Categories
บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

ซูเปอร์คา​ปา​ซิ​เตอร์ ตัว​เก็บ​ประจุ​ความ​จุ​สูง

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พื้นฐานที่เรา​จะ​ต้อง​รู้จัก​คือ ตัว​เก็บ​ประจุ​หรือคา​ปา​ซิ​เตอร์ (capacitor) ซึ่ง​มี​ด้วยกัน​หลายชนิด​และ​มี​การ​นำไป​ใช้งาน​ที่​แตกต่างกัน แต่ทำไมค่า​ของ​ตัว​เก็บ​ประจุ มี​แต่​ค่า​​พิโกฟา​รัด (pF : 10-12 ฟา​รัด ), นาโนฟา​รัด (nF : 10-9 ฟา​รัด) และ​ไมโครฟา​รัด (m : 10-6 ฟา​รัด) ไม่เห็น​มี​ค่าฟา​รัด (Farad) ให้​ใช้งานเลย คำ​ตอบ​ที่​ได้​คือ มันเป็นค่าที่​ใหญ่มาก ต่อมาเราจึง​ได้เห็นพัฒนาการของ​ตัว​เก็บ​ประจุซึ่​ทำให้​เราได้​ใช้งาน​ตัว​เก็บ​ประจุค่า 0.1F, 0.33F และ 0.68F ซึ่ง​นำมาใช้​ใน​การ​เป็น​แหล่ง​จ่าย​ไฟสำรอง​ชั่ง​คราว

แต่ในปัจจุบันนี้​เรามี​ตัว​เก็บ​ประจุ​ในหน่วย​ฟา​รัด​ออกมา​ให้​ใช้งานกัน​แล้ว มัน​มีชื่อ​เรียกว่า ซูเปอร์คา​ปา​ซิ​เตอร์ (Super Capacitor) มี​ให้​เลือก​ตั้งแต่ 1 ฟา​รัด​ไป​จนถึง​หลาย​สิบ หลาย​ร้อยฟา​รัด​เลย​ทีเดียว

คุณสมบัติ​เด่นของซูเปอร์คา​ปา​ซิ​เตอร์ ตัว​เก็บ​ประจุ​ความ​จุ​สูง​พิเศษ

  • มี​ค่า​ความ​จุ​สูง​ถึง​สูงมาก (1 ถึง​หลาย​สิบ หลาย​ร้อยฟา​รัด) ให้เลือกใช้ ภายใต้ขนาดของตัวถังที่​ไม่​ใหญ่ หรือ​อาจ​กล่าวได้ว่า เล็กมาก​เมื่อ​เทียบกับ​ค่า​ความ​จุ​ไฟฟ้า
  • ใช้​เทคโนโลยี​นำ​ไฟฟ้าแบบ 2 ชั้น (Electrical Double-Layer) ซึ่ง​ไม่มี​การใช้​ไดอิ​เล็ก​ตริก​ที่​เป็น​ของแข็ง​ดังที่​ใช้​ใน​การ​ผลิต​ตัว​เก็บ​ประจุ​ด้วย​เทคโนโลยี​เก่า และ​ใช้​ปฏิกิริยา​ทาง​เคมี​ใน​ลักษณะ​เดียว​กับ​แบตเตอรี่ ทำให้สามารถ​เพิ่ม​ความ​จุ​ไฟฟ้าได้มาก จึง​เรียกตัว​เก็บ​ประจุ​แบบนี้​ว่า EDLC (Electrical Double-Layer Capacitor)
  • ไม่ต้องการวงจรประจุ​หรือ​คายประจุที่​พิเศษแต่อย่างใด
  • การ​ประจุ​และ​คาย​ประจุ​ด้วย​แรงดัน​ที่​เกิน​ไม่​ส่งผลให้เกิดการจดจำค่าแรงดัน​หรือ memory effect ดังเช่นที่​พบ​ใน​แบตเตอรี่​แบบ​ประจุ​ได้
  • ใช้​เทคโนโลยี​พลังงาน​สะอาด​ใน​การ​ผลิต
  • เนื่องจาก​สามารถ​บัดกรี​เข้ากับ​แผ่น​วงจร​พิมพ์​ได้ ​ทำให้​ไม่มี​ปัญหา​เรื่อง​หน้า​สัมผัสใน​การ​เชื่อม​ต่อ​เพื่อ​ใช้งาน

รูปที่ 1 หน้าตาของซูเปอร์คาปาซิเตอร์แบบความต้านทานต่ำหรือ Low ESR คล้ายตัวเก็บประจุอิเล็กทรอไลต์ทั่วไป ที่น่าทึ่งคือ มันมีความจุ 3.3F 2.5V (ซ้าย) ซึ่งมากกว่า 470µF 16V (ขวา) ที่วางเปรียบเทียบกันถึงกว่า 7,000 เท่า แต่มีขนาดเกือบเท่ากัน

ข้อจำกัด​ของ​ซูเปอร์คา​ปา​ซิ​เตอร์

  • ​อายุ​การ​ใช้งาน เนื่องจาก​อายุ​ของ​สารอิ​เล็กท​รอ​ไลต์​ที่​นำมา​ทำเป็น​ไดอิ​เล็ก​ตริก
  • สารอิ​เล็กท​รอ​ไลต์​อาจ​รั่วออก​มาจาก​ตัว​เก็บ​ประจุ​ได้ หาก​ใช้งาน​ไม่​ถูกวิธี
  • ไม่​สามารถ​ใช้​ใน​การ​ถ่ายทอด​สัญญาณไฟ​สลับได้
  • มี​พิกัด​แรงดัน​ให้เลือกใช้งานไม่สูง ส่วนใหญ่อยู่​ใน​ย่าน 2 ถึง 5V (แต่​เชี่อว่า ใน​อนาคต​จะ​สามารถ​ทำได้)

ตัวอย่าง​งาน​ที่​นำ​ซูเปอร์คา​ปา​ซิ​เตอร์​ไป​ใช้

1. ใช้​ใน​วงจร​จ่าย​ไฟสำรอง​สำหรับ​รักษาข้อมูล​ใน​หน่วยความจำ​ของ เครื่อง​ตั้งเวลา, ระบบ​สมองกล​ฝังตัว, เครื่องเล่น DVD และ​เครื่องเสียง​สมัยใหม่​ที่​ต้องการ​เก็บข้อมูล​การ​ใช้งาน​ของ​ผู้ใช้งาน
2. ใช้​เป็น​แหล่ง​จ่ายไฟ​ชั่วคราว​สำหรับ​อุปกรณ์​หรือ​เครื่องมืออิ​เล็กท​รอ​นิกส์​แบบ​พกพา​เมื่อ​มี​การ​เปลี่ยน​แบตเตอรี่ โดย​แรงดัน​ที่​ตัว​เก็บ​ประจุ​นี้​สะสม​ไว้​จะ​นำมาใช้​เป็นไฟ​เลี้ยง​ระบบ​แทนที่​แบตเตอรี่​จนกว่า​การ​เปลี่ยน​แบตเตอรี่​จะ​เสร็จ​สมบูรณ์
3. ใช้​เป็น​แหล่ง​จ่าย​ไฟสำรอง​สำหรับ​ระบบ​ที่​ใช้​ไฟ​เลี้ยง​จาก​เซล​แสง​อาทิตย์ เช่นนาฬิกา​ข้อมือ, ระบบ​ควบคุม​เวลา และ​ระบบ​บันทึก​ข้อมูล​แบบ​พกพา โดย​กลาง​วันที่​มี​แดด​จะ​ใช้​พลังงาน​จาก​เซล​รับ​แสง​อาทิตย์​และ​มี​การ​ประจุ​แรงดัน​ไว้​ที่​ตัว​เก็บ​ประจุ เมื่อ​ถึงเวลา​กลางคืน​ที่​ไม่มี​แดด ระบบ​ก็​จะ​เปลี่ยน​มา​ใช้​ไฟ​เลี้ยง​จาก​ตัว​เก็บ​ประจุ​ความ​จุ​สูง​หรือ​ซูเปอร์คา​ปา​ซิ​เตอร์​นี้
4. ใช้​เป็น​แหล่ง​พลังงาน​ชั่วคราว​สำหรับ​รถยนต์​ไฮ​บริดจ์​ในขณะที่​รถยนต์​มี​การ​เบรก​หรือ​ใน​ช่วง​สตาร์ต​เครื่องยนต์

Electrical Double-Layer : ชั้นนำไฟฟ้า 2 ชั้น เทคโนโลยีที่ทลายข้อจำกัด
ในรูปที่ 2 แสดงโครงสร้างทางวัสดุของตัวเก็บประจุความจุสูงนี้ จะเห็นว่า มีส่วนประกอบที่สำคัญตัวหนี่งซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดตัวเก็บประจุความจุสูงนี้ขึ้นมาได้ นั่นคือ ผงถ่านกัมมันต์หรือ Activated Charcoal ซึ่งได้รับการจัดการให้มี 2 ชั้นคือ ชั้นแอโนดและชั้นแคโทด โดยมีอิเล็กทรอไลต์ทำหน้าที่เป็นไดอิเล็กตริก ด้วยคุณสมบัติที่พิเศษของผงถ่านกัมมันต์ซึ่งสามารถดูดซับอิเล็กตรอนได จึงทำให้มันกลายสภาพเป็นขั้วไฟฟ้าหรืออิเล็กโตรดได้ ดังนั้นจึงทำให้ดูเหมือนกับว่ามีชั้นตัวนำไฟฟ้า 2 ชั้นซ้อนกัน นั่นจึงทำให้เราสามารถมีพื้นที่สำหรับเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในการผลิตตัวเก็บประจุแบบเดิม


รูปที่ 2 แสดงโครงสร้างทางวัสดุของซูเปอร์คาปาซิเตอร์หรือตัวเก็บประจุความจุสูงพิเศษและวงจรสมมูลย์

ถ่านกัมมันต์หรือ Actived Charcoal คือตัวเปลี่ยนเทคโนโลยี
ถ่านกัมมันต์เป็นถ่านที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีในระดับนานโนเพื่อทำให้โครงสร้างทางกายภาพของถ่านเกิดรูพรุนหรือรอยแตกขนาดเล็กในระดับนาโนเมตร (10-9 เมตร) จำนวนมาก ซึ่งภายในผนังรูพรุนนี้เองคือ พื้นที่ที่ทำการกักหรือเก็บประจุไฟฟ้า จึงอาจมองได้ว่า ถ่านกัมมันต์ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำที่ดูดหรือซึมซับเอาประจุไฟฟ้าเข้ามารวมกันไว้ ทำให้ถ่าน กัมมันต์กลายเป็นขั้วไฟฟ้าได้ในที่สุด
การนำถ่านกัมมันต์มาใช้ในการสร้างตัวเก็บประจุจะมารูปของผงถ่านที่เคลือบลงบนแผ่นฟอยล์อะลูมิเนียมที่นำมาทำเป็นขั้วไฟฟ้าในตัวเก็บประจุ


รูปที่ 3 หน้าตาของถ่านกัมมันต์หรือ แบบหนึ่ง


รูปที่ 4 ภาพขยายเพื่อแสดงให้เห็นผิวของถ่านกัมมันต์ที่เป็นรูพรุนสำหรับกักเก็บประจุไฟฟ้าและโครงสร้างภายในของตัวเก็บประจุความจุสูงพิเศษ

ขั้นตอน​การ​ผลิต​ซูเปอร์คา​ปา​ซิ​เตอร์
ใน​รูป​ที่ 5 แสดง​ขั้นตอน​การ​ผลิต​ซูเปอร์คา​ปา​ซิ​เตอร์​หรือ​ตัว​เก็บ​ประจุ​ความ​จุ​สูง อธิบาย​ได้​ดังนี้
(1) เคลือบ​ผง​ถ่านกัม​มันต์​ลง​บน​แผ่น​ฟอยล์อะลูมิเนียม เพื่อ​สร้าง​ขั้ว ไฟฟ้า​จาก​ถ่านกัม​มันต์ (activated charcoal electrode) โดย​แบ่ง​การ​ทำเป็น​ขั้ว​แอโนด​และ​แคโทด
(2) ติดตั้ง​ขั้ว​หรือ​ขา​ต่อ​นำ​ไฟฟ้า​เข้ากับ​ชั้น​แอโนด​และแคโทด
(3) นำ​กระดาษ​ที่​ชุบ​สารละลายอิ​เล็กท​รอ​ไลต์​มา​คั่น​ระหว่าง​ชั้น​แอโนด​และ​แคโทด แล้ว​ม้วน​เป็น​ทรงกระบอก ติด​ด้วย​เทป​เพื่อ​รักษา​รูป​ทรงไว้
(4) นำ​ตัวถัง​ของ​ตัว​เก็บ​ประจุ​มา​หุ้ม​พร้อมกับ​ติด​ยาง​หุ้ม​ขา เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​ขา​ของ​ตัว​เก็บ​ประจุ​ต่อ​ถึงกัน
(5) หุ้ม​ฉลาก​ที่​ระบุ​ยี่ห้อ ค่า​ความ​จุ และ​พิกัด​การ​ใช้งาน​ลง​บน​ตัวถัง ก็​จะ​ได้ตัว​เก็บ​ประจุ​ความ​จุ​สูง​พิเศษ​หรือ​ซูเปอร์คา​ปา​ซิ​เตอร์​มา​ใช้งาน


รูปที่ 5 ขั้นตอนการผลิตตัวเก็บประจุความจุสูง (www.elna.com)

ซูเปอร์คาปาซิเตอร์ V.S. แบตเตอรี่
ในตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบคุณสมบัติในด้านต่างๆ ของตัวเก็บประจุความจุสูงพิเศษนี้กับแบตเตอรี่และตัวเก็บประจุชนิดอิเล็กทรอไลต์ในแบบดั้งเดิม จะเห็นได้ว่าตัวเก็บประจุ EDLC มีข้อโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีของวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิต, สารอิเล็กทรอไลต์ที่นำมาใช้เป็นชนิดที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ จึงไม่ก่อมลภาวะ และสามารถประจุซ้ำใหม่ได้มากกว่า 100,000 รอบ ซึ่งมากกว่าแบตเตอรี่ทุกชนิด


ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบคุณสมบัติต่างๆ ระหว่างตัวเก็บประจุความจุสูงพิเศษที่ใช้ เทคโนโลยี EDLC, ตัวเก็บประจุอิเล็กทรอไลต์มาตรฐาน และแบตเตอรี่


รูปที่ 6 ตัวอย่างของซูเปอร์คาปาซิเตอร์แบบต่างๆ


 

Categories
บทความ รีวิว ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

sensor ตรวจจับความเคลื่อนไหวด้วยรังสีอินฟราเรด

“เชื่อว่าคุณคงเคยเข้าไปใช้บริการร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดินเข้าไป จะได้ยินเสียงติ๊งต่อง แจ้งการเข้ามาของคุณๆ ให้พนักงานในร้านทราบ และเสียงทักทาย ก็จะดังตามมา ทั้งที่พวกเขาอาจไม่ได้เห็นคุณด้วยซ้ำ เค้ารู้ได้อย่างไร หน้าที่นี้ตกเป็นของตัวตรวจจับการเคลื่อนไหวครับ แล้วมันทำงานอย่างไร ตามผมมาครับ จะพาไปรู้จัก”

ความเคลื่อนไหวตรวจจับได้อย่างไร ?
สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เลือดอุ่นในภาวะที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีการกระจายพลังงานความร้อนออกมาจากตัวเองในรูปของการแผ่รังสีอินฟราเรดอยู่ตลอดเวลา โดยจะมีปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกายในขณะนั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวปริมาณของการแผ่รังสีก็จะเปลี่ยนแปลง รังสีอินฟราเรดจากมนุษย์หรือสัตว์เลือดอุ่นที่มีระดับความเข้มสูงสุดจะมีความยาวคลื่นประมาณ 9.4 ไมโครเมตร

ตัวตรวจจับความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตหรือที่เรียกว่า โมชั่นเซนเซอร์ (motion sensor) ที่ได้รับความนิยมและใช้งานง่ายคือ ตัวตรวจจับแบบอินฟราเรด ซึ่งใช้หลักการตรวจจับ​ที่​เรียกว่า ​ไพโรอิ​เล็ก​ตริก (pyro-electric) อัน​เป็นการ​ตรวจจับ​การ​แผ่รังสี​อินฟราเรด หาก​ระดับ​ของ​การ​แผ่รังสี​ไม่​เปลี่ยนแปลง แสดงว่า สิ่งมีชีวิต​ที่​ต้องการ​ตรวจจับ​นั้น​ไม่มี​การ​เคลื่อนไหว แต่​ถ้าหาก​มี​การ​เคลื่อนไหว​เกิดขึ้น ระดับ​ของ​การ​แผ่รังสี​อินฟราเรด​จะ​เปลี่ยนแปลง จึง​เรียกตัว​ตรวจจับ​แบบนี้​ว่า PIR (Passive InfraRed sensor)


รูปที่ 1 ไดอะแกรมการทำงานของตัวตรวจจับการแผ่รังสีอินฟราเรดซึ่งใช้ตรวจจับความเคลื่อนไหว

ใน​รูป​ที่ 1 เป็น​ไดอะแกรม​แสดง​หลักการ​ทำงาน​พื้นฐาน​ของ​ตัว​ตรวจจับ​พลังงาน​ความ​ร้อน​จาก​มนุษย์​หรือ​สัตว์​เลือดอุ่น เมื่อ​เกิด​การ​เคลื่อนไหว​ทำให้เกิด​การ​แผ่รังสี​อินฟราเรด​ขึ้น รังสี​จะ​ถู​กรวม​หรือ​โฟกัส​ไป​ยัง​ตัว​ตรวจ​จับหลัก​โดย​ใช้​เลนส์​แบบ​พิเศษ​ที่​เรียกว่า เลนส์​ไฟ​รเนล​หรือเฟ​รสนัล (Fresnel lens) จากนั้น​ตัว​ตรวจ​จับหลัก​จะ​ทำการ​ขยาย​สัญญาณ​แล้ว​ส่งไปยัง​วงจร​เปรียบเทียบ​เพื่อ​สร้าง​สัญญาณ​เอาต์พุต​ต่อไป


รูปที่ 2 แสดงการทำงานของโมดูล PIR เมื่อนำมาใช้ในการตรวจจับความเคลื่อนไหว

ใน​รูป​ที่ 2 แสดง​สถานการณ์​ที่​แหล่งกำเนิด​รังสี​อินฟราเรด (อาจ​เป็น​มนุษย์​หรือ​สัตว์​เลือดอุ่น) เกิด​การ​เคลื่อนไหว​ภายใน​ระยะ​ทำการ​ของ​ตัว​ตรวจจับ จะ​ทำให้​โมดูล​ตรวจจับ PIR ตรวจจับ​พบ​การ​แผ่รังสี​อินฟราเรด​ที่​แตกต่างกัน จึง​ให้สัญญาณ​เอาต์พุต​เป็น​ลอจิก​สูง (high) อยู่​ชั่ว​ขณะเมื่อ​ตรวจจับ​พบ​การ​เคลื่อนไหว จากนั้น​กลับ​มา​เป็น​ลอจิก​ต่ำ (low) จนกว่า​จะ​ตรวจจับ​พบ​การ​เปลี่ยนแปลง​ของ​ระดับ​รังสี​อินฟราเรด​อีกครั้ง

เลนส์ไฟรเนล
เลนส์​ไฟ​รเนล​เป็น​เลนส์​แบบ​พิเศษ​ที่​ได้รับ​การ​ค้น​คิด​จาก​นัก​ฟิสิกส์​ชาว​ฝรั่งเศส​ชื่อ ​ออกั​สติน ชอง ไฟ​รเนล (Augustin-Jean Fresnel) โดย​แนวคิด​ของ​เลนส์​แบบนี้​คือ เป็น​เลนส์​แบบ​ขั้นบันได​ที่​ยอมให้​แสง​ผ่าน​ได้มาก​และ​จาก​ทุกทิศทาง ดัง​มี​โครงสร้าง​ตาม​รูป​ที่ 3


รูปที่ 3 โครงสร้างและหน้าตาของเลนส์ไฟรเนลซึ่งนำมาใช้ในโมดูล PIR

ทั้งนี้​เนื่องจาก​ตัว​เลนส์​ได้​ถูก​สร้างขึ้น​โดย​ลด​เนื้อ​วัสดุ​ใน​ส่วน​ที่​ไม่มีผล​กับ​การ​หักเห​ของ​แสง​ลง​ไป ทำให้​สามารถ​ทำ​เลนส์​ขนาดใหญ่​ที่​มี​น้ำหนัก​เบา​ได้ เดิมที​เลนส์ไฟ​รเนล​นี้​ได้รับ​การ​ออกแบบ​เพื่อให้​นำมาใช้​ใน​การ​กระจาย​ใน​ประภาคาร เพื่อให้​สามารถ​มองเห็น​ประภาคาร​ได้​จาก​ระยะไกล ต่อมา​ได้​มี​การ​พัฒนา​ให้​มี​ขนาด​เล็กลง แล้ว​นำมา​ครอบ​หลอดไฟ​เพื่อ​ทำเป็น​ตะเกียง ทำให้​ตะเกียง สามารถ​ส่องแสง​ได้​สว่าง​และ​มองเห็น​ได้​จาก​ระยะไกล ดัง​รูป​ที่ 4


รูปที่ 4 ตัวอย่างตะเกียงที่ใช้เลนส์ไฟรเนลในการเพิ่มอัตราการส่องสว่าง

แต่​เมื่อ​นำมาใช้​ใน​โมดูล​ตรวจจับ PIR ตัว​เลนส์​ไฟ​ร เนล​จะ​ถูก​ใช้งาน​ใน​ลักษณะ​กลับกัน​คือ ใช้​เลนส์​ไฟ​รเนล​ใน​การ​รวม​แสง​เข้า​มาจาก​ทุกทิศทาง​เพื่อ​โฟกัส​ลง​ไป​ยัง​ส่วน​ตรวจจับ​แสง​อินฟราเรด​ของ​โมดูล​ตรวจจับ PIR เพื่อ​ให้การ​ตรวจจับ​การ​เปลี่ยนแปลง​ของ​รังสี​อินฟราเรด​มี​ความ​ไว​สูง

คุณสมบัติของโมดูลตรวจจับ ZX-PIR
อุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวที่นำมาเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างในที่นี้คือ โมดูล ZX-PIR ซึ่งใช้ตัวตรวจจับที่เรียกว่า PIR ซึ่งสามารถตรวจจับการแผ่รังสีอินฟราเรด โดยทำงานร่วมกับเลนส์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า เลนส์ไฟรเนล ซึ่งทำหน้าที่รวมรังสีอินฟราเรดที่ตัวตรวจจับได้รับ เพื่อส่งผ่านไปยังตัวตรวจจับ PIR เพื่อทำการประมวลผลต่อไป ในรูปที่ 5 แสดงลักษณะทางกายภาพของโมดูล ZX-PIR และขาต่อใช้งาน


รูปที่ 5 แสดงขนาด, ส่วนประกอบและการจัดขา และหน้าตาของโมดูล ZX-PIR

คุณสมบัติทางเทคนิคที่ควรทราบมีดังนี้
• ระยะการตรวจจับสูงสุด 20 ฟุต
• เมื่อตรวจพบความเคลื่อนไหวจะให้แรงดันเอาต์พุตที่สภาวะสูงที่ขาเอาต์พุต
• ใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงช่วง 10 ถึง 60 วินาทีหลังจากได้รับไฟเลี้ยง
• ใช้ไฟเลี้ยงในย่าน +3.3 ถึง +5V กระแสไฟฟ้าน้อยกว่า 100 mA

การใช้งาน
เนื่องจาก​เอาต์พุต​ของ​โมดูล ZX-PIR เป็น​สัญญาณ​ดิจิตอล​ที่​มี​สอง​สถานะ​คือ ลอจิก​สูง หรือ “1” และ​ลอจิก​ต่ำ​หรือ “0” จึง​สามารถ​เชื่อม​ต่อ​กับ​ขา​พอร์ต​ดิจิตอล​ของ​ไมโคร​คอนโทรลเลอร์​ได้​ทุก​ตระกูล โดย​ต้อง​กำหนด​ให้​ขา​พอร์ต​ที่​เชื่อม​ต่อ​นั้น​เป็น​อินพุต​ดิจิตอล​ก่อน และ​ไม่​ต้อง​ต่อตัว​ต้านทาน​พูลอัป​ที่​ขา​พอร์ต​ของ​ไมโคร​คอนโทรลเลอร์​ซึ่ง​นำมา​ต่อ​กับ​โมดูล ZX-PIR ดัง​รูป​ที่ 6 เนื่องจาก​เอาต์พุต​ของ ZX-PIR ไม่​สามารถ​จ่าย​กระแส​ได้​มาก​พอที่จะ​ควบคุม​ให้​ขา​พอร์ต​เป็น​ลอจิก “0” ใน​ภาวะ​ที่​ไม่​สามารถ​ตรวจจับ​การ​เคลื่อนไหว​ได้ หาก​มี​การ​ต่อตัว​ต้านทาน​พูลอัป​ที่​ขา​พอร์ต​ของ​ไมโคร​คอนโทรลเลอร์


รูปที่ 6 ตัวอย่างการเชื่อมต่อโมดูล ZX-PIR กับไมโครคอนโทรลเลอร์

ที่ไมโครคอนโทรลเลอร์ต้องเขียนโปรแกรมเพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงทางลอจิกของขาพอร์ตที่ต่อกับโมดูล ZX-PIR

คลิกเพื่อชมตัวอย่างการใช้ PIR กับหุ่นยนต์เดินตามเส้น iBEAM

จากข้อมูลที่นำเสนอมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การตรวจจับความเคลื่อนไหวด้วยโมดูล PIR นี้ ความไวหรือประสิทธภาพในการทำงานจะขึ้นกับเลนส์ไฟรเนลเป็นสำคัญ ทางด้านการนำไปใช้งานนั้นจะเห็นได้ว่าง่ายมาก หากแต่ ต้องให้ความใส่ใจในด้านการติดตั้งตัวตรวจจับในตำแหน่งที่เหมาะสม

สนใจซื้อหามาใช้งานได้ที่ www.inex.co.th


 

Categories
บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

เซอร์โวมอเตอร์

เซอร์โว​มอเตอร์  (servo motor)  เป็น​อุปกรณ์ แม่เหล็ก​ไฟฟ้า​แบบ​หนึ่ง​ที่​ใช้​ใน​การ​หมุนตัวขับ (actuator) ไป​ยัง​ตำแหน่ง​ต่างๆ  ด้วย​ความ​แม่นยำ โดย​ใช้สัญญาณ​พัลส์​เพื่อ​กำหนด​ตำแหน่ง​ในการ​หมุน​  มัก​นิยม​ใช้​ใน​รถ​บังคับ​วิทยุ เครื่องบิน​บังคับ​วิทยุ หรือ​ใช้​ควบคุม​แขนขา​ของ​หุ่นยนต์ ส่วนใหญ่​จะ​รู้จัก​กัน​ภายใต้​ชื่อว่า RC เซอร์โว​มอเตอร์ โดย​คำ​ว่า RC  มาจาก Radio Control หรือ​การ​บังคับ​ด้วย​วิทยุ เนื่องจากใน​ยุค​แรกๆ ของ​การ​พัฒนาเซอร์โว​มอเตอร์ จะ​ถูก​นำมาใช้​ใน​งาน​วิทยุ​บังคับ​เป็นหลัก

ปกติ​แล้ว​เซอร์โว​มอเตอร์​ที่​ยัง​ไม่​ได้รับการ​ปรับ​แต่ง​ใดๆ นั้น​จะ​ใช้​ใน​การ​ควบคุม​ตำแหน่ง​ของ​อุปกรณ์  เช่น  การ​บังคับ​เลี้ยว​ของ​รถ​บังคับ​วิทยุ หรือ​ใช้​สำหรับ​ปรับ​หางเสือ​ของ​เรือ​หรือ เครื่องบิน ซึ่ง​งาน​เหล่านี้​ต้องการ​แรง​บิด​
ของ​มอเตอร์​ที่สูง​พอสมควร  ดังนั้น​เซอร์โว​มอเตอร์​จึง​ต้อง​มี​อัตรา​ทด​ที่​มากพอ เพื่อให้​สามารถ​รองรับ​งาน​ดังกล่าว​ได้ เซอร์โว​มอเตอร์​มาตรฐาน​จะ​มี​มุม​ใน​การ​หมุน​อยู่​ระหว่าง 90 ถึง 180 องศา แล้วแต่ ผู้ผลิต แต่​ที่​นิยม​มาก​ที่สุด​คือ 0 ถึง 180 องศา และ​ใน​บาง​รุ่น​ของ​บาง​ผู้ผลิต​จะ​สามารถ​ดัดแปลง ให้​หมุน​ได้​ครบ 360 องศา​ด้วย

ปัจจุบัน​เซอร์โว​มอเตอร์​มี​ด้วยกัน  2  ชนิด​หลักๆ คือ ชนิดอะ​นา​ลอก​และ​ดิจิตอลรูปร่าง​ภายนอก​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​ทั้งสอง​ชนิด​จะ​คล้าย​กัน​มาก ความ​แตกต่าง​จะ​อยู่ที่​วงจร​ควบคุม​ที่อยู่ภายใน โดย​ใน​ชนิดอะ​นา​ลอก​จะ​ใช้​วงจร​อิเล็กทรอนิกส์​ที่​ประกอบด้วย​อุปกรณ์  สารกึ่ง​ตัวนำจำพวก ทรานซิสเตอร์ มอสเฟต หรือ​ไอซีออป​แอมป์​เป็นหลัก ในขณะที่​ชนิด​ดิจิตอล​จะ​ใช้ ไมโครโปรเซส​เซอร์​หรือ​ไมโคร​คอนโทรลเลอร์​เป็น​ตัวควบคุม​หลัก

โครงสร้าง​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์
ภายใน​เซอร์โว​มอเตอร์​ประกอบด้วย มอเตอร์​ไฟ​ตรง​ขนาดเล็ก,ชุด​เฟือง​ทด,  แผง​วงจร​ควบคุม และ​ตัว​ต้านทาน​ปรับ​ค่า​ได้  (POT : Potentiometer) โดย​แผง​วงจร​ควบคุม​จะ​มี​วงจร​ป้อน​กลับ เพื่อให้เซอร์โว​มอเตอร์​รับรู้​ตำแหน่ง​ของ​ตัวเอง​ได้ โดย​ผู้ใช้งาน​เพียง​ส่งสัญญาณ​พัลส์​ออกไป​ควบคุม​เท่านั้น ดัง​แสดง​ไดอะแกรม​การ​ทำงาน​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​ใน​รูป​ที่ 1 แกน​ของ​มอเตอร์​ไฟ​ตรง​จะ​ต่อ​เข้ากับ ชุด​เฟือง​เพื่อ​ลดความเร็ว​รอบ​ลง​ส่งผลให้​แรง​บิด​ที่​แกน​หมุน​มากขึ้น ทั้งหมด​ทำงาน​ร่วมกัน​ภายใต้ ความ​สัมพันธ์


รูปที่ 1 แสดงไดอะแกรมการทำงานของเซอร์โวมอเตอร์

P = kwg

โดย​ที่ P คือ พลังงาน​ที่​ป้อน​ให้​แก่​มอเตอร์
k คือ ค่าคงที่
w คือ ความเร็ว​รอบ ใน​หน่วย รอบ​ต่อ​นาที (rpm : round per minute)
g คือ แรง​บิด​หรือ​ทอร์ค (torque)

ถ้าหาก​พลังงาน​ที่​จ่าย​ให้​คงที่ เมื่อ​ลดความเร็ว​รอบ​ลง​นั่น​ย่อม​ทำ​ให้แรง​บิด​ของ​มอเตอร์​เพิ่มขึ้น การ​หมุน​ของ​มอเตอร์​ได้รับ​การ​ควบคุม​จาก​วงจร​ควบคุม โดย​มี​ตัว​ต้านทาน​ปรับ​ค่า​ได้​เป็นตัวกำหนด​ขอบเขต​ของ​แกน​หมุน ซึ่ง​หาก​ไม่มี​การ​ปรับ​แต่ง​ใดๆ แกน​หมุน​ของ​มอเตอร์​จะ​สามารถ​หมุน​ได้​ใน​ขอบเขต 0 ถึง 180  องศา (หรือน้อยกว่า​ขึ้นกับ​ผู้ผลิต) ดังนั้น​ใน​การ​ปรับ​แต่ง​ให้เซอร์โว​มอเตอร์สามารถ​ขับ​แกน​หมุน​ได้​รอบตัว​จึง​มักจะ​ใช้วิธีการ​ถอด​ตัว​ต้านทาน​ปรับ​ค่า​ได้​ออก แล้ว​แทนที่​ด้วย​ตัว​ต้านทาน​ค่าคงที่  2  ตัว  หรือ​ดัดแปลง​ให้​แกน​หมุน​ของ​ตัว​ต้านทาน​ปรับ​ค่า​ได้​สามารถ​หมุน​ได้​รอบตัว แกน​หมุน​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​จะ​มี​ส่วนปลาย​เป็น​ร่อง​เฟือง (spline) เพื่อให้​สามารถติดตั้ง​อุปกรณ์​ที่​ใช้​ใน​การ​เชื่อมโยง​ไป​ยัง​ตัว​ขับ​หรือ​กลไก​อื่นๆ อุปกรณ์​ที่​ใช้​เชื่อมโยง​นั้น​เรียกว่า ฮอร์น  (horn) ซึ่ง​มี​ด้วยกัน​หลาย​รูปแบบ​ทั้ง​แบบ​เป็น​แขน, เป็น​แท่ง, กากบาท, แผ่น​กลม เป็นต้น สำหรับ​ร่อง​เฟือง​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​แต่ละ​ยี่ห้อ​ก็​มีจำนวนไม่เท่ากัน โดย​ของ Hitec จะ​มี 24 ร่อง​เฟือง ส่วน​ของ Futaba มี 25 ร่อง​เฟือง ทำให้​ฮอร์น​ของ​ทั้งสอง​ยี่ห้อ​ไม่​สามารถ​ใช้​ร่วมกัน​ได้


รูปที่ 2 แสดงการจัดสายสัญญาณของเซอร์โวมอเตอร์


รูปที่ 3 ลักษณะคอนเน็กเตอร์ของเซอร์โวมอเตอร์

คุณสมบัติ​ทาง​เทคนิค​ที่​สำคัญ​ของ เซอร์โว​มอเตอร์
มี 2 ค่า​คือ ความเร็ว (speed) และ​แรง​บิด​หรือ​ทอร์ค (torque) ความเร็ว​หมายถึง ระยะเวลา​ที่​ทำให้​แกน​หมุน​ของ​มอเตอร์​เคลื่อนที่​สู่​ตำแหน่ง​มุม​ที่​กำหนด อาทิ เซอร์โว​มอเตอร ตัว​หนึ่ง​มี​ความเร็ว 0.15 วินาที​สำหรับ 60 องศา หมายถึงเซอร์โว​มอเตอร์​ตัว​นี้​สามารถ​ขับ​ให้​แกน​หมุน​เคลื่อนที่​ไป​ยัง​ตำแหน่ง​มุม 60 องศา​ภายใน​เวลา 0.15 วินาที ส่วน​แรง​บิด​มักจะ​ปรากฏ​ใน​หน่วย​ของ​ออนซ์-นิ้ว (ounce-inches : oz-in) หรือ กิโลกรัม-เซนติเมตร (kg-cm) เป็น​คุณสมบัติ​ที่จะ​บอกต่อ​ผู้ใช้งาน ว่า​เซอร์โว​มอเตอร์ตัว​นี้​มี​แรง​ใน​การ​ขับ​โหลด​ที่​มี​น้ำหนัก​ใน​หน่วย​ออนซ์​ให้​สามารถ​เคลื่อนที่​ไป​ได้ 1 นิ้ว หรือ​น้ำหนัก​ใน​หน่วย​กิโลกรัม​ให้​เคลื่อนที่ ไป​ได้ 1 เซนติเมตร  (น้ำหนัก 1 ออนซ์​เท่ากับ 0.028 กิโลกรัม​โดย​ประมาณ หรือ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 35.274 ออนซ์)

อย่างไร​ก็ตาม ค่า​ของ​ความเร็ว​และ​แรง​บิด ต้อง​สัมพันธ์กับ​แรงดัน​ไฟ​เลี้ยง​ที่​จ่าย​ให้​แก่เซอร์โว​มอเตอร์​ด้วย ซึ่ง​มักจะ​แรงดัน 4.8 หรือ 6V  นอกจากนั้น​ยังมี​ปัจจัย​เกี่ยวกับ​แรง เสียด​ทาน​ใน​ระบบ​เฟือง​ภายใน​เซอร์โว​มอเตอร์ การ​หล่อลื่น​การ​เชื่อมโยง​ระหว่าง​เฟือง​ต่อ​เฟือง​ใน​ชุด​เฟือง​ทด ที่​ส่งผลให้​ความเร็ว​และ​แรง​บิด​ของ เซอร์โว​มอเตอร์​เปลี่ยนแปลง​ไป​ได้

การ​ทำงาน​ของ​แผง​วงจร​ควบคุม​ใน เซอร์โว​มอเตอร์​ชนิดอะ​นา​ลอก
การ​หมุน​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​นั้น​จะ​ไม่ได้​หมุน​เป็นอิสระ​เหมือน​มอเตอร์​ทั่วๆ ไป​โดย​ช่วง​ระยะ​การ​หมุน​ปกติ​จะ​อยู่​ระหว่าง 90 ถึง 180 องศา ตำแหน่ง​การ​หมุน​ของ​แกน​มอเตอร์​ใน เซอร์โว​มอเตอร์​นี้​สามารถ​ควบคุม​ได้​อย่าง​แม่นยำ เนื่องจาก​ภายใน​เซอร์โว​มอเตอร์​มี​วงจร​อิเล็กทรอนิกส์​ทำหน้าที่​ตรวจสอบ​ตำแหน่ง​ของเซอร์โว​มอเตอร์​อยู่​ตลอด​เวลา ลักษณะ​การ​ตรวจสอบ​จะ​ใช้​การ​ป้อน​กลับ​ค่า​ตำแหน่ง​จาก​ตัว​ต้านทานปรับ​ค่า​ได้ แล้ว​นำ​ค่า​นี้​ไป เปรียบ​เทียบกับ​ค่า​พัลส์ที่​ป้อน​เข้าทาง​ขา​ควบคุม ​ค่า​ของ​ผล​ต่าง​ที่​ได้จะ​ไป​ปรับ​ตำแหน่ง​ของ​มอเตอร์ ​ค่า​ผล​ต่าง​ก็​จะ​ได้ตำแหน่ง​ของ​มอเตอร์​ที่​แม่นยำ


รูปที่ 4 ไดอะแกรมการทำงานของแผงวงจรควบคุมในเซอร์โวมอเตอร์ชนิดอะนาลอก

ใน​รูป​ที่ 4 แสดง​ไดอะแกรม​การ​ทำงาน​ของ​แผง​วงจร​ควบคุม​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์​ชนิดอะ​นา​ลอก สัญญาณ​พัลส์​ควบคุม​ที่​ส่ง​เข้ามา​ทาง​อินพุต จะ​ถูก​ส่งไปยัง​วงจร​กำเนิด​สัญญาณ​พัลส์​ภายใน​ด้วย โดย​มี​ความ​กว้าง​ที่​เป็น สัดส่วน​กับ​ตำแหน่ง​ของ​แกน​หมุน​ใน​ปัจจุบัน​ ทั้ง​สัญญาณ​พัลส์​ที่​กำเนิด​ขึ้น​ภายใน​กับ​สัญญาณ​พัลส์​ควบคุม​จะ​ถูก​ส่งไปยัง​วงจร​เปรียบเทียบ​เพื่อ​ทำการ​หักล้าง​สัญญาณ โดย​ทิศทาง​ของ​สัญญาณ​จะ​ขึ้นอยู่​กับ​ว่า ระหว่าง​สัญญาณ​พัลส์ควบคุม​ทาง​อินพุต​ก​ับสัญญาณ​พัลส์​ภายใน สัญญาณ​พัลส์​ใด​มี​ความ​กว้าง​มากกว่า โดย​เอาต์พุต​ที่​ได้​เป็น​สัญญาณ​ลอจิก “0” หรือ “1” แล้ว​ส่งไปยัง​วงจร​ขับ​มอเตอร์​แบบ  H-บริดจ์ เพื่อ​กำหนด​ทิศทาง​การ​หมุน ทาง​ด้าน​ค่าความ​แตกต่าง​ที่​เกิดขึ้น​ระหว่าง​พัลส์​ทั้งสอง​สัญญาณ​จะ​ถูก​ส่งไปยัง​วงจร​เพิ่ม​ความ​กว้าง​พัลส์ เพื่อ​สร้าง​สัญญาณ​พัลส์​สำหรับ​ส่งไปขับ​มอเตอร์ ผ่าน​วงจร​ขับ​มอเตอร์​แบบ  H-บริดจ์ โดย​ความ​แตกต่าง​ของ​ความ​กว้าง​พัลส์ 1% ทำให้เกิด​สัญญาณ​พัลส์​สำหรับ​ขับ​มอเตอร์ใน​ระดับ 50% และ​ความเร็ว​นี้​จะ​ลดลง​เมื่อ​แกน​หมุน​ของ​มอเตอร์​เคลื่อนที่​เข้าสู่​ตำแหน่งที่​กำหนด อัน​เป็นผล​มาจาก​ความ​แตกต่าง​ของ​ความ​กว้าง​สัญญาณ​พัลส์​เริ่ม​ลดลง และ​หยุด​ลง​เมื่อ​สัญญาณ​พัลส์​ที่​นำมา​เปรียบเทียบ​มี​ค่า​ความ​กว้าง​เท่ากัน


รูปที่ 5 แสดงลักษณะของสัญญาณพัลส์ที่ใช้ในการควบคุมเซอร์โวมอเตอร์

วัสดุ​ของ​เฟือง​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์
ชุด​เฟือง​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์​โดย​ส่วนใหญ่ผลิต​มาจาก​วัสดุ 3 ชนิด คือ

(1) ไน​ล่อน : เป็น​วัสดุ​ที่​นิยม​นำมาใช้​ผลิตเฟือง​มาก​ที่สุด เนื่องจาก​มี​น้ำหนัก​เบา​และ​มีเสียง​รบกวน​น้อย​เมื่อ​ทำงาน ความ​ทนทาน​พอสมควร​มัก​พบ​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์ขนาดเล็ก​และ​ราคาถูก

(2) โลหะ : เฟือง​ที่​ผลิต​ด้วย​โลหะจะ​มี​ความทน ทาน​สูง แข็งแรง สามารถ​ทน​แรงเสียดทาน​เมื่อ​เฟือง​ขบกัน​ได้​สูงมาก ทำให้​สามารถ​นำมา​สร้าง เซอร์โว​มอเตอร์​ที่​มี​แรง​บิด​สูงมาก​ได้ โลหะ​ที่​พบ​มาก​ที่สุด​ใน​การ​นำมา​ผลิต​เฟือง​คือ ทองเหลือง และ​ถ้าหาก​มี​งบประมาณ​มาก​เพียงพอ ควร​เลือก​ใช้​เซอร์โว​มอเตอร์​ที่​ใช้​เฟือง​ที่​ผลิต​จาก​ไทเทเนียม

(3)  คาร์บอ​ไนต์ (Karbonite) : เป็น​วัสดุ​พิเศษ​ที่​ทำ​มาจาก​คาร์บอน แล้ว​แปรรูป​มา​เป็นวัสดุที่​คล้าย​พลาสติก  Hitec  เป็น​ผู้​ที่​นำ​เทคโนโลยี​นี้​มา​ใช้​เป็น​วัตถุดิบ​ใน​การ​ผลิต​เฟือง โดย​คาร์บอ​ไนต์จะ​มี​ความ​แข็งแรง​และ​ทนทาน​มากกว่า​เฟือง​ไนลอน ในขณะที่​มี​น้ำหนัก​เบา ดัง​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์​สมัยใหม่​จึง​นิยม​ใช้​เฟือง​ที่​ผลิต​จาก​วัสดุ​ชนิด​นี้ โดยเฉพาะ​อย่างยิ่ง​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์ชนิด​ดิจิตอล​ที่​ใช้​หุ่นยนต์ Humanoid

รูปแบบ​สัญญาณ​ที่​ใช้​ควบคุม​เซอร์โว​มอเตอร์
การ​ควบคุม​เซอร์โว​มอเตอร์ทำได้โดย​สร้าง​สัญญาณ​พัลส์​ที่​มี​คาบ​เวลา 20 มิลลิ​วินาทีป้อน​ให้​กับ​วงจร​ควบคุม​ภายใน​เซอร์โว​มอเตอร์ดัง​รูป​ที่ 5 แล้ว​ปรับ​ความ​กว้าง​ของ​พัลส์​ช่วง​บวก ที่​พัลส์​กว้าง 1 มิลลิ​วินาที มอเตอร์​จะ​หมุน​ไป​ตำแหน่ง​ซ้ายมือ​สุด  ถ้า​ส่ง​พัลส์​กว้าง 1.5  มิลลิ​วินาที แกน​หมุน​ของ​มอเตอร์​จะ​เคลื่อนที่​ไป​ยัง​ตำแหน่งกึ่งกลาง และ​ถ้า​ส่ง​พัลส์​กว้าง 2 มิลลิ​วินาที แกน​หมุน​ของ​มอเตอร์​จะ​เคลื่อนที่​ไป​ยัง​ตำแหน่งขวามือ​สุด การ​ป้อน​สัญญาณ​พัลส์​ที่​มี​คาบ​เวลา​ช่วง​บวก​ตั้งแต่ 1.5 ถึง 2 มิลลิ​วินาที​จะ​ทำให้​เซอร์โว​มอเตอร์​หมุน​ทวน​เข็ม​นาฬิกา โดย​ถ้า​ค่า​ความ​กว้าง​พัลส์​ยิ่ง​ห่าง​จาก 1.5 มิลลิ​วินาที​ มาก​เท่าใด ความเร็ว​ใน​การ​หมุน​ก็​จะ​มากขึ้น​เท่านั้น นั่น​คือ ความเร็ว​สูงสุด​ของ​การ​หมุน​ทวน​เข็ม​นาฬิกาจะ​เกิดขึ้น​เมื่อ​สัญญาณ​พัลส์ควบคุม​มี​ความ​กว้าง 2 มิลลิ​วินาที การ​ป้อน​สัญญาณ​พัลส์​ที่​มี​คาบ​เวลา​ช่วง​บวก​ตั้งแต่ 1 ไป​จนถึง 1.5 มิลลิ​วินาที ทำให้เซอร์โว​มอเตอร์​หมุน​ตาม​เข็ม​นาฬิกา ซึ่ง​ถ้า​ค่า​ความ​กว้าง​พัลส์​เข้าใกล้ 1 มิลลิ​วินาที​ความเร็ว​ใน​การ​หมุน​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​ก็​จะ​มาก นั่น​คือ ความเร็ว​สูงสุด​ของ​การ​หมุน​ตาม​เข็ม​นาฬิกา
จะ​เกิดขึ้น​เมื่อ​สัญญาณ​พัลส์​ควบคุม​มี​ความ​กว้าง 1 มิลลิ​วินาที


 

Categories
บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

การทำงานของมอเตอร์ไฟตรงและการใช้งาน

มอเตอร์ไฟตรง  (DC motor)  เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล โดยเมื่อจ่ายไฟให้แก่มอเตอร์ จะทำให้แกนของมอเตอร์หมุน จึงสามารถนำการหมุนของแกนมอเตอร์ไปใช้ในการขับเคลื่อนวัตถุให้เกิดการเคลื่อนที่

มอเตอร์ไฟตรงมีขนาดและพิกัดแรงดันให้เลือกใช้มากมาย ในบทความนี้จะเน้นไปที่มอเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้แรงดันในย่าน +1.5 ถึง +12V ซึ่งมีการใช้งานในหุ่นยนต์หรือสิ่งประดิษฐ์ที่มีกลไกเคลื่อนไหว ในรูปที่ 1 แสดงหน้าตาของมอเตอร์ไฟตรงในแบบต่างๆ


รูปที่ 1 มอเตอร์ไฟตรงที่มีชุดเฟืองขับในแบบต่างๆ

โดยปกติมอเตอร์ไฟตรงจะถูกสร้างขึ้นให้สามารถหมุนแกนด้วยความเร็วสูงมาก ตั้งแต่ 1,000 รอบขึ้นไป แต่แรงบิดที่ความเร็วรอบสูงมีน้อยมาก จนไม่สามารถนำไปขับกลไกเคลื่อนไหวได้ จึงต้องมีการทดจำนวนรอบด้วยการใช้เฟือง เพื่อให้เกิดแรงบิดมากขึ้น นั่นคือ ยิ่งมีอัตราทดสูงเท่าใด ความเร็วรอบของแกนมอเตอร์จะลดลง แต่จะมีแรงบิดมากขึ้น ดังนั้นการกำหนดอัตราทดที่เหมาะสมจะทำให้สามารถใช้งานมอเตอร์ไฟตรงเพื่อขับเคลื่อนกลไกเคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำงานของมอเตอร์ไฟตรง
การขับหรือทำให้มอเตอร์ไฟตรงทำงานเพื่อหมุนแกนนั้นง่ายมาก เพียงจ่ายไฟเข้าที่ขั้วของมอเตอร์เท่านั้น และเมื่อกลับขั้วของการจ่ายไฟมอเตอร์ก็จะหมุนกลับทิศทาง สำหรับการอธิบายการทำงานของมอเตอร์โดยทั่วไปจะอ้างถึงมอเตอร์แบบ 2 ขั้ว ดังในรูปที่ 2 เมื่อจ่ายไฟให้แก่มอเตอร์ผ่านทางแปรงสัมผัสซึ่งต่ออยู่กับคอมมิวเตเตอร์และขดลวด เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านขดลวดทำให้เกิดสนามแม่เหล็กขึ้น  และเกิดแรงดูดจากแม่เหล็กถาวร ทำให้ขดลวดสามารถหมุนได้ แต่ด้วยการใช้ขดลวดเพียง 2 ขั้ว การหมุนของมอเตอร์จะขาดเสถียรภาพ เพราะในความเป็นจริงเมื่อคอมมิวเตเตอร์หมุนไป 90 องศาจะทำให้เกิดการลัดวงจรคอมมิวเตอร์ทั้ง 2 ชิ้น ทำให้กระแสไฟฟ้าหยุดไหล แต่แกนของมอเตอร์ยังหมุนไปได้ด้วยแรงเฉื่อย ทำให้จังหวะการทำงานนั้นไม่ต่อเนื่อง และทำให้อัตราเร็วในการหมุนไม่คงที่ ซึ่งทางแก้ไขนั้นจะใช้มอเตอร์แบบมีขดลวด 3 ขั้ว ที่มีการพันในทิศทางที่สลับกัน


รูปที่ 2 แสดงส่วนประกอบและการทำงานของมอเตอร์ไฟตรง

ในมอเตอร์ไฟตรงที่ใช้งานจริงนั้น จะเป็นมอเตอร์แบบขดลวด 3 ขั้ว ดังนั้นคอมมิวเตเตอร์ที่ใช้ในการกำหนดจังหวะการจ่ายกระแสให้แก่ขดลวดจะมี 3 ชิ้น ดังแสดงโครงสร้างและการทำงานของมอเตอร์ไฟตรงแบบ 3 ขั้วในรูปที่ 3 ด่วยการใช้ขดลวด 3 ชุดนี้ช่วยให้การหมุนของมอเตอร์มีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะแม้ว่าจะเกิดจังหวะที่คอมมิวเตเตอร์ 2 ชิ้นจะถูกลัดวงจร ดังในขั้นตอนที่ 2 และ 4 ของรูปที่ 3 แต่เนื่องจากมีคอมมิวเตเตอร์ 3 ชิ้น เมื่อลัดวงจร 2 ชิ้น ก็เสมือนกับรวมกันเป็นคอมมิวเตเตอร์ 1 ชิ้น จึงสามารถทำงานกับคอมมิวเตเตอร์อีก 1 ชิ้นที่เหลือ เพื่อกำหนดจังหวะการจ่ายกระแสไฟฟ้าต่อไปได้ ทำให้ไม่เกิดภาวะกระแสไฟฟ้าหยุดไหลดังที่เกิดในมอเตอร์แบบขดลวด 2 ขั้ว


รูปที่ 3 แสดงส่วนประกอบและการทำงานของมอเตอร์ไฟตรงแบบขดลวด 3 ขั้ว ซึ่งเป็นแบบที่มีการผลิตใช้งานจริง

วงจรขับมอเตอร์ไฟตรงอย่างง่ายด้วยสวิตช์
แสดงวงจรในรูปที่ 4 ประกอบไปด้วย สวิตช์ 4 ตัว นั่นก็คือ S1, S2, S3 และ S4 ซึ่งในรูปตัวอย่างมอเตอร์จะเคลื่อนที่ทิศทางใด ขึ้นอยู่กับการต่อ สวิตช์ทั้ง 4 ตัว นั่นเอง
ในสภาวะเริ่มต้น ยังไม่มีการเปิดสวิตช์ที่ตัวใดเลย มอเตอร์จึงไม่ทำงาน


รูปที่ 4 หลักการของวงจรขับมอเตอร์ไฟตรงที่ใช้สวิตช์ 4 ตัว

เมื่อต้องการให้มอเตอร์หมุนตามเข็มนาฬิกา ให้ทำการต่อวงจร S1 และ S4 ตามรูปที่ 4.2 จะเห็นว่า แรงดัน +V จากแหล่งจ่ายไฟจะถูกต่อเข้ากับขั้วบวกของมอเตอร์ และขั้วลบของแหล่งจ่ายไฟต่อเข้ากับขั้วลบของมอเตอร์ ทำให้เกิดกระแสไหลผ่านมอเตอร์ มอเตอร์จึงหมุนตามเข็มนาฬิกา (CW : Clock wise)
เมื่อต้องการให้มอเตอร์หมุนกลับทิศทางหรือหมุนทวนเข็มนาฬิกา (CCW : Counterclockwise) ให้ทำการต่อสวิตช์ S2 และ S3 แทน ในขณะที่ S1 และ S4 เปิดวงจร มอเตอร์ก็จะได้รับแรงดันกลับขั้ว ทำให้กระแสไหลในทิศทางตรงข้าม มอเตอร์จึงหมุนกลับทิศทางกับในตอนแรก
วงจรขับมอเตอร์ไฟตรงอย่างง่ายด้วยรีเลย์
จากวงจรในรูปที่ 4 เปลี่ยนสวิตช์เป็นรีเลย์ 2 ตัว คือ RY1 และ RY2 โดยขั้วบวก (+) ของมอเตอร์ต่อกับขาร่วมของรีเลย์ RY1 และขั้วลบ (-) ของมอเตอร์ต่อกับขาร่วมของรีเลย์ RY2 ส่วนที่ขา NO ของทั้งรีเลย์ RY1 และ RY2 ต่ออยู่กับขั้วบวกของแหล่งจ่ายไฟ +Vm ที่จะจ่ายให้มอเตอร์ และขา NC ของทั้งรีเลย์ RY1 และ RY2 ต่อลงกราวด์ จะได้เป็นวงจรขับมอเตอร์ตามรูปที่ 5.1

รูปที่ 5 วงจรขับมอเตอร์ไฟตรงที่ใช้รีเลย์ 2 ตัวแทนสวิตช์ 4 ตัว

เมื่อจ่ายไฟเพื่อกระตุ้นให้รีเลย์ RY1 ทำงาน จะทำให้หน้าสัมผัสที่ขา NO และ C ของรีเลย์ RY1 ต่อกัน เกิดกระแสไฟฟ้าไหลจาก +Vm เข้าสู่ขั้วบวก (+) ของมอเตอร์ผ่านไปยังขาร่วม (C) ของรีเลย์ RY2 ต่อกับขา NC และลงกราวด์ ทำให้ครบวงจร มอเตอร์จึงทำงานและหมุนในทิศตามเข็มนาฬิกา ดังในรูปที่ 5.2

พิจารณารูปที่ 5.3 เมื่อจ่ายไฟเพื่อกระตุ้นให้รีเลย์ RY2 ทำงาน จะทำให้หน้าสัมผัสที่ขา NO และ C ของรีเลย์ RY2 ต่อกัน เกิดกระแสไฟฟ้าไหลจาก +Vm เข้าสู่ขั้วลบ (-) ของมอเตอร์ผ่านไปยังขาร่วม (C) ของรีเลย์ RY1 ซึ่งต่อกับขา NC และลงกราวด์ ทำให้ครบวงจร มอเตอร์จึงทำงานและหมุนในทิศทวนเข็มนาฬิกา

วงจรขับมอเตอร์แบบ H-Bridge
ลักษณะของวงจรขับมอเตอร์ทั้งในรูปที่ 4 และ 5 มีชื่อเรียกว่า วงจรขับแบบ H-Bridge เนื่องจากลักษณะของวงจรคล้ายกับตัวอักษร H ในภาษาอังกฤษ และมีการใช้อุปกรณ์ควบคุม 4 ตัว นอกจากนั้นยังสามารถใช้ อุปกรณ์ที่เรียกว่า ทรานซิสเตอร์ มาทดแทนรีเลย์ ดังแสดงวงจรในรูปที่ 6 ด้วย การใช้ทรานซิสเตอร์จะทำให้ขนาดของวงจรเล็กลง


รูปที่ 6 วงจรขับมอเตอร์ไฟตรงแบบ H-Bridge ใช้ทรานซิสเตอร์ 4 ตัว ทำงานแทนสวิตช์และรีเลย์

เมื่อส่งสัญญาณลอจิก “1” มาที่อินพุต CW จะทำให้ทรานซิสเตอร์ Q1 และ Q4 ทำงาน เกิดกระแสไฟฟ้าไหลผ่านมอเตอร์ ทำให้มอเตอร์หมุนในทิศทางตามเข็มนาฬิกา

ถ้าหากส่งสัญญาณลอจิก “1” มาที่อินพุต CCW จะทำให้ทรานซิสเตอร์ Q2 และ Q3 ทำงานแทน เกิดกระแสไฟฟ้าไหลผ่านมอเตอร์ในอีกทิศทางหนึ่ง ทำให้มอเตอร์หมุนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา

นอกจากนั้นยังมีการใช้ไอซีขับมอเตอร์โดยเฉพาะ นั่นคือ ไอซีเบอร์ L293D ซึ่งภายในบรรจุวงจรขับแบบ H-Bridge 2 ชุด จึงทำให้สามารถขับมอเตอร์ไฟตรงได้ 2 ตัว ในรูปที่ 7 เป็นวงจรขับมอเตอร์ที่ใช้ไอซี L293D


รูปที่ 7 วงจรขับมอเตอร์ไฟตรงโดยใช้ไอซี L293D

การขับมอเตอร์แต่ละตัวใช้สายสัญญาณ 3 เส้น เนื่องจากต้องการ ควบคุมทิศทางของมอเตอร์ไปพร้อมๆ กับการควบคุมความเร็วของมอเตอร์ด้วยสัญญาณ PWM สำหรับมอเตอร์ช่องที่ 1 จะใช้อินพุต DIR1A และ DIR1B ในการกำหนดทิศทางการหมุน ส่วนอินพุตรับสัญญาณเพื่อควบคุมความเร็วจะเป็นขา 1E ส่วนมอเตอร์ช่องที่ 2 ใช้อินพุต DIR2A และ DIR2B ส่วนอินพุตควบคุมความเร็วคือขา 2E

การกำหนดเงื่อนไขในการขับมอเตอร์ของ L293D เป็นดังนี้
DIRxA = 0, DIRxB = 1 มอเตอร์หมุนทวนเข็มนาฬิกา
DIRxA = 1, DIRxB = 0 มอเตอร์หมุนตามเข็มนาฬิกา
x คือ 1 หรือ 2

โดยไอซี L293D จะสามารถทำงานได้เมื่อมีสัญญาณลอจิก “1” ส่งมาที่อินพุต 1E สำหรับมอเตอร์ช่อง 1 และ 2E สำหรับมอเตอร์ช่อง 2

ที่เอาต์พุตของวงจรขับมอเตอร์มี LED สองสีแสดงขั้วแรงดันที่จ่าย ให้กับมอเตอร์ ถ้า LED ติดเป็นสีเขียว หมายถึงการจ่ายแรงดันตรงขั้วให้กับมอเตอร์ ถ้าแรงดันที่จ่ายให้กลับขั้ว LED จะติดเป็นสีแดง

ควบคุมความเร็วของมอเตอร์
ในการขับมอเตอร์โดยปกติจะป้อนแรงดันไฟตรงให้โดยตรง มอเตอร์จะทำงานเต็มกำลัง ซึ่งอาจมีความเร็วมากเกินไป ดังนั้นการปรับความเร็วของมอเตอร์จึงใช้วิธีลดแรงดันไฟฟ้าที่ป้อนให้กับมอเตอร์ วิธีที่นิยมคือ การป้อนพัลส์ไปขับมอเตอร์แทน แล้วปรับความกว้างพัลส์ช่วงบวก เพื่อให้ได้ค่าแรงดันเฉลี่ยตามต้องการ วิธีการนี้เรียกว่า พัลส์วิดธ์มอดูเลเตอร์ (PWM)


รูปที่ 8 การเปรียบเทียบค่าแรงดันที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ PWM 

(8.1) ป้อนสัญญาณไฟตรง 
(8.2) PWM มีดิวตี้ไซเกิล 50% 
(8.3) PWM มีดิวตี้ไซเกิล 75% 
(8.4) PWM มีดิวตี้ไซเกิล 25%

โดยความกว้างพัลส์ช่วงบวกเมื่อเทียบกับความกว้างพัลส์ทั้งหมดเรียกว่า ดิวตี้ไซเกิล (duty cycle)โดยจะคิดค่าดิวตี้ไซเกิลเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าความกว้างพัลส์ทั้งหมด ตัวอย่างจากรูปที่ 8.2 มีค่าดิวตี้ไซเกิล 50% หมายถึง ความกว้างของพัลส์ช่วงบวกมีความกว้างเป็น 50% ของความกว้างทั้งหมด ดังนั้นแรงดันเฉลี่ยที่ได้เท่ากับ (50 x 4.8) /100 = 2.4V สำหรับรูปที่ 8.3 และ 8.4 เป็นการกำหนดค่าดิวตี้ไซเกิล 75% และ 25% ตามลำดับ

ตัวอย่างวงจรกำเนิดสัญญาณ PWM สำหรับควบคุมความเร็วมอเตอร์
วงจรสำหรับสร้างสัญญาณพัลส์ PWM เพื่อนำไปขับมอเตอร์ไฟตรงขนาดเล็กนั้นมีตัวอย่างแสดงในรูปที่ 9, 10 และ 11 โดยในรูปที่ 9 เป็นวงจรกำเนิดสัญญาณพัลส์ PWMที่ง่ายที่สุดใช้ไอซี 555 โดยความถี่ของสัญญาณ PWM จะถูกกำหนดด้วยค่าของตัวเก็บประจุ C1 สามารถเปลี่ยนค่าดิวตี้-ไซเกิลหรือความกว้างของพัลส์ได้ด้วยการปรับ VR1 สัญญาณ PWM จะถูกส่งไปยังมอสเฟต Q1 เพื่อขับให้มอเตอร์ไฟตรงหมุน ด้วยการปรับค่าของ VR1 ทำให้แรงดันที่ใช้ขับมอเตอร์มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าพัลส์มีความกว้างมาก แรงดันที่ส่งไปขับมอเตอร์ก็จะมากตาม ส่งผลให้ความเร็วของมอเตอร์เพิ่มขึ้น ในทางตรงข้ามถ้าพัลส์มีความกว้างน้อยลง แรงดันเฉลี่ยที่เอาต์พุตก็จะลดลง ความเร็วของมอเตอร์ก็ลดลงตาม


รูปที่ 9 วงจรขับมอเตอร์ไฟตรงด้วยสัญญาณ PWM อย่างง่าย


รูปที่ 10 วงจรควบคุมความเร็วของมอเตอร์ไฟตรงที่ใช้ไอซีออปแอมป์

รูปที่ 10 เป็นวงจรควบคุมความเร็วของมอเตอร์ไฟตรง ซึ่งใช้วงจรกำเนิดพัลส์ PWM ที่สร้างขึ้นจากไอซีออปแอมป์ โดย IC1/1 และ IC1/2 ต่อร่วมกับตัวต้านทานและตัวเก็บประจุเพื่อทำงานเป็นวงจรกำเนิดสัญญาณสามเหลี่ยม แล้วส่งมาเปรียบเทียบกับแรงดันที่ได้จากการปรับค่า VR1 ที่ IC1/4 โดยแรงดันจาก VR1 จะผ่านวงจรบัฟเฟอร์ IC1/3 แล้วส่งไปยังอินพุตกลับเฟสของ IC1/4 ส่วนอินพุตไม่กลับเฟสได้รับสัญญาณรูปสามเหลี่ยมมาจาก IC1/2 สัญญาณ PWM จะเกิดจากการเปรียบเทียบแรงดันระหว่างสัญญาณรูปสามเหลี่ยมกับแรงดันที่กำหนดโดยค่า VR1 นั่นคือความกว้างของสัญญาณหรือ ดิวตี้ไซเกิลจะขึ้นการปรับแรงดันที VR1 ส่วนความถี่ของสัญญาณจะขึ้นกับค่าของตัวเก็บประจ C1 สัญญาณ PWM เอาต์พุตจะถูกส่งไปยังมอสเฟต Q1 เพื่อขับมอเตอร์ไฟตรงต่อไป ด้วยวงจร นี้สามารถปรับความเร็วของมอเตอร์ได้จากการปรับค่าความกว้างของสัญญาณพัลส์ที่ VR1


รูปที่ 11 วงจรควบคุมความเร็วของมอเตอร์ไฟตรงที่สามารถปรับค่าดิวตี้ไซเกิลได้เต็มย่าน 0 ถึง 100%

จากวงจรกำเนิดสัญญาณ PWM ในรูปที่ 9 และ 10 จะมีข้อจำกัดที่คล้ายกันข้อหนึ่งคือ ไม่สามารถปรับค่าติวตี้ไซเกิลได้เต็มย่าน 0 ถึง 100% แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า วงจรนั้นไม่ดี หากแต่การนำวงจรดังกล่าวไปใช้งานไม่มีความจำเป็นต้องปรับค่าติวดี้ไซเกิลให้ได้เต็มย่าน ยกตัวอย่าง วงจรในรูปที่ 10 เป็นวงจรที่ใช้ปรับความเร็วของมอเตอร์ในรถสกู๊ตเตอร์ ซึ่งในการใช้งานจริงค่าดิวตี้ไซเกิลต่ำมากๆ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ วงจรในรูปที่ 11 เป็นวงจรกำเนิดสัญญาณ PWM ที่สามารถปรับความกว้างของสัญญาณพัลส์หรือค่าดิวตี้ไซเกิลได้เต็มย่าน 0 ถึง 100% หัวใจหลักคือวงจรกำเนิดสัญญาณฟันเลื่อยหรือ Sawtooth generator ซึ่งใช้ไอซีเบอร์ LM555 สัญญาณรูปฟันเลื่อยจะถูกส่งไปเปรียบเทียบที่ออปแอมป์คล้ายกับวงจรในรูปที่ 10 ด้วยการใช้สัญญาณรูปฟันเลื่อยเป็นสัญญาณอ้างอิงทำให้ สามารถปรับค่าดิวตี้ไซเกิลได้ 0 ถึง 100% ความถี่ของสัญญาณได้รับการกำหนดจากการปรับค่า VR1 ร่วมกับค่าของตัวเก็บประจุ C2 ส่วนการปรับค่าดิวตี้ไซเกิลปรับได้ที่ VR2 สัญญาณ PWM เอาต์พุตสามารถนำไปต่อเข้ากับมอสเฟตเหมือนกับวงจรในรูปที่ 9 และ 10 หรือต่อเข้ากับขา EN ของไอซี L293 เพื่อใช้กับวงจรขับมอเตอร์แบบ H-Bridge


รูป​ที่ 12 วงจร​ควบคุม​ความเร็ว​ของ​มอเตอร์​ไฟ​ตรง​ที่​ใช้​ไมโคร​คอนโทรลเลอร์ ใน​การ​สร้าง​สัญญาณ PWM

นอกจากนั้นในวงจรควบคุมมอเตอร์ไฟตรงสมัยใหม่จะใช้ไมโครคอนโทลเลอร์ในการสร้างสัญญาณ PWM เพื่อควบคุมความเร็วของมอเตอร์ และใช้ขาพอร์ตอีก 1 ถึง 2 ขาในการควบคุมทิศทางการหมุนของมอเตอร์ ดังแสดงวงจรตัวอย่างในรูปที่ 12 ด้วยการใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ทำให้วงจรควบคุมความเร็วของมอเตอร์มีขนาดเล็กและลดความซับซ้อนลงอย่างมาก ทั้งยังสามารถกำหนดความกว้างและความถี่ของสัญญาณ PWM ได้ละเอียดมากขึ้น


 

Categories
บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

เบรดบอร์ดแผงทดลองต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์

อุปกรณ์พื้นฐานที่นักทดลองวงจรอิเล็กทรอนิกส์รู้จักและใช้งานตั้งแต่วันที่ก้าวเข้าสู่วงการ นี่คือตัวช่วยสำคัญในการเรียนรู้ ทดลอง ทดสอบ และพัฒนาโครงงานต้นแบบ

ใน​การ​เรียนรู้​ และ​ทดลอง​วงจร​ หรือ​โครงงาน​อิเล็กทรอนิกส์​ การ​ต่อ​วงจร​เพื่อ​ทดสอบ​การ​ทำงาน​เป็น​สิ่ง​ที่​จำเป็น​อย่างยิ่ง มี​วิธีการ​มากมาย​ใน​การ​ต้อ​หรือ​สร้าง​วงจร​ทาง​ฮาร์ดแวร์​ขึ้น​มา ไม่ว่า​จะ​เป็นการ​ต่อ​วงจร​โดย​ใช้​ปากคีบ การ​ใช้​สายไฟ​มา​พัน​ที่​ขา​อุปกรณ์ การ​บัดกรี​ขา​อุปกรณ์​ต่างๆ เข้า​ด้วยกัน​แบบ​ตรงไป​ตรง​มา การ​ใช้​แผ่น​วงจร​พิมพ์​เอ​นก​ประสงค์ การ​ทำ​แผ่น​วงจร​พิมพ์​จริงๆ ขึ้น​มา หรือ​การ​ใช้​อุปกรณ์​
ที่​เรียกว่า ​เบรด​บอร์ด (breadboard) หรือ​เรียก​เป็น​ภาษาไทย​ว่า​แผง​ต่อ​วงจร

ทำไม​ต้อง​ใช้​เบรด​บอร์ด
การ​ต่อ​วงจร​แบบ​ชั่วคราว​หรือ​การ​ทดลอง​วงจร​ขั้นต้น รวมถึง​การ​ทำ​ต้นแบบ สิ่ง​ที่​นัก​ออกแบบ​หรือ​นัก​ทดลอง
​ต้องการ​คือ ความ​ยืดหยุ่น​ใน​การ​เปลี่ยน​อุปกรณ์ การ​ปลด​และ​ต่อ​สาย​สัญญาณ​ที่​สะดวก​รวดเร็ว ในขณะที่​ยังคง​เชื่อถือ​ได้​ใน​ความ​แน่นหนา​ของ​จุด​ต่อ​สัญญาณ​ต่างๆ จาก​ความ​ต้องการ​ดังกล่าว​นั่นเอง ทำให้​เบรด​บอร์ด​เป็น​ทางเลือก​ที่​ดี​ เนื่องจาก

1. รองรับ​การ​ต่อ​ร่วมกัน​ของ​ขา​อุปกรณ์ เนื่องจาก​บน​เบรด​บอร์ด​มี​จุด​ต่อ​จำนวน​มาก​และ​มี​การ​จัด​เรียง​ที่​เป็น​ระเบียบ ​ทำให้​ง่าย​ต่อ​การ​ต่อ​วงจร และ​ตรวจสอบ

2. การ​ถอด​เปลี่ยน​อุปกรณ์ทำได้​ง่าย ​อุปกรณ์มี​ความ​เสียหาย​จาก​การ​ถอด​เปลี่ยน​น้อยมาก

3. การ​เปลี่ยน​จุด​ต่อ​สัญญาณ​ทำได้​ง่ายมาก เพียง​ดึง​สาย​ออกจาก​จุด​ต่อ​ แล้ว​เปลี่ยน​ตำแหน่ง​ได้​ใน​ทันที

4. จุด​ต่อ​มี​ความ​แน่นหนา​เพียงพอ ไม่​หลุด​ง่าย ทำให้​ลด​ปัญหา​การ​เชื่อม​ต่อ​ของ​สัญญาณ​ได้

5. สามารถ​ขยาย​พื้นที่​ของ​การ​ต่อ​วงจร​ได้​ง่าย หาก​เป็น​อนุกรม​เดียวกัน​สามารถ​ประกอบ​ต่อกันทั้ง​ทาง​ด้านกว้าง​และ​ด้าน​ยาว

6. ใน​เบรด​บอร์ด​ที่​มี​ขนาด​มากกว่า 200 จุด​ต่อ จะ​มี​การ​พิมพ์​ตำแหน่ง​พิกัด​ของ​จุด​ต่อ​ต่างๆ ทำให้​สามารถ​กำหนด​ตำแหน่ง​การ​ต่อ​วงจร​ได้​อย่าง​สะดวก ตรวจสอบ​ง่าย


ใน​รูป​ที่ 1 แสดง​หน้าตา​ของ​เบรด​บอร์ด​ขนาด​ต่างๆ สั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่าง
สั่งซื้อเบรดบอร์ดขนาด 170 จุด
สั่งซื้อเบรดบอร์ดขนาด 390 จุด

โครงสร้างของเบรดบอร์ด
เบรด​บอร์ด (breadboard) หรือ แผง​ต่อ​วงจร เป็น​แผง​พลาสติก​ที่​มี​การ​จัด​แบ่ง​เป็นกลุ่ม โดย​ภายใน​แต่ละ​กลุ่ม​บรรจุ​แผง​โลหะ​ตัวนำ​ปลอด​สนิม แล้ว​ทำการ​เจาะ​รู​บน​แผง​พลาสติก​นั้น เพื่อให้​สามารถ​นำ​สายไฟ​ขนาดเล็ก​เสียบ​เข้าไป​สัมผัสกับ​แผง​โลหะ ในขณะ​เดียวกัน​แผง​โลหะ​ดังกล่าว​ก็​จะ​ทำการ​บีบ​สายไฟ​นั้น​ให้​แน่น​อยู่กับที่ เมื่อ​ผู้ใช้งาน​ต้องการ​ปลด​สายไฟ​ออก​ก็​เพียง​ออก​แรงดึง​เล็กน้อย หน้า​สัมผัส​ของ​แผง​โลหะ​ก็​จะ​คลาย​ออก ทำให้​สายไฟ​สามารถ​หลุด​ออกจาก​จุด​ต่อ​นั้น​ได้ ใน​รูป​ที่ 2 แสดง​ลักษณะ​ภายนอก​และ​โครงสร้าง​ภายใน​ของ​เบรด​บอร์ด


รูป​ที่ 2 ​แสดง​ลักษณะ​ภายนอก​และ​โครงสร้าง​ภายใน​ของเบรด​บอร์ด


รูปที่ 3 แสดงการเชื่อมต่อของเบรดบอร์ดขนาดต่างๆ

ใน​รูป​ที่ 3 แสดง​การ​เชี่​อม​ต่อ​ของ​จุด​ต่อ​อุปกรณ์​ของ​เบรด​บอร์ด 3 ขนาดที่​ได้รับ​ความ​นิยม​ใน​เมืองไทย จะ​เห็น​ได้​ว่า แผง​ต่อ​วงจร​แบ่งออก​เป็น 2 กลุ่ม​ใหญ่ๆ คือ กลุ่ม​ที่​มี​การ​ต่อ​ถึงกัน​ใน​แนวตั้ง ซึ่ง​มี​ด้วยกัน 5 จุด​ต่อ​ใน​หนึ่ง​กลุ่ม​ย่อย และ​กลุ่ม​ที่ต่อ​ถึงกัน​ใน​แนวนอน (จะ​มี​เฉพาะ​ใน​เบรด​บอร์ด​ที่​มี​จำนวน​จุด​ต่อ​มากกว่า 200 จุด) กลุ่ม​หลัง​นี้​จะ​ได้รับ​การ​จัด​วาง​ให้​อยู่​ใน​บริเวณ​ขอบ​บน​และ​ล่าง​ของ​แผง​ต่อ​วงจร มี​ด้วย กัน 2 แถว​ยาว​ต่อ​หนึ่ง​ด้าน รวม 4 แถว ใน​บาง​รุ่น​อาจจะ​มี​การ​แบ่ง​เป็น 2 ส่วน ดังนั้น​ใน​การ​ใช้งาน​หาก​ต้องการ​ให้​แถว​ยาว​แต่ละ​แถว​ต่อ​ถึงกัน​จาก​ซ็าย​ไป​ขวา​ต้อง​ใช้​สายไฟ​เชื่อม​ต่อ​ระหว่าง​จุด​แบ่ง​ของ​แต่ละ​แถว​ด้วย ซึ่ง​เพื่อ​ความ​แน่ใจ​อาจ​ใช้​มัลติ​มิเตอร์​ตรวจสอบ​การ​เชื่อม​ต่อ​ของ​แต่ละ​แถว​ก่อน​การ​ใช้งาน

ใน​เบรด​บอร์ด​ที่​มี​จำนวน​จุด​ต่อมา​กว่า 200 จุด จะ​มี​การ​พิมพ์​ตำแหน่ง​พิกัด​ใน​แนวตั้ง​และ​นอน​ด้วย โดย​ใน​แนวตั้ง 5 จุด​ต่อ​ทั้งสอง​ฝั่ง​มักจะ​กำหนด​พิกัด​เป็น​ตัวอักษร A ถึง E ใน​ฝั่ง​หนึ่ง และ F ถึง J ใน​อีก​ฝั่ง​หนึ่ง ​ส่วน​แนวนอน​เป็น​ตัวเลข

เกี่ยวกับ​สาย​ต่อ​วงจร
สายไฟ​หรือ​สาย​ต่อ​วงจร​ที่​เหมาะกับ​เบรด​บอร์ด​นั้น ควร​เป็นสาย​ทองแดง​เดี่ยว​ที่​ได้รับ​การ​ชุบ​ด้วย​นิเกิล​หรือ​เงิน มี​ความ​แข็งแรง​พอสมควร สามารถ​ดัด​หรือ​ตัด​ได้​ง่าย มี​ขนาด​เส้น​ผ่าน​ศูนย์กลาง 0.4 มิลลิเมตร หรือ​ใช้​สาย​เบอร์ 22AWG ดัง​แสดง​ใน​รูป​ที่ 4 ทั้งนี้​หาก​ใช้​สาย​ที่​มี​ขนาดใหญ่กว่า​นี้​จะ​ทำให้​แผง​โลหะ​ของ​แผง​ต่อ​วงจร​หลวม ไม่​สามารถ​บีบ​จับ​สายไฟ​ได้​อีก


รูปที่ 4 ตัวอย่างของสายต่อวงจร

ใน​ปัจจุบัน​มี​ผู้ผลิต​สาย​สำหรับ​เสียบ​ต่อ​วง​จรบน​เบรด​บอร์ด​โดยเฉพาะ โดย​ทำจาก​สายไฟ​อ่อน​บัดกรี​เข้ากับ​ขา​ตัวนำ​ที่​มี​ความ​แข็ง (คล้ายๆ กับ​ขา​คอ​นเน็กเตอร์) แล้ว​หุ้ม​จุด​เชื่อม​ต่อ​ด้วย​ท่อ​หด​เพื่อ​เพิ่ม​ความ​แข็งแรง​และ​ป้องกัน​การ​หัก​งอ

ไม่​แนะนำ​ให้​ใช้​สายโทรศัพท์​ที่​เป็น​ทองแดง​ล้วนๆ เนื่องจาก​สาย​เหล่านั้น​มี​การ​อาบ​น้ำยา​กันสนิม หาก​นำมาใช้​ต่อ​วงจร​ทันที อาจ​ทำให้​วงจร​ไม่ทำงาน เพราะ​น้ำยา​ที่​เคลือบ​ลวด​ทองแดง​อยู่​มี​คุณสมบัติ​เป็น​ฉนวน​ทำให้​กระแสไฟฟ้า​ไม่​สามารถ​ไหลผ่าน​ไป​ได้ หาก​ต้อง​นำมาใช้​จริงๆ ควร​ใช้​มีด​ขูด​น้ำยา​ที่​เคลือบ​อยู่​ออก​เสีย​ก่อน แต่​นั่น​เท่ากับว่า ได้​ทำลาย​ฉนวน​ป้อง​กันสนิม​ของ​ลวด​ทองแดง​ไป​แล้ว หาก​ใช้​ไป​สัก​ระยะ​หนึ่ง​ก็​จะ​เกิด​สนิม​ที่​สาย​ต่อ​วงจร​นั้น ​เมื่อ​นำมา​ใช้งาน​ก็​อาจ​ทำให้​วงจร​ที่ทำการ​ต่อ​นั้น​ไม่ทำงาน​ได้

การต่อวงจรและการวางอุปกรณ์บนแผงต่อวงจร
ใน​รูป​ที่ 5 เป็นการ​ตัวอย่าง​การ​เตรียม​สาย​ต่อ​วงจร​และ​ดัด​ขา​อุปกรณ์​เพื่อ​เตรียม​ติดตั้ง​ลง​บน​เบรด​บอร์ด การ​ต่อ​วงจร​ที่​ดี​ควร​จัดให้​เป็น​ระเบียบ ตรวจ​สอบได้​ง่าย ใช้​สาย​ต่อ​วงจร​ใน​ปริมาณ​ที่​เหมาะสม ควร​ต่อ​วงจร​ใน​ลักษณะ​ไล่​จาก​ซ้าย​ไป​ขวา และ​จาก​บน​ลง​ล่าง โดย​กำหนด​ให้​อินพุต​ของ​วงจร​อยู่ทาง​ซ้าย​หรือ​ทาง​ตอน​ล่าง ส่วน​เอาต์พุต​อยู่​ทาง​ขวา​หรือ​ตอน​บน ทั้งนี้​เพื่อให้​ง่าย​ต่อ​การ​ตรวจสอบ​ใน​กรณี​ที่ต่อ​วงจร​แล้ว​วงจร​ไม่ทำงาน และ​ช่วย​ใน​การ​แก้ไข​ใน​กรณีที่​ต้อง​ดัดแปลง​วงจร​บางส่วน ทำให้​ไม่​ต้อง​รื้อ​วงจร​แล้ว​ต่อ​ใหม่​ทั้งหมด


รูปที่ 5 ตัวอย่างการเตรียมสายต่อวงจรและดัดขาอุปกรณ์เพื่อเสียบลงบนเบรดบอร์ด

ใน​รูป​ที่ 6 เป็น​ตัวอย่าง​การ​ต่อ​วง​จรบน​เบรด​บอร์ด​จาก​วงจร​ที่​ต้องการ​ทดลอง


รูปที่ 6 ขั้นตอนการต่ออุปกรณ์บนเบรดบอร์ดเพื่อสร้างวงจรตามที่กำหนด


 

Categories
บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

ความรู้เบื้องต้นของสัญญาณพัลส์

โดย : ชัยวัฒน์ ลิ้มพรจิตรวิไล

ทบทวนความรู้พื้นฐานสำหรับเมกเกอร์ นักเล่น นักทดลอง รู้จักกับองค์ประกอบของสัญญาณไฟฟ้าที่หลายคนอาจไม่เคยรู้หรือลืมไปแล้ว

ความรู้พื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีความสำคัญ เหล่าเมกเกอร์ นักเล่น นักทดลองวงจรและโครงงานด้านอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ควรให้ความใส่ใจ และทำความเข้าใจตามสมควร ทั้งนี้เนื่องจากเวลาเกิดปัญหาในการทดลองหรือทำโครงงาน การใช้เครื่องมือเพื่อวัดสัญญาณเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับสัญญาณไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่ควรรู้ จึงนำมาเสนอเพื่อเติมข้อมูลให้แก่เหล่าเมกเกอร์ร่วมสมัยและเป็นการปัดฝุ่นทบทวนความรู้สำหรับเมกเกอร์รุ่นใหญ่ไปพร้อมกัน

สัญญาณพัลส์คืออะไร ?
สัญญาณพัลส์ (pulse) ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ที่ระดับของสัญญาณไฟฟ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่งที่มีความแตกต่างกันมากๆ อย่างรวดเร็ว อาจมีความต่อเนื่องหรือไม่ก็ได้ ส่วนประกอบของสัญญาณพัลส์ที่สำคัญได้แก่ ระดับสัญญาณหรือแอมปลิจูด (amplitude) , ขอบขาของสัญญาณ ซึ่งมีด้วยกัน 2 ลักษณะคือ ขอบขาขึ้น (rising edge) และขอบขาลง (falling edge), ความกว้างของสัญญาณ (pulse width) และเส้นฐาน (basedline) ดังแสดงรายละเอียดของส่วน ประกอบที่สำคัญของพัลส์ในรูปที่ 1

รูปที่ 1 แสดงส่วนประกอบของสัญญาณพัลส์

ลักษณะของสัญญาณพัลส์จะมีทั้งพัลส์บวก (รูปที่ 1.1) และพัลส์ลบ (รูปที่ 1.2) ขอบขาขึ้นของสัญญาณ หมายถึง ขอบขาของสัญญาณที่เปลี่ยนระดับจากต่ำไปยังระดับสูง ส่วน ขอบขาลงของสัญญาณ หมายถึงขอบขาของสัญญาณที่เปลี่ยนระดับจากสูงลงมายังระดับต่ำ ส่วนแอมปลิจูดจะคำนวณหรือวัดจากระดับสัญญาณต่ำมายังระดับสัญญาณสูง หรือจากยอดของสัญญาณมายังเส้นฐานของสัญญาณพัลส์

พารามิเตอร์ที่สำคัญของสัญญาณพัลส์
สัญญาณพัลส์ในอุดมคติเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่คมชัด แต่ในความเป็นจริง สัญญาณพัลส์ที่เกิดขึ้น อาจไม่เหมือนกับสัญญาณพัลส์ในอุดมคติ ทั้งนี้เนื่องจากการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในบางประเภทมีความเร็วในการทำงานหรือตอบสนองต่อสัญญาณพัลส์ได้ไม่เร็วเพียงพอ ทำให้เกิดช่วงเวลาก่อนที่ระดับสัญญาณจะเปลี่ยนแปลงสู่ระดับที่มีเสถียรภาพ ในรูปที่ 2 แสดงสัญญาณพัลส์ที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ และพารามิเตอร์ที่สำคัญของสัญญาณพัลส์

รูปที่ 2 แสดงพารามิเตอร์ที่สำคัญของสัญญาณพัลส์

พารามิเตอร์ที่สำคัญของสัญญาณพัลส์ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพของสัญญาณ ประกอบด้วย

1. ช่วงเวลาไต่ขึ้น (rise time : tr) เป็นค่าของเวลาที่สัญญาณเกิดการเปลี่ยนแปลงจากระดับ 10% ของสัญญาณสูงสุดไปยังระดับ 90% ของสัญญาณสูงสุด หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นช่วงเวลาของการเกิดขอบขาขึ้นของสัญญาณ ดังแสดงในรูปที่ 2.1

2. ช่วงวลาไต่ลง (fall time : tf) เป็นค่าของเวลาที่สัญญาณเกิดการเปลี่ยนแปลงจากระดับ 90% ของสัญญาณสูงสุดลงมายังระดับ 10% ของสัญญาณสูงสุด หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นช่วงเวลาของการเกิดขอบขาลงของสัญญาณ ดังในรูปที่ 2.1

3. ความกว้างของพัลส์ (pulse width : tw) เป็นค่าของเวลาระหว่างจุดระดับ 50% ที่ขอบขาขึ้นของสัญญาณกับจุดระดับ 50% ที่ขอบขาลงของสัญญาณ ดังในรูปที่ 2.2

สัญญาณพัลส์ต่อเนื่อง (Repetitive pulse)
สัญญาณพัลส์ปกติอาจมีเพียงลูกเดียวเรียกว่า พัลส์เดี่ยว (single pulse) แต่ถ้าหากพัลส์ที่เกิดขึ้นมีความต่อเนื่องและเกิดคาบเวลาคงที่ (periodic) จะเรียกพัลส์ที่เกิดขึ้นว่า พัลส์ต่อเนื่อง ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับสัญญาณรูปสี่เหลี่ยม (rectanular waveform) แต่จะแตกต่างกันตรงที่สัญญาณสี่เหลี่ยมจะมีดิวตี้ไซเกิล 50% นั่นคือสัญญาณในซีกบวกจะมีความกว้างเท่ากับสัญญาณในซีกลบ แต่ถ้าเป็นสัญญาณพัลส์ต่อเนื่องจะมีดิวตี้ไซเกิลที่อิสระ ดังแสดงในรูปที่ 3

รูปที่ 3 แสดงลักษณะของพัลส์ต่อเนื่อง

ดิวตี้ไซเกิลของสัญญาณพัลส์ต่อเนื่องสามารถคำนวณได้จาก

โดยที่ tw คือ ความกว้างของพัลส์ และ T คือ คาบเวลาของสัญญาณพัลส์ 1 ลูก
นั่นหมายความว่า ความถี่จะไม่มีผลต่อการปรับหรือเปลี่ยนแปลงดิวตี้ไซเกิลแต่อย่างใด ในรูปที่ 4 แสดงสัญญาณพัลส์ที่มีดิวตี้ไซเกิลแตกต่างกัน ในขณะที่ความถี่ของสัญญาณไม่เปลี่ยนแปลง

รูปที่ 4 แสดงลักษณะของสัญญาณพัลส์ที่มีค่าดิวตี้ไซเกิลแตกต่างกันแต่มีความถี่เท่ากัน

ค่าแรงดันเฉลี่ยของสัญญาณพัลส์
ค่าแรงดันเฉลี่ย (Vavg) ของสัญญาณพัลส์มีค่าเท่ากับผลรวมของระดับสัญญาณที่เส้นฐานกับผลคูณระหว่างค่าดิวตี้ไซเกิลกับแอมปลิจูด

ตัวอย่างการคำนวณหาค่าแรงดันเฉลี่ยของสัญญาณพัลส์
จงคำนวณหาค่า Vavg ของสัญญาณพัลส์ทั้งสามแบบในรูปที่ 5

(ก) ระดับแรงดันเส้นฐานของสัญญาณพัลส์จากรูปที่ 5.1 เท่ากับ 0V แอมปลิจูด 2V ดิวตี้ไซเกิลมีค่าเท่ากับ 1/10 x 100% = 10% ดังนั้นแรงดันเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ

Vavg = ระดับแรงดันเส้นฐานของสัญญาณ พัลส์ + (ดิวตี้ไซเกิล x แอมปลิจูด)

= 0 + (10% x 2) = 0.2V

(ข) ระดับแรงดันเส้นฐานของสัญญาณพัลส์จากรูปที่ 5.2 เท่ากับ +1V แอมปลิจูด 5V ดิวตี้ไซเกิลมีค่าเท่ากับ 1/2 x 100% = 50% แรงดันเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ

Vavg = ระดับแรงดันเส้นฐานของสัญญาณ พัลส์ + (ดิวตี้ไซเกิล x แอมปลิจูด)

= 1 + (50% x 5) = 1 + 2.5 = 3.5V

(ค) ระดับแรงดันเส้นฐานของสัญญาณพัลส์จากรูปที่ 5.3 เท่ากับ -1V แอมปลิจูด 2V ดิวตี้ไซเกิลมีค่าเท่ากับ 10/20 x 100% = 50% แรงดันเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ

Vavg = ระดับแรงดันเส้นฐานของสัญญาณพัลส์+(ดิวตี้ไซเกิล x แอมปลิจูด)

= -1 + (50% x 2)

ในสัญญาณพัลส์รูปที่ 5.3 เป็นสัญญาณพัลส์ไฟสลับ ดังนั้นแรงดันเฉลี่ยของสัญญาณเต็มรูปคลื่นจึงเป็นศูนย์

รูปที่ 5 ตัวอย่างของสัญญาณพัลส์รูปแบบต่างๆ ที่นำมาคำนวณหาค่าแรงดันเฉลี่ย

สัญญาณสามเหลี่ยม (Triangular waveform)
เป็นสัญญาณไฟฟ้าอีกแบบหนึ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับสัญญาณในลักษณะลาดเอียงหรือเรียกว่า แรมป์ (ramp) หากสัญญาณลาดเอียงขึ้นจากระดับต่ำไปสูงเรียกว่า แรมป์บวก (positive ramp) ถ้าหากสัญญาณลาดเอียงจากระดับสูงลงมาต่ำ เรียกว่า แรมป์ลบ (negative ramp) อัตราการเปลี่ยนแปลงในลักษณะลาดเอียงสามารถ คำนวณได้จาก ระดับสัญญาณหารด้วยเวลารวมของการเปลี่ยนแปลงระดับสัญญาณ จึงมีหน่วยเป็น โวลต์หรือแอมแปร์ต่อวินาที (V/s; A/s) แล้วแต่ว่าสัญญาณที่นำมาพิจารณาเป็นสัญญาณของแรงดันหรือกระแสไฟฟ้า ดังแสดงในรูปที่ 6

รูปที่ 6 แสดงลักษณะของสัญญาณแรมป์ที่มีความลาดเอียง

สัญญาณสามเหลี่ยมเกิดจากแรมป์บวกและแรมป์ลบที่มีอัตราการลาดเอียงเท่ากัน คาบเวลาของสัญญาณสามารถวัดได้จากยอดของสัญญาณในซีกบวกหรือลบไซเกิลหนึ่งไปยังยอดของสัญญาณในไซเกิลถัดไปดังแสดงในรูปที่ 7

รูปที่ 7 ลักษณะของสัญญาณสามเหลี่ยม

สัญญาณรูปฟันเลื่อย (Sawtooth waveform)
เป็นสัญญาณสามเหลี่ยมรูปแบบพิเศษที่ประกอบด้วยแรมป์ 2 ส่วน โดยแรมป์หนึ่งจะมีอัตราการลาดเอียงมากกว่าอีกแรมป์หนึ่ง ดังแสดงในรูปที่ 8

รูปที่ 8 ลักษณะของสัญญาณรูปฟันเลื่อย

ส่วนการวัดหรือคำนวณคาบเวลาของสัญญาณเหมือนกับสัญญาณสามเหลี่ยมทุกประการ

ความรู้พื้นฐานเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการที่ท้าทายในอนาคตในวันที่มองไปข้างหน้า อย่าลืมทบทวนความรู้เพื่อการตอบให้ได้ทุกคำถามที่ต้องเผชิญ

ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท อินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด


 

Categories
บทความ รีวิว เทคโนโลยี ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

แบตเตอรี่พันธุ์ใหม่ LiFePO4

LiFePO4 แบตเตอรี่พันธุ์ใหม่ ให้แรงดันไฟฟ้าสูงในขนาดมาตรฐานเดิมสร้างจากเทคโนโลยีล่าสุด ด้วยขนาด AA/AAA มาตรฐาน แต่จ่ายไฟได้สูงกว่าแบตเตอรี่แบบเดิมๆ ที่มีในท้องตลาด

งานของนักประดิษฐ์และเมกเกอร์มักหลีกไม่พ้นที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เป็นตัวขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ประจุใหม่ได้ ในอดีตจนถึงปัจจุบันหลายครั้งที่ต้องเผชิญกับปัญหาของพลังงานไฟฟ้าที่ต้องการใช้กับขนาดของสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่สมดุลย์กัน เช่น หากต้องการไฟเลี้ยง 6V ก็ต้องใช้แบตเตอรี่ AA จำนวน 4 ก้อนมาต่อกันแบบอนุกรม ส่งผลให้ชิ้นงานมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย

แต่ปัญหานี้จะถูกแก้ไขด้วยแบตเตอรี่สายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ LiFePO4 หรือลิเธียมไอออนฟอสเฟต (Lithium Iron Phosphate) เนื่องจากมันสามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับเซลแบตเตอรี่แบบเก่า นั่นคือ ที่ขนาด 1 เซลตามปกติ จะให้แรงดัน 3.2V เมื่อประจุเต็ม ดังนั้นหากต้องการใช้แรงดันไฟฟ้า 6V จึงใช้แบตเตอรี่ LiFePO4 นี้เพียง 2 ก้อน ทำให้ขนาดของแหล่งจ่ายไฟสำหรับชิ้นงานของเมกเกอร์และเหล่านักประดิษฐ์ทั้งหลายลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง

รู้จักกับลิเธี่ยมไอออนฟอสเฟต (LiFePO4)

คิดค้นโดย John Goodenough’s มหาวิทยาลัย Texas เมื่อปี 1996 และได้พัฒนาเป็นสินค้าออกสู่การตลาดในปี 2004
ลิเธี่ยมไอออนฟอสเฟตมีโครงสร้างทางเคมี เหมือนกับแบตเตอรี่ลิเธียมทั่วไป แต่เปลี่ยนวัสดุที่ใช้จาก Cobalt Dioxide (LiCoO2) มาเป็นโลหะที่อึดและทนต่อความร้อนที่เกิดจากปฎิกริยาเคมี ซึ่ง LiFePO4 สามารถให้พลังงานที่สูงกว่า ไม่เป็นพิษ มีอายุการใช้งานที่มากกว่าแบตเตอรี่รุ่นเก่า
ลิเธียมไอออนฟอสเฟตสามารถประจุไฟได้ในแบบแรงดันคงที่ หมายความว่าผู้ใช้งานสามารถประจุไฟใหม่ด้วยอะแดปเตอร์ไฟตรง เหมือนกับแบตเตอรี่ประเภทตะกั่วกรด และใช้ระยะเวลาในการประจุไฟใหม่น้อยกว่าแบตเตอรี่แบบเก่า

แตกต่างที่ให้แรงดันสูงกว่าเดิมสองเท่า

แบตเตอรี่ LiFePO4 มีการผลิตออกมาทั้งขนาด AA และ AAA ให้แรงดันต่อก้อนเมื่อประจุเต็ม ไม่เกิน 3.2V ด้านความสามารถในการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีตั้งแต่ 800mAH จนถึง 1500mAH และเชื่อว่า จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

การประจุแบตเตอรี่แบบนี้ใช้เครื่องประจุยี่ห้อ G.T.Power รุ่น C607D (สั่งซื้อได้จาก www.inex.co.th) ได้ โดยเลือกชนิดของแบตเตอรี่ให้ถูกต้อง

ภาพด้านบนคือเครื่องประจุแบตเตอรี่ G.T.Power รุ่น C607D ที่ใช้ประจุแบตเตอรี่ LiFePO4 ได้

การใช้งานกับกะบะถ่านแบบเดิม

เนื่องจากเป็นแบตเตอรี่แบบใหม่ หากนำมาใช้ทันทีกับกะบะถ่าน 4 ก้อนที่เดิมทีต้องบรรจุแบตเตอรี่แบบเดิม 4 ก้อน เมื่อเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่ LiFePO4 อาจทำให้เกิดปัญหาต้องทำการดัดแปลงกะบะถ่านหรือเปลี่ยนกะบะถ่าน

ทว่า ปัญหานี้ทางผู้ผลิตแบตเตอรี่ LiFePO4 ได้คิดมาครบแล้ว จึงมีการแจกแบตเตอรี่หลอกหรือดัมมี่ (dummy) มาให้ด้วยในกรณีที่จัดซื้อแบตเตอรี่ LiFePO4 จำนวน 2 ก้อน ก็จะให้ดัมมี่มา 2 ก้อนที่มีขนาดเท่ากับแบตเตอรี่ AA โดยตัวดัมมี่นี้แท้ที่จริงแล้ว มันทำหน้าที่เป็นสะพานไฟสำหรับต่ออนุกรมในกะบะถ่าน จึงทำให้ยังคงใช้งานกะบะถ่าน 4 ก้อนแบบเดิมได้ ด้วยการใส่แบตเตอรี่ LiFePO4 จำนวน 2 ก้อนและแบตเตอรี่ดัมมี่ 2 ตัว

ภาพด้านบนแสดงการใช้กะบะถ่านแบบเดิม โดยใส่แท่งดัมมี่แบตเตอรี่เข้าไปเป็นสะพานไฟ เพื่อให้ได้แรงดัน 6V แต่หากต้องการแรงดัน 12V ก็เพิ่มแบตเตอรี่เป็น 4 ก้อนเท่านั้น

ด้านบนคือรูปแบตเตอรี่ LiFePO4 ขนาดต่างๆ ที่มีขายในปัจจุบัน
1. แบบเซลเดี่ยว
2. แบบแพ็กหลายเซล 3.2V ทำให้ได้กระแสไฟฟ้าสูงขึ้น
3. แบบแพ็ก 6V
4. แบบแพ็ก 12V
5. อะแดปเตอร์ไฟตรง 3.6V สำหรับประจุไฟใหม่

มีขายที่ไหน

ปัจจุบันเริ่มมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ LiFePO4 นี้หลายราย ทยอยวางจำหน่ายในขนาดต่างๆ กันบ้างแล้ว ใครสนใจก็ลองค้นหาดูใน www.aliexpress.com มีให้เลือกหลากหลาย

สิ่งที่จะต้องระลึกถึงเสมอคือ แบตเตอรี่ LiFePO4 ให้แรงดัน 3.2V หากเลือกขนาด AA หรือ AAA ไปใช้กับสิ่งประดิษฐ์เดิมที่มีการใช้กะบะถ่านแบบ 4 ก้อน ต้องหาดัมมี่มาใส่ให้แทนตำแหน่งที่เหลือหรือต้องทำการเปลี่ยนขนาดของกะบะถ่านเป็นแบบ 2 ก้อน ในกรณีที่ต้องการใช้แรงดันไฟตรง 6V

Categories
บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

แลทชิ่งรีเลย์ (Latching relay)

มาตามสัญญากับการแนะนำให้รู้จักแลทชิ่งรีเลย์ นั่นก็คือรีเลย์ชนิดที่ไม่ต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับขดลวดเหนี่ยวนำตลอดเวลา หน้าสัมผัสก็ยังคงเชื่อมต่อกันเพื่อนำกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับอุปกรณ์ได้ตามต้องการ

แลทชิ่งรีเลย์ ประกอบด้วยหน้าสัมผัส 2 ชุด และมีขดลวดเหนี่ยวนำหรือโซลินอยด์ (solinoid) 2 แบบคือ แบบขดลวดเหนี่ยวนำ 1 ชุด และขดลวดเหนี่ยวนำ 2 ชุด สำหรับควบคุมหน้าสัมผัสให้ต่อหรือจากกัน

การควบคุมหน้าสัมผัสของแลทชิ่งรีเลย์

– แลทชิ่งรีเลย์แบบขดลวดเหนี่ยวนำ 1 ชุด การควบคุมทำได้โดยจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าไปเลี้ยงขดลวดในลักษณะกระตุ้น (impulse) หรือพูดง่ายๆ ก็คือจ่ายแล้วปลดออกทันที หน้าสัมผัสจะเชื่อมต่อและคงสถานะล่าสุดค้างไว้แม้ไม่มีไฟเลี้ยงขดลวดเหนี่ยวนำ และหากต้องการกลับสถานะหน้าสัมผัสก็เพียงสลับขั้วจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้นขดลวดเหนี่ยวนำ

– แลทชิ่งรีเลย์แบบขดลวดเหนี่ยวนำ 2 ชุด ควบคุมโดยการจ่ายกระแสไฟฟ้ากระตุ้นที่ขั้วของขดลวดเหมือนกับแบบขดลวด 1 ชุด แต่จะต่างกันตรงที่หากต้องการกลับสถานะของหน้าสัมผัสจะไม่ใช้การสลับขั้วไฟ แต่จะต้องจ่ายกระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้กับขดลวดอีกหนึ่งชุดดังภาพโครงสร้างด้านล่าง

ท่านที่สนใจแลทชิ่งรีเลย์ต้องการหามาลองใช้งานลองสอบถามที่ บริษัท อีเลคทรอนิคส์ ซอร์ซ จำกัด โทร : 0-2623-9460-6

หรือสั่งซื้อออนไลน์ที่ www.es.co.th


 

Categories
บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

รีเลย์สวิตช์ไฟฟ้า

รีเลย์ (relay) ชื่อนี้อาจแค่คุ้นหูแต่ไม่รู้จักถึงหลักการทำงานสำหรับนักประดิษฐ์ที่ไม่ได้ศึกษามาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง แต่มันมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับช่วยให้ผลงานการประดิษฐ์ของคุณมีลูกเล่นหรือฟังก์ชั่นการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น

Categories
บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

LED อุปกรณ์พื้นฐานการสร้างสิ่งประดิษฐ์

LED ชื่อนี้คุ้นเคยกันดีในกลุ่มนักอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในกลุ่มของนักประดิษฐ์ที่ไม่เคยแวะเวียนไปเที่ยวเล่นตามบ้านหม้อ หรือไม่เคยแม้แต่นำขาของ LED ไปสัมผัสกับขั้วถ่านเพราะมัวแต่คิดว่าตัวเองไม่ใช่นักอิเล็กทรอนิกส์บ้างล่ะ ไม่มีความรู้เรื่องนี้บ้างล่ะ

Exit mobile version