Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

อุปกรณ์ป้องกันน้ำล้นบ่อปลา

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการจัดสวนหย่อมหน้าบ้านขนาดเล็ก โดยเฉพาะสวนน้ำและเลี้ยงปลาไว้ในบ่อสำเร็จรูป (บ่อที่ซื้อมาวางแล้วใส่น้ำใช้ทันที) คงจะทราบกันดีว่ายามเข้าสู่ฤดูฝน ให้ทุกข์ใจกับปัญหาน้ำล้นบ่อเป็นยิ่งนัก สาเหตุที่ทุกข์ใจน่ะหรือครับ ก็เมื่อฝนตกมากๆ ปริมาณน้ำในบ่อปลาที่เพิ่มขึ้นทำให้เจ้าปลาตัวน้อยๆ แทนที่จะแหวกไว้ในบ่อปลามันดันออกมาว่ายบนพื้นดินซะอย่างนั้น ดูแล้วมันคงไม่สนุกเท่าไหร่มั้ง

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่นี้จะช่วยคุณได้ เพราะมันใช้อุปกรณ์บ้านๆ มาช่วยในการรักษาระดับน้ำในบ่อให้อยู่ในระดับที่เราต้องการได้ โดยมันจะทำการสูบน้ำออกเมื่อปริมาณน้ำในบ่อเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับที่เรากำหนด งานนี้ไม่มีไมโครฯ ไม่ต้องเขียนโปรแกรม ทำให้คุณพ่อบ้านอย่างเราๆ ก็ลงมือสร้างให้เสร็จได้ภายในเวลาอันสั้น (หากอุปกรณ์ครบ) โดยมีโครงสร้างง่ายๆ ดังรูปที่ 1 เห็นแล้วเป็นต้องร้อง อ๋อ..

หลักการทำงาน
เมื่อระดับน้ำอยู่ในระดับปกติ สวิตช์ปรอทจะยังไม่ต่อวงจร ทุกอย่างจึงเงียบสงบ ปั้มน้ำไม่ทำงาน แต่เมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นทำให้ลูกปิงปองที่ฝังสวิตช์ปรอทไว้ลอยสูงขึ้น ส่งผลให้สวิตช์ปรอทอยู่ในแนวตั้งจึงมีกระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้กับรีเลย์เพื่อทำการต่อหน้าสัมผัส ทำให้ปั้มน้ำทำงานสูบน้ำออกจากบ่อ จนระดับน้ำเริ่มลดลงถึงระดับที่ต้องการ ลูกปิงปองก็ค่อยๆ ลดระดับตามผิวน้ำลงมา ทำให้สวิตช์ปรอทกลับมาอยู่ในแนวนอนจึงไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายให้รีเลย์ ปั้มน้ำจึงหยุดทำงานตามไปด้วยดังรูปที่ 1 

ต่อไปมาดูการสร้างกันเลยครับ

การสร้าง
(1) เริ่มด้วยการทำลูกลอยที่ถือว่าเป็นพระเอกของงานนี้ โดยนำลูก

ปิงปองหรือบอลพลาสติกอะไรก็ได้ที่ลอยน้ำได้ ในที่นี้ผมใช้ลูกกอล์ฟเด็กเล่น ซึ่งเป็นพลาสติกด้านในกลวงคล้ายลูกปิงปอง เจาะรูให้กว้างพอที่จะสอดสวิตช์ปรอทเข้าไปได้

(2) ตัดขาสวิตช์ปรอทให้เหลือความยาวประมาณ 3 มม. จากนั้นนำสายชีลด์สเตอริโอ (เส้นเล็ก) มาบัดกรีเข้ากับขาของสวิตช์ปรอทแล้วหุ้มด้วยท่อหดดังรูปที่ 2.1 เพื่อกันขาช็อตกัน จากนั้นหุ้มด้วยท่อหดขนาดใหญ่ดังรูปที่ 2.2 แล้วสอดตัวสวิตช์ปรอทเข้าไปด้านในลูกปิงปองดังรูปที่ 2.3 โดยต้องให้สวิตช์ปรอทตั้งตรง แล้วใช้กาวซิลิโคนอุดรูไม่ให้น้ำเข้าได้ รอให้กาวแห้งก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำลูกลอยครับ

(3) เตรียมอุปกรณ์สำหรับทำท่อตรวจสอบระดับดังรูปที่ 3 ความยาวของท่อ PVC ขนาด 4 นิ้วนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความลึกของบ่อปลา โดยตัดให้สูงกว่าระดับน้ำของบ่อประมาณ 20 ซม. หรือเผื่อสูงกว่านั้นก็ได้

(4) ทำร่องสำหรับปรับระดับลูกลอยโดยนำท่อ PVC 4 นิ้ว มาเซาะเป็นร่องยาวประมาณ 25 ซม. กว้าง 3 มม. สำหรับร้อยนอตขนาด 3×15 มม. ดังรูปที่ 4.2 จากนั้นนำฝาครอบมาสวมด้านล่างแล้วเจาะรูระบายน้ำ โดยเจาะให้เหนือขอบของฝาครอบขึ้นมาจะได้รูสำหรับระบายน้ำดังรูป 4.3

(5) นำชุดลูกลอยมาพันยึดกับสรู 3×15 มม. โดยใช้นอตตัวเมียล็อกตำแหน่งดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำไปติดตั้งในท่อตรวจสอบระดับน้ำดังรูปที่ 5.2 แล้วล็อกตำแหน่งที่เราต้องการตรวจจับระดับน้ำด้วยนอตตัวเมียดังรูปที่ 5.3 ส่วนปลายสายสอดขึ้นด้านบนรอการต่อวงจร

(6) วางปั้มน้ำลงไปในฝาครอบด้านล่างดังรูปที่ 6.1 ตัดหัวปลั๊กออกแล้วเดินสายไฟพร้อมสายยางน้ำออกขึ้นมาด้านบน จากนั้นติดตั้งกะบะถ่าน AA 4 ก้อนและรีเลย์ 5V ไว้ภายในฝาครอบด้านบนยึดด้วยปืนกาวดังรูปที่ 6.2 จากนั้นเจาะรูสอดชุดปลั๊กสายไฟแล้วทำการต่อวงจรตามรูปที่ 1 เมื่อต่อวงจรเสร็จแล้วควรใช้กาวซิลิโคนหยอดทับจุดต่อของไฟ 220Vac และตัวรีเลย์ให้มิดชิดเพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่เมื่อนำไปวางในบ่อแล้วอุปกรณ์ของเราเกิดล้มลงในน้ำ ปิดท้ายด้วยการใส่แบตเตอรี่ AA จำนวน 4 ก้อนลงไปในกะบะถ่าน ดังรูปที่ 6.3

(7) ยึดสายไฟเข้าด้วยปืนกาว เจาะรูสอดท่อปั้มน้ำออกมาด้านบน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน

จากขั้นตอนการสร้างที่ผ่านมาหากมีภาพไหนที่ไม่ชัดหรือยังนึกไม่ออกแนะนำให้ย้อนไปดูรูปที่ 1 ครับ

การใช้งาน
เพียงหาตำแหน่งเหมาะๆ เพื่อนำเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ลงไปวางในบ่อปลาในวันฝนตก โดยแนะนำให้นำหินก้อนใหญ่ๆ วางทับด้านบนไม่ให้อุปกรณ์ของเราล้มได้ แล้วเสียบปลั๊กทิ้งไว้ เมื่อฝนตกลงมาในบ่อจนระดับน้ำสูงขึ้นถึงระดับที่ลูกลอยยกตัวขึ้นดังรูปที่ 8 ปั้มน้ำก็จะเริ่มทำการสูบน้ำออกจากบ่อทันที

ข้อควรระวัง
เนื่องจากโครงงานนี้ผมนำไปควบคุมปั้มน้ำ 220Vac ก่อนทำการปรับแต่งหรือแก้ไขส่วนหนึ่งสวนใดของอุปกรณ์ ต้องถอดปลั๊กไฟออกก่อนทุกครั้ง และไม่ควรวางอุปกรณ์ทิ้งไว้เป็นการถาวรเพราะสภาพแสงแดดที่ร้อนจัดตอนกลางวันและน้ำในบ่ออาจส่งผลให้เกิดละอองน้ำ (การควบแน่น) จับภายในสวิตช์ปรอทและรีเลย์ได้หากกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยจากไฟ 220Vac คุณก็สามารถหาซื้อปั้มน้ำ 12V ที่ใช้กับที่ฉีดน้ำปัดกระจกในรถยนต์มาใช้ได้ โดยใช้อะแดปเตอร์ 12V ต่อแทนปลั๊กไฟบ้านได้เลย

การประยุกต์ใช้งาน
คุณสามารถนำเทคนิคของโครงงานนี้ไปใช้กับงานที่ต้องการรักษาระดับน้ำได้ 

• นำไปใช้เป็นลูกลอยอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตัดต่อโซลินอยด์วาล์วแทน
ลูกลอยแบบเดิมที่มักจะมีปัญหาลูกยางเสื่อมกั้นน้ำไม่อยู่
• วัดระดับน้ำของเครื่องซักผ้าแบบฝาบน (สำหรับเครื่องซักผ้ารุ่นเก่า) โดยทำก้านติดตั้งลูกลอยกับฝาปิดเครื่องซักผ้าควบคุมโซลินอยด์วาล์วให้ปิดน้ำเมื่อถึงระดับที่เราต้องการก็ได้
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโครงงานง่ายๆ (แต่ใช้จริง) ที่คัดสรรมาให้ได้ลับฝีมือเชิงช่างกันเป็นประจำ แต่ไม่ว่าโครงงานจะง่ายแค่ไหนก็อย่าลืมเรื่องความปลอดภัยไว้ก่อนนะครับ

**********************************************
รายการอุปกรณ์
**********************************************

– ท่อ PVC 4 นิ้ว ยาว 50 ซม. หรือขึ้นอยู่กับความลึกของบ่อ
– ฝาครอบ 4 นิ้ว
– ปั้มน้ำ 220V ขนาดที่ใส่ในท่อ PVC 4 นิ้วได้ พร้อมสายยาง
– รีเลย์ 5V 5A
– กะบะถ่านขนาด AA 4 ก้อน แบบมีสายต่อ
– สวิตช์ปรอท
– ลูกปิงปอง
– สายชีลด์สเตริโอขนาดเล็กหรือสายไฟอ่อนๆ
สำหรับทำสายสวิตช์ลูกลอย
– สายไฟสำเร็จพร้อมปลั๊ก
– ท่อหดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มม. ยาว 1 ฟุต
– สกรู 3×15 มม. 1 ตัว
– นอต 3 มม. จำนวน 3 ตัว
– กาวซิลิโคนใสสำหรับหยอดทับอุปกรณ์เพื่อกันน้ำ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Fixit (ซ่อมได้) Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

แก้ปัญหาชักโครกกดไม่ลง

ปัญหาชักโครกกดไม่ลงแบบนี้เชื่อว่าหลายคนคงเคยพบเจอเป็นแน่ แล้วคำว่ากดไม่ลงเนี่ยมันหมายถึงอะไร ส้วมเต็มหรือว่ามีสิ่งสกปรกอุดตัน หากเป็นอย่างที่กล่าวมา มันขำๆ ครับ

เพราะเห็นกันอยู่ว่า หากส้วมเต็มก็เรียกรถจากเขตหรือเทศบาลมาสูบออก และหากมีสิ่งสกปรกอุดตัน ก็อาจใช้น้ำยาอย่างโซดาไฟ หรือน้ำหมักชีวภาพเทราดลงไปเพื่อช่วยย่อยสลายสิ่งสกปรกต่างๆ ได้

แต่ที่จะมาแนะนำ และบอกเล่ากันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะผู้เขียนเองก็ประสบปัญหานี้และก็ได้ลองทำแล้วพบว่าสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้จริงๆ ครับ

ปัญหานี้เกิดจากการวางแนวท่อระบายอากาศตั้งแต่ตอนติดตั้งของช่าง เช่นปลายท่อวางไว้ใกล้พื้นดินมากเกินไป ทำให้ท่อระบายอากาศมีสิ่งสกปรกหรือสัตว์เลื้อยคลายต่างๆ เข้าไปอาศัยอยู่ทำให้เกิดการอุดตันจึงไม่สามารถระบายอากาศได้ดี ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยกับบ้านทาวน์เฮ้าส์ ทาวโฮม จึงทำให้เมื่อกดชักโครกแล้วอากาศระบายไม่สะดวกเกิดน้ำเออขึ้นมาในอ่างชักโครก โดยขั้นตอนการแก้ไขก็ง่ายมากๆ ให้สังเกตุที่ฐานของชักโครก จะมีช่องเล็กๆ ที่ถูกอุดด้วยปูนยาแนว ซึ่งปกติแล้วช่องเล็กๆ นี้ ผู้ผลิตออกแบบไว้สำหรับใช้สกรูหรือพุกยึดกับพื้นห้องน้ำเพื่อความแน่นหนา ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ฝั่งละหนึ่งรู ดังรูปด้านล่าง เจ้ารูนี้แหละครับที่ช่างส่วนใหญ่ใช้ปูนยาแนวอุดเอาไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้น๊อตหรือสกรูเจาะยึดให้เรา เลยกลายเป็นเรื่องดีรึเปล่าอันนี้แล้วแต่จะมองนะครับ โดยหากช่างไม่ได้ยึดไว้ก็ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากรูที่ว่านี้มาช่วยระบายอากาศได้อีกทางครับ

 

วิธีเปิดรูก็ง่ายมากๆ ใช้เพียงตะปูหนึ่งตัวและค้อนหนึ่งอัน จากนั้นค่อยๆ นำค้อนตอกตะปูลงไป จนเป็นรูดังรูปด้านล่างนี้ครับ อ๊ะๆ แต่หากตอกลงไปแล้วรู้สึกว่ามันแข็งก็แสดงว่าเจอหัวสกรูเข้าให้แล้วดังนั้นหากเจอหัวสกรูที่ยึดชักโครกกับพื้นอยู่ก็อย่าฝืนทำต่อนะครับเดี๋ยวชักโครกจะแตกเอาเสียก่อน

 

หากเจาะได้แล้วก็เอาแค่รูเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้วครับ จากนั้นทดลองกดชักโครกดู จะได้ยินเสียงลมเคลื่อนตัวออกจากรูนี้ และน้ำก็จะไหลลงได้ดีขึ้น

เตือนอีกครั้ง
นี่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความจริงแล้วรูนี้ต้องปิดไว้นะครับ เพราะมันเป็นรูที่อยู่ติดกับท่อทิ้งสิ่งปฏิกูลทั้งหลายที่จะไหลลงไปในถัง แต่ที่เราต้องเจาะรูก็เพราะมันสุดวิสัย 

สุดท้ายอย่าลืมตามช่างมาแก้ไขท่อระบายอากาศให้เรียบร้อย

หมายเหตุ. บางคนพบปัญหาน้ำไหลย้อนขึ้นมาจากรูที่เจาะนี้ ดังนั้นจึงควรเจาะรูเท่าตะปูแค่รูเดียวเท่านั้นหากเจาะมากกว่านี้ อาจทำให้แก้ไขได้ลำบาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Fixit (ซ่อมได้) Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

3 ขั้นตอนการดัดขึ้นรูปพลาสวูดด้วยความร้อน

จากที่ได้แนะนำกันไปในบทความ “พลาสวูดวัสดุสำหรับงานต้นแบบ” ว่ามันคือวัสดุสำหรับการสร้างงานต้นแบบที่ใช้ทำโครงสร้างได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณสมบัติเป็น PVC (Poly Vinyl Chloride) จึงทำให้มันสามารถดัดขึ้นรูปได้

ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาสาธิตการดัดพลาสวูด ด้วยไดร์เป่าลมร้อนกันครับ โดยวิธีการนี้ผมเคยใช้สร้างต้นแบบมาหลายครั้งแล้ว นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้รูปทรงของชิ้นงานที่โค้งมนตามความต้องการ

สำหรับพลาสวูดที่จะนำมาดัดนั้น ผมใช้พลาสวูดหนา 5 มม. เพราะต้นแบบที่ผมทำไม่ว่าจะเป็นหลังคาของห้องน้ำแมว, กล่องโครงสร้างของวาล์วเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ, แจกัน ฯลฯ ล้วนเป็นต้นแบบที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงสามารถใช้พลาสวูดที่มีความหนาเพียง 5 มม. ได้ เรามาดูวิธีกันเลยครับ

วิธีการดัดพลาสวูด

1. ใช้ไดร์เป่าลมร้อน(ไม่ใช่ไดร์เป่าผม) ไล่เป่าให้ทั่วบริเวณที่เราต้องการดัดดังรูปที่ 1 จนพลาสวูดเริ่มอ่อนตัว

2. จากนั้นก็เริ่มพับพลาสวูดด้วยความรวดเร็วให้ได้องศาตามต้องการ โดยอาจใช้ท่อน้ำเป็นตัวช่วยประคอง ไม่ให้พลาสวูดบิดตัวดังรูปที่ 2

3. ประคองพลาสวูดเอาไว้จนกว่าพลาสวูดจะเย็นตัว เพียงแค่นี้คุณก็จะได้ชิ้นงานพับขึ้นรูปตามต้องการแล้วครับ

นี่ก็เป็นอีกเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะมีมาเล่าให้อ่านกันเป็นประจำกับ www.inventor.in.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Exit mobile version