Categories
Pets คุณทำเองได้ (DIY)

Cat Tent

ประดิษฐ์เต็นท์หรือบ้านให้แมวด้วยวัสดุหาง่ายจากในบ้านของคุณ

Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

เครื่องเพาะถั่วงอก ระบบน้ำหยด

ลงมือสร้างเครื่องเพาะถั่วงอกประจำครัวเรือนที่หน่วงเวลาการรดน้ำได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า

การเพาะถั่วงอกนั้นจริงแล้วเป็นเรื่องไม่ยากหากมีเวลาดูแล หมั่นรดน้ำทุก 3 หรือ 4 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยก็ต้องรดเช้าและเย็นอย่าให้ขาด แต่ภารกิจของคนเมืองที่ต้องเร่งรีบออกจากบ้านก่อนไก่ตื่นเพื่อหลีกเลี่ยงความคับคั่งของการจราจร ผลสุดท้ายลืมสิคร๊าบ แต่จะดีแค่ไหน หากหน้าที่นี้ปล่อยให้ระบบน้ำหยดเป็นผู้ดูแลการรดน้ำแทนเรา

อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไป ถั่วงอกจะสมบูรณ์ ขาวอวบ น่ารับประทานได้นั้น การรดน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ แต่ถ้าจะเอาให้ง่ายก็ใช้เครื่องตั้งเวลามาควบคุมวาล์วไฟฟ้าหรือปั้มน้ำให้รดน้ำตามเวลาที่เราต้องการ แต่แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องตามมานอกจากค่าไฟแล้วยังมีค่าเครื่องตั้งเวลากับวาล์วไฟฟ้า(โซลินอยด์วาล์ว) ดังนั้นการทำระบบน้ำหยดพักน้ำไว้ในถัง แล้วใช้ระบบกาลักน้ำ (Siphon) ดึงน้ำจากถังพักไหลลงไปยังตะกร้าเพาะถั่วจึงเป็นทางเลือกที่น่าจะตอบโจทย์นี้

หากยังนึกภาพไม่ออกลองดูหลักการทำงานของเครื่องเพาะถั่วงอกในหน้าถัดไปครับ

เตรียมอุปกรณ์ (ไม่รวมเครื่องมือช่าง)
1. ภาชนะทึบแสง 2 ใบ ทรงกลมก็ดี ทรงเหลี่ยมก็ได้
2. ตะกร้ารูปทรงและขนาดที่สามารถใส่ลงในภาชนะตามข้อ 1 ได้ 1 ใบ
3. ท่อ PVC ขนาด 4 หุนพร้อมหัวอุด
4. ก้านลูกโป่ง หรือหลอดกาแฟ
5. หัวน้ำหยด
6. ข้อต่อ 4 หุน สำหรับต่อจากวาล์วน้ำให้ขนาดเข้ากับสายยางได้
7. สายยางเล็ก (ท่อ PE)
8. วาล์วน้ำ (สต๊อปวาล์ว)
9. กาวซิลิโคน
10. พลาสวูดหรือแผ่นพลาสติกอะคริลิก



รูปที่ 1 อุปกรณ์หลักๆ สำหรับทำเครื่องเพาะถั่วงอกระบบน้ำหยด

หลักการทำงานของเครื่องเพาะถั่วงอกระบบน้ำหยด
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการสร้าง เรามาดูหลักการทำงานกันก่อนจะได้เห็นภาพรวมของการทำงาน เพื่อการจัดเตรียมอุปกรณ์อย่างไม่ขาดตกบกพร่องกันนะครับ
1. เริ่มจากเปิดน้ำเข้าถังบน หัวน้ำหยดจะปล่อยให้น้ำหยดลงถังน้ำอย่างช้าๆ (มากน้อยขึ้นอยู่กับการปรับวาล์วน้ำและหัวน้ำหยดด้วย)
2. เมื่อระดับน้ำสูงจนถึงปลายท่อระดับ (ในที่นี้คือก้านลูกโป่ง) น้ำจะค่อยๆ ไหลลงท่อ แต่จะไหลลงอย่างช้าๆ
3. เมื่อน้ำภายในท่อไหลเข้าไปแทนที่อากาศทั้งหมดระบบกาลักน้ำ (Siphon) ก็เริ่มสูบน้ำลงด้านล่าง ตอนนี้น้ำจะไหลผ่านแผ่นกระจายน้ำที่เป็นแผ่นพลาสติกเจาะรูไว้ทั่วทั้งแผ่นลงไปยังตะกร้าที่บรรจุเมล็ดถั่วไว้
4. น้ำที่ผ่านตะกร้าจะไหลออกทางท่อน้ำทิ้งด้านล่าง

โดยระบบจะทำงานซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าถั่วของเราจะได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ และได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลา 3 วันแน่นอน

รูปที่ 2 แสดงโครงสร้างของเครื่องเพาะถั่วงอก

ขั้นตอนการสร้าง
สำหรับขั้นตอนการสร้าง ผู้เขียนจะอ้างอิงจากภาพประกอบที่ 2 ซึ่งเป็นภาพวาดโครงสร้างและส่วนประกอบของเครื่อง
(1) นำตะกร้ามาตัดขอบออกดังรูปที่ 3 จะได้ตะกร้าที่ใส่ลงในถังน้ำได้พอดี แต่หากท่านที่มีตะกร้าขนาดพอดีกับถังน้ำอยู่แล้วก็ข้ามขั้นตอนนี้ไปเลย


รูปที่ 3 การตัดขอบปากตะกร้าให้ใส่ลงในถังน้ำได้พอดี

(2) ตัดท่อ PVC ขนาด 3 หรือ 4 หุน ก็ได้ เป็นชิ้นเล็กๆ นำมาผูกติดก้นตะกร้าด้วยสายรัด (การหนุนให้ก้นตะกร้าสูงจากพื้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดถั่วถูกน้ำขังจนทำให้เน่าได้) ดังรูปที่ 4



รูปที่ 4 ใช้ท่อ PVC หนุนตะกร้าป้องกันน้ำขัง

(3) เจาะรูที่ก้นถังน้ำให้พอดีกับท่อน้ำทิ้งขนาด 4 หุน ที่เตรียมไว้ จากนั้นใช้กาวซิลิโคนอุดภายในถังน้ำเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมจากรอยเจาะ


รูปที่ 5 การติดตั้งท่อน้ำทิ้ง

(4) ทำแผ่นกระจายน้ำโดยตัดแผ่นพลาสวูดหนา 3 หรือ 5 มม. ให้ขนาดสามารถปิดลงไปกึ่งกลางของถังน้ำได้ดังรูป 6.3 (ถังน้ำส่วนใหญ่มีรูปทรงก้นเล็กปากบาน) แล้วตัดพลาสวูดชิ้นเล็กๆ ไว้เป็นที่จับติดด้วยกาวร้อนตรงกลางแผ่นจากนั้นเจาะรูด้วยดอกสว่าน 3 มม. ให้ทั่วทั้งแผ่นให้น้ำกระจายได้ทั่วตะกร้าดังรูปที่ 6.4


รูปที่ 6 ตัดแผ่นกระจายน้ำ

(5) นำสายยางขนาดเล็กมาหุ้มแผ่นกระจายน้ำเพื่อให้แผ่นกระจายน้ำแนบสนิทกับถังน้ำโดยไม่หลุดล่วงได้ง่าย โดยใช้กรรไกรผ่ากลางสายยางดังรูปที่ 7.2 แล้วนำไปหุ้มที่ขอบของแผ่นให้รอบดังรูปที่ 7.3


รูปที่ 7 การหุ้มขอบแผ่นกระจายน้ำ

(6) ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. สำหรับทำฝาปิดถังล่างขนาดเท่ากับปากถังแล้วเจาะรูกลางแผ่นสำหรับสอดท่อน้ำจากถังบน


รูปที่ 8 ทำฝาปิดถังล่าง

(7) นำถังอีกใบมาเจาะรูกลางถังขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ถึง 3 ซม. จากนั้นตัดแผ่นพลาสวูดเป็นทรงกลมมาแปะทับรูที่เจาะไว้ที่ก้นถัง เจาะรูให้มีขนาดเท่ากับก้านลูกโป่ง (ให้คับก้านลูกโป่ง) ดังรูปที่ 9.1 จากนั้นนำก้านลูกโป่งสอดเข้าไปในรู โดยให้ความสูงพอประมาณหรือเท่ากับระดับน้ำที่เราต้องการ


รูปที่ 9 ทำท่อระดับจากก้านลูกโป่ง

(8) นำท่อ 4 หุน มาบากให้มีรูปทรงดังรูปที่ 10.1 โดยความสูงของท่อขึ้นกับความสูงของท่อระดับ (ก้านลูกโป่ง) แต่ต้องสูงกว่าท่อระดับ 1 ถึง 2 มม. จากนั้นครอบหัวอุดแล้วนำไปวางสวมท่อระดับดังรูปที่ 10.4


รูปที่ 10 ทำท่อระบบไซฟอน

(9) ติดตั้งหัวน้ำหยดเข้ากับส่วนบนของถังน้ำดังรูปที่ 11.1 ส่วนปลายสายอีกด้านก็ต่อเข้ากับหัวต่อท่อ 4 หุนดังรูปที่ 11.2 สุดท้ายสวมท่ออ่อนเข้ากับน้ำทิ้งของถังน้ำล่าง ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการสร้างแล้วครับ


รูปที่ 11 ติดตั้งหัวน้ำหยดและท่อน้ำทิ้ง

ขั้นตอนการใช้งาน
(1) นำเมล็ดถั่วเขียวแช่น้ำอุ่นไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง
(2) เทเมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำอุ่นแล้วลงตะกร้า
(3) ปิดแผ่นกระจายน้ำให้ได้ระดับดับไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
(4) ปิดฝาของถังน้ำใบล่าง
(5) นำถังบนมาวางซ้อนให้ก้านลูกโป่งสอดลงในรูของฝาปิด
(6) เปิดวาล์วน้ำน้อยๆ แล้วปรับหัวน้ำหยดให้ได้ปริมาณน้ำประมาณ 1 ชั่วโมงต่อ 500 มิลลิลิตร (ใช้น้ำ 3 ชั่วโมงต่อ 1.5 ลิตร)
(7) ทิ้งไว้ 2 ถึง 3 วัน แล้วลองเปิดดูผลผลิต



รูปที่ 12 ขั้นตอนการใช้งาน

หลังจากผ่านไป 2 วัน ลองเปิดดูผลผลิตกันสักหน่อยครับ ผลที่ออกมาก็เป็นดังรูปที่ 13.1 และวันที่ 3 เป็นดังรูปที่ 13.2 นำไปล้างและรับประทานได้เลย


รูปที่ 13 ผลผลิตในวันที่ 2 และ 3

เพียงเท่านี้เราก็จะได้เครื่องเพาะถั่วงอกที่รดน้ำให้เราทุก 3 ชั่วโมง(อยู่ที่การปรับหัวน้ำหยด) แล้วล่ะครับ แนะนำให้รับประทานแบบปรุงสุกจะดีที่สุด สำหรับคนที่ชื่นชอบการรับประทานแบบดิบๆ ก็ต้องดูแลเรื่องปริมาณให้เหมาะสมด้วยนะ เพราะหากมากเกินไปย่อมมีโทษเสมอ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Toy คุณทำเองได้ (DIY)

ประดิษฐ์หุ่นยนต์ผู้โดดเดี่ยว

เมื่อตุ๊กตาขี้กลัวตัวน้อยต้องคอยซ่อนตัวอยู่ในกล่องตามลำพัง
โครงงานของเล่นน่ารักๆ กับเจ้าตุ๊กตากระดาษ ที่คอยหลบซ่อนตัวอยู่ในกล่อง หากมีเสียงดังเจ้าตุ๊กตาก็จะส่งเสียงและพากล่องวิ่งไปมา แต่จะแอบเปิดฝามาดูเมื่อข้างนอกไม่มีเสียงรบกวน

เตรียมอุปกรณ์

การจะทำให้โครงงานของเล่นให้ดูมีชีวิตชีวานั้น แน่นอนล่ะครับว่าต้องใช้ระบบสมองกลหรือไมโครคอนโทรลเลอร์เข้าช่วยประมวลผล แต่จะให้ง่ายและใช้งานได้ทันที ก็เป็นต้องชุด Robo-Circle3S แต่ต้องเพิ่มอุปกรณ์อีกเล็กน้อย มาดูรายการอุปกรณ์กันเลย
1. แผงวงจร i-BOX3S
2. มอเตอร์ BO2 อัตราทด 120:1
3. มอเตอร์ BO1 2 เอาต์พุต อัตราทด 120:1
4. แผงวงจร ZX-SOUND
5. แผงวงจร ZX-POTH (ปัจจุบันมีจำหน่ายเป็นรุ่น ZX-POTV ผู้อ่านต้องดัดแปลงเล็กน้อย)
6. ล้อกลมพร้อมยาง
7. พลาสวูดขนาด A4 จำนวน 1 แผ่น
8. กะบะถ่าน AA 4 ก้อน
9. กล่องกระดาษทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 14×14 ซม. สูง 12 ซม.

การสร้าง
ประดิษฐ์ส่วนกลไกการเคลื่อนที่
(1) เริ่มด้วยการนำแผ่นพลาสวูดมาตัดให้ได้ขนาด 5×14 ซม. 1 แผ่นเพื่อใช้เป็นแผ่นฐาน และขนาด 3×6 ซม. 2 แผ่นเพื่อใช้เป็นแผ่นหนุนเพื่อให้ล้อสัมผัสพื้นได้พอดีดังรูปที่ 1.1 จากนั้นใช้เทปโฟมสองหน้าอย่างหนาแปะด้านบนของแผ่น 3×6 ซม. 1 แผ่น ดังรูปที่ 1.2 แล้วใช้ปืนยิงกาวยึดเข้าด้วยกันจะได้แผ่นพลาดวูดที่ซ้อนกันสำหรับยึดชุดเฟืองขับมอเตอร์ดังรูปที่ 1.3

(2) นำชุดแผ่นฐานติดตั้งลงในกล่อง ใช้ดินสอวาดแนวของล้อเอาไว้ จากน้ันใช้คัตเตอร์ตัดเป็นร่องสำหรับให้ล้อโผล่ลงไปด้านล่างของกล่องได้ สำหรับขนาดของช่องควรเจาะให้กว้างกว่าขอบล้อเล็กน้อยเพื่อความสะดวกในการติดตั้งดังรูปที่ 2.3 ถึง 2.5 เมื่อเจาะเสร็จแล้วติดตั้งแผ่นฐานลงไปยึดด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 2.6 สุดท้ายแกะเทปโฟมสองหน้าที่ด้านบนของแผ่นฐานออกแล้วนำชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO2 มาแปะลงไป โดยให้ตำแหน่งของล้ออยู่กึ่งกลางของช่องที่เราเจาะไว้เมื่อติดตั้งแล้วจะเห็นว่าล้อโผล่ออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นดังรูปที่ 2.8 ทดลองวางกล่องลงบนพื้น กล่องจะแนบกับพื้นเกือบสนิทและดูไม่ออกว่าด้านล่างมีล้ออยู่

(3) ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 7.5×14 ซม. เพื่อใช้เป็นแผ่นฐานติดตั้งชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 และแผงวงจร ZX-POTH จากนั้นนำชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 และแผงวงจร ZX-POTH มาจัดวาง โดยตำแหน่งการวางนี้ต้องให้แกนหมุนของเฟืองขับมอเตอร์เยื้องมาทางขวา ดังรูปที่ 3 จะเยื้องมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับขนาดของตัวตุ๊กตาที่นำมาใช้ เพื่อหลีกการชนตัวตุ๊กตาที่เราจะติดตั้งในขั้นตอนสุดท้าย เมื่อวางได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้วให้ใช้ปืนยิงกาวยึดชุดเฟืองขับมอเตอร์เอาไว้ ส่วนแผงวงจร ZX-POTH ยังไม่ต้องยึด

(4) ตัดแผ่นฐานเป็นร่องกว้าง 7 มม. ให้ตรงกับแนวแกนสีชมพูของชุดเฟืองขับมอเตอร์ดังรูปที่ 4.1 จากนั้นตัดเศษพลาสวูดให้ได้รูปทรงรูปตัว L ดังรูปที่ 4.2 สำหรับใช้เป็นแขนดันฝากล่องส่วนแขนจะยาวมากหรือน้อยขึ้นกับว่าต้องให้กล่องเปิดมากน้อยเพียงใด จากนั้นนำส่วนปลายด้านหนึ่งไปกดเข้ากับแกนของชุดเฟืองขับมอเตอร์ให้เป็นร่องแล้วใช้คัตเตอร์ค่อยๆ เซาะให้ร่องลึกลงไปประมาณ 1/3 ของความหนาพลาสวูดดังรูปที่ 4.3 แล้วเจาะรูตรงกึ่งกลางร่องใช้สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็กขันยึดชิ้นส่วนแขนเข้ากับแกนของชุดเฟืองขับมอเตอร์ดังรูปที่ 4.4 ชุดส่วนแขนจะต้องลงร่องที่บากไว้ได้

(5) ตัดพลาสวูดขนาด 2×10 ซม. จำนวน 4 ชิ้น สำหรับใช้เป็นขาติ้งตั้งชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 และแขนดันฝากล่อง จากนั้นใช้ปืนยิงกาวติดกับแผ่นฐานดังรูปที่ 5.2 ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 9×10 ซม. สำหรับบังคับตัวตุ๊กตาให้ขึ้นลงในช่องและยังเพิ่มความแข็งแรงให้กับชุดแผ่นฐานด้วย แล้วใช้ปืนยิงกาวติดเข้ากับแผ่นฐานดังรูปที่ 5.3

(6) นำแผงวงจร ZX-POTH มาติดตั้งด้วยปืนยิงกาวแล้วใช้ท่อหดเป็นตัวเชื่อมระหว่างแกนสีขาวของชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 เข้ากับแกนของแผงวงจร ZX-POTH ดังรูปที่ 6.2 เพื่อให้ ZX-POTH เป็นตัวกำหนดองศาการหมุน

โดยก่อนหุ้มท่อหดให้หมุนแขนดันฝากล่องลงมาให้ระดับของปลายแขนต่ำกว่าแผ่นฐานดังรูปที่ 6.3 แล้วหมุนแกนของ ZX-POTH ตามเข็มนาฬิกาจนเกือบสุดแล้วจึงหุ้มท่อหดโดยใช้ความร้อนเป่า

(7) นำสายไฟเส้นเล็กมาบัดกรีเชื่อมกับขั้วของสวิตช์ RUN ของแผงวงจร i-BOX3S ดังรูปที่ 7

(8) นำแผงวงจร i-BOX3S , แผงวงจร ZX-SOUND และกะบะถ่าน AA 4 ก้อนพร้อมบรรจุแบตเตอรี่ติดตั้งกับชุดฐานดังรูปที่ 8 จากนั้นเชื่อมต่อสายของแผงวงจรและชุดเฟืองขับมอเตอร์เข้ากับแผงวงจร i-BOX3S ดังนี้
• ZX-SOUND ต่อเข้ากับช่อง SENSOR 0
• ZX-POTH ต่อเข้ากับช่อง SENSOR 2
• ชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 ต่อเข้ากับช่อง A ที่ขั้วสีดำ
• ชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO2 ต่อเข้ากับช่อง B ที่ขั้วสีดำ

(9) วางเครื่องมือการประกอบแล้วมาเริ่มเขียนโปรแกรมกันก่อน เพราะหากประกอบจนเสร็จแล้วค่อยมาเขียนทีหลังจะทำให้การปรับแต่งยุ่งยาก เริ่มจากหาค่าตำแหน่งเปิดปิดฝากล่องจาก ZX-POTH และค่าความดังเสียง จาก ZX-SOUND โดยเสียบสาย UCON-200 เปิดสวิตช์แผงวงจร i-BOX3S เปิดโปรแกรม Logo-Blocks ขึ้นมารับค่าจาก ZX-SOUND ด้วยคำสั่ง send ir แล้วเปลี่ยนบล็อกตัวเลขสีน้ำเงินเป็นบล็อกชื่อ sensor ดังรูปที่ 9.1 ดับเบิ้ลคลิกเพื่อเลือกตำแหน่งของจุดต่อตัวตรวจจับที่ต้องการรับค่า ดาวน์โหลดโค้ดนี้ลง i-BOX3S ไปที่เมนู Projects เลือก Cricket Monitor จะปรากฏหน้าต่างขึ้นมาดังรูปที่ 9.2 เมื่อกดสวิตช์ RUN ที่ i-BOX3S จะปรากฏตัวเลขค่าที่รับมาจากแผงวงจรที่เรากำหนดทันที

(10) เมื่อได้ค่าตัวเลขจากแผงวงจร ZX-SOUND และ ZX-POTH มาแล้วเราก็สามารถเขียนโปรแกรมอย่างง่ายๆ ได้ด้วยซอฟต์แวร์ Logo-Blocks แต่เพื่อให้การเขียนโปรแกรมของเราง่ายขึ้นจึงต้องสร้างโปรแกรมย่อยขึ้นมา จะเห็นว่ามีโปรแกรมย่อยอยู่ทั้งหมด 5 ส่วนได้แก่

(10.1) open ส่วนควบคุมการเปิดปิดฝากล่อง
เริ่มจากกำหนด Power ระดับ 3 จะได้ไม่หมุนเร็วเกินไป บังคับทิศทางด้วยบล็อกคำสั่ง thatway สั่งมอเตอร์ a หมุนจนกว่า ZX-POTH จะมีค่าน้อยกว่า 18 (ค่าที่ฝาเปิดจนเกือบสุด) เมื่อมีค่าน้อยกว่า 18 สั่งกลับทางหมุนด้วยบล็อก thisway เพื่อช่วยหยุดแบบทันทีหน่วงเวลา 0.02 วินาที จบด้วยคำสั่ง brake เพื่อยังคงค้างการทำงานไว้ฝากล่องจะได้ไม่ตกลงมา

(10.2) close ควบคุมการปิดฝากล่อง
ทำงานเหมือนกับ open แต่กลับทิศทางกัน และมอเตอร์หมุนจนกระทั่ง ZX-POTH มีค่ามากกว่า 280 ก็ให้หยุดการทำงาน แต่การหยุดจะใช้คำสั่ง off เพื่อประหยัดพลังงาน

(10.3) move-r และ move-l
ใช้ควบคุมชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO2 ทั้งสองชุดคำสั่งนี้ทำงานเหมือนกันแต่ต่างกันที่ทิศทางการหมุนเท่านั้น

(10.4) talk
ใช้สร้างเสียงตัวโน้ตแบบต่างๆ เปรียบเสมือนว่าเจ้าตุ๊กตาในกล่องกำลังโต้ตอบกับเราว่า อย่ามายุ่งนะ โดยในส่วนนี้เพิ่มตัวโน้ตได้ตามใจชอบ

เมื่อได้โปรแกรมย่อยครบทั้ง 5 ส่วนแล้ว ก็มาเขียนโปรแกรมหลักสำหรับการควบคุมทั้งระบบกันดังรูปที่ 10.5

การทำงานของโปรแกรมหลักเริ่มจากใช้คำสั่ง loop เพื่อวนรอบการทำงานทั้งหมด ใช้คำสั่ง if then else กำหนดเงื่อนไขหลักเป็น 2 กรณี คือ
(1) หาก ZX-SOUND มีค่ามากกว่า 40 (ภายนอกมีเสียงดังหรือไม่ปลอดภัย) ให้ทำงานตามเงื่อนไขทางซ้ายคือส่งเสียงร้องด้วยโปรแกรมย่อย talk แล้ววิ่งหนีด้วยโปรแกรมย่อย move-l และ move-r ตามลำดับ รอ 2 วินาทีค่อยไปตรวจสอบเงื่อนไขหลัก
(2) ZX-SOUND มีค่าไม่ถึง 40 เงื่อนไขเป็นเท็จ ให้ทำงานตามเงื่อนไขทางขวามือที่มีคำสั่ง if then สร้างเงื่อนไขอีกชั้นหนึ่งเอาไว้คือ หาก ZX-SOUND มีค่าเท่ากับ 1 ให้เรียกโปรแกรมย่อยชื่อ open เพื่อเปิดฝากล่องค้างไว้ 2 วินาที แล้วสั่งโปรแกรม close ทำงาน

สาเหตุที่ต้องมีการสร้างเงื่อนไขแบบค่าตายตัวเท่ากับ 1 เท่านั้น ก็เพราะว่าค่าที่ได้จาก ZX-SOUND มีความไวมาก และผันผวนพอสมควรจึงต้องกำหนดค่าไว้ที่เกือบต่ำสุดเพราะว่าต้องการให้เสียงภายนอกเงียบจริงๆ จึงค่อยสั่งให้เปิดฝา หากไม่กำหนดส่วนนี้ โอกาสที่โปรแกรมจะเข้าสู่เงื่อนไขแรกจะเกิดขึ้นน้อยมากและทำให้ฝาของกล่องเปิดปิดตลอดเวลา

เมื่อการตั้งค่าและปรับแต่งเรียบร้อยแล้วก็ทำการโปรแกรมลงใน i-BOX3S ได้เลย ต่อไปก็ลงมือประกอบร่างกันต่อ


 

(11) ยกฝากล่องขึ้นประมาณ 1 ซม. ใช้ดินสอขีดเส้นทำเครื่องหมายเอาไว้ ตัดเศษพลาสวูดขนาด 0.5×14 ซม. ใช้ปืนยิงกาวติดแท่งพลาสวูดเข้ากับด้านหลังกล่องดังรูปที่ 11.1 จากนั้นนำฝากล่องมาครอบแล้วใช้เทปใสแปะฝากล่องเข้ากับแท่งพลาสวูดดังรูปที่ 11.2

(12) ทำสวิตช์ RUN แบบง่ายๆ โดยเจาะรูกึ่งกลางของด้านหลังกล่องให้สายไฟเส้นเล็กที่ต่อพ่วงกับสวิตช์ RUN ของแผงวงจร i-BOX3S โผล่ออกมาได้ดังรูปที่ 12.1 แล้วยึดสายไฟด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 12.2 ใช้เทปโฟมสองหน้าอย่างหนาแปะขนาบสองข้างของสายไฟดังรูปที่ 12.3

(13) ตัดกระดาษแข็งสีอะไรก็ได้ตามต้องการให้มีขนาดกว้างและยาวกว่าเทปโฟมสองหน้าและสายไฟที่เตรียมไว้จากขั้นตอนที่แล้ว เตรียมกระดาษตะกั่วให้มีความกว้างประมาณ 1/3 ของกระดาษแข็งดังรูปที่ 13.1 แล้วแปะกระดาษตะกั่วเข้ากับกระดาษแข็งด้วยเทปกาวสองหน้าอย่างบางดังรูปที่ 13.2 เวลาใช้งานก็เพียงกดส่วนล่างของกระดาษแข็งที่ติดกระดาษตะกั่วเอาไว้ จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้

(14) ติดตั้งอุปกรณ์ทุกชิ้นลงในกล่องให้เรียบร้อยดังรูปที่ 14 ทดลองเปิดปิดฝากล่องเข้าออก ฝากล่องต้องเปิดปิดได้สะดวกไม่ติดขัดแม้แต่นิดเดียว ก็เป็นอันใช้ได้

(15) นำตุ๊กตากระดาษที่เตรียมไว้มาติดตั้ง ในที่นี้ผมใช้ตุ๊กตากระดาษ DARwin-OP ที่ทาง INEX และ TPE จัดทำขึ้นสำหรับแจกลูกค้า โดยใช้เทปใสแปะส่วนหัวของตุ๊กตาเข้ากับฝากล่องด้านในดังรูปที่ 15.1 เพียงเท่านี้ก็ได้ของขวัญสุดพิเศษที่ไม่มีขายที่ไหนหรือจะเอาไว้ให้เจ้าเหมียวที่บ้านเล่นก็ยัง

การใช้งาน
การใช้งานก็เพียงเปิดสวิตช์แล้ววางชุดแขนดันฝากล่องลงไปจากนั้นก็กดสวิตช์ RUN ด้านหลังปล่อยให้เจ้าตุ๊กตาตัวน้อยคอยแอบมองผู้คน แต่อย่าส่งเสียงดังนะเดี๋ยวจะวิ่งหนีเตลิดไปกันใหญ่

เอาล่ะครับคราวนี้ก็จะได้มีของขวัญน่ารักๆ เอาไว้สร้างความประหลาดใจให้เด็กๆ หรือคนพิเศษของคุณกันแล้ว ทั้งภูมิใจ และที่สำคัญไม่เหมือนใครแน่นอน ลองสร้างตามกันดูนะครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

ตู้รับจดหมายแจ้งเตือนด้วย LED

หากคุณเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับจดหมายและเอกสาร ไม่ควรพลาดโครงงานนี้ ตู้รับจดหมายกันฝนพร้อมมีแสงไฟแสดงสถานะจดหมายในตู้ติดสว่างในยามค่ำคืน

ชวนท่านนักประดิษฐ์สร้างตู้รับจดหมายกันน้ำสำหรับเกาะรั้วแบบมีไฟเตือนสถานะเมื่อมีจดหมายเข้า โดยใช้วงจรง่ายๆ ทำได้ทุกคน (ขอให้ใช้หัวแร้งเป็นก็พอ)

หลายท่านคงเคยเห็นโคมไฟสนามโซลาร์เซลที่ปัจจุบันมีขายกันตามห้างสรรพสินค้าและร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป สนนราคาก็ประมาณหนึ่งร้อยบาทปลายๆ จนถึงหลายร้อยบาทหรือหลักพันก็มี (แต่หลักพันนี่ไม่เคยใช้ครับ) โคมไฟเหล่านี้เหมาะสำหรับใช้ประดับสวนเพื่อความสวยงามและบอกตำแหน่งเป็นหลัก ที่น่าสนใจก็คือ ราคาค่าตัวของมันสุดแสนจะถูก เหมาะที่เราจะเอามารื้อประกอบเป็นสิ่งประดิษฐ์ของเรา ว่าแล้วก็มาดูอุปกรณ์ที่จะต้องใช้กันก่อนเลยครับ

เตรียมวัสดุและอุปกรณ์

1. ชุดโคมไฟโซลาร์เซลล์ (คลิกสั่งซื้อ) 
2. แลตชิ่งรีเลย์ เบอร์ AL-D 5 W-K (คลิกสั่งซื้อ)
3. กะบะถ่าน AA 3 ก้อน (คลิกสั่งซื้อ)
4. แบตเตอรี่ AA 3 ก้อน
5. ไมโคร (ลิมิต) สวิตช์แบบมีก้าน 2 ตัว
6. แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. (ขนาดที่ต้องใช้ดูจากรูปที่ 1)
7. เสารองโลหะยาว 1 นิ้ว 6 ตัว
8. สกรู 3×15 มม. 6 ตัว
9. แผ่น PVC สีขาวหนา 0.5 มม. แบบโปร่งแสง 1 แผ่น
10. กาวซิลิโคนสีขาว หรือใส (สั่งซื้้อคลิก)
11. กาวร้อน (สั่งซื้อคลิก)
12. ปืนยิงกาวร้อน (สั่งซื้อคลิก)
หมายเหตุ : แลตชิ่งรีเลย์มีจำหน่ายที่ บริษัท อีเลคทรอนิคส์ ซอร์ซ จำกัด โทร : 0-2623-9460-6

รูปที่ 1 รูปวาดส่วนประกอบของตู้รับจดหมาย

รูปที่ 2 แสดงการเชื่อมต่อวงจรกับอุปกรณ์จริง

หลักการทำงาน
จากรูปที่ 2 แสดงการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยการทำงานเริ่มจากไมโครสวิตช์ SW1 ตรวจจับการเปิดปิดฝาช่องใส่จดหมาย และ SW2 ตรวจจับการเปิดปิดฝาด้านหลังตู้ ปกติไมโครสวิตช์จะถูกกดอยู่ยังไม่มีกระแสไฟจ่ายให้กับขดลวดของรีเลย์ จนกระทั่งบุรุษไปรษณีย์มาเปิดฝาเพื่อใส่จดหมายช่วงเวลานี้เองก้านสวิตช์ SW1 จะถูกยกขึ้นทำให้มีกระแสไฟไหลผ่านขั้ว C และ NC ไปเลี้ยงขดลวดที่ 1 ของแลตชิ่งรีเลย์ที่ขา 10 ทำให้หน้าสัมผัสที่ขา 2 และ 3 ของแลตชิ่งรีเลย์ต่อถึงกันและยังคงต่อค้างอยู่อย่างนั้นแม้ SW1 จะถูกกดลงตามเดิมแล้วก็ตาม แต่ LED จะยังไม่ทำงานจนกว่าแสงสว่างภายนอกจะมืดลง

เมื่อถึงยามค่ำที่เรากลับถึงบ้านก็จะพบกับแสงสว่างจาก LED ที่เตือนเราว่ามีจดหมายอยู่ในตู้และเปิดฝาหลังตู้หยิบจดหมายก้าน SW2 จะถูกยกขึ้นทำให้มีกระแสไฟไปเลี้ยงขดลวดที่ 2 ของแลตชิ่งรีเลย์ที่ขา 1 และ 5 หน้าสัมผัสที่ขา 2 และ 3 จะแยกออกจากกันทำให้ LED ดับลง การทำงานของวงจรก็มีเพียงเท่านี้ ที่เหลือก็งานฝีมือล้วนๆ

การสร้างตู้จดหมายเกาะรั้ว
ก่อนอื่นต้องบอกว่าตู้รับจดหมายนี้ออกแบบเผื่อเอาไว้สำหรับบ้านทาวน์เฮ้าส์ที่ส่วนมากเหล็กสำหรับทำรั้วจะใช้เหล็กกล่องขนาดไม่เกิน 2 นิ้ว และที่สำคัญรั้วต้องเปิดแบบบานพับไม่ใช่รั้วแบบเลื่อนเหมือนบ้านเดี่ยว เอาล่ะครับก่อนอื่นทำการตัดแผ่นพลาสวูดตามแบบในรูปที่ 1 ให้ครบจากนั้นประกอบตามขั้นตอนต่อไปนี้

(1) นำแผ่น A1 , B1 และ B2 ประกอบกันยึดด้วยกาวร้อนเพื่อใช้เป็นโครงสร้างหลักดังรูปที่ 3 (ในรูปเป็นตัวต้นแบบยังไม่ได้แยกแผ่น A2 ออกมา)

(2) นำแผ่น C1 และ C2 ประกอบด้านบนสำหรับเป็นช่องรับจดหมายดังรูปที่ 4

(3) นำแผ่น E1, E2 และ E3 ติดด้านในตรงช่องของแผ่น A2 เพื่อกัน ฝาตู้ด้านหลังดังรูปที่ 5.2 และ 5.3

 

(4) ตัดเศษพลาสวูดเป็นแท่งขนาดกว้าง 0.5 ซม. ยาว 3 ซม. จากนั้นเหลาให้เป็นแท่งทรงกลมสำหรับใช้เป็นก้านกดไมโครสวิตช์ดังรูปที่ 6.2 หรืออาจใช้ไม้ตะเกียบกลมมาตัดก็ได้เช่นกัน

(5) เจาะรูด้านขวาของแผ่น C2 ให้มีขนาดเท่ากับก้านพลาสวูดทรงกลมที่ทำจากขั้นตอนที่ 4 โดยให้ก้านพลาสวูดสามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงรูได้คล่อง จากนั้นนำเศษพลาสวูดขนาดเล็กติดเข้ากับก้านพลาสวูดทรงกลมด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 7.3 นำไมโครสวิตช์มาติดตั้งยึดด้วยปืนยิงกาว ใช้นิ้วทดลองกดเบาๆ เมื่อปล่อยมือ ก้านพลาสวูดจะต้องสามารถกระเด้งขึ้นเองได้สะดวก

(6) ติดเศษพลาสวูดสำหรับเป็นตัวดันก้านไมโครสวิตช์ SW2 ที่แผ่น A2 ด้วยกาวร้อน (ฝาหลังตู้) ดังรูปที่ 8.1 แล้วติดตั้งไมโครสวิตช์ SW2 กับแผ่น A1 ด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 8.2

(7) ติดตั้งแผ่น D1 ไว้ด้านบน โดยยึดด้วยบานพับเข้ากับด้านหลังตู้ (A1) ดังรูปที่ 9.2 จากนั้นติด D2, D3 และ D4 เป็นกันสาดด้านล่างแผ่น D1 ในตำแหน่งด้านซ้าย ขวา และหลัง

(8) นำชุดโคมไฟสนามโซลาร์เซลมารื้อเอาเฉพาะแผงรับแสงอาทิตย์ และวงจร สำหรับกะบะถ่านต้องใช้คีมตัดค่อยๆ เล็มทีละนิดจดได้เฉพาะกะบะถ่านดังรูปที่ 10.4

(9) ติดตั้งแผงรับแสงอาทิตย์ไว้บนแผ่น D1 (หลังคา) บริเวณมุมขวาโดยเจาะรูสำหรับสอดสายลงไปด้านล่างและเจาะอีกรูที่แผ่น A1 (หลังตู้) สำหรับสอดสายเข้าในตู้ดังรูปที่ 11.2 ยึดแผงรับแสงอาทิตย์ด้วยปืนยิงกาว จากนั้นใช้กาวซิลิโคนยาแนวให้รอบแผ่นรับแสงอาทิตย์เพื่อกันน้ำเข้า

(10) ประกอบแผ่น J เข้ากับด้านหน้าดังรูปที่ 12.1 แล้วเจาะช่อง สี่เหลี่ยมสำหรับให้ LED ส่องแสงออกมาดังรูปที่ 12.2 จากนั้นตัดพลาสวูด เป็นกรอบนำแผ่น PVC สีขาวแบบโปร่งแสงติดกับช่องที่เจาะไว้ด้วยกาวร้อนแล้วแปะกรอบพลาสวูดทับลงไปอีกชั้น โดยขั้นตอนนี้อาจออกแบบเป็นรูปทรงอื่นเช่นวงกลม หรือฉลุลวดลาย ตามความชอบส่วนตัวได้เลย

(11) ติดตั้งกะบะถ่าน AA 3 ก้อนไว้ด้านล่างของแผ่น C1 ส่วนแลตชิ่งรีเลย์ก็หาที่เหมาะๆ ติดไว้ด้วยปืนกาว ส่วนชุดวงจรไฟแสดงสถานะติดไว้ใต้แผ่น C2 โดยให้ LED ยื่นออกมากึ่งกลางของช่องแผ่น J ที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่ 10 ดังรูปที่ 13.2

เพิ่มเติมอีกนิดในรูปที่ 13.1 จะเห็นว่ามีแบตเตอรี่บรรจุไว้เพียง 2 ก้อน เป็นเพราะว่าขั้นตอนนี้ไมโครสวิตช์ถูกปล่อยลอยไว้ และเพื่อป้องกันไม่ให้มีกระแสไฟฟ้าไปเลี้ยงขดลวดรีเลย์ตลอดเวลาจึงต้องถอดแบตเตอรี่ออกก่อน

(12) ประกอบแผ่น F , G ดังรูปที่ 14.1 และแผ่น H สำหรับปิดก้นตู้รับจดหมายด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 14.2

(13) ประกอบแผ่น L1 และ L2 เข้ากับแผ่น K ดังรูปที่ 15

(14) ประกอบชิ้นรั้วเข้ากับแผ่น i ด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 16

(15) เจาะรูสำหรับยึดเสารองโลหะที่แผ่น K ด้วยสว่านแล้วยึดสกรูขนาด 3×15 มม. ดังรูปที่ 17.1 อาจเจาะหลายรูหน่อยเผื่อตอนติดตั้งไปเจอเอาแนวเหล็กรั้วเข้าจะได้เลี่ยงไปยึดรูอื่นได้ จากนั้นเจาะรูที่แผ่น G ให้ตรงกับแนวเสารองโลหะดังรูปที่ 17.3 และ 17.4

(16) ประกอบชุดรั้วกับแผ่น K ที่เจาะรูและยึดเสารองโลหะไว้แล้วด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 18 ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการทำตู้รับจดหมายแล้วครับ

การติดตั้ง
นำตู้รับจดหมายไปคล้องกับรั้วดังรูปที่ 19.1 จากนั้นนำชุดยึดที่มีแนวรั้วสำหรับปลูกต้นไม้ไปประกบดังรูปที่ 19.2 เปิดฝาหลังตู้ขันสกรู 3×15 มม. เข้าไปดังรูปที่ 19.3 ก็เป็นอันเรียบร้อย ขั้นตอนสุดท้ายก็นำไม้ดอกสวยๆ ไปลงปลูกในกะบะดังรูปที่ 20

การใช้งาน
บรรจุแบตเตอรี่ AA 3 ก้อน ลงในกะบะถ่านให้เรียบร้อย จากนั้นก็รอบุรุษไปรษณีย์มาเปิดตู้จดหมายแลตชิ่งรีเลย์ก็จะต่อหน้าสัมผัสให้กับ LED พอเวลากลางคืน LED ก็จะติดสว่างทำให้เรารู้ว่ามีจดหมายในตู้ และเมื่อเปิดฝาออกแลตชิ่งรีเลย์ก็จะตัดหน้าสัมผัสทำให้ LED ดับทันที

ลองทำดูนะครับสำหรับคนที่ชอบแต่งบ้านและไม่ต้องการเหมือนใคร และที่สำคัญแทบไม่ต้องใช้ทักษะทางอิเล็กทรอนิกส์เลยก็สร้างได้แล้ว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Pets คุณทำเองได้ (DIY)

ขั้นตอนการสร้างห้องน้ำแมว

มีบรรดาคนรักแมว ถามกันเข้ามามากเหลือเกินเกี่ยวกับวิธีการสร้างห้องน้ำแมวด้วยตัวเอง ตอนนี้ก็จัดไปเลยครับ ซึ่งอันที่จริงแล้วห้องน้ำแมวนี้เคยทำไว้ตั้งนานแล้วและตีพิมพ์ลงในนิตยสาร The Prototype Electronics ฉบับที่ 15

 แต่จะมีส่วนวงจรอิเล็กทรอนกิส์เข้าไปเกี่ยวข้อง 
ดูแล้วค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นผมจึงตัดมาแนะนำเฉพาะส่วนของการทำโครงสร้างห้องน้ำแมวรับรองว่าง่ายและสามารถวางหรือติดตั้งไว้ภาพในบ้านได้อย่างลงตัว

อุปกรณ์การสร้าง
1. ถังพลาสติกเอนกประสงค์ทรงเหลี่ยม

2. พลาสวูดหนา 5 มม. ใช้ทำหลังคา ขนาดกว้างยาวบอกไม่ได้ขึ้นกับขนาดถังพลาสติก
3. กาวร้อน หรือกาวซูเปอร์กลู ใช้ยึดพลาสวูด
4. คัตเตอร์+แผ่นรองตัด
5. มือจับหรือห่วงสำหรับดึงกะบะทรายออกมาเก็บอึ

ขั้นตอนการสร้าง
สำหรับขั้นตอนการทำ อาจมีหลายขั้นตอนหน่อยนะครับ ขอให้ใจเย็นๆ น้องเหมียวเป็นกำลังใจให้อยู่นะ โดยผมได้เปลี่ยนจากกะบะทรายธรรมดามาใช้เป็นกล่องเอนกประสงค์ที่ซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าราคาไม่เกินใบละ 150 บาท เพราะมันทั้งใหญ่และลึกเผื่อเจ้าเหมียวตอนโตได้

(1) จากนั้นใช้แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. กว้าง 60 ยาว 120 ซม. มาพับครึ่งเป็นหลังคาด้วยปืนเป่าลมร้อนก็จะได้หลังคาดังรูปที่ 1

(2) นำหลังคาที่ได้มาทาบบนแผ่นพลาสวูดเพื่อวาดแบบจั่วให้พอดีกับแนวโค้งจากการดัด ให้ทำทั้ง 2 ด้าน จะได้รูปจั่วจำนวน 2 แผ่นดังรูปที่ 1 แล้วตัดออกมาด้วยคัตเตอร์แล้วประกอบเข้ากับหลังคาด้วยกาวร้อนหรือกาวตราช้างดังรูปที่ 2

(3) ตัดแผ่นพลาสวูดขนาดกว้างเท่ากับ 2 ใน 3 ของกล่องพลาสติกเอนกประสงค์ส่วนความสูงให้เท่ากับความสูงของกล่องพลาสติก เพื่อกั้นเป็นห้องเล็กๆ ให้เจ้าเหมียวเดินเข้าออกสลับไปมา เพื่อกันเจ้าเหมียวไม่ให้กระโจนออกมาทันทีหลังจากเสร็จกิจเพราะทรายที่ติดเท้าออกมาจะได้หล่นอยู่ในกล่องดังรูปที่ 3

(4) ใช้คัตเตอร์เจาะกล่องพลาสติกเป็นทางเข้าด้านขวาให้กว้างประมาณ 1 ใน 3 ของกล่องแล้วใช้ตะไบลบคมของเศษพลาสติกออกให้เรียบร้อย มิฉะนั้นอาจทำให้เจ้าเหมียวได้รับบาดเจ็บได้
 
(5) ตัดแผ่นพลาสวูดทำกะบะทรายขนาดสูง 15 ซม. ส่วนความกว้างและยาวเท่ากับช่องด้านในของกล่องพลาสติก จากนั้นนำมาประกอบเป็นกะบะสำหรับใส่ทราย โดยเสริมความแข็งแรงด้วยเหล็กฉากดังรูปที่ 4 เพราะเราต้องดึงเข้าออกมาทำความสะอาดทุกวัน จากนั้นขันตะขอเกลียวหรือมือจับเข้าไป เพื่อใช้เป็นตัวจับดึงกะบะทรายออกมาทำความสะอาด สำหรับขั้นตอนนี้อาจไปหาซื้อกะบะพลาสติกสี่เหลี่ยมที่มีขายตามห้างสรรพสินค้ามาวางเลยก็ได้แต่ช่องอาจไม่พอดีกับถังพลาสติก
(6) ใช้คัตเตอร์เจาะกล่องพลาสติกเป็นช่องสี่เหลี่ยมด้านข้างสำหรับดึงกะบะทรายเข้าออกให้ช่องพอดีกับขนาดของกะบะทรายที่เตรียมไว้ในขั้นตอนที่แล้ว โดยแนวการเจาะให้เจาะเสมอก้นกล่องพลาสติก เพื่อความสะดวกในการดึงกะบะทรายออกมาทำความสะอาดดังรูปที่ 5 อาจติดล้อหรือรางเลื่อนเข้าไปด้วยก็ได้
เอาล่ะครับ การสร้างก็เรียบร้อยแล้วให้เจ้าเหมียวมาทดสอบได้เลย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Electronics Arts Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

สร้างงานศิลป์ ระบายสีด้วย LED

สร้างสรรค์งานศิลป์จากแสงของ LED ที่ควบคุมความสว่างและช่วงเวลาของแสงได้

เมื่อพูดถึง LED แล้วคุณนึกถึงอะไร แน่นอนว่าต้องคิดถึงสีสันที่ชวนหลงใหลอันหลากหลายของมัน ยิ่งนับวัน LED ยิ่งมีวิวัฒนาการสามารถสร้างเป็นเฉดสีใหม่ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้นึกสนุกขึ้นมาได้ว่า หากเราระบายสีลงบนผืนผ้าด้วย LED ล่ะ จะออกมาเป็นยังไง

นั่นล่ะครับ จึงเป็นที่มาของโครงงานนี้ และด้วยความเป็นคนชอบประดิษฐ์ของแต่งบ้านจึงไม่รอช้าจัดหาอุปกรณ์มาทดลองประดิษฐ์ให้รู้แจ้งกันไปเลยว่าจะออกมาหน้าตายังไง

แนวคิดการออกแบบ
เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสร้างแนะนำให้หาซื้อภาพวาดที่เขาลงสีไว้แล้วดังรูปที่ 1 จะเหลือพื้นที่ให้จิตกร LED ก็คือส่วนพื้นหลัง ซึ่งจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากท้องฟ้า จึงเหมาะสำหรับมือใหม่ใจร้อนทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วว่าภาพที่เราต้องลงสีคือท้องฟ้า คราวนี้ก็มาเรียงร้อยเรื่องราวโดยแนวความคิดของภาพนี้ก็จะเน้นไปที่บรรยากาศสบายๆ แห่งท้องทุ่งของหนุ่มบ้านไร่ที่ตอนท้ายก็ได้หวานใจไฮโซมาครอบครอง โดยแบ่งกลุ่ม LED ออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่

(1) ดวงอาทิตย์ ใช้ LED สีแดง 8 มม. แบบความสว่างสูง ส่องจากด้านหลังเพื่อให้ดูเหมือนพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า

(2) ท้องฟ้าส่วนล่าง ใช้ LED สีฟ้า 3 มม. แบบความสว่างสูง จำนวน 18 ดวง

(3) ท้องฟ้าส่วนบน ใช้ LED สีน้ำเงิน 8 มม. 15 ดวง

(4) หน้าต่างบ้านใช้ LED สีเหลือง 5 มม. 5 ดวง

(5) พระจันทร์ ใช้ LED สีเหลือง 8 มม. 1 ดวง

ต่อไปก็มาลำดับเนื้อเรื่องกันสักนิดก่อนจะเริ่มประดิษฐ์กันจริงๆ โดยเริ่มจาก เมื่อแสงสว่างในบ้านเริ่มลดลง ดวงอาทิตย์ก็จะติดขึ้นและค่อยๆ หรี่ลงจนดับ พร้อมกับการติดขึ้นของ LED ชุดที่ 2 นั่นก็คือท้องฟ้าส่วนล่างที่จะค่อยๆ เพิ่มความสว่างขึ้น ตามด้วย LED ชุดที่ 3 ท้องฟ้าส่วนบน ก็จะติดและค่อยๆ เพิ่มความสว่างขึ้นเช่นกัน จากนั้นไฟที่หน้าต่างบ้านคนก็ติดขึ้น และปิดท้ายด้วยดวงจันทร์ที่ค่อยๆ สว่างขึ้นจนเห็นชัดเจนเต็มดวง

ขั้นตอนการประดิษฐ์
เมื่อรู้ถึงแนวคิดและลำดับการทำงานของ LED แต่ละชุดไปแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลาที่ทุกท่านรอคอย เรามาเริ่มลงมือประดิษฐ์กันเลยครับ

(1) นำกระดาษขนาด B4 หรือกระดาษลอกแบบแผ่นใหญ่ มาวางทับด้านหลังภาพ แล้วใช้ดินสอวาดตามรูปดังรูปที่ 2.2 จากนั้นใช้คัตเตอร์หรือกรรไกรตัดกระดาษ B4 ออกมาเราจะได้แบบของแผ่นกั้นแสงไม่ให้ส่องผ่านตำแหน่งที่เป็นลวดลายที่ได้ลงสีไว้แล้วดังรูปที่ 2.3

(2) ทำส่วนกั้นแสงโดยการนำกระดาษที่ตัดเป็นแบบทาบกับแผ่นยางดังรูปที่ 3.1 แล้วลากเส้นตามแบบด้วยดินสอแล้วตัดแผ่นยางออกมาตามแบบที่วาดไว้ (ขออภัยทำเพลินจนลืมถ่ายรูป)

(3) ตัดพลาสวูดดังรูปที่ 4 สำหรับทำเป็นกรอบเสริมด้านนอกเพิ่มพื้นที่ในการติดตั้งแผงวงจรควบคุม โดยความยาวขึ้นกับขนาดของกรอบรูปที่เราซื้อมา ส่วนความกว้างคือ 5 ซม.

(4) ติดแผ่นยางที่ตัดไว้จากขั้นตอนที่ 2 ลงไปด้านหลังภาพด้วยปืนยิงกาว แล้วติดตั้ง LED ต่อขนานกันลงไปบนแผ่นยางในบางตำแหน่งก่อนทดลองจ่ายไฟ +3V ด้วยแบตเตอรี่ CR2032 เพื่อดูความสว่างด้านหน้าของภาพว่าเกิดเงาสะท้อนหรือไม่ หากเกิดเงาของแผ่นยางพาดผ่านให้แก้ไขโดยการรีดแผ่นยางให้แนบสนิทกับพื้นรูปภาพ จากนั้นติดตั้งแผ่นพลาสวูดเข้ากับกรอบรูปดังรูปที่ 5

(5) ตัดพลาสวูดทำกรอบด้านหน้าเพื่อความสวยงามโดยขนาดขึ้นกับภาพที่ซื้อมาให้มีลักษณะดังรูปที่ 6.1 แล้วนำมาติดตั้งดังรูปที่ 6.3 ด้วยกาวร้อนจะได้กรอบรูปพลาสวูดห่อหุ้มภาพเขียนเอาไว้

(6) ติดตั้ง LED ลงในตำแหน่งที่ต้องการด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 7

(7) เชื่อมต่อตัวต้านทานเข้ากับ LED แต่ละชุด จากนั้นบัดกรีสายต่อมอเตอร์เข้ากับชุด LED ทั้งหมดจำนวน 5 ชุดดังรูปวาดที่ 8 จะได้ชุดไฟ LED สำหรับระบายสร้างบรรยากาศพร้อมนำไปเชื่อมต่อแผงวงจรไมโครคอน โทรลเลอร์รุ่น i-BOX 3S ที่พัฒนาโปรแกรมด้วยภาษาโลโก้ดังรูปที่ 9 แล้ว

 

(8) เชื่อมต่อแผงวงจรตรวจจับแสง (ZX-02) เข้ากับช่อง SENSOR 3 ของแผงวงจร i-BOX3S จากนั้นบัดกรีสายไฟเส้นเล็กเข้ากับขั้วของสวิตช์กดติดปล่อยดับในตำแหน่ง RUN ดังรูปวาดที่ 8 เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เพราะแผงวงจร i-BOX3S จะทำงานเมื่อกดสวิตช์ RUN

(9) ติดตั้งแผงวงจร i-BOX3S และกะบะแบตเตอรี่ 4 ก้อน ไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมด้วยปืนยิงกาว ไม่ให้บดบังแสงของ LED ขณะทำงานส่องกระทบกับผืนผ้าดังรูปที่ 10

(10) ต่อสาย LED ทุกจุดเข้ากับจุดต่อมอเตอร์โดยให้ LED ชุดท้องฟ้า ส่วนล่างต่อกับ MOTOR-B, ท้องฟ้าส่วนบนต่อกับ MOTOR-A, หน้าต่างต่อเข้ากับ MOTOR-C, ดวงอาทิตย์ต่อกับ MOTOR-D ช่อง Forward (ขั้วต่อสีขาว) , ดวงจันทร์ต่อกับ MOTOR-D ช่อง Backward (ขั้วต่อสีดำ)

(11) เจาะรูขนาด 3 มม. ที่กรอบด้านบนสำหรับติดตั้งแผงวงจรตรวจจับแสงดังรูปที่ 11.1 และ 11.2 และเจาะรูติดตั้งสวิตช์ RUN ที่ต่อพ่วงมาจากแผงวงจร i-BOX3S

 

(12) เปิดโปรแกรม Logo Blocks ขึ้นมา แล้วลากบล็อกมาวางเชื่อมต่อกันตามรูปที่ 12 ส่วนค่าตัวเลขของ SENSOR 3 สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่จะนำภาพไปติดตั้ง จากนั้นดาวน์โหลดโปรแกรมลงสู่แผงวงจร i-BOX3S กดสวิตช์ RUN เพื่อทดสอบการทำงานดังรูปที่ 13

(13) เมื่อโปรแกรมทำงานตามต้องการได้แล้ว มาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการนำกระดาษขาวมาปิดบัง LED เอาไว้นอกจากจะช่วยไม่ให้แสงกระเจิงออกภายนอกแล้วยังช่วยสะท้อนแสงให้กระทบกับผืนผ้าได้ดีขึ้นอีกด้วย จากนั้นตัดเศษพลาสวูดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและเจาะรูสำหรับแขวนผนังดังรูปที่ 14 ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการประดิษฐ์แล้วครับ

 

ปัญหาและการปรับแต่ง
สำหรับการปรับแต่งนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ปัญหาที่พบมักเกิดจากแสงของ LED เมื่อส่องกระทบกับผืนผ้าแล้วเป็นดวงๆ ไม่กระเจิงหรือดูไม่แนบเนียนเหมือนการระบายสี ให้ขยับเลื่อน LED เข้าไปในแผ่นยางดังภาพวาดที่ 15 ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้ว ส่วนความหนักเบาของสีก็ขึ้นอยู่กับค่าตัวต้านทานที่ต่อกับ LED แต่ละชุดด้วยนะครับ แต่หากไม่ต้องการเปลี่ยนค่าตัวต้านทานก็สามารถตั้งค่าจากโปรแกรม Logo Blocks ได้ด้วยการกำหนดที่บล็อกคำสั่ง setpower

การปรับแต่งคงมีเพียงเท่านี้ เพราะแผงวงจรที่ใช้ในโครงงานนี้ก็สำเร็จรูปมาให้พร้อมใช้งานอยู่แล้ว ที่เหลือก็อยู่ที่ความอุตสาหะของแต่ละท่านแล้วล่ะครับ ก็ขอให้สนุกกับงานศิลป์ในแบบของคุณได้ ณ บัดนี้

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/2 หรือ 1/4 วัตต์ ±5%
R1 = 30Ω
R2 = 20Ω
R3,R4,R5 = 47Ω   3 ตัว
LED สีฟ้า แบบขุ่น 3มม. 16 ดวง
LED สีฟ้า แบบขุ่น 8มม. 20 ดวง LED สีเหลือง แบบขุ่น 5มม. 5 ดวง
LED สีแดง แบบขุ่น 8มม. 1 ดวง LED สีเหลือง แบบขุ่น 8มม. 1 ดวง
สายต่อมอเตอร์ 5 เส้น
แผงวงจรตรวจจับแสง ZX-02
แผงวงจร i-BOX3S
สายไฟเส้นเล็กหรือสายแพ กรอบภาพเขียนสีน้ำ
พลาสวูด 5 มม. ขนาดขึ้นกับกรอบภาพเขียนที่ซื้อมา
หมายเหตุ : แผงวงจร i-BOX 3Sแผงวงจรตรวจจับแสง สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.inex.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Pets คุณทำเองได้ (DIY)

เครื่องให้อาหารแมวรุ่นประหยัด

เอาใจคนรักสัตว์เลี้ยงกันอีกเช่นเคย กับเครื่องให้อาหารแมวด้วยงบประมาณสุดประหยัด และที่สำคัญสร้างง่ายไม่ต้องทำแผ่นวงจรพิมพ์ เพราะใช้อุปกรณ์หลักเพียงรีเลย์และไมโครสวิตช์

เครื่องให้อาหารแมวรุ่นนี้ จะทำหน้าที่เปิดปิดฝากล่องที่ใส่ชามอาหารไม่ให้กลิ่นหอมและความกรอบอร่อยของอาหารเจ้าเหมียวหมดลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจะคอยตรวจจับการกดสวิตช์เท้า เมื่อแมวเดินมาเหยียบแป้นสวิตช์ กล่องก็จะเปิดให้มันสามารถอร่อยกับอาหารที่มันชื่นชอบได้ทันที และเมื่อมันเดินจากไปฝากล่องก็จะปิดไว้ดังเดิม ทำให้โครงงานนี้กินไฟเพียงช่วงเวลาที่มอเตอร์หมุนดันฝากล่องให้เปิดและปิดเท่านั้น เป็นยังไงล่ะครับ ง่ายถูกใจแบบนี้ก็มาลงมือสร้างกันเลย

จัดเตรียมอุปกรณ์
1. แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 จำนวน 5 แผ่น
2. ชุดเฟืองขับมอเตอร์ไฟตรงรุ่น BO2 อัตราทด 120:1
3. รีเลย์ 5V จำนวน 2 ตัว
4. ไมโครสวิตช์แบบมีขั้ว COM , NC และ NO จำนวน 3 ตัว
5. สายไฟเส้นเล็ก
6. กาวร้อน
7. สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็ก
8. บานพับขนาดจิ๋ว 2 ตัว
9. สปริงปากกาตัดครึ่งให้ได้สปริง 2 ชิ้น
10. สกรูขนาด 3×10 พร้อมนอต 2 ชุด
11. ปืนยิงพร้อมกาวแท่ง (hot melt)
12. กะบะถ่าน AA 4 ก้อน

* อุปกรณ์รายการที่ 1,2 และ 12 สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.inex.co.th

เริ่มทำโครงสร้าง
(1) นำพลาสวูดมาตัดให้มีขนาดและจำนวนดังรูปที่ 1 เพื่อทำโครงสร้างกล่องใส่ถ้วยอาหารแมว ส่วนขนาดนั้นขึ้นอยู่กับถ้วยอาหารประจำกายของเจ้าเหมียวนะครับ ในที่นี้ผมวัดจากถ้วยของแมวที่บ้านมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15.5 ซม.
(2) เริ่มประกอบชิ้นส่วนพลาสวูด L, R, F และ B ด้วยกาวร้อนให้เป็นกรอบ โดยการประกอบให้วางบนพื้นเรียบเพื่อให้ขอบด้านที่รองรับฝาปิดเสมอกันดังรูปที่ 2.1  จากนั้นนำด้านที่ขอบเสมอกันที่สุดพลิกขึ้นด้านบน ครอบกรอบเข้ากับแผ่น Bottom ยึดด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 2.2 นำแผ่น SE เสียบขั้นภายในกล่องเพื่อกั้นเป็นช่องเก็บวงจรและแบตเตอรี่ดังรูปที่ 2.4 โดยดูตำแหน่งการประกอบจากรูปวาดที่ 3
(3) ติดตั้งชุดเฟืองขับมอเตอร์ โดยเจาะรูให้แกนมอเตอร์ทะลุจากช่องติดตั้งวงจรออกมาภายในช่องใส่ชามอาหารดังรูปที่ 4 แล้วยึดชุดเฟืองขับมอเตอร์ให้แน่นด้วยปืนยิงกาว
(4) นำบานพับ 2 ตัว มายึดพลาสวูดแผ่น TOP1 เข้ากับขอบด้านหลังของกล่อง เพื่อให้บานพับสนิทแนบกับขอบกล่องจึงต้องบากขอบกล่องให้พอดีกับความหนาของแผ่นบานพับดังรูปที่ 5.1
(5) นำเศษพลาสวูดมาตัดเป็นทรงโค้งแบบรูปที่ 6.1 ทำเป็นก้านสำหรับดันฝากล่อง สำหรับขนาดนั้นให้ลองเปิดฝากล่องจนเกือบสุด (ไม่ต้องเปิดสุดเพราะกลไกของเราเป็นแบบดันขึ้นอย่างเดียวไม่มีส่วนดึงฝาให้ปิด หากเปิดจนสุดหรือตั้งฉากฝาจะไม่สามารถพับลงมาได้) แล้วนำไปทาบดูความสูงที่เหมาะสมแล้วจึงใช้คัตเตอร์ตัดแต่งให้สวยงาม ตามด้วยการเจาะรูให้เป็นช่องรับกับแกนของมอเตอร์ แล้วสวมเข้ากับแกนมอเตอร์ดังรูปที่ 6.2 ขันสกรูเกลียวปล่อยตัวจิ๋วยึดก้านดันกับแกนมอเตอร์
(6) เจาะด้านหลังกล่องเป็นช่องสำหรับติดตั้งไมโครสวิตช์ (SW3) ดังรูปที่ 7.1 เพื่อทำหน้าที่ตรวจจับระยะสิ้นสุดของการเปิดฝายึดด้วยปืนยิงกาว บัดกรีสายไฟเข้ากับขั้ว C และ NC ของไมโครสวิตช์ จากนั้นใช้เศษพลาสวูดติดเข้ากับฝาดังรูปที่ 7.2 เพื่อใช้เป็นก้านกดสวิตช์
(7) บัดกรีสายไฟเส้นเล็ก 2 เส้นกับขั้ว C และ NC ของไมโครสวิตช์ (SW2) แล้วใช้กาวสองหน้าอย่างหนาหรือปืนยิงกาวติดตั้งไมโครสวิตช์ สำหรับตรวจสอบการปิดฝาไว้ด้านในกล่องใส่ชามอาหาร ในตำแหน่งที่ก้านดันฝาพ้นจากขอบกล่องลงมาโดยติดตั้งให้ชนกับก้านของสวิตช์พอดีดังรูปที่ 8 แล้วเจาะรูขนาด 3 มม. เพื่อสอดสายไฟเข้าไปในช่องติดตั้งวงจร (ในรูปที่ 8 มีแท่งต่อสีส้มเกินมาเพราะตัวต้นแบบถูกถอดออกบ่อยครั้ง จนรูของแกนมอเตอร์หลวมจึงต้องใช้สกรูเกลียวปล่อยตัวใหญ่ขึ้น)
(8) ติดตั้งรีเลย์ทั้งสองตัว และกะบะถ่านไว้ในช่องติดตั้งวงจร (9) ทำแป้นสวิตช์เหยียบ (SW1) โดยนำพลาสวูดขนาด A4 มาตัดครึ่ง จากนั้นเจาะรูแผ่นพลาสวูดชิ้นใดชิ้นหนึ่งจำนวน 2 รู เป็นแผ่นเหยียบส่วนล่าง นำสกรูขนาด 3×10 มม. ร้อยเข้าไปแล้วขันนอตล็อกให้แน่น นำสปริงปากกาที่เตรียมไว้มาสวมกับสกรู แล้วยึดด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 9.1 ทำเช่นเดียวกันทั้งสองฝั่งดังรูปที่ 9.2 นำแผ่นพลาสวูดอีกชิ้นมาวางประกบด้านบนแล้วหุ้มส่วนที่ประกบกันด้วยเทปกาวดังรูปที่ 9.3
(10) เจาะช่องติดตั้งไมโครสวิตช์ (SW1) ดังรูปที่ 10.1 บัดกรีสายไฟเข้ากับขั้วไมโครสวิตช์ทั้ง 3 ขั้วโดยให้เผื่อความยาวสายสำหรับสอดเข้าไปในช่องติดตั้งวงจรได้ จากนั้นใช้ชิ้นต่อพลาสติกหรือเศษพลาสวูดเป็นแท่งยาวมากั้นด้านล่างสวิตช์กันหลุด (เผื่อแมวอ้วนมาเหยียบ) ดังรูปที่ 10.4
(11) เจาะรูขนาด 3 มม. ให้ตรงช่องติดตั้งวงจร แล้วสอดสายไฟที่ต่อจากสวิตช์เท้าเข้าไปดังรูปที่ 11
(12) ต่อวงจรควบคุมรีเลย์ดังรูปที่ 12
(13) นำเศษพลาสวูดมาตัดเป็นก้านติดเข้ากับแผ่น TOP2 เพื่อทำเป็นตัวล็อกฝาปิดช่องติดตั้งวงจรดังรูปที่ 13
(14) สุดท้ายต่อวงจรตามรูปที่ 12
การทำงานของวงจร

วงจรนี้เป็นวงจรง่ายๆ ที่สามารถนำไปดัดแปลงได้หลากหลายโดยหน้าที่หลักของวงจรนี้มีไว้เพื่อสลับทิศทางการหมุนของมอเตอร์ไฟตรง แต่มีการเพิ่ม SW2 และ SW3 ในลักษณะการต่อเป็นแบบกดดับปล่อยติด เพื่อทำหน้าที่คอยตัดกระแสไฟฟ้าที่มาจ่ายให้กับขดลวดของ Relay1 และ Relay2 โดยการทำงานจะเป็นดังนี้

เมื่อ SW1 ถูกกด มีกระแสไฟไหลผ่านขั้ว NO ไปยัง SW3 ที่ต่ออยู่ด้านหลังกล่องแต่เนื่องจากกล่องปิดอยู่ SW3 จึงไม่ถูกกดสามารถนำกระแสผ่านไปจ่ายให้กับ Relay1 ทำการต่อหน้าสัมผัส มอเตอร์จึงหมุนเปิดฝากล่อง จนกระทั่ง SW3 ถูกกดมอเตอร์จึงหยุดทำงาน

เมื่อ SW1 ถูกปล่อยก็จะทำงานสลับกันกับตอนกดคือ มีกระแสไฟไหลผ่านขั้ว NC ไปยัง SW2 ที่ติดตั้งอยู่ด้านในกล่องซึ่งฝาถูกเปิดอยู่ SW2 จึงสามารถนำกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับ Relay2 ต่อหน้าสัมผัส ทำให้เกิดการสลับขั้วไฟฟ้าที่จ่ายให้กับมอเตอร์ จึงหมุนกลับทางจนกระทั่งก้านดันฝามาสัมผัสกับ SW2 เพื่อตัดกระแสไฟฟ้ามอเตอร์จึงหยุดทำงาน

ทดสอบและปรับแต่ง

เมื่อรู้หลักการทำงานของวงจรที่สุดแสนจะง่ายดายกันไปแล้ว ก็มาทดสอบความสมบูรณ์ในการทำงานกัน

(1) เมื่อกดสวิตช์เท้าฝากล่องจะต้องเปิดจนเกือบสุดแล้วหยุดการทำงาน หากฝาไม่ยอมเปิดให้สลับสายไฟที่ขั้วมอเตอร์

(2) หากฝาเปิดมากเกินไป มีวิธีปรับแต่ง 2 วิธีคือ

(2.1) เลื่อนก้านไมโครสวิตช์เข้ามาอีกหนึ่งล็อก

(2.2) ใช้กาวสองหน้าอย่างหนาหนุนก้านกดไมโครสวิตช์ของฝากล่องให้สูงขึ้น

(3) เมื่อปล่อยมือจากสวิตช์เท้ามอเตอร์จะต้องหมุนกลับทางซึ่งทำให้ฝาปิดกล่องตามลงมาด้วยและมอเตอร์จะหยุดทำงานเมื่อก้านดันฝาหมุนมากดสวิตช์ด้านในกล่อง

เอาล่ะครับการทดสอบก็มีเพียงเท่านี้ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และพร้อมนำไปใช้งานแล้ว

การนำไปใช้งาน

นำถ้วยอาหารของเจ้าเหมียวใส่ลงไปในกล่องแล้วรอให้เจ้าเหมียวหิวมากๆ ก่อน จึงมาสอนให้รู้จักการเปิดกล่องอาหาร โดยการจับเท้าของมันทั้งสองข้างวางบนสวิตช์เท้าให้เห็นว่าอาหารอยู่ในนี้ ในช่วงแรกๆ อาจมีท่าทีกล้าๆ กลัวๆ แล้วเดินหนีบ้างเป็นธรรมดา ปล่อยให้เดินหนีไปก่อน เดี๋ยวก็ร้องขอกินอีก คราวนี้เราก็ทำเหมือนเดิมเดี๋ยวก็คุ้นไปเอง

บางบ้านมีมดเยอะอาจต้องหล่อน้ำไว้ภายในกล่อง ทำได้โดยนำกาวซิลิโคนมาอุดตามขอบไม่ให้น้ำรั่วซึมได้ แล้วเทน้ำใส่ลงไปได้เลย

เพียงแค่นี้คุณก็สามารถเทอาหารไว้ให้เจ้าเหมียวกินได้ตลอดวันโดยกลิ่นหอมของอาหารยังคงอยู่ และคุณก็สามารถออกไปทำภารกิจได้อย่างสบายใจแล้วครับ

Exit mobile version