัตรก็ดี ท่ามกลางความสนใจของประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยการจับจ่ายของใช้ละเมิดลิขสิทธิเหล่านี้ เนื่องจากราคาถูกกว่าของที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมาย

อันนี้คงต้องเป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความจำเป็น ดังกล่าวมากขึ้น ก็ควรจะมากกว่าข่าวการจับแล้วทำลาย (อันนี้ถือเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ) บางคนอาจมองว่าการจดสิทธิบัตรทำให้ตนเองเสียเวลา เสียเงิน เสียประโยชน์จากการประกาศโฆษณา

:: ทำไมต้องจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ::

ตามความเข้าใจโดยทั่วไป การจดสิทธิบัตรก็เพื่อเป็นการป้องกัน มิให้ผู้อื่นสามารถนำแนวความคิดของเราที่สู้อุตส่าห์พัฒนาขึ้นมา ไปกระทำการใดๆ ในเชิงพาณิขย์ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่ายังมีความสำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก อันได้แก่
1. คุ้มครองเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ และกิจการ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ และป้องกันการถูกกล่าวหาในกรณี ขัดแย้งทางสิทธิบัตร
2. เครื่องมือในการสร้างพันธมิตร
3. เผยแพร่เทคโนโลยี เพื่อเป็นความรู้อันเนื่องจาก สิทธิบัตรนั้นมีอายุจำกัดอย่างเช่น จอแสดงผลชนิดบางที่ใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ แบบพกพา หรือ โน๊ตบุ๊ค ปัจจุบันหมดอายุสิทธิบัตรแล้ว ใครก็สามารถนำเทคโนโลยีเดิมนี้ไปพัฒนาต่อได้ ผลที่ได้รับก็คือ ราคาคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค ราคาถูกลง
4. ส่งเสริมการลงทุน ให้มีการตั้งฐานการผลิตในประเทศ และให้มีการส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัย
5. ปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้มีการมุ่งมั่นที่จะพัฒนา อย่างไม่หยุดนิ่ง ยังส่งผลต่อให้ราคาถูกลง การส่งออกมากขึ้นตามลำดับ

ทั้ง 5 ข้อนั้นก็เป็นอีกสาระหนึ่งที่นอกเหนือจากความเข้าใจเดิมในเรื่องของผล ประโยชน์ หากจะว่าไปแล้ว แค่ข้อ 1. ก็น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่เราจะได้ประโยชน์จาการจดสิทธิบัตร

:: ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร :: 
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำ ๆ นี้ก่อน สำหรับคำว่า ” ทรัพย์สินทางปัญญา ” นั้นแท้จริงแล้วก็คือสิ่งประดิษฐ์ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่คนเราสร้างขึ้นมา ก็มีทั้งสังหาริมทรัพย์หรือสิ่งที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องคิดเลข หม้อหุงข้าว ฯลฯ และอสังหาริมทรัพย์ หรือสิ่งของที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น ตึกอาคาร บ้านเรือน หรือที่ดิน เป็นต้น เหล่านี้ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น แต่ก็แยกประเภทออกไปตามลักษณะของผลงาน ซึ่งโดยส่วนมากแล้วคนไทยมักจะคุ้นเคยกับคำว่า ” ลิขสิทธิ์ ” มาใช้เรียกทรัพย์สินปัญญาทุกๆ ประเภท แต่ที่ถูกต้องแล้วทรัพย์สินทางปัญญาจะมีการแบ่งแยกประเภทออกไปอีก สำหรับความเข้าใจผิดเรื่อง ” ลิขสิทธิ์ ” ก็มาทำความเข้าใจกันใหม่ในบทความนี้

ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม อันถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ด้านอุตสาหกรรม ก็คือการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบเครื่องหมายการค้า ตราสัญลักษณ์ ชื่อและที่อยู่ทางการค้า และการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

สิทธิบัตร (Patent)
เครื่องหมายการค้า (Trademark)
แบบผังภูมิของวงจรรวม (Latout – Designs of Integrated Circle)
ความลับทางการค้า (Trade Secrets)
ชื่อทางการค้า (Trad Name)
สิ่งที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication)

:: ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา :: 
ได้กล่าวไปแล้วเมื่อตอนต้น เรื่องความเข้าใจผิด หรือการเหมารวมของคนไทยเรื่องลิขสิทธิ์ ในหัวข้อนี้เรามาดูรายละเอียดกัน
ลิขสิทธิ์ (Copy right) หมาย ถึง งานหรือความคิดสร้างสรรค์ ในสาขา วรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม งานภาพยนตร์ หรืองานอื่นใดใน แผนกวิทยาศาสตร์ เช่นค่ายเทปเพลงต่างๆ ที่ออกเทปมาจำหน่ายตามแผงนั้นก็จะได้รับความคุ้มครองทางด้านลิขสิทธิ์โดย อัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่เผยแพร่โดนไม่ต้องไปยื่นจดทะเบียนแต่อย่างใด ซึ่งผู้อื่นที่ไม่ใช้เจ้าของผลงานจะมาทำซ้ำในรูปแบบเดียวกันไม่ได้ แต่สามารถนำเอาเนื้อหาไปใช้ได้ และลิขสิทธิ์ยังรวมทั้งลิขสิทธิ์ข้างเคียง (Neigh bouning Right ) คือการนำเอางานด้านลิขสิทธิ์ออกแสดง เช่น นักแสดง ผู้บันทึกหรือถ่ายทอดเสียงหรือภาพ ที่สำคัญยังรวมไปถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลกระทบอย่างหนัก ต่อผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศในขณะนี้ ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไมโครซอฟต์ และอีกหลายราย ออกมาเอาจริงเอาจังกับผู้ที่นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง

สิทธิบัตร (Patent) 
หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้ เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้างหรือกลไก รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม และยังรวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design ) หรือผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ต่างๆ (Utility Model) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า (Petty Patent) จะมีลักษณะคล้ายกับการประดิษฐ์ แต่จะมีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่สูงมากนัก

สำหรับสิทธิบัตรนั้น จัดว่าเป็นอาวุธที่สำคัญของนักประดิษฐ์ในการปราบปรามพวกสิงปืนไวชอบลอกเลียน แบบทั้งหลาย มีกรณีศึกษาอยู่หลายกรณี สำหรับนักประดิษฐ์ที่ไม่เห็นความสำคัญของการจดสิทธิบัตร ผลสุดท้ายคนที่ไม่ได้ประดิษฐ์ แต่นำผลงานไปจดสิทธิบัตรก็กลับกลายเป็นผู้มีอำนาจถือครองอย่างถูกต้องตาม กฏหมาย และยังสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ประดิษฐ์ตัวจริงได้อีกด้วย มีเพียงไม่กี่รายที่สามารถฟ้องร้องเรียกสิทธิของตัวเองกลับคืนมาได้

ดังนั้น นักประดิษฐ์ทุกท่านจึงไม่ควรจะนิ่งเฉย แต่กรณีที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงผลเสียอย่างหนึ่งที่กระทบต่อนักประดิษฐ์ เท่านั้น ยังมีผลกระทบทางอ้อมอีกมากหากเราไม่สนใจจดสิทธิบัตร เช่น เทคโนโลยีในการประดิษฐ์ของประเทศมีการเติบโตช้า หรือไม่มีการพัฒนาผลงานให้สูงขึ้น

แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout – Designs of Integrated Circuit) 
หมายถึง ผังการเชื่อมต่อของวงจรไฟฟ้า หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การนำตัวนำไฟฟ้า หรือตัวต้านทาน มาต่อกันเป็นวงจรที่สมบูรณ์โดยที่ผู้ออกแบบบได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง และต้องไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ในอุตสาหกรรมวงจรรวม ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ ช่นวงจรไฟกระพริบ 2 ดวง หากนำมาเปลี่ยนแค่ LED แบบ 2 in 1 หรือ สองสีในหนึ่งดวง นั้นไม่สามารถได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากว่ายังไม่จัดเป็นการคิดค้นหรือออกแบบใหม่ ยังเป็นลักษณะวงจร โมโนสเตเบิล ที่เป็นมาตรฐานที่ใช้กันมานาน

เครื่องหมายการค้า (Trademark) 
หมายถึง เครื่อง หมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้า หรือ ทรัพย์สินทางปัญญา อีกประเภทหนึ่ง ที่ต้องได้รับการคุ้มครอง เช่น โค้ก เป๊บซี่ ฯลฯ ทั้งนี้เครื่องหมายทางการค้า ยังหมายรวมไปถึง เครื่องหมายบริการ (Service Mark ) ที่แสดงถึงประเภทการบริการที่แตกต่าง จากการบริการประเภทอื่นๆ เช่น สายการบิน โรงแรม ฯลฯ เครื่องหมายรับรอง ( Certify caption Mark ) อันนี้ตรงตัว ก็อย่างเช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฯลฯ เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) เป็นเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ ที่ใช้โดยบริษัทหรือ รัฐวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน เช่น ตราช้าง หรือปูนซีเมนต์ไทย เป็นต้น

อย่าง เช่นที่ DTAC เปิดตัวใหม่ๆ ได้มีธุรกิจประเภทซีดีเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ นำเอาเครื่องหมาย DTAC ไปโชว์ไว้ตรงหน้าปกซีดี ก็กลายเป็นเรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีกันไปเป็นที่เรียบร้อย แท้จริงแล้ว หากจะกระทำการในลักษณะนี้ ก็ควรจะขออนุญาตเจ้าของเป็นลายลักษณ์อักษร ก็คงไม่มีปัญหาอะไร

ความลับทางการค้า (Trade Secrets) 
หมายถึง ข้อมูลการค้าที่ไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป และมีมูลค่าในเชิงพานิชย์เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ และมีการดำเนินการกันตามสมควร

ชื่อทางการค้า (Trade Name) 
หมายถึง ชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจการ เช่น โกดัก ฟูจิ เป็นต้น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication) 
หมายถึง ชื่อหรือสัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และสามารถ บ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดขึ้นมาจากแหล่งภูมิศาสาตร์นั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะ ของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เช่น ส้มบางมด ผ้าไหมไทย แชมเปญ เป็นต้น

จากรายละเอียด รวมทั้งข้อคิดต่างๆ ในบทความนี้ คงจะพอชี้ให้เห็นว่าการจดสิทธิบัตรนั้น แท้จริงแล้ว นักประดิษฐ์ทั้งหลายไม่ได้เสียประโยชน์แต่อย่างใด มันกลับจะเพิ่มความมั่นใจในการทำการค้ากับเรามากขึ้นเสียด้วยซ้ำ และยังเกิดข้อดีอีกมากมาย ในการพัฒนาการประดิษฐ์คิดค้น ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือช่วยเป็นแหล่งการสืบค้นข้อมูล สำหรับนักลงทุนที่กำลังต้องการ ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาจำหน่าย นักประดิษฐ์ก็จะได้รับเงินจากการอนุญาตให้นักลงทุนหรือพ่อค้าที่สนใจ สามารถใช้สิทธิจากสิทธิบัตรของตนไปผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายได้ (ในกรณีนี้สำหรับนักประดิษฐ์ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการหรือไม่มีเงินลงทุน เอง )

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย : กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

Exit mobile version