Categories
บทความ สิ่งที่นักประดิษฐ์ควรรู้

แนวคิดการรวบรวมไอเดียตอนที่2

ความเดิมตอนที่แล้วที่ได้ลองผลิตไอเดียกันไป ตอนนี้มาแนะนำการเก็บเกี่ยวไอเดียที่ถูกผลิตขึ้นมา ซึ่งบางครั้งผลิตขึ้นมาโดยไม่จำเป็นหรือโดยบังเอิญไม่ให้สูญเปล่ากันนะครับ

โดยไอเดียการจดบันทึกนี้ ผมได้มาจากหนังสือไอเดียมาราธอน ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนโดยชาวญี่ปุ่นชื่อว่า : ทาเคโอะ ฮิกูชิ และได้รับการแปลโดยคุณเกรียงศักดิ์ กำลังสินเสริม ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์มากๆ อีกเล่มหนึ่ง และเหมาะสำหรับนักสร้างสรรค์หรือ Creative ทุกวงการที่ควรจะมีไว้ศึกษา เนื้อหาในเล่มมีการอธิบายหลักทางวิชาการเกี่ยวกับการจดจำและหลักการทำงานของสมองเอาไว้เป็นอย่างดี

แต่ในที่นี้ ผมขอแนะนำถึงเฉพาะส่วนที่ผมนำมาใช้ประโยชน์จนทุกวันนี้ เอาที่เกี่ยวเนื่องกับเทคนิคการจดบันทึกเจ้าไอเดียของเราที่พรั่งพรูออกมาอย่างไม่ขาดสายก็แล้วกัน

จากรูปเป็นตัวอย่างสมุดบันทึกประจำกายของผมเอง และผมก็รู้สึกสนุกทุกครั้งเมื่อผมได้จดไอเดียใหม่ๆ ไม่ว่าไอเดียนั้นจะเป็นเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์หรือแนวคิดการจัดการเรื่องงานและเรื่องชีวิตประจำวันก็ตาม เพราะมันรู้สึกว่าได้แข่งกับตัวเอง ว่าในแต่ละวันเราจะต้องคิดไอเดียใหม่ๆ แล้วบันทึกเอาไว้

เตรียมตัวจดบันทึก

ก่อนอื่นก็ต้องเตรียมอุปกรณ์กันก่อนครับ อุปกรณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งและต้องพิถีพิถัน พอสมควรเลยก็คือสมุดบันทึกที่มีขนาดไม่ใหญ่เทอะทะจะได้พกติดตัวไปได้ทุกที่ และหากเป็นไปได้เนื้อกระดาษควรจะเป็นกระดาษเปล่าที่ไม่มีเส้นบรรทัด เผื่อเวลาวาดรูปจะได้ไม่มีเส้นมารบกวนสายตาหรืออาจหาสมุดที่เป็นกระดาษกราฟเลยก็ยิ่งดีเพราะจะทำให้เราวาดสัดส่วนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

หลักในการจดบันทึกก็มีง่ายๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ครับ


(ลำดับ) (วัน/เดือน/ปี) (ลำดับที่ของไอเดียในวันนี้) (Thinking Number) (เกี่ยวกับ)


งงมั้ยครับจะเห็นว่ามีทั้งหมด 5 วงเล็บ นั่นคือสิ่งที่เราต้องระบุลงไปได้แก่

(ลำดับ) หมายถึงให้คุณใส่ลำดับไล่ลงมาเรื่อยๆ

(วัน/เดือน/ปี) ก็ใส่วันที่คุณบันทึกไอเดีย

(ลำดับที่ของไอเดียวันนี้) หมายถึงให้คุณใส่ลำดับของไอเดียเฉพาะในวันที่คุณบันทึกหากเปลี่ยนวันที่แล้ว ลำดับนี้จะต้องถูกไล่ลำดับใหม่ เพื่อให้เรารู้ว่าวันนี้เราผลิตไปแล้วกี่ไอเดีย

(Thinking Number) หมายถึงลำดับของไอเดียรวมทั้งหมดตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน โดยจดบันทึกไล่มาเรื่อยๆ

(เกี่ยวกับ) หมายถึงให้คุณบันทึกเอาไว้ด้วยว่าไอเดียนี้เกี่ยวข้องหรือนำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับอะไร เช่น ของแต่งบ้าน, การบริหาร, ของเล่น เป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือการกำหนดหมวดหมู่ให้ไอเดียนั่นเองครับ

ก็มีเท่านี้ล่ะครับ แล้วรับรองว่าหากคุณทำตามนี้ ชีวิตคุณจะเปลี่ยนแน่นอน โดยอันที่จริงผมมีการดัดแปลงเทคนิคการจดบันทึกจากหนังสือเล็กน้อย แต่ก็ยังใช้หลักการเรียงลำดับคล้ายๆ เดิมอยู่

 

ท้ายนี้ขอให้ทดลองทำดูนะครับ สักเดือนก็จะเห็นผล แล้วคุณจะรู้ว่าคุณหยุดคิดไม่ได้อีกแล้ว


 

Categories
บทความ สิ่งที่นักประดิษฐ์ควรรู้

ก้าวแรกของนักประดิษฐ์

ก้าวสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนาที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง กับเรื่องใกล้ๆ ตัวที่ดูเหมือนว่าเราจะมองข้ามไป เป็นคำถามที่อยากให้คุณตอบ “วันนี้เราจะเป็นนักประดิษฐ์กันดีไหม”

ความเข้าใจที่ถูกต้องของคำว่านักประดิษฐ์และนักนวัตกรรม
หลายท่านเข้าใจว่า “นวัตกรรม” และ “สิ่งประดิษฐ์” เป็นเรื่องเดียวกัน จริงๆ แล้ว คำสองคำนี้เป็นญาติกัน เรียกได้ว่า “สิ่งประดิษฐ์” เป็นญาติผู้พี่เพราะเกิดก่อน ส่วน “นวัตกรรม” นั้น อาศัยการประดิษฐ์ให้เกิดตัวของมันขึ้นมาจึงนับเป็นญาติผู้น้องครับ

แล้วเจ้านวัตกรรมนี่มีความหมายอย่างไร คำตอบก็คือ “นวัตกรรม” คือสิ่งประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จจากการเป็นที่รู้จัก และใช้งานกันอย่างแพร่หลายในสังคมนั่นเองครับ

นักประดิษฐ์ต้องรู้จักสังเกตสิ่งที่อยู่รอบๆ
หลายคนอาจไม่เชื่อว่าสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายที่คิดขึ้นมาได้นั้น ล้วนประยุกต์มากจากสิ่งรอบตัวที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น เครื่องบิน เราจะเห็นว่า เราเลียนแบบมาจากนก

นักประดิษฐ์ต้องพกสมุดบันทึก
นักประดิษฐ์มือสมัครเล่นหลายคน ที่เลิกล้มโครงการประดิษฐ์ของตัวเองอยู่บ่อยๆ ก็เพราะไม่มีการจัดระเบียบความคิดให้เป็นระบบนั่งเอง คนที่จะอยู่เก็บเกี่ยวความหอมหวานแห่งความสำเร็จบนโลกใบนี้ คือคนที่ยืนระยะในสิ่งที่ตนสนใจได้นานกว่าคนอื่นเท่านั้น โดยสิ่งที่ทำให้เรายืนระยะอยู่ได้ก็คือการจดบันทึก อาจเป็นแผนงาน ไอเดีย ลำดับการทำงาน ประสบการณ์ ความรู้ใหม่ หรือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานประดิษฐ์

นักประดิษฐ์เต็มขั้นต้นค้นหาเวทีแสดงความสามารถ
หากเราเป็นคนมีความสามารถแต่เก็บซ่อนไว้ตลอด แล้วเมื่อไหร่ล่ะ ที่เราจะได้แสดงความสามารถนั้นให้เป็นประโยชน์และประจักรต่อสังคมอาจเป็นเว็บไซต์ inventor.in.th แห่งนี้ก็ได้ (ท่านสามารถส่งผลงานของท่านมาเผยแพร่กับเราได้เลยทาง e-mail : webmaster@inventor.in.th ) หรือกระทั่งการนำเสนอตัวเองกับองค์กรต่างๆ

ท่านผู้อ่านครับ อย่างน้อยที่สุด นักประดิษฐ์ควรมีคุณสมบัติสำคัญ 4 ประการข้างต้นอย่างครบถ้วน จึงจะสามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นนักประดิษฐ์


 

Categories
บทความ สิ่งที่นักประดิษฐ์ควรรู้

องค์ประกอบที่ 10 : แผนฉุกเฉิน

องค์ประกอบที่ 10 : แผนฉุกเฉิน

แผนฉุกเฉินเป็นการเตรียมแนวทางการดำเนินงานไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่สถานการณ์หรือผลลัพธ์จากการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จนเป็นผลกระทบในทางลบกับกิจการ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ประกอบการควรอธิบายลักษณะความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจส่งผล ให้การดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปอย่างราบรื่นตามแผนธุรกิจที่ได้กำหนดไว้

ตัวอย่างของประเด็นความเสี่ยงทางธุรกิจและการเตรียมพร้อมที่ควรระบุไว้ในแผนฉุกเฉิน ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

– ยอดขายหรือการเก็บเงินจากลูกหนี้ไม่เป็นไปตามคาดหมาย จนทำให้เงินสดหมุนเวียนขาดสภาพคล่อง
– ธนาคารไม่ให้เงินกู้หรือลดวงเงินกู้
– คู่แข่งตัดราคาหรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องระยะยาว
– มีคู่แข่งรายใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่า ทันสมัยกว่า มีสินค้าครบถ้วนกว่า ราคาถูกกว่า เข้าสู่อุตสาหกรรม หรือมาตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
– สินค้าถูกลอกเลียนแบบและขายในราคาที่ถูกกว่า
– มีปัญหากับหุ้นส่วนจนไม่สามารถร่วมงานกันได้
– สินค้าผลิตไม่ทันตามคำสั่งซื้อเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ
– สินค้าผลิตมากจนเกินไป ทำให้มีสินค้าในมือเหลือมาก
– เกิดการชะงักการเติบโตของทั้งอุตสาหกรรม
– ต้นทุนการผลิต/การจัดการสูงกว่าที่คาดไว้
ฯลฯ

ข้อมูลจาก :สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

Categories
บทความ สิ่งที่นักประดิษฐ์ควรรู้

องค์ประกอบที่ 9 : แผนการดำเนินงาน

องค์ประกอบที่ 9 : แผนการดำเนินงาน

ผู้เขียน : ผศ.วิทยา ด่านธำรงกูล

หลังจากผู้ประกอบการกำหนดกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ของกิจการอย่างรอบคอบและครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ การจัดทำรายละเอียดของกลยุทธ์ดังกล่าว โดยการกำหนดกิจกรรมของกลยุทธ์แต่ละด้านให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

ในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการอาจจะทำแผนการดำเนินงานในลักษณะของตารางที่มีรายละเอียดของเป้า หมาย กลยุทธ์ วิธีการ งบประมาณ และระยะเวลาดำเนินการ โดยจัดทำรายละเอียดเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์ ตามที่ผู้ประกอบการเห็นสมควร

ข้อมูลจาก : สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

Categories
บทความ สิ่งที่นักประดิษฐ์ควรรู้

องค์ประกอบที่ 8 : แผนการเงิน

องค์ประกอบที่ 8 : แผนการเงิน

ผู้เขียน : รศ.ประนอม โฆวินวิพัฒน์
อ.วิภาดา ตันติประภา
ผศ.พรชนก รัตนไพจิตร

ในการจัดทำแผนธุรกิจนั้น กิจการต้องทราบให้ได้ว่าแผนที่จะจัดทำขึ้นนั้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนเท่าใด จะได้มาจากแหล่งใดบ้าง จากแหล่งเงินทุนภายใน ในรูปของเจ้าของกิจการ หรือแหล่งเงินทุนภายนอกในรูปของการกู้ยืมจากเจ้าหนี้ เรียกว่า กิจกรรมจัดหาเงิน (Financing Activities) จากนั้น จะเป็นเรื่องของการตัดสินใจนำเงินไปลงทุน กิจกรรมนี้เรียกว่า กิจกรรมลงทุน (Investing Activities) ซึ่งจะแตกต่างไปตามประเภทของธุรกิจ กิจกรรมที่สำคัญต่อเนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น คือกิจกรรมดำเนินงาน (Operating Activities) ซึ่งจะประกอบไปด้วย การผลิต การซื้อ การขาย และการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ

การ ตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมหลักทั้งสาม คือ กิจกรรมจัดหาเงิน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมดำเนินงาน จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจ นักบัญชีจะเป็นผู้นำเสนอผลของกิจกรรมทั้งสาม และสรุปออกมาเป็น งบการเงิน (Financial Statements) ซึ่ง เป็นรายงานสรุปขั้นสุดท้ายของขบวนการจัดทำบัญชี ที่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลทางการเงินของธุรกิจหรืออาจจะเป็นงบการเงินที่ครอบ คลุมการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในรอบระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่า ในรอบระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ธุรกิจมีฐานะการเงินอย่างไร กำไรหรือขาดทุน มีการเปลี่ยนแปลงในเงินสดอย่างไรบ้าง เพิ่มขึ้นหรือลดลง และสาเหตุเกิดจากอะไร

งบการเงินประกอบด้วย

งบนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของทุนเรือนหุ้นและกำไรสะสม

1.งบดุล เป็นรายงานที่แสดงถึงฐานะของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง ในงบดุลจะประกอบไปด้วยข้อมูลทางการเงินที่แสดงถึงฐานะของกิจการ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของผู้เป็นเจ้าของ
2.งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่แสดงถึงผลการดำเนินงานของกิจการ โดยแสดงรายได้ ค่าใช้จ่ายและกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
3.งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ ส่วนของผู้เป็นเจ้าของหรือส่วนของผู้ถือหุ้น ประกอบไปด้วย 2 ส่วนด้วยกัน คือ
– ทุนเรือนหุ้น
– กำไรสะสม
งบนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของทุนเรือนหุ้นและกำไรสะสม

4.งบกระแสเงินสด เป็นงบการเงินที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินใดในรอบระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง จะรายงานให้ทราบว่า เงินสดในปีปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น มีสาเหตุจากอะไรในกิจกรรม 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
-กิจกรรมดำเนินงาน
-กิจกรรมลงทุน
-กิจกรรมจัดหาเงิน

5.นโยบายบัญชี หมายถึง หลักการบัญชีหรือวิธีปฏิบัติที่กิจการใช้ในการจัดทำและนำเสนองบการเงิน เนื่องจากหลักการบัญชีที่กิจการเลือกใช้มีได้หลายวิธี วิธีการบัญชีที่กิจการเลือกใช้จะมีผลกระทบต่องบการเงินไม่เหมือนกัน กิจการจึงต้องบอกข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ใช้ในงบการเงินทราบ โดยทั่วไปแล้วกิจการควรเปิดเผยนโยบายบัญชีในเรื่องต่อไปนี้ไว้ในงบการเงิน
-วิธีการรับรู้รายได้
-การตีราคาสินค้าคงเหลือ
-การตีราคาเงินทุน
-ค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ
-วิธีการคิดค่าเสื่อมราคา และการตัดบัญชีสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
-การแปลงค่าเงินตราต่างประเทศ
-การจัดทำงบการเงินรวม

ข้อมูลจาก : สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

Categories
บทความ สิ่งที่นักประดิษฐ์ควรรู้

องค์ประกอบที่ 7 : แผนการผลิต/ปฏิบัติการ

องค์ประกอบที่ 7 : แผนการผลิต/ปฏิบัติการ

ผู้เขียน : อ.ดร.เอกจิตต์ จึงเจริญ
หลังจากที่ผู้ประกอบการได้ทำการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของกิจการ ตลอดจนกำหนดวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและแผนกลยุทธ์ของกิจการในภาพรวม เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันแล้ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นให้ออกมาเป็นแผนการผลิต/ปฏิบัติ ที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนธุรกิจส่วนอื่นๆ ของบริษัท อันได้แก่ แผนการตลาด แผนการบริหารและจัดการบุคลากรและแผนการเงิน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรมีศักยภาพในการบรรลุเป้าหมายตามแผนนั้นๆ

แผนการผลิต/ปฏิบัติการที่ดีจะต้องสะท้อนความสามารถของกิจการในการจัดการกระบวน การผลิตและปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจ โดยมุ่งเน้นประเด็นการจัดการไปยังระบบการแปลงสภาพวัตถุดิบและทรัพยากรในการ ผลิตให้เป็นผลผลิต ซึ่งสามารถแสดงความสัมพันธ์ได้ดังแผนภาพที่ 1 โดย วัตถุดิบและทรัพยากร นั้น หมายถึง ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ ชั่วโมงแรงงานที่ทำการผลิต หรือค่าใช้จ่ายรวมของทรัพยากรทุกอย่างที่ใช้ ได้แก่ ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน เงินลงทุน และอื่นๆ สำหรับ กระบวนการผลิตและปฏิบัติการ หมายถึง กระบวนการในการแปลงสภาพวัตถุดิบและทรัพยากรการผลิตให้เป็นผลผลิต และ ผลผลิต นั้น หมายความถึง จำนวนหรือมูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตได้

ในการวางแผนการผลิต/ปฏิบัตินั้น ผู้ประกอบการต้องพิจารณาตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและปฏิบัติ การภายในกิจการตามประเด็นที่สำคัญๆ รวม 10 ประเด็นดังต่อไปนี้ คือ

1.คุณภาพ
2.การออกแบบสินค้าและบริการ
3.การออกแบบกระบวนการผลิตและปฏิบัติการ และการตัดสินใจเรื่องกำลังการผลิต
4.การเลือกสถานที่ตั้ง
5.การออกแบบผังของสถานประกอบการ
6.การออกแบบระบบงานและการวางแผนกำลังคน
7.การจัดกระบวนการจัดส่งวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูป (Supply-Chain Management)
8.ระบบสินค้าคงคลัง
9.กำหนดการผลิตและปฏิบัติการ
10.การดำรงรักษาเครื่องมือและเครื่องจักร

ข้อมูลจาก : สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

Categories
บทความ สิ่งที่นักประดิษฐ์ควรรู้

องค์ประกอบที่ 6 : แผนการจัดการและแผนคน

องค์ประกอบที่ 6 : แผนการจัดการและแผนคน

ผู้เขียน : ผศ.วิทยา ด่านธำรงกูล

ในส่วนนี้ผู้จัดทำแผนจะต้องระบุโครงสร้างขององค์การให้ชัดเจน โดยแสดงแผนผังโครงสร้างขององค์กรว่า ประกอบไปด้วยหน่วยงานอะไรบ้าง หน่วยงานแต่ละหน่วยมีความรับผิดชอบอะไร รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารหลักๆ ขององค์การ โครงสร้างของคณะกรรมการและการถือหุ้น การเขียนในส่วนนี้ควรจะทำให้ผู้อ่านเห็นว่าคณะผู้บริหารรวมตัวกันในลักษณะ เป็นทีมที่ดีในการบริหาร มีความสมดุลในด้านความรู้ ความสามารถที่ครบถ้วน ทั้งด้านเทคนิคและการบริหาร มีความชำนาญและประสบการณ์ในกิจการที่ทำ

รายละเอียดในส่วนนี้ประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้ คือ

1.โครงสร้างองค์กร

1.1 ตำแหน่งงานหลักๆ ขององค์การ คนที่จะมาดำรงตำแหน่ง พร้อมทั้งแผนผังองค์การ
1.2 หากผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มเวลา ต้องระบุว่าใครจะเป็นผู้ช่วยในงานนั้น เพื่อทำให้งานสมบูรณ์
1.3 หากทีมงานผู้บริหารเคยทำงานร่วมกันมาก่อน ให้ระบุว่าเคยทำงานอะไร มีความสำเร็จในฐานะทีมที่ดีอะไรบ้าง

2.ตำแหน่งบริหารหลัก
2.1 ระบุว่าตำแหน่งบริหารหลักๆ มีความรู้ ความชำนาญอะไรบ้าง และมีความเหมาะสมในตำแหน่งงานนั้นอย่างไร
2.2 ระบุบทบาท ภาระความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งในทีมบริหาร
2.3 อาจใส่ประวัติสั้นๆ ของทีมบริหารเอาไว้ในส่วนนี้ด้วยก็ได้ หรือมิฉะนั้นอาจนำไปใส่ไว้รวมกันในภาคผนวก

3.ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้บริหาร ระบุเงินเดือนที่จ่ายแก่ผู้บริหาร ตลอดจนผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ และสัดส่วนการถือหุ้น ของผู้บริหารแต่ละคน

4.ผู้ร่วมลงทุน ระบุผู้ร่วมลงทุนอื่นๆ และเปอร์เซ็นต์การถือหุ้น

5.คณะกรรมการบริษัท ระบุคุณสมบัติของกรรมการบริษัท องค์ประกอบและภูมิหลังของกรรมการแต่ละคนว่าจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการอย่างไร

ข้อมูลจาก : สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

Categories
บทความ สิ่งที่นักประดิษฐ์ควรรู้

องค์ประกอบที่ 5 : แผนการตลาด

องค์ประกอบที่ 5 : แผนการตลาด

ผู้เขียน : อ.ดร.พิภพ อุดร
อ.ดร.ครรชิตพล ยศพรไพบูลย์

แผนการตลาด คือ การกำหนดทิศทางและแนวทางในการทุ่มเทความพยายามทางการตลาด ตลอดจนกลไกในการตรวจสอบและประเมินผลกิจกรรมการตลาดไว้ล่วงหน้า โดยใช้ประโยชน์จากความเข้าใจที่ได้รับจากการวิเคราะห์สถานการณ์ในองค์ประกอบ ที่ 3 มาพิจารณาร่วมกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจที่กำหนดไว้ในองค์ประกอบที่ 4

ดังนั้น การวางแผนการตลาดจึงเป็นการกำหนดกลยุทธ์และวิธีในการดำเนินกิจกรรมทางการ ตลาด เพื่อให้กิจการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่มุ่งหวัง โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรทางการตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการตอบรับกับ ความเป็นไปและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในดำเนินธุรกิจทั้งภายนอก และภายในกิจการ

เนื้อหาของแผนการตลาดต้องตอบคำถามหลักๆ ให้กับผู้ประกอบการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

1.เป้าหมายทางการตลาดที่ต้องทำให้ได้ในระยะเวลาของแผนคือเรื่องอะไรบ้าง
2.ใครคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเป้าหมายหลักและกลุ่มเป้าหมายรอง
3.จะนำเสนอสินค้า/บริการอะไรให้กลุ่มเป้าหมาย ในราคาเท่าใด และด้วยวิธีการใด
4.จะสร้างและรักษาความพึงพอใจให้กับกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นได้ด้วยวิธีการใดบ้าง
5.ถ้าสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ จะปรับตัวหรือแก้ไขอย่างไร

ใน การตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนประสบการณ์และวิจารณญาณที่ดี ในการกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ และวิธีการทางการตลาดสำหรับกิจการตามองค์ประกอบที่สำคัญของแผนการตลาด ซึ่งมีเนื้อหาหลัก 4 ส่วน ดังต่อไปนี้

1.เป้าหมายทางการตลาด
2.การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย
3.กลยุทธ์และกิจกรรมทางการตลาด
– กลยุทธ์การตลาดเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน
– กลยุทธ์เพื่อการเติบโตทางการตลาด
– กลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาด
4.การควบคุมและประเมินผลทางการตลาด

ข้อมูลจาก : สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

Categories
บทความ สิ่งที่นักประดิษฐ์ควรรู้

องค์ประกอบที่ 4 : วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ

องค์ประกอบที่ 4 : วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ

ผู้เขียน : อ.ดร.พิภพ อุดร
อ.ดร.ครรชิตพล ยศพรไพบูลย์

วัตถุ ประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ หมายถึง ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่กิจการต้องการได้รับในช่วงระยะเวลาของแผน ซึ่งโดยทั่วไปเป้าหมายทางธุรกิจอาจเป็นเป้าหมายโดยรวมของกิจการ และเป้าหมายเฉพาะด้านในแต่ละแผนกหรือลักษณะงาน เช่น เป้าหมายทางการตลาด เป้าหมายทางการจัดการ เป้าหมายทางการผลิต และเป้าหมายทางการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้เป้าหมายทางธุรกิจอาจแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น คือ ภายใน 1 ปี เป้าหมายระยะกลาง ประมาณ 3-5 ปี และเป้าหมายระยะยาวที่นานกว่า 5 ปี

ลักษณะของเป้าหมายของธุรกิจที่ดีมี 3 ประการ คือ

1.มีความเป็นไปได้ หมายความว่า กิจการมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายได้ หากได้มีการดำเนินงานอย่างเต็มที่ตามแผนธุรกิจที่วางไว้ การกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจควรประเมินจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจทั้งภายนอกและภายในกิจการ กล่าวคือ ไม่ควรตั้งเป้าหมายที่เลื่อนลอยเกินความจริงจนทำไม่ได้ และก่อให้เกิดความท้อแท้ แต่ก็ไม่ควรตั้งเป้าหมายที่ง่ายจนเกินไปจนไม่ต้องทุ่มเทความพยายามใดๆ ก็สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายได้โดยง่าย เป้าหมายที่ดีจึงควรเป็นผลลัพธ์ที่ทำได้ยากแต่มีความเป็นไปได้

2.สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม หมายถึง มีความชัดเจนที่สามารถประเมินได้ว่า กิจการบรรลุตามเป้าหมายนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ โดยทั่วไป ควรจะต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนว่า จะต้องบรรลุถึงเป้าหมายนั้นภายในระยะเวลาเท่าใด

3.เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หมายถึง เป้าหมายย่อยๆ ในแต่ละฝ่ายควรมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งให้แน่ใจว่าเป้าหมายระยะสั้นๆ เป็นไปเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเป้าหมายในระยะปานกลางและระยะยาว

กล่าว คือ ไม่มุ่งหวังเพียงกำไรหรือผลลัพธ์ในระยะสั้นมากจนเกินไป โดยเฉพาะหากผลในระยะสั้นนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียได้ในระยะปานกลางและระยะยาว

Categories
บทความ สิ่งที่นักประดิษฐ์ควรรู้

องค์ประกอบที่ 3 : การวิเคราะห์สถานการณ์

องค์ประกอบที่ 3 : การวิเคราะห์สถานการณ์

ผู้เขียน : อ.ดร.พิภพ อุดร
อ.ดร.ครรชิตพล ยศพรไพบูลย์

ขั้น ตอนแรกของการจัดทำแผนธุรกิจ คือ การพยายามทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของปัจจัยสำคัญๆที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ การแข่งขัน ความน่าสนใจโดยรวมของอุตสาหกรรม ตลอดจนความสามารถในการทำกำไร และความพร้อมในด้านต่างๆ ของกิจการ ดังนั้นการวิเคราะห์สถานการณ์จึงเป็นงานอันดับแรกที่สำคัญที่ผู้ประกอบการ ควรกระทำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานของกิจการ

การวิเคราะห์สถานการณ์หรือเรียกอย่างย่อๆ ว่า SWOT ANALYSIS

1.การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน หมายถึง การตรวจสอบความสามารถและความพร้อมของกิจการในด้านต่างๆ ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์ในส่วนที่เป็น จุดแข็ง (Strengths)และจุดอ่อน (Weaknesses)ของกิจการ

2.การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก หมายถึง การประเมินสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงต้องพยายามเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของสภาพแวดล้อมดังกล่าว เป็นไปในลักษณะที่เป็นโอกาส (Opportunities)หรือ อุปสรรค (Threats)ในการดำเนินธุรกิจ

ผลลัพธ์จากขั้นตอนของการวิเคราะห์สถานการณ์ คือ บทวิเคราะห์ความเป็นไปและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินธุรกิจที่เป็น ประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธ์ด้านต่างๆ ของกิจการ

ข้อมูลจาก : สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

Exit mobile version