น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) และผู้อำนวยการสถาบันการบิน (DAA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า CADT DPU ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท THAI AEROSPACE INDUSTRIES จำกัด (TAI) โดยมี ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์ กรรมการผู้บริหารระดับสูงของ TAI ร่วมลงนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักศึกษาและบุคลากรด้านการบินให้มีความรู้ ประสบการณ์ และทัศนคติที่พร้อมในการทำงานในอุตสาหกรรมการบินระดับภูมิภาคและระดับโลก สอดคล้องกับการส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านการบิน ตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการฝึกอบรม ส่งเสริม และสนับสนุนบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินให้มีการวางแผน การจัดกิจกรรมนักศึกษา จัดการศึกษาร่วมกัน สนับสนุนสื่อการสอน งานวิจัยในการจัดการศึกษา และการฝึกอบรมต่างๆ โดยจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และหลักสูตรฝึกอบรม ให้เป็นไปตามมาตรฐานหน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) โดยเพิ่มจากเดิมที่ CADT DPU เป็นศูนย์ฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจากสมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA)
น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวด้วยว่า TAI มีภารกิจหลากหลาย ทั้งการซ่อมบำรุง พัฒนาบุคลากรด้านการบิน และเป็นตัวแทนการผลิตบุคลากรตามมาตรการ EASA และ FAA ซึ่งแตกต่างจาก CADT DPU ที่ใช้มาตรฐาน IATA ดังนั้น จะเป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ ที่สำคัญจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีใบประกาศนียบัตร EASA หรือ FAA ซึ่งสามารถไปใช้ในการสมัครงานได้ทั่วโลก รวมถึงอนาคตอาจจะเป็นศูนย์ทดสอบภาคพื้นของไทย มาตรฐาน EASA หรือ FAA ระหว่าง CADT / DAA และ บริษัท TAI
“จากการหารือเบื้องต้น คาดว่าจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะด้านบริการสำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งทางบริษัท TAI ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของ CADT จะมีการออกไปฝึกสหกิจ นอกเหนือจากการเข้าสอบในสาขาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) ที่ทาง CADT จัดให้นักศึกษาเป็นประจำทุกปี โดยจะเปิดสอบอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 27 พ.ค. นี้ ซึ่งเป็นการสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ หากนักศึกษาสอบผ่านก็จะได้รับประกาศนียบัตรจาก TPQI และหากได้เข้าร่วมโครงการของทางบริษัท TAI ก็จะทำให้นักศึกษามีโอกาสไปทำงานในสายการบินทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น” คณบดีวิทยาลัย CADT กล่าว
สำหรับการแลกเปลี่ยนบุคลากรนั้น ขณะนี้ทั้ง 2 หน่วยงาน กำลังหารือร่วมกัน โดยจะนำร่องในการพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงานให้มีมาตรฐานการฝึกอบรมสากล ICAO, EASA, FAA และ IATA เพื่อเพิ่มทักษะของบุคลากรด้านการบิน รวมถึงการเตรียมความพร้อมนักศึกษาให้กลายเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการบินที่กำลังจะเติบโตขึ้นหลังจากเปิดประเทศ
น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวอีกว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้กระทบต่ออุตสาหกรรมการบินเป็นอย่างมาก มีการเลิกจ้างพนักงาน บุคลากรด้านการบิน นักบิน และสายการบินหลายแห่งได้ปิดตัวลง รวมถึงยอดของนักศึกษาที่สนใจเข้าเรียนการบิน โดยในช่วงโควิด-19 นักศึกษาวิทยาลัย CADT หายไปประมาณ 1 ใน 3
“ผมเชื่อว่า หลังจากนี้ธุรกิจการบินจะกลับมาเติบโตเหมือนเช่นในอดีต แต่อาจจะไม่เติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะยังมีหลายๆ ประเทศที่โรคยังระบาดอยู่ และอาจมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก ดังนั้น แต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน หรือผู้โดยสารเอง ก็ยังคงต้องเดินทาง โดยจะมีการระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคแต่ละประเทศกำหนด แต่อาจจะไม่มีการปิดประเทศแล้ว เพราะเศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนต่อไป โดยควบคู่ไปกับความอยู่รอด” น.ต.ดร.วัฒนา กล่าว
คณบดีวิทยาลัย CADT กล่าวด้วยว่า การจะทำให้ประเทศเติบโตมีรายได้อย่างรวดเร็วและง่ายที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยวและต้องเดินทาง ขณะนี้ทุกคนเริ่มเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และปรับตัวให้อยู่ได้ในสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลไทยก็มีมาตรการในการกำกับดูแล และธุรกิจการบินมีมาตรฐานในการบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้ว เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ เพื่อให้ผู้โดยสารต่างประเทศมาไทยโดยมีมาตรการป้องกันโรคอย่างดี สายการบินก็ต้องสื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางมาตรการป้องกันโรคเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร ขณะเดียวกันผู้โดยสารก็ต้องมีวินัยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้