Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Brake lamp Tester

หากคุณอยากรู้ว่าไฟเบรคของคุณทำงานปกติหรือไม่ คุณจะต้องทำอย่างไร?

คำตอบอยู่ที่นี่แล้วครับ ด้วยนวัตกรรมใหม่แห่งมนุษยชาติได้กำเนิดขึ้นแล้วที่นี่ที่เดียว กับอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบไฟเบรครถยนต์ ที่ใช้หลักการทำงานสุดแสนจะง่ายดาย แต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพในการทำงาน อาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียงไม่กี่ชิ้น กับฝีมือด้านการประดิษฐ์อีกเล็กน้อย ก็ได้ตุ๊กตาจุ๊บๆ ดูดติดไฟเบรคยามต้องการทดสอบว่าไฟเบรคของคุณยังทำงานปกติดีหรือไม่

​สิ่ง​ประดิษฐ์​ขนาดเล็ก​ก​ะทัด​รัด แต่ช่วย​ลดภาระคน​​ใช้​รถยนต์ เพราะ​ใน​ยาม​ที่​ต้องการ​ตรวจสอบ​ว่า​ไฟ​เบรค​ทำงาน​ดี​อยู่​หรือไม่ วิธี​ที่​ง่าย​ที่สุด​คือ เรียก​คน​มา​ช่วย​ดู​ที่​ท้าย​รถ​ขณะ​เรา​เหยียบ​เบรค หาก​ปกติ​ดี ไฟ​เบรค​ที่​ควร​ติด ก็​จะ​ติด แล้ว​ถ้าหากไม่มี​แม้​ใคร​สัก​คน​มา​ช่วย​ดู​ให้​ล่ะ​ จะทำไง​ดี..ง่าย​ที่สุด​ก็​หาทาง​จอด​รถ​ไว้หน้า​กระจก จากนั้น​ดู​การ​ทำงาน​ผ่าน​กระจก​มอง​หลังแต่ไอ้กระจกที่ว่านั้นจะหาได้ที่ไหนหนอ งั้นเรามา​ออกแรง​นิดหน่อย กับ​ลงทุน​เล็กน้อย มา​สร้างตัว​ช่วย​ตรวจสอบ​การ​ทำงาน​ของ​ไฟ​เบรค​กันดีกว่า

แนวคิด
ถ้าหาก​ไฟ​เบรค​มี​สภาพ​ดี เวลา​เหยียบ​เบรค ไฟ​ต้อง​ติด​สว่าง ถ้า​ไฟ​เบรค​เสีย มัน​ก็​ไม่ติด ดังนั้น​การ​ตรวจสอบ​จึง​ใช้​แสง​ของ​ไฟ​เบรค​นี่​ล่ะ​ครับ อุปกรณ์​ตรวจจับ​แสง​ที่​หา​ง่าย​ราคาถูก​คือ LDR หรือ​ตัว​ต้านทาน​แปร​ค่า​ตาม​แสง ใน​ภาวะ​ที่​ไม่มี​แสง​มา​กระทบ มัน​จะ​มี​ค่า​ความ​ต้านทาน​สูง​และ​ลดลง​เมื่อ​ได้รับ​แสง เมื่อ LDR ได้รับ​แสง​ก็​จะ​ทำให้​วงจร​ทำงาน​แล้ว​ขับ LED ให้​กะพริบ และ​กะพริบ​ไป​ตลอด​จนกระทั่ง​ปิดสวิตช์​จ่ายไฟ ดังนั้น​ใน​การ​ใช้งาน​จึง​ให้​นำ​ชุด​ตรวจสอบ​นี้​ไป​ติด​เข้าที่​ตำแหน่ง​ของ​ไฟ​เบรค แล้ว​เปิดสวิตช์จ่ายไฟ พอ​เหยียบ​เบรค แล้ว​ไฟ​เบรค​ทำงาน​ปกติ LDR จะ​ได้รับ​แสง​จาก​ไฟ​เบรค วงจร​จึง​ทำงาน แสดงผล​ด้วย​ไฟกะพริบ


รูป​ที่ 1 แสดง​วงจร​สมบูรณ์​ของ Break lamp Tester

วงจร​และ​การ​ทำงาน
แสดง​ใน​รูป​ที่ 1 อุปกรณ์​ที่​เป็น​หัวใจ​หลัก​คือ LDR1 และ SCR1 โดย​ใน​ภาวะ​ปกติ LDR1 ไม่​ได้รับ​แสง จะ​มี​ค่า​ความ​ต้านทาน​สูงมาก จน​ไม่มี​กระแสไฟฟ้า​ไหล​เข้าที่​ขาเกต (G) ของ SCR1 ทำให้ SCR1 ไม่ทำงาน เมื่อ LDR1 ได้รับ​แสงสว่าง​มากพอ ค่า​ความ​ต้านทาน​ลดลง จึง​เริ่มมี​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน LDR1 ไป​ยัง​ขาเกต​ของ SCR1 ได้ ทำให้ SCR1 ทำงาน เกิด​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน​ตัว​มัน​ไป​ทำให้ LED1 และ LED2 ทำงาน

LED1 และ LED2 เป็น LED แบบ​พิเศษ​หน่อย​ครับ มัน​เป็น​แบบ​กะพริบ​ได้​เมื่อ​ได้รับ​แรงดัน​ไบแอส​ตรง ดังนั้น​เมื่อ SCR1 ทำงาน​ก็​จะ​มี​แรงดัน​ไบแอส​ตรง​ให้​แก่ LED1 และ LED2 ทำให้​มัน​ทำงาน เป็น​ไฟกะพริบ 2 ดวง

ตัว​ต้านทาน R1 มี​ความ​สำคัญมาก ใน​ภาวะ​ที่ LED1 และ LED2 ดับ (เพราะ​การ​ทำงาน​เป็น​ไฟกะพริบ​จะ​ต้อง​มี​ช่วงเวลา​หนึ่ง​ที่​ดับ) หาก​ไม่มี R1 จะ​ทำให้เกิด​ภาวะ​วงจรเปิด ทำให้​มี​แรงดัน​ตก​คร่อม​ที่​ขา A (แอโนด) และ K (แคโทด) ของ SCR1 ส่งผลให้​มัน​หยุด​ทำงาน​เอง​ได้ เมื่อ​มี R1 ต่อ​เข้าไป จะ​ทำให้​มี​กระแสไฟฟ้า​ไหล 2 ทาง​คือ ทาง​หนึ่ง​ผ่าน LED1 กับ LED2 และ​ทาง​หนึ่ง​ผ่าน R1 ใน​สภาวะ​ที่ LED1 และ LED2 ดับ ก็​ยังคงมี​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน R1 ทำให้​แรงดัน​ที่​ขา A และ K ของ SCR1 ยังคงมี​อยู่ SCR1 จึง​ยัง​ทำงาน​อยู่​ต่อไป​ได้ จนกว่า​จะ​มี​การ​ปิดสวิตช์​จ่ายไฟ​เลี้ยง กระแสไฟฟ้า​ที่​ไหลผ่าน R1 เรียกว่า กระแส​โฮลดิ้ง (Holding current) ควร​มี​ค่า​อย่าง​น้อย 5.8mA

การ​สร้าง
วงจร​นี้​มี​อุปกรณ์​ไม่​กี่​ตัว จึง​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ออกแบบ​ลาย​วงจร​พิมพ์ สำหรับ​ตัว​ต้น​แบบผม​ใช้​แผ่น​วงจร​พิมพ์​เอ​นก​ประสงค์​ดัง​รูป​ที่ 2 มา​ตัด​เป็น​วงกลม​ขนาด​เส้น​ผ่า​นศูนย์กลาง 2.5 ซม. ให้​สามารถ​ใส่ลง​ไป​ใน​ตัว​ตุ๊กตา​ได้


รูป​ที่ 2 ขวดเครื่องปรุงแฟนซีใช้เป็นตุ๊กตาและแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ที่เลือกใช้

การ​ติดตั้ง​อุปกรณ์​ให้​ติดตั้ง​ด้าน​ลาย​ทองแดง​โดย​บัดกรี​แปะ​ลง​ไป​เหมือน​การ​บัดกรี​พวก​อุปกรณ์ SMD ดัง​รูปที่ 3 และในรูปที่ 4 จะเป็นรูปวาดการวางอุปกรณ์ทั้งบนแผ่นวงจรพิมพ์และอุปกรณ์ที่ต้องใช้การโยงสายไฟเพื่อติดตั้งกับหัวตุ๊กตา สำหรับกะบะถ่านให้ติดตั้งด้านบนของแผ่นวงจรพิมพ์​แต่รอไว้ติดตั้งในขั้นตอนประกอบเป็นตุ๊กตาเพราะกะบะถ่านจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยึดเกาะกับตุ๊กตา


รูป​ที่ 3 ลักษณะการบัดกรีอุปกรณ์


รูป​ที่ 4 รูปแบบการต่อวงจรเช็กไฟเบรค

เมื่อบัดกรีอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วก็มาทำการทดสอบ เริ่มด้วยการจ่ายไฟ +3V จากนั้นหาแสงไฟที่มีความสว่างพอๆ กับไฟเบรค แล้วส่องเข้าหา LDR จะทำให้ LED ติดและกะพริบ หากไม่ติดให้ทำการ​ปรับ​ความ​ไว​ใน​การ​ตรวจจับ​แสง​ของ​วงจร ด้วย​การ​ปรับ​ค่า​ของ VR1 ​ในขณะยังส่องไฟให้กับ LDR อยู่ โดยให้ค่อยๆ หมุน VR1 จน LED ติด ก็จะได้จุดที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานแล้วครับ

การ​ประกอบ​เป็น​ตุ๊กตาจุ๊บๆ
(1) ติดตั้ง LDR เข้ากับกึ่งกลางของตัวดูดกระจก โดยเจาะรูขนาดเล็ก 2 รู พอให้ขาของ LDR สอดเข้าไปได้ จากนั้นดัน LDR เข้าไปจนแนบสนิทกับตัวดูดกระจก แล้วแยกขา LDR ออกไปคนละด้านแล้วใช้สายไฟขนาดเล็กบัดกรีจากขา LDR ไปยังแผงวงจรดังรูปที่ 4 จากนั้นใช้กาวซิลิโคนใสปิดรูที่ขา LDR สอดเข้าไปเพื่อให้ตัวดูดกระจกยังสามารถรักษาความเป็นสุญญากาศขณะดูดติดกับท้ายรถได้ดังเดิม


รูป​ที่ 5 ติดตั้ง LDR เข้ากับตัวดูดกระจก

(2) นำฝาของขวดเครื่องปรุงที่เป็นเหมือนหัวตุ๊กตา มาตัดส่วนที่เป็นรูสำหรับเทเครื่องปรุงออก เจาะรูตรงดวงตา 2 ข้างด้วยดอกสว่านขนาด 3 มม. เพื่อติดตั้ง LED 2 ดวง และรูด้านข้าง 2 ข้าง สำหรับร้อยสกรู 3 มม. ยาว 25 มม. เพื่อยึดตัวดูดกระจก สุดท้ายให้เจาะรูสำหรับติดตั้งสวิตช์เปิดปิด

(3) นำแผงวงจรที่ลงอุปกรณ์และโยงสายไฟเรียบร้อยแล้วติดตั้งลงไปด้านในดังรูปที่ 6 จากนั้นติดตั้งสวิตช์สำหรับเปิดปิด และ LED ทั้ง 2 ดวงเข้ากับรูที่เจาะไว้ตรงดวงตาด้วยปืนกาวซิลิโคนดังรูปที่ 6 สำหรับแสดงสภาวะไฟเบรค


รูป​ที่ 6 ติดตั้งแผ่นวงจรพิมพ์ลงไปด้านใน รวมทั้งส่วนที่ใช้การโยงสายสวิตช์เปิดปิด และ LED แสดงสภาวะไฟเบรค

(4) บัดกรีกะบะถ่าน 3V รุ่น CR2032 ไว้ด้านบนของแผ่นวงจรพิมพ์ ด้วยขนาดของกะบะถ่านที่มีขนาดกว้างกว่าส่วนหัวของตุ๊กตาเล็กน้อย เมื่อบัดกรีแล้วจึงทำให้แผ่นวงจรพิมพ์ด้านในถูกยึดติดเข้ากับหัวตุ๊กตาได้อย่างแน่นหนาดังรูปที่ 7


รูป​ที่ 7 การติดตั้งกะบะถ่านรุ่น CR2032 จะเห็นว่ากะบะถ่านมีขนาดกว้างกว่าหัวคุ๊กตาเล็กน้อยเมื่อติดตั้งแล้วทำให้แผ่นวงจรพิมพ์ด้านในถูกยึดเอาไว้อย่างแน่นหนา

(5) ตกแต่งช่องติดตั้งสวิตช์ด้วยสติ๊กเกอร์ลายหนัง แล้วนำฝาครอบสวิตช์มาสวมลงไปดังรูปที่ 8


รูป​ที่ 8 ตกแต่งตรงลอยเจาะสวิตช์ด้วยสติกเกอร์และสวมฝาครอบลงไป

(6) ติดตั้งตัวดูดกระจกเข้าส่วนหัวตุ๊กตาด้วยการใช้สกรู 3 มม. ยาว 30 มม. ร้อยเข้าไปตรงรูด้านข้างของหัวตุ๊กตาสอดทะลุห่วงของตัวดูดกระจกโดยให้ร้อยทะลุไปอีกด้านของของหัวตุ๊กตาแล้วล็อกด้วยนอตตัวเมียดังรูปที่ 9


รูป​ที่ 9 ติดตั้งตัวดูดกระจกด้วยชุดสกรู 3 มม. ยาว 30 มม.

เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ การใช้งานก็เพียงนำไปจุ๊บไว้กับฝาครอบไฟเบรคแล้วก็เดินไปเหยียบคันเบรค หาก LED ติดก็แสดงว่าไฟเบรคของเราทำงานปกติ เป็นไงครับลงทุนเพียงไม่กี่บาทก็สร้างความสะดวกให้กับชีวิตได้ ที่สำคัญยังไม่เคยเห็นมีขายในท้องตลาด อาจทำไปจำหน่ายก็เข้าท่าดีนะครับ


 

Exit mobile version