Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

อุปกรณ์ไล่สุนัข

ปัญหาสุนัขฉี่ใส่ล้อรถ หรือแมวมารดน้ำต้นไม้ให้ แต่ต้นไม้เหี่ยวลงทุกวันจะหมดไปด้วยอุปกรณ์ไล่สุนัขและแมว คอยปกป้องพื้นที่จากเจ้าสี่ขา หลายคนมีวิธีจัดการหรือป้องกันอาณาเขตหวงห้ามให้ปลอดภัยจากฉี่ ของเจ้าสี่ขา (หมา) ที่แตกต่างกันไป

บ้างก็โรยพริกไทไว้บริเวณสวนเพาะปลูกกันเจ้าเหมียวมาฉี่ใส่ต้นไม้ แน่นอนว่าต้องโรยกันแทบทุกวัน ส่วนคนรักรถก็ใช้ขวดน้ำวางล้อมรอบรถยนต์คันโปรดไม่ให้สุนัขมาฉี่ใส่ล้อรถ เมื่อจอดรถก็เอามาวาง แต่พอต้องการใช้รถก็ต้องมาเก็บออก ซึ่งดูแล้วไม่สะดวกสักเท่าไหร่ เหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเลยทีเดียว

แต่จะดีกว่ามั้ยหากมีอุปกรณ์ที่สามารถสอดส่อง เป็นหูเป็นตาแทนคุณ และแถมยังติดตั้งง่าย สะดวก รวดเร็ว เพียงคุณนำไปวางในพื้นที่ที่คุณต้องการปกป้อง ซึ่งเจ้าอุปกรณ์นี้มีระยะทำการที่หวังผลได้ประมาณ 15 ถึง 20 ฟุต ซึ่งก็ไกลเพียงพอสำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก

รูปแบบการทำงาน
เห็นชื่อโครงงานแล้วอย่าเพิ่งคิดว่าเราจะใช้เสียงไล่ให้รำคาญหูคนอื่น หรือสร้างความทรมานให้กับเจ้าสี่ขานะครับ เพราะผู้เขียนก็เป็นอีกคนที่รักในความขี้อ้อนของพวกมัน แต่มันก็ต้องมีพื้นที่หวงห้ามกันบ้างเป็นธรรมดา การขับไล่นี้เราใช้วิธีละมุนละม่อมด้วยการฉีดน้ำไล่ โดยอาศัย ZX-PIR เป็นตัวตรวจจับความเคลื่อนไหวของเจ้าสี่ขา เมื่อ ZX-PIR ตรวจพบความเคลื่อนไหวที่เข้ามาในบริเวณหวงห้าม ZX-PIR จะส่งกระแสไฟฟ้าไปจ่ายให้กับรีเลย์เพื่อเปิดปั้มน้ำให้ทำงานนั่นเอง และที่สำคัญไม่ต้องเขียนโปรแกรม โครงงานนี้จึงเหมาะสำหรับทุกคน โดยไม่ต้องมีความรู้อิเล็กทรอนิกส์มากมายนัก มีเพียงความสามารถในการบัดกรีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็กน้อยก็พอแล้วครับ

การทำงานของวงจร
จากรูปที่ 1 เป็นวงจรขับขดลวดรีเลย์อย่างง่ายที่รับการสั่งงานจากขา OUT ของ ZX-PIR การทำงานเริ่มจากเมื่อจ่ายไฟเข้าวงจร ZX-PIR จะเริ่มตรวจจับความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต เมื่อตรวจพบความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต ZX-PIR จะส่งแรงดัน +5V ออกทางขา OUT เพื่อไบอัสให้กับ Q1 ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลลงกราวด์รีเลย์ต่อหน้าสัมผัส C และ NO ส่งผลให้ปั้มน้ำ ทำงาน

สำหรับหลักการทำงานของวงจรก็มีเพียงเท่านี้ ต่อไปก็มาถึงการจัดวางอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์

การติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์
เนื่องจากโครงงานนี้ใช้อุปกรณ์ไม่มากจึงไม่ต้องทำแผ่นวงจรพิมพ์ใหม่ให้เสียเวลา ในที่นี้ใช้แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์รุ่น uPCB01F (ดูรายละเอียดได้จากหน้า TPE Shop) โดยนำอุปกรณ์ตามรายการมาจัดวางดังรูปที่ 2.1 และเชื่อมต่อจุดต่างๆ ด้านล่างให้ถึงกันดังรูปที่ 2.2

เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์แล้วให้นำอะแดปเตอร์ไฟตรง +5V มาถอดเอาเฉพาะวงจรแล้วจั้มสายไฟออกดังรูปที่ 3.3 นำไปต่อเข้ากับเทอร์มินอลบล็อกที่จุด Vin ของแผงวงจรหลัก พักส่วนของวงจรไว้แค่นี้ก่อนต่อไปก็เป็นงานฝีมือสร้างกล่องบรรจุให้โครงงานกัน

การสร้างกล่องบรรจุโครงงาน
สำหรับกล่องบรรจุนี้ออกแบบให้สามารถปรับมุมก้มเงยได้ดังรูปที่ 4 (รูปที่ 4 จะใช้อ้างอิงตลอดการสร้างกล่อง) โดยวัสดุที่ใช้สร้างตัวต้นแบบก็คือ พลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 จำนวน 2 แผ่น นำมาตัดให้ได้ขนาดและจำนวนดังรูปวาดที่ 5 แล้วเริ่มสร้างตามขั้นตอนต่อไปนี้

 

 

(1) ประกอบเป็นกล่องสำหรับติดตั้งวงจรโดยใช้ชิ้นส่วน A, B, D และ E ประกอบกันให้ได้ลักษณะดังรูปที่ 4 ด้วยกาวร้อน จะได้โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นช่อง 2 ชั้นดังรูปที่ 6 ชั้นล่างสำหรับติดตั้งท่อ PVC 4 หุน ( 1/2 นิ้ว ) ชั้นบนสำหรับติดตั้งแผงวงจร

(2) ใช้ปืนเป่าลมร้อนเป่าปลายท่อ PVC ให้อ่อนตัวลง จากนั้นบีบให้ได้รูปทรงดังรูปที่ 7 ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อให้น้ำที่ฉีดออกมาเป็นมุมกว้างและกระจายตัวเป็นฝอย

(3) นำพลาสวูดแผ่น F มาเจาะเป็นช่อง 2 ช่องดังรูปที่ 8.1 โดยช่องบนสำหรับติดตั้ง ZX-PIR ช่องล่างสำหรับติดตั้งท่อ PVC ที่เราพับปลายไว้จากขั้นตอนที่ 2 จากนั้นนำมาติดเป็นด้านหน้ากล่องด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 8.3

(4) ติดตั้ง ZX-PIR ด้วยปืนยิงกาวให้ส่วนโดมยื่นออกมาดังรูปที่ 9.1 และติดตั้งแผงวงจรดังรูป 9.3 จากนั้นเชื่อมต่อสายจากจุดต่อ IDC 3 ขา ของแผงวงจรหลักเข้ากับ ZX-PIR ระวังต่อผิดขั้วนะครับ

(5) เจาะรูพลาสวูดแผ่น G ให้มีขนาดเท่ากับท่อ PVC ที่เตรียมไว้ดังรูปที่ 10.1 และสอดท่อเข้าไปดังรูปที่ 10.2 จากนั้นประกบแผ่น G เข้าไปด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 10.3

(6) เชื่อมต่อวงจรด้านในโดยอ้างอิงจากรูปวงจรที่ 1 ให้มีจุดต่อยื่นออกมาด้านนอกเพียง 2 จุดคือ จุดต่อไฟเข้า 220Vac และจุดต่อปั้มน้ำดังรูปที่ 11.2

(7) นำพลาสวูดแผ่น H มาเป่าด้วยปืนเป่าลมร้อนที่กึ่งกลางของแผ่นจนพลาสวูดเริ่มอ่อนตัวแล้วพับให้เข้ากับขอบของภาชนะที่เราจะนำมาใส่น้ำเพื่อเอาไว้ไล่เจ้าสี่ขาดังรูปที่ 12

(8) เจาะรูขนาด 3 มม. สำหรับเป็นจุดหมุนให้กับแผ่นพลาสวูด i, J, K, L จากนั้นตัดชิ้น k และ L ให้โค้งรับกับแผ่น H ดังรูปที่ 13.1 จับคู่โดยการนำแผ่น i และ K ร้อยเข้าด้วยกันด้วยสกรูขนาด 3×15 มม. ดังรูปที่ 13.2 จะได้ส่วนขาของกล่อง 2 ขาที่สามารถปรับมุมก้มเงยได้ตามต้องการ

(9) นำขาในส่วนของ K และ L ประกบเข้ากับส่วนโค้งของแผ่น H ด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 14.1 ส่วนด้านของแผ่น i และ J ให้ยึดเข้ากับด้านล่างของกล่องดังรูปที่ 14.2

(10) นำชิ้นงานที่ประกอบเสร็จแล้วไปติดตั้งกับขอบของภาชนะดังรูปที่ 15.1 แล้วติดตั้งปั้มน้ำพร้อมสายยางดังรูปที่ 15.2

(11) เชื่อมต่อสายไฟด้านหลังให้เรียบร้อยและใช้เทปกาวพันระหว่างท่อ PVC และสายยางให้แน่น เพื่อกันน้ำรั่วออกมาดังรูปที่ 16.1 จากนั้นเติมน้ำให้ท่วมปั้มแล้วนำไปวางในบริเวณที่ต้องการปกป้องเพื่อทำการทดสอบ

การทดสอบและปรับแต่ง
เริ่มด้วยการจ่ายไฟ 220Vac เข้าวงจร แล้วเริ่มทดสอบการทำงานโดยการเดินผ่านในระยะหวังผลหากใช้กับสวนขนาดเล็กก็ประมาณ 5 เมตร ปั้มน้ำจะต้องทำการฉีดน้ำ หากวงจรทำงานได้ในระยะใกล้เพียง 2 ถึง 3 เมตร ให้สลับจั้มเปอร์ที่ตัว ZX-PIR มาทางฝั่ง L จะทำให้ ZX-PIR ตรวจจับได้ไวขึ้น

หากปั้มน้ำทำงานบ่อยมาก ทั้งที่ไม่มีความเคลื่อนไหวตัดผ่าน อาจเป็นเพราะ ZX-PIR ถูกรบกวนจากอินฟราเรดของดวงอาทิตย์ ควรใช้ท่อ PVC ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ตัดให้ได้ความยาวประมาณ 2 นิ้ว นำมาครอบโดมของ ZX-PIR เอาไว้ เพื่อลดการรบกวนของแสงภายนอก จะช่วยให้การทำงานแม่นยำขึ้น

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็นำพลาสวูดแผ่น C มาปิดด้านบนก็เป็นอันเสร็จสิ้นการสร้างพร้อมนำไปใช้งานจริง

การประยุกต์ใช้งานอื่นๆ
(1)ประยุกต์ให้เคลื่อนย้ายได้
หากต้องการเคลื่อนย้ายวางที่ใดก็ได้ตามต้องการนั้น ทำได้โดยใช้ปั้มน้ำ ไฟตรงขนาด 12 โวลต์ สำหรับฉีดน้ำล้างกระจกรถยนต์ ส่วนภาคจ่ายไฟสำหรับวงจรก็สามารถใช้กะบะถ่าน AA 4 ก้อนจ่ายเข้าจุดต่อ Vin ได้โดยตรงเลย ส่วนแหล่งจ่ายไฟสำหรับปั้มน้ำแนะนำให้ใช้แบตเตอรี่ 12V สำหรับรถจักรยานยนต์

(2)ประยุกต์ใช้กับวาล์วไฟฟ้า
การใช้กับวาล์วไฟฟ้าหรือโซลินอยด์วาล์ว เพียงคุณเปลี่ยนจากการใช้รีเลย์ผ่านไฟให้กับปั้มน้ำ มาเป็นวาล์วไฟฟ้าแทน แต่ต้องดูเรื่องแรงดันไฟฟ้าที่ขดลวดของวาล์วต้องการให้ดี ซึ่งมีข้อดีคือ คุณไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะหมดหรือไม่ เพราะสามารถต่อกับท่อน้ำปะปาที่บ้านได้เลย เหมาะสำหรับการติดตั้งแบบถาวร

(3)ประยุกต์เป็นไฟอ่านหนังสือและไฟทาง
นำสายปลั๊กสำเร็จรูปที่ปลายด้านหนึ่งเป็นปลั๊กและอีกปลายเป็นสายเปลือยต่อเข้ากับจุดต่อ 220V ที่ด้านหลังกล่อง แล้วนำโคมไฟตั้งโต๊ะต่อเข้ากับจุดต่อปั้มน้ำ คุณก็จะได้ไฟอ่านหนังสือและไฟนำทาง เมื่อคุณลุกขึ้นจากเตียงไฟก็จะติดสว่างทันที

พอหอมปากหอมคอกับโครงงานง่ายๆ ที่เราสามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย ลองประดิษฐ์ไว้ใช้ดูนะครับ ใครจะนำไปใช้งานอะไรก็สุดแท้แต่จินตนาการ แต่ที่สำคัญอย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

รายการอุปกรณ์
– โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR
– ทรานซิสเตอร์ 2N3904
– ไดโอด 1N4001
– รีเลย์ 5V 1A
– ตัวต้านทาน 1kW 1/4W 5% หรือ 1%
– เทอร์มินอลบล็อก DT-26 2 ขา 2 ตัว
– คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมีย 3 ขา
– สาย IDC1MF จำนวน 3 เส้น
– แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ uPCB01F
– ปั้มน้ำ 220Vac
– แผ่นพลาสวูด หนา 5 มม. ขนาด A4 จำนวน 2 แผ่น
– ท่อ PVC 4 หุน ( 1/2 นิ้ว ) 1 ฟุต
– สายยางสำหรับต่อปั้มน้ำกับท่อ PVC
กาวร้อน (สั่งซื้อคลิก)
หมายเหตุ : ZX-PIR, แผ่นพลาสวูด ขนาด A4 หนา 5 มม., แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ uPCB01F และ สาย IDC1MF สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.inex.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Car Watchdog

“สุนัขเฝ้ารถ” สิ่งประดิษฐ์ประเภทรักษาความปลอดภัยที่จะคอยเฝ้าระวังรถยนต์ของคุณ ยามที่ต้องจอดในที่ลับตาคน โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนสุนัขเฝ้ารถและจะโทรหาคุณทันทีที่มีผู้บุกรุกมาเยือนพร้อมส่งเสียงเตือนหัวขโมยว่าเจ้าของรถรู้แล้ว

ในยุคสมัยข้าวยากหมากก็แพง แต่จะแพงยังไงรถใหม่ป้ายแดงก็วิ่งกันให้เกลื่อนท้องถนน ยิ่งเป็นรถยนต์คันแรกด้วยแล้ว ความกังวลใจที่ต้องจอดไกลหูไกลตาก็มากขึ้นเป็นทวีคูณ ผู้อ่านหลายท่านคงมีประสบการณ์แบบนี้เป็นแน่ แต่ครั้นจะนำไปติดตั้งสัญญาณกันขโมย ก็ได้แค่ส่งเสียงเรียกร้องความสนใจจากผู้คนที่เดินผ่านไปมา บางคันปรับแต่งไม่ดี แค่มีรถบรรทุกวิ่งผ่านสัญญาณก็ดังเสียแล้ว จนคนที่เดินผ่านไปมาเริ่มชาชินและไม่สนใจกับเสียงเตือนภัยแบบนี้ (รวมทั้งผมด้วย) ที่สำคัญเจ้าหัวขโมยสมัยนี้รู้เรื่องระบบไฟฟ้าของรถยนต์เป็นอย่างดีว่า จะต้องตัดวงจรที่จุดใดก่อนจะสะเดาะกุญแจเข้ามาในตัวรถ

ดังนั้นสิ่งประดิษฐ์เครื่องนี้จึงถูกออกแบบให้ทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องติดตั้งเข้ากับระบบของรถยนต์ โดยติดตั้งชุดอุปกรณ์ไว้ในถังขยะ ขนาดเล็ก เพียงนำถังขยะตั้งไว้บริเวณที่นั่งด้านหน้าคู่กับตำแหน่งคนขับ เมื่อมีผู้บุกรุกเข้ามาในรถของเรา มันก็จะทำการกดโทรศัพท์เข้ามายังเครื่องของเจ้าของรถทันทีพร้อมกับส่งเสียงพูดเตือนผู้บุกรุกที่กำลังพยายามสตาร์ต รถให้ทราบว่าเจ้าของรถรู้แล้ว ถึงแม้เจ้าหัวขโมยจะไม่สนใจกับเสียงเตือนแต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่า ขณะนี้กำลังเกิดความผิดปกติในรถยนต์ของเรา

ต่อไปมาดูการทำงานของวงจรและอุปกรณ์ที่ต้องใช้กันก่อนดีกว่าครับ รับรองว่า งบไม่บานปลายแน่นอน

การทำงานของวงจร

จากรูปวงจรที่ 1 โมดูล POP-MCU ควบคุมการทำงานของระบบร่วม กับโมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR , ออปโต้คัปเปลอร์เบอร์ PC817 และรีเลย์ 5Vdc โดยเริ่มจากโมดูล POP-MCU รอรับสัญญาณการตรวจพบผู้บุกรุกจากโมดูล ZX-PIR ที่ขา Di2 ว่ามีค่าเป็น HIGH หรือไม่ เมื่อมีค่าเป็น HIGH ให้ส่งค่าควบคุมเป็นจังหวะ(ดูตามโค้ดโปรแกรมที่ 1) ให้กับ IC2 ซึ่งเป็นออปโต้คัปเปลอร์ที่ขา Di3 เพื่อตัดต่อหน้าสัมผัสของสวิตช์ สมอลทอร์ก ตามด้วยการสั่ง HIGH ออกทางขา Di4 ให้กับ Q1 เพื่อขับรีเลย์ให้ต่อหน้าสัมผัสจ่ายไฟแก่เครื่องเล่น MP3 เล่นไฟล์เสียงใน SD การ์ดและจากนั้นระบบจะทำงานวนซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่า ZX-PIR จะไม่พบความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตใดๆ หรือมีการปิดสวิตช์

การติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์

เนื่องจากวงจรนี้ใช้อุปกรณ์ไม่กี่ชิ้นจึงขอแนะนำให้บัดกรีติดตั้งอุปกรณ์ลงบนแผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ได้เลย โดยแผ่นวงจรพิมพ์ อเนกประสงค์สำหรับงานนี้เลือกใช้แบบ uPCB01A จากนั้นติดตั้งอุปกรณ์ดังรูปที่ 2 โดยจุดติดตั้งโมดูล POP-MCU ใช้คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมียแถวเดี่ยว 12 ขา จำนวน 2 ชุด ทำเป็นซ็อกเก็ต, คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมียแถวเดี่ยว 3 ขาเป็นจุดเชื่อมต่อสายดาวน์โหลด, IDC ตัวผู้แถวเดี่ยว 3 ขาสำหรับเชื่อมต่อ ZX-PIR, IDC ตัวผู้แถวเดี่ยว 2 ขา 2 ชุด สำหรับต่อกับสายสมอลทอร์กและเครื่องเล่น MP3 ตามลำดับ ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ก็บัดกรีติดตั้งตามรูปที่ 2 ได้เลย

จากนั้นทำการเชื่อมต่อลายวงจรด้านล่างแผ่นวงจรพิมพ์เข้าด้วยกันโดยใช้สายไฟขนาดเล็กตามแบบในรูปที่ 3

การจัดเตรียมอุปกรณ์และขั้นตอนการสร้าง

(1) แกะฝาครอบสวิตช์ของสายสมอลทอร์กออกมา จะเห็นแผงวงจรขนาดเล็กจากนั้นนำสายไฟเส้นเล็กๆ บัดกรีกับขั้วของสวิตช์ดังรูปที่ 4.1 จากนั้นนำสาย IDC ตัวเมียที่แถมมากับโมดูล ZX-PIR มาตัดครึ่งและบัดกรีกับปลายอีกด้านหนึ่งของสายไฟเส้นเล็ก จะได้สายสำหรับต่อกับขั้ว A และ B บนแผ่นวงจรพิมพ์ดังรูปที่ 4.2

(2) แกะเครื่องเล่น MP3 ดังรูปที่ 5 เอาแต่แผงวงจรและลำโพง ส่วนแบตเตอรี่เอาออกเพราะเราจะใช้ไฟเลี้ยงร่วมกับแผงวงจรหลัก เพราะหากใช้ไฟเลี้ยงแยกเราจะต้องคอยประจุแบตเตอรี่ให้กับเครื่องเล่น MP3 แยกต่างหากทำให้ไม่สะดวกในการใช้งานจริง

(3) นำสาย IDC ตัวเมียที่แถมจาก โมดูล ZX-PIR ตัดครึ่งและบัดกรีเข้ากับจุดต่อไฟเลี้ยงของเครื่องเล่น MP3 แล้วเสียบเข้ากับแผงวงจรในตำแหน่ง C เข้ากับขั้วบวก และ D เข้ากับขั้วลบของเครื่องเล่น MP3 แล้วเสียบสายโมดูล ZX-PIR เข้ากับแผงวงจรหลักในตำแหน่ง ZX-PIR สุดท้ายขาดไม่ได้คือแหล่งจ่ายไฟ +9V ในต่อในตำแหน่ง Vin (ห้ามต่อผิดขั้ว) จะได้ชุด Car Watchdog พร้อมเขียนโปรแกรมทดสอบ ดังรูปที่ 6

(4) ก่อนไปถึงขั้นตอนการเขียนโปรแกรม ต้องมาทำตัวเชื่อมต่อสายดาวน์โหลดของ UCON-4 เฉพาะกิจสำหรับแผงวงจรสุดพิเศษนี้กันก่อนครับ โดยการนำคอนเน็กเตอร์ RJ-11 มาเชื่อมต่อสายเข้ากับคอนเน็กเตอร์ IDC ตัวผู้แถวเดี่ยว 3 ขา ดังรูปที่ 7.1 จากนั้นใช้ท่อหดหุ่มปลายสายให้เรียบร้อยจะได้ตัวเชื่อมต่อสายดาวน์โหลดดังรูปที่ 7.2

เขียนและอัปโหลดโปรแกรม

ขออนุญาตข้ามขั้นตอนการติดตั้งและการตั้งค่าซอฟต์แวร์ Arduino โดยเปิดโปรแกรม Arduino ขึ้นมาแล้วพิมพ์ชุดคำสั่งต่อไปนี้และเชื่อมต่อสาย UCON-4 เข้ากับคอนเน็กเตอร์ที่สร้างขึ้นจากขั้นตอนที่ 4 แล้วจึง อัปโหลดโปรแกรมลงตัว POP-MCU แต่หากท่านใดที่เป็นมือใหม่และยังไม่เข้าใจการปรับแต่งก็สามารถดูรายละเอียดได้ในบทความเครื่องให้อาหารแมวอัตโนมัติ

———————————————————————-

#define phone 3
#define mp3 4
int val = 0;
void setup()
{
pinMode(phone, OUTPUT);
pinMode(mp3, OUTPUT);
}

void loop()
{
val = digitalRead(PIN2);
if (val == HIGH)// PIR Detected
{
phonecall();
mp3play();
}
}

void phonecall()
{
digitalWrite(phone,HIGH); // show last number
delay(1000);
digitalWrite(phone,LOW);
delay(2000);
digitalWrite(phone,HIGH); // call
delay(1000);
digitalWrite(phone,LOW);
delay(1000);
digitalWrite(phone,LOW); //delay 15sec.
delay(15000);
digitalWrite(phone,HIGH); // end call
delay(1000);
digitalWrite(phone,LOW);
delay(1000);
}

void mp3play()
{
digitalWrite(mp3,HIGH);// mp3 power on 15sec.
delay(15000);
digitalWrite(mp3,LOW); // mp3 power off
delay(1000);
}

———————————————————————-
โปรแกรมที่ 1 โปรแกรมควบคุมการทำงานของ Car Watchdog
———————————————————————-

การติดตั้งอุปกรณ์ลงถังขยะ
นี่คือขั้นตอนการนำอุปกรณ์ติดตั้งลงถังขยะนะครับ ไม่ใช่เอาไปทิ้งถังขยะ ท่านผู้อ่านสามารถทำวิธีอื่นก็ได้ตามที่เห็นสมควร เนื่องจากขนาดและรูปทรงของถังขยะอาจแตกต่างไปจากตัวต้นแบบได้

(1) เริ่มจากนำถังขยะทรงกลมแบบมีฝาเปิดปิดขนาดพอเหมาะสำหรับใส่ในรถยนต์ดังรูปที่ 8.1 มาทำการถอดส่วนยางด้านล่างดังรูปที่ 8.2 (ผู้ผลิตถังขยะคงตั้งใจทำไว้ถ่วงน้ำหนัก)

(2) เจาะรูด้านหน้าสำหรับติดตั้ง ZX-PIR ดังรูปที่ 9.1 แล้วยึด ZX-PIR ให้แน่นด้วยปืนกาว

(3) เจาะรูขนาด 3 มม. ด้านล่างของถังให้เป็นรูพรุนบริเวณที่ต้องการติดตั้งลำโพงของเครื่องเล่น MP3 ดังรูปที่ 10

(4) นำแผ่นยางด้านล่างมาเจาะเป็นร่องสำหรับติดตั้งสวิตช์เปิดปิดดังรูปที่ 11

(5) เซาะแผ่นยางจากขั้นตอนที่ 4 ให้มีพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่องโทรศัพท์และแบตเตอรี่ 9 โวลต์ จากนั้นตัดสายไฟของขั้วแบตเตอรี่ 9 โวลต์ให้ผ่านสวิตช์เปิดปิด และเจาะรูสอดสายไฟเข้าไปในถังดังรูปที่ 12 อ้อ…อย่าลืมสอดสายหูฟังลงมาเสียบกับเครื่องโทรศัพท์ด้วยนะครับ

(6) จัดวางแผงวงจรทั้งหมดไว้ภายในถังขยะแล้วยึดด้วยปืนกาวดังรูปที่ 13

(7) ตัดพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด 3×3 ซม. จำนวน 3 ชิ้น ดังรูปที่ 14.1 สำหรับใช้เป็นขารองแผ่นปิดชุดวงจร โดยจัดวางให้ระยะห่างเท่ากันดังรูปที่ 14.2 แล้วยึดด้วยปืนกาว

(8) ใช้วงเวียนคัตเตอร์ตัดพลาสวูดขนาดหนา 5 มม. ให้ได้เส้นผ่านศูนย์กลาง 12.5 ซม. สำหรับทำแผ่นปิดแผงวงจร ดังรูปที่ 15

(9) สุดท้ายตัดเศษพลาสวูดเป็นรูปทรงอะไรก็ได้สำหรับทำเป็นมือจับแล้วติดกับแผ่นปิดแผงวงจรด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 16.1 ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์แล้วครับ

การทดสอบและปรับแต่ง
เมื่อทุกอย่างถูกติดตั้งเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการทดสอบโดยเริ่มจาก

(1) เปิดเครื่องโทรศัพท์และโทรออกยังหมายเลขที่คุณต้องการเพื่อให้เบอร์ล่าสุดที่โทรออกเป็นเบอร์ที่คุณต้องการ จากนั้นเปิดสวิตช์จ่ายไฟเข้าระบบ Car Watchdog จะเริ่มโทรออกไปหาเบอร์ล่าสุด หากไม่มีการโทรเข้าเบอร์ของคุณให้สลับคอนเน็กเตอร์ที่จุด A และ B

(2) เมื่อระบบโทรเข้าเครื่องและวางสายเรียบร้อยแล้ว จะต่อหน้าสัมผัสรีเลย์เพื่อจ่ายไฟเข้าเครื่องเล่น MP3 และเล่นไฟล์เสียงที่อยู่ใน SD การ์ด

(2.1) หากรีเลย์ทำงานต่อหน้าสัมผัสแล้ว แต่ไม่มีเสียงดังออกมาให้ตรวจสอบคอนเน็กเตอร์ที่จุด C และ D ว่าต่อถูกขั้วหรือไม่

(2.2) หากได้ยินเสียงหน้าสัมผัสรีเลย์ต่อแบบรัวๆ แสดงว่ากระแสไฟฟ้าที่ออกจากภาคจ่ายไฟไปยังขดลวดของรีเลย์ไม่ราบเรียบพอจึงทำให้เกิดอาการกระชาก ให้ตรวจสอบจุดบัดกรีบริเวณไฟออกที่ขาของ C2 ว่าสนิทดีหรือไม่

การนำไปใช้งาน
มาถึงขั้นตอนนี้ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากแล้วครับ เพียงเล็งตำแหน่งในการวางให้เหมาะสมดังรูปที่ 17 เมื่อต้องการใช้งานคุณเพียงเปิดสวิตช์ ระบบจะโทรหาคุณทันที เมื่อปิดประตูล็อกรถเรียบร้อยแล้วระบบก็จะหยุดโทรหาคุณ จนกว่าจะพบความเคลื่อนไหวภายในรถยนต์ของคุณอีกครั้ง ระบบจึงจะเริ่มทำงาน คราวนี้คุณก็ไปทำธุระได้แล้ว โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Car Watchdog เฝ้ารถให้คุณ

แต่อย่าลืมนะครับว่า แบตเตอรี่ที่ใช้เลี้ยงวงจรทั้งหมดเป็นแบตเตอรี่ +9V ซึ่งกระแสไฟฟ้าไม่ได้มากมายอะไร การเปิดใช้งานบ่อยๆ ควรตรวจสอบพลังงานคงเหลือของแบตเตอรี่บ้างก็ดี แต่หากไม่เน้นว่าแหล่งพลังงานต้องเล็ก ก็เอาแบตเตอรี่แบบประจุได้ขนาด AA สัก 6 ก้อนต่อแทนได้เลย

อย่างไรก็ตามอย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าพอมีโทรศัพท์เรียกจากรถของเราก็รีบกุรีกุจอเข้าไป หากหัวขโมยยังอยู่ในรถและมีอาวุธจะไม่คุ้มกัน ทางที่ดีควรชวนใครไปเป็นเพื่อนด้วยจะดีกว่า ท้ายนี้ขอให้สนุกกับการสร้างสุนัขเฝ้ารถ และขอให้ทุกท่านผ่านพ้นความน่ากลัวของสังสารวัฏฏ์ไปได้ด้วยดี

รายการอุปกรณ์
• โมดูล POP-MCU
• โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR
• เครื่องเล่น MP3
• เครื่องโทรศัพท์พร้อมสายหูฟังสมอลทอร์ก
• ถังขยะขนาดเล็กสำหรับวางในรถยนต์
• Q1 – ทรานซิสเตอร์ BC337
• IC1 – ไอซีเรกูเลเตอร์ เบอร์ LM2940-5.0
• IC2 – ออปโต้คัปเปลอร์ PC817
• R1 – ตัวต้านทาน 150Ω 1/4 วัตต์ ± 5%
• R2 – ตัวต้านทาน 1kΩ 1/4 วัตต์ ± 5%
• C1 – ตัวเก็บประจุ 47µF โพลีเอสเตอร์
• C2 – ตัวเก็บประจุ 220µF 16V อิเล็กทรอไลต์
• D1 – ไดโอด 1N4001
• S1 – สวิตช์เปิดปิดแบบใดก็ได้ตามชอบ
• S2 – สวิตช์กดติดปล่อยดับตัวเล็ก 4 ขา
• แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์รุ่น uPCB01A
• แจ๊กโมดูล่าร์ RJ-11 4 ขา
• สายดาวน์โหลด UCON-4
• คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมีย แถวเดี่ยว 12 ขา 2 ตัว
• คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมีย แถวเดี่ยว 3 ขา
• คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวเมีย แถวเดี่ยว 2 ขา
• คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวผู้ แถวเดี่ยว 3 ขา 2 ตัว
• คอนเน็กเตอร์ IDC ตัวผู้ แถวเดี่ยว 2 ขา 3 ตัว
• แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4
• ขั้วแบตเตอรี่ 9 โวลต์


หมายเหตุ โมดูล POP-MCU, ZX-PIR, สาย UCON-4 และแผ่นพลาสวูด ขนาด A4 สั่งซื้อออนไลน์ที่ www.inex.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Toy คุณทำเองได้ (DIY)

ประดิษฐ์ “รถหลอดด้าย” ของเล่นย้อนยุค

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าบ่งบอกอายุของผู้เขียนกันเลย เพราะมันเป็นของเล่นในอดีตที่ผมเล่นตอนสมัยประถม หลายคนอาจเคยประดิษฐ์เล่นหรือทำเป็นอยู่แล้ว แต่ด้วยความนึกสนุกในอดีต เลยต้องนำมาแนะนำให้กับคนรุ่นใหม่ได้ลองประดิษฐ์เล่นกันดูบ้าง

รถหลอดด้ายนี้ ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไปตามท้องตลาด ขับเคลื่อนด้วยพลังของหนังยาง ตอนเด็กๆ ที่นิยมเล่นกันมีสองลักษณะก็คือนำมาวิ่งแข่งและเล่นซูโม่ ต่อไปเรามาดูวิธีประดิษฐ์กันดีกว่าครับ


เตรียมอุปกรณ์

1. หลอดด้าย (คลิกสั่งซื้อหลอดด้ายเปล่า)
2. เทียนไข
3. หนังยางรัดของ
4. ก้านธูปหรือก้านไม้กวาดทางมะพร้าว
5. คัตเตอร์

เริ่มประดิษฐ์ของเล่นโบราณ “รถหลอดด้าย” กันเลย
1. ตัดเทียนไขให้มีขนาดสั้นกว่าหลอดด้ายเล็กน้อยดังรูป

2. ใช้คัตเตอร์เซาะเทียนไขให้เป็นร่องดังรูป

3. หักก้านธูปให้มีขนาดเท่ากับเทียนไขแล้วนำหนังยางมาร้อยกับก้านธูปเอาไว้

4. คล้องหนังยางเข้ากับก้านธูป จากนั้นนำหนังยางสอดเข้าไปในรูของหลอดด้าย

5. นำปลายหนังยางที่สอดออกจากรูหลอดด้ายมาคล้องกับเทียนไขดังรูป

6. สุดท้ายหักก้านธูปยางประมาณ 10 – 12 เซนติเมตร สอดเข้าที่ร่องของเทียนไขที่เราเซาะไว้จากขั้นตอนที่ 2 เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จการประดิษฐ์ของ รถหลอดด้ายแล้วครับ

 

วิธีเล่น
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นรถหลอดด้าย เราก็ต้องทำให้มันวิ่งนั่นเอง การเล่นก็ง่ายนิดเดียวเพียงใช้มือจับหลอดด้ายเอาไว้ แล้วใช้มืออีกข้างหมุนก้านธูปในทิศทางตามเข็มนาฬิกาพอเริ่มตึงมือก็พอ จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับการไขลานนถเด็กเล่นนั่นแหละ

ระวังอย่าหมุนจนเพลินเพราะจะทำให้หนังยางขาดเร็วเกินไปครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

การทำแป้งปั้นซิลิโคน

ทำแป้งปั้นที่คงตัวได้ แข็งแต่ไม่แข็ง มีความยืดหยุ่นเหมือนยาง ใช้กับงานต่างๆ ได้หลากหลาย เช่นทำตัวรองอุปกรณ์กันกระแทก ฐานยึดมอเตอร์กันสะเทือน หรือจะใส่ LED ไว้ภายในเพื่อสร้างเป็นโครงงานอาร์ตๆ 


จากบทความแนะนำ Sugru ที่ผ่านมาหลายคนคงทึ่งและเริ่มสนใจในคุณสมบัติอันน่าอัศจรรย์ของมันที่เราสามารถปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ตามต้องการ หลายคนนึกค้านในใจว่า ก็ไปซื้อแป้งปั้นหรือดินญี่ปุ่นมาก็สิ้นเรื่องหาซื้อก็ง่าย ใช่ครับปั้นได้ หาซื้อง่าย แต่พอแข็งแล้วก็แข็งจริงๆ ไม่มีคุณสมบัติเหมือนยางซิลิโคน ทำให้ประโยชน์ของมันสิ้นสุดลงที่ความสวยงามเป็นหลัก

แต่สำหรับ i-Gru (เป็นชื่อเฉพาะที่ผมตั้งเองครับ ไม่ต้องไปค้นใน Google) ที่เราจะมาชวนท่านผู้อ่านทำกันนี้ จะมีคุณสมบัติคล้ายกับ Sugru ต่างที่การทนความร้อนทีี่ Sugru ทนได้ถึง 180oC แต่ i-Gru จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของซิลิโคนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำ ก่อนอื่นเรามาเตรียมวัตถุดิบกันก่อนดังรูป

ส่วนผสมและอุปกรณ์ประกอบด้วย
1. แป้งข้าวโพด
2. ซิลิโคนสีใส แนะนำให้ซื้อชนิดที่ไม่มีกลิ่น และห้ามใช้ชนิดแห้งเร็ว
3. ไม้ไอศครีมหรืออะไรก็ได้ที่ใช้กวนได้
4. ถ้วยหรือชาม
 
ขั้นตอนการทำ
(1) บีบซิลิโคนลงในภาชนะในปริมาณที่ต้องการดังรูปที่ 2 แนะนำว่าไม่ควรผสมเกิน 3 ช้อนโต๊ะ เพราะจะทำให้ส่วนผสมเข้ากันไม่ดี
(2) เทแป้งข้าวโพดลงไป ในอัตราส่วน 1:1 ดังรูปที่ 3 จากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องใช้ความเร็วในการคลุกหน่อยนะครับ คนให้เข้ากันจนรู้สึกว่าซิลิโคนและแป้งข้าวโพดเริ่มจับตัวกันดี (หากใครต้องการใส่สีก็ให้หยดลงไปในขั้นตอนนี้ โดยสีที่ใช้ควรเป็นสีน้ำมันหยดลงไปในอัตราส่วน 1:10 เพราะหากหยดมากเกินไปส่วนผสมจะเหลวมากและแห้งช้า) คลุกเคล้าต่ออีกสักครู่ก็จะเริ่มจับตัวเหมือนแป้งปั้นดังรูปที่ 3.4 ก็เป็นอันใช้ได้แล้วครับ
(3) ตอนนี้ท่านสามารถปั้นเป็นรูปทรงตามต้องการ ในตัวอย่างนี้เราจะนำมาห่อหุ้มแผงวงจร ZX-01 (แผงวงจรสวิตช์) เพื่อกันกระแทกและรองรับงานหนักๆ อย่างเช่นการทุบ โดยเริ่มจากผ่าครึ่งลูกปิงปองแล้วทา i-Gru เพื่อรองพื้นให้รอบ ดังรูปที่ 4.1 เมื่อทาจนทั่วแล้วก็นำ ZX-01 คว่ำหน้าลงไปดังรูปที่ 4.2 แล้วโปะ i-Gru เพื่อห่อหุ้มให้ทั่วทั้งแผงวงจรดังรูปที่ 4.3 รอให้แห้งประมาณ 10 นาที
(4) เมื่อชิ้นงานแห้งแล้วก็มาทำการแกะออกจากแบบ โดยการบีบขอบลูกปิงปองให้ชิ้นงานคลายตัวดังรูปที่ 5.1 แล้วค่อยๆ ดึงออกมาจะได้แป้นกดปุ่มยางซิลิโคนที่ฝังแผงวงจรสวิตจช์ไว้ภายใน นำไปใช้งานได้ทันทีดังรูปที่ 5.2 และ 5.3
(5) แถมท้ายด้วยการนำ i-Gru มาห่อหุ้ม LED แล้วปั้นเป็นรูปทรงที่เราต้องการ เมื่อจ่ายไฟให้ LED เราก็จะพบกับความสวยงามของแสง LED ที่ส่องผ่าน i-Gru ออกมาดังรูปที่ 6.2
เพียงเท่านี้ก็จะได้วัสดุใหม่ที่ใช้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการทำโครงงานอิเล็กทรอนิกส์อาร์ตของเราแล้ว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

สอนประดิษฐ์รองเท้าไฟฉาย

อยากเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน แต่ไม่อยากเปิดไฟหัวเตียงเพราะกลัวแสงไฟจะรบกวนคนนอนข้างๆ หรือกระทั่งน้ำท่วมบ้านโดนตัดไฟต้องการไฟฉายแต่ไม่รู้วางไว้ที่ไหน

สิ่งประดิษฐ์นี้จะมาช่วยคุณได้ นั่นคือรองเท้าติดไฟ เพียงแค่คุณสวมรองเท้าคู่นี้เข้าไป จะทำให้คุณหมดปัญหาในเรื่องของแสงสว่างยามค่ำคืน การใช้งานเพียงสวมรองเท้าแล้วเดิน ก็จะมีแสงไฟส่องออกมาจากปลายของรองเท้า โอ้ว !! มันยอดมากเลยใช่ไหม ลงมือทำกันเลย

เตรียมอุปกรณ์
รองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน 1 คู่
กะบะถ่าน CR2032   1 อัน
ถ่าน  CR2032  3V   1 ก้อน
LED สีขาวขนาด 8 มม.    1 ดวง/ข้าง
แถบตีนตุ๊กแก ขนาด 4 x 1.5 ซม. 1 เส้น
สายไฟเส้นเล็กๆ
กาวร้อน  (กาวตราช้าง)
เข็มและด้าย

ลงมือประดิษฐ์กันเลย
(1) ขั้นตอนแรกนำรองเท้าใส่ในบ้านมา 1 คู่ หาซื้อได้ตามร้านไดโซ ที่ขายสินค้าราคาเดียวเพียง 60 บาท จากนั้นใช้คัตเตอร์หรือที่เลาะด้ายเลาะส้นรองเท้าออกประมาณ 5 ซม. ดังรูปที่ 1.1

(2) ขั้นต่อไปวางกะบะถ่านแล้วขีดเส้นเพื่อกำหนดตำแหน่งสำหรับติดตั้ง แล้วใช้คัตเตอร์เจาะตามรอยที่ขีดไว้ลึกลงไป โดยเผื่อให้กะบะถ่านโผล่ขึ้นมาประมาณ 1 มม.

(3) ต่อไปเป็นขั้นตอนการเชื่อมต่อวงจร ดัดขา LED สีขาวขนาด 8 มม. ดังรูปที่ 3.1 บัดกรีสายไฟเข้ากับขาของ LED แล้วนำ LED เสียบเข้าร่องส่วนปลายของรองเท้าเพื่อซ่อนขา LED และสายไฟดังรูปที่ 3.3 เก็บสายไฟให้เรียบร้อยโดยเหน็บเข้าร่องด้านข้างของรองเท้าดังรูปที่ 3.4 เจาะรูเล็กๆ ด้านข้างรองเท้าแล้วสอดสายไฟเข้าไปดังรูปที่ 3.6 เมื่อสอดสายไฟเข้าไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะนำกะบะถ่านไปวาง ให้ใช้คีมดัดขั้วกะบะถ่านด้านขั้วบวกขึ้นดังรูปที่ 3.8 แล้ววางลงไปในรูที่เจาะไว้ในขั้นตอนที่ 2 บัดกรีสายไฟให้เรียบร้อยตามรูปการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ต้องสังเกตขั้วบวกขั้วลบในการต่อให้ดี เพราะถ้าผิดขั้วอาจทำให้ LED พังได้

 

(4) เย็บเก็บชายให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้ผ้าหลุดลุ่ย ดังรูปที่ 4.1  นำแถบตีนตุ๊กแกขนาด 4 x 1.5 ซม. ทากาวร้อนแล้วติดลงไปดังรูปที่ 4.2 เมื่อติดแถบตีนตีนตุ๊กแกเพื่อใช้เปิด-ปิดเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่เสร็จแล้วให้ปิดส้นรองเท้าลง แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ด้วยอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น คุณก็สามารถเดินไปทั่วบ้าน โดยไม่ต้องเปิดไฟเลยสักดวงก็ได้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

ทำฝาท่อน้ำทิ้งด้วยพลาสวูด

เชื่อว่าผู้อ่านที่มีบ้านเป็นทาวน์เฮ้าส์หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ในการต่อเติมพื้นที่หลังบ้านให้กลายเป็นห้องครัวเหมือนกับผม ปัญหาก็คือท่อน้ำหลังบ้านที่ไม่เพียงแต่ส่งกลิ่นเหม็นเท่านั้น

วันดีคืนดีก็มีแขกไม่ได้รับเชิญเลื้อยขึ้นมานอนอยู่ในครัวที่เราต่อเติมยังกับเป็นบ้านของตัวเอง



ลองดูตัวอย่างจากครัวที่ต่อเติมด้านหลังของบ้านผมเป็นตัวอย่างนะครับช่าง รับเหมาเดินท่อน้ำทิ้งจากรางน้ำฝนบนหลังคาเข้ามาในตัวบ้าน แทนที่จะฝังไว้ใต้พื้นแต่กลับปล่อยทิ้งไว้น่าตาเฉยโดยมีข้ออ้างสารพัดที่จะอธิบายกับเรา ตอนแรกก็ไม่ได้ติดใจอะไร พออยู่ๆไปฝนตกสิครับ สารพัดสิ่งไม่พึงประสงค์จากหลังคาก็ไหลเข้ามาในครัวเลอะเทอะไปหมด แถมบางวันเข้าบ้านมาต้องตกใจกับเจ้างูน้อยที่นอนอยู่ในครัว ผมเข้าใจว่ามันคงขึ้นมาจากท่อระบายน้ำที่ผมอยากจะปิดรูให้มิดชิด แต่ก็ปิดไม่ได้เพราะกลัวฝนตกแล้วน้ำจะไม่ระบายลงท่อ อ้อ อีกประการหนึ่งคือตอนฝนตกยังมีกลิ่นเหม็นขึ้นมาจากท่อระบายน้ำอีกต่างหาก แล้วจะทำยังไงดีล่ะครับงานนี้ หันไปหันมาเจอแผ่นพลาสวูด 5มม. ที่เตรียมไว้ทำโครงงานลงนิตยสาร the prototype electronics จึงปิ๊งไอเดียเลยครับ ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าพลาสวูดเป็นวัสดุที่สามารถตัด เจาะ เซาะ ง่ายโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษแต่อย่างใด แถมยังโดนน้ำได้ไม่ผุไม่เป็นเชื้อรา ผมจึงนำมันมาทำเป็นฝาปิดท่อน้ำแล้วก็จัดการฝังท่อน้ำให้มันมุดหัวลงไปในฝาท่อพลาสวูดซะเลย

แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนครับ ว่าผมทำไว้นานแล้ว แต่พอดีจะเจาะรูทำเป็นฝาเลื่อนเปิดปิดสำหรับเวลาล้างหรือเทน้ำทิ้งจะได้สะดวก เพราะเมื่อก่อนผมใช้วิธีดึงท่อออกมาแล้วค่อยเทน้ำทิ้งออกจึงไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ไหนๆ จะทำแล้วก็เลยมาบอกต่อให้ท่านนักอ่านและรักการประดิษฐ์ได้ชมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันไว้ครับ โดยจะขอเริ่มตั้งแต่การทำท่อน้ำเลยก็แล้วกัน

ขั้นตอนการทำเป็นฝาท่อน้ำทิ้ง
1.เริ่มจากนำแผ่นพลาสวูดมาวางทาบฝาท่อน้ำทิ้งเดิมแล้วตัดให้เท่ากับฝาท่อเดิมทุกประการ แล้วเจาะรูสำหรับต่อท่อน้ำทิ้งที่ลงมาจากหลังคาห้องครัวด้วยวงเวียนคัตเตอร์ แล้วลองสอดท่อน้ำทิ้งลงไปให้พอดีนะครับอย่างกว้างกว่าท่อมากนักเพราะจะทำให้ ยุงและแมลงต่างๆ ขึ้นมาจากท่อได้

2. ทำช่องสำหรับระบายน้ำยามที่ต้องการล้างทำความสะอาดครัว โดยการทำเป็นบานเลื่อนที่สามารถเปิดปิดได้ เริ่มจากการเจาะช่องเป็นวงกลมด้วยวงเวียนคัตเตอร์ขนาดจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็ตามใจชอบเลยครับ แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ควรมีเส้นผ้านศูนย์กลางกว้างเกิน 4 นิ้ว เพราะจะทำให้ความแข็งแรงของแผ่นพลาสวูดลดลง

3. เริ่มการทำบานเลื่อนโดยตัดพลาสวูดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้กว้างกว่ารูวงกลม ที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่2 ข้างละประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นทำบ่ารับบานเลื่อนโดยนตัดพลาสวูดเป็นแผ่นเล็กๆ สำหรับเป็นตัวบังคับบานเลื่อน และสำหรับเป็นบ่ากันไม่ให้หลาสวูดหลุดออกมา 2 ชิ้น

4. เมื่อได้ชิ้นส่วนตามต้องการแล้วก็มาเริ่มประกอบกันเลยครับ เริ่มจากนำแผ่นบานเลื่อนมาติดตั้งปุ่มสำหรับเป็นมือจับ ในที่นี้ผมใช้หมุดสแตนเลสซึ่งมีจำหน่ายที่โฮมโปรทุกสาขาครับ โดยเลื่อนแผ่นบานเลื่อนมายังตำแหน่งที่เหมาะสมและขันสกรูผ่านฐานรองลงไป สุดท้ายตามด้วยหัวหมุดสแตนเลสหมุนปิดเข้าไป ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้วครับดังรูปด้านล่าง

จากนั้นนำแผ่นบานเลื่อนมาทาบกับรูที่เจาะไว้ แล้วนำชิ้นที่ใช้รักษาระยะและบังคับบานเลื่อนมาจัดวางให้มีลักษณะดังรูปด้านล่างนี้

5. ยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน จากนั้นใช้สกรูเกลียวปล่อยขันยึดอีกครั้งเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เนื่องจากชิ้นส่วนนี้อาจต้องโดนน้ำอยู่เป็นประจำหากยึดด้วยกาวร้อนเพียง อย่างเดียวอาจทำให้กาวเสื่อมสภาพได้เร็วและหลุดออกมาได้

6. ถึงตอนนี้เราก็จะได้ช่องที่เป็นบานเลื่อนที่สามารถเลื่อนเปิดและปิดได้สะดวกสบายคุณแม่บ้านไปเลย

หวังว่าเทคนิคเล็กๆ นี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เล็กๆ แต่ใหญ่สำหรับบางคนโดยเฉพาะผมได้นะครับ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Toy คุณทำเองได้ (DIY)

ที่เสียบปากกาเรืองแสง

โครงงานการประดิษฐ์ของเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำได้สุดแสนจะง่ายดายไม่มีอะไรซับซ้อน เอาใจคนที่ชอบขีดๆ เขียนๆ กันซะหน่อย ด้วยการทำที่เสียบปากกาสุดเก๋ เพียงแค่เสียบก็มีไฟ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ช่องเสียบปากกาแต่ละช่องจะได้แสงไฟที่แตกต่างกัน อะอะ.. คงสงสัยละซิว่า ถ้าเสียบปากกาพร้อมกันทั้งสามช่องจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเสียบพร้อมกันก็จะเกิดการผสมสีของ LED ทั้งสามสีเลยทีเดียว อะฮ่า…เป็นไงละแหล่มเลยใช่ไหม เป็นที่เสียบปากกาแถมยังเป็นโคมไฟไปในตัวด้วย เอาล่ะๆ  มาลงมือทำกันเลย

ขั้นตอนการสร้าง
(1) ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 23 x 2 ซม. แล้วใช้ความร้อนงอแผ่นพลาสวูดดังรูปที่ 1.1 เสร็จแล้วเจาะช่องลงบนกล่องพลาสติกขนาด 9 x9 ซม.เพื่อเสียบแผ่นพลาสวูดลงไป ใช้ดินสอกำหนดจุดที่จะเจาะลงบนกล่องพลาสติกแล้วใช้สว่านเจาะ จะได้ออกมาดังรูปที่ 1.4

(2) เจาะรูกล่องพลาสติกเพื่อทำที่เสียบปากกา ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 1 มม. ขนาด 4 x 1.5 ซม. 3 ชิ้นแล้วพับครึ่งดังรูปที่ 2.1 ติดลงไปด้านใต้กล่องพลาสติก ใช้ปากกากำหนดจุดเพื่อเจาะช่องเสียบปากกา ใช้กระดาษกาวติดลงไปใต้กล่องพลาสติกเพื่อจะได้เห็นรอยที่กำหนดไว้ได้ชัดเจน แล้วใช้สว่านเจาะรูได้ออกมาดังรูปที่ 2.4

(3) ตัดสายแพ 4 เส้น ยาว 20 ซม. ปอกปลายสายแพดังรูปที่ 3.1 เสร็จแล้วนำเทปโลหะนำไฟฟ้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาด 4 x 1.5 ซม. ติดสายแพ 3 เส้นเข้ากับแผ่นพลาสวูดหนา 1 มม. ซึ่งติดกับกล่องพลาสติกจากขั้นตอนที่ (2)

(4) ตัดแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ขนาด 6 x 0.5 ซม. บัดกรีตะกั่วลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เพื่อใช้เป็นหน้าสัมผัสสวิตช์ดังรูปที่ 4.2 ใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์เข้ากับด้านในของแผ่นพลาสวูดขนาด 1 ซม.ซึ่งติดกับกล่องพลาสติกจากขั้นตอนที่ (2) ดังรูปที่ 4.3 ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 5 x 0.5 ซม.ติดลงบนกล่องพลาสติก

(5) เสร็จแล้วติดกะบะถ่าน AAA ลงไป แล้วบัดกรีเชื่อมต่อสายแพที่เหลือ 1 เส้นเข้ากับขั้วลบของกะบะถ่าน ส่วนสายไฟขั้วบวกของกะบะถ่านให้บัดกรีเข้ากับแผ่นวงจรเอนกประสงค์ ดังรูปที่ 5.3 เสร็จแล้วจัดเก็บสายไฟให้เรียบร้อยจะได้ออกมาดังรูปที่ 5.4

(6) เชื่อมต่อวงจร  ตัดกระดาษแข็งสีขาววงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 ซม. จากนั้นตัดกระดาษสีขาวขนาด 15.5 x 4 ซม. ติดเข้ากับกระดาษแข็งวงกลม จะได้ออกมาดังรูปที่ 6.2 ต่อไปบัดกรี LED สีเขียว, ฟ้า และแดงเป็นชุด ชุดละ 3 ดวง โดยมีตัวต้านทาน 100Ω และ 68Ω เป็นตัวจำกัดกระแส บัดกรีลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ขนาด 2 x 1 ซม. ดังรูปที่ 6.3 จากนั้นนำเศษขาอุปกรณ์มาเชื่อมวงจรเข้าด้วยกันดังรูปที่ 6.5

(7) สอดสายแพขึ้นมาด้านบนของกล่องพลาสติกดังรูปที่ 7.1 นำแท่งพลาสวูดที่งอไว้จากขั้นตอนที่ (1.1) เสียบลงในช่องที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่ (1.4) ใช้ปืนยิงกาวยึดกล่องพลาสติกเข้ากับแท่งพลาสวูด เสร็จแล้วตัดกระดาษที่ทำเป็นโคมไฟจากขั้นตอนที่ (6.2) เพื่อให้สอดสายแพเข้ามาได้ดังรูปที่ 7.4 จากนั้นบัดกรีสายแพที่ติดเทปโลหะเข้ากับขาแอโนด (A) ของแผ่นวงจรพิมพ์ทั้ง 3 จุด โดยเลือกได้ตามต้องการ ส่วนอีก 1 เส้น คือกราวด์ ให้บัดกรีเข้ากับจุด (K) ของแผ่นวงจรพิมพ์ เมื่อบัดกรีเรียบร้อยก็ติดแผ่นวงจรพิมพ์ลงในกระบอกกระดาษที่ทำหน้าที่เป็นโคมไฟดังรูปที่ 7.6

(8) ใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดสายแพและโคมไฟเข้ากับแท่งพลาสวูด เสร็จสมบูรณ์แล้วจะได้ออกมาดังรูปที่ 8.3 เสร็จแล้วใช้ปากกาเสียบลงไปในช่องเสียบปากกาเพื่อทดสอบ LED

(9)  ทำขวดโหลเพื่อประดับตกแต่ง  นำขวดโหลใสขนาดเล็กมาประดับตกแต่ง
โดยใช้หินกรวดก้อนเล็กๆ สีใดก็ได้เทลงไปในขวด นำต้นไม้พลาสติกขนาดเล็กตกแต่งลงไปในขวด ขั้นตอนนี้จะใช้วัสดุและตกแต่งแบบไหนก็ได้แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน
(10) การใช้งาน เสียบปากกาลงไปในช่อง แผ่นสวิตช์ที่ติดเทปตะกั่วนำไฟฟ้าไปสัมผัสกับแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลไปยัง LED แต่ละสีแล้วเปล่งแสงออกมา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Pets คุณทำเองได้ (DIY)

ประดิษฐ์เครื่องให้อาหารแมวอัตโนมัติ

หากคุณประสบปัญหาในการเทอาหารเม็ดไว้เยอะๆ ก่อนออกไปทำงาน แต่เจ้าเหมียวก็กินแค่นิดเดียว พออาหารหมดกลิ่นหอม มันก็ไม่ยอมกินอีกเลย ต้องเททิ้งแล้วตักให้ใหม่ ทำให้สิ้นเปลืองค่าอาหารและยังทำให้เจ้าเหมียวเสียสุขภาพจากการไม่ยอมกินอาหารเก่าของมัน

เราขอเสนอ CatFeeder สิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยคุณเทอาหารทีละนิดจนกว่าเจ้าเหมียวจะอิ่มแล้วเดินไปที่อื่น เครื่องก็จะหยุดทำงานและยังสามารถเทอาหารได้อีก เมื่อเจ้าเหมียวเดินกลับมาที่ชามอาหารของมันอีกครั้ง

อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วในตอนต้นว่า นี่เป็นปัญหาของคนเลี้ยงแมวจริงๆ เพราะจากประสบการณ์ของผมที่ต้องออกจากบ้านแต่เช้าและเทอาหารเอาไว้เผื่อให้กินถึงตอนเย็น ปรากฏว่า แต่ละวันอาหารยุบไปนิดเดียวเท่านั้น บังคับให้กินยังไงก็ไม่ยอม สุดท้ายต้องเทให้ใหม่ถึงจะยอมกิน บางคน ก็บอกว่ามันยุ่งยากขนาดนี้ก็อย่าไปเลี้ยงมันเสียเลยดีกว่า แต่อย่าลืมนะครับว่าหากคุณไม่มีเจ้าเหมียวอยู่ที่บ้าน พวกหนูที่คอยกินเศษอาหารในครัว ของคุณจะร่าเริงขนาดไหน แม้จะปิดทุกช่องทางจนมั่นใจแล้วว่าหนูไม่สามารถเข้ามาได้ก็ตาม จากประสบการณ์อีกเช่นกัน หนูมันกัดฝ้าเพดานจนขาดทะลุแล้วกระโดดลงมาในบ้านหน้าตาเฉยเลย ดังนั้นคนรักแมวอย่างกระผมจึงไม่ลังเลที่จะหาเจ้าเหมียวมาอยู่ในบ้าน อย่างน้อยพวกหนูมันก็ยังเกรงใจและไม่เคยกัดฝ้าเพดานบ้านผมอีกเลย จบบริบูรณ์

อ๊ะ…จบแค่เรื่องเล่าประสบการณ์ครับ แต่ภาระกิจการทำโครงงานเอาใจเจ้าเหมียวยังต้องดำเนินต่อไป ใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็แล้วเสร็จ โดยเฉพาะคนที่ไม่เก่งอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมก็สร้างตามได้ไม่ยาก เพราะใช้อุปกรณ์ร่วมเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น เอาล่ะเรามาลองสร้างกันแบบทีละขั้นตอนกันเลย


โปรดทราบ! เนื่องจากทางผู้ผลิตโมดูล POP-168 กำลังจะหยุดผลิตแล้วครับ ทำให้ไม่มีสายสำหรับดาวน์โหลดจำหน่ายแล้ว 
ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ใช้แผงวงจร  i-Duino UNO R3B แทน ข้อดีก็คือหากคุณใช้  i-Duino UNO R3B คุณก็ตัดขั้นตอนการสร้างแผงวงจรออกไปได้เลย 

โดยสามารถสั่งซื้อได้จากลิงก์ด้านล่างนี้


ง่ายสุดๆ กับการควบคุมด้วยบอร์ด micro:bit

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับน้องๆ ที่ไม่เคยเขียนโปรแกรม สามารถสร้างระบบควบคุมเครื่องให้อาหารแมวอัตโนมัติด้วยบอร์ด micro:bit (ไมโครบิต) อ่านบทความต่อไปนี้ได้เลยจ้า


สร้างแผงวงจรเชื่อมต่อ

(1) เริ่มจากหาซื้อแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ ในที่นี้ผมเลือกใช้แบบ uPCB01C ดังรูปที่ 3 เพราะแบบนี้ มีจุดสำหรับบัดกรีแจ็กแบบ RJ-11 ซึ่งสำหรับดาวน์โหลดโปรแกรมให้กับโมดูล POP-168 ที่ใช้เป็นตัวควบคุมหลัก และยังมีจุดติดตั้งสวิตช์เลื่อน 3 ขา และแจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียด้วย โดยแผ่นวงจรพิมพ์สามารถสั่งซื้อได้ที่ www.inex.co.th เป็นแผ่นงวจรพิมพ์แบบสองหน้าเพลตทรูโฮลสกรีนสวยงาม

หมายเหตุ : แผ่นวงจรพิมพ์ที่เห็นในภาพประกอบด้านล่างเป็นแบบที่ทำขึ้นเองนะครับ ของจริงที่มีจำหน่ายจะสวยกว่านี้

(2) ติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ สังเกตที่จุดติดตั้งโมดูล POP-168 ให้ติดตั้งคอนเน็กเตอร์ IDC 12 ขา ตัวเมีย เพื่อทำเป็นซ็อกเก็ต สำหรับนำโมดูล POP-168 มาติดตั้ง อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนภาคจ่ายไฟ จากนั้นใช้สายไฟเชื่อมแต่ละจุดเข้าด้วยกันดังรูป ขั้นตอนนี้ไม่ต้องรีบให้ตรวจดูความเรียบร้อยให้ดี เสร็จแล้วจะได้แผงวงจรควบคุมดังรูป

(3) เตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับติดตั้งเข้ากับกล่องที่เรากำลังจะสร้างในขั้นตอนต่อไปดังรูป ได้แก่ โมดูลวัดระยะทาง GP2D120 , แผงวงจรสวิตช์ ZX-01ZX-LED , เซอร์โวมอเตอร์แบบมาตรฐาน, โมดูล POP-168 (สินค้าเลิกผลิตแล้ว) และแผงวงจรเชื่อมต่อที่เราพึ่งสร้างเสร็จ


โปรดทราบ! เนื่องจากทางผู้ผลิตโมดูล POP-168 กำลังจะหยุดผลิตแล้วครับ ทำให้ไม่มีสายสำหรับดาวน์โหลดจำหน่ายแล้ว 
ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ใช้แผงวงจร i-Duino UNO R3B แทน ข้อดีก็คือหากคุณใช้  i-Duino UNO R3B คุณก็ตัดขั้นตอนการสร้างแผงวงจรออกไปได้เลย 

โดยสามารถสั่งซื้อได้จากลิงก์ด้านล่างนี้


สร้างกลไกให้อาหารแมว

ความจริงแล้วไอเดียนี้มาจาก www.instructables.com แต่เป็นการให้แมวตบลูกบอลเพื่อเปิดปากขวดน้ำพลาสติกให้อาหารหล่นลงมา แต่พอลองทำใช้เองบ้างก็ปรากฏว่า เจ้าเหมียวของผมมันตบทิ้งตบขว้างสนุกไปเลย จึงต้องมาต่อยอดเอาอีกนิดหน่อย โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ

ส่วนบรรจุและกลไกปล่อยอาหาร

เตรียมอุปกรณ์หลักดังรูปที่ 5 ได้แก่กระป๋องพลาสติกที่มีฝาปิดมิดชิดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางด้านใน 8.5 ซม., ขวดน้ำพลาสติก, ลูกบอลพลาสติกหรือลูกปิงปอง, ตะขอเกลียวตัว L ขนาดเล็ก, หนังยาง  ต่อไปเริ่มลงมือประดิษฐ์กันได้เลย

(1) เริ่มจากนำขวดน้ำมาตัดบริเวณปากขวดเป็นเหมือนกรวยดังรูป จากนั้นเจาะรูก้นกระป๋องพลาสติกขนาดเท่ากับปากขวดน้ำพลาสติกดังรูป ขั้นตอนนี้ต้องค่อยๆ เจาะโดยใช้สว่านดอกเล็กเจาะไล่ไปเรื่อยจนครบรอบวงแล้วค่อยมาไล่เซาะอีกรอบ นำกรวยขวดน้ำใส่ลงไปในกระป๋องพลาสติกให้ปากขวดน้ำโผล่ออกมาด้านนอกแล้วปิดฝาขวดเพื่อยึดขวดน้ำให้ติดกับกระป๋องดังรูป แล้วคว้านรูฝาขวดน้ำจะได้ช่องสำหรับปล่อยอาหาร

(2) ยึดตะขอเกลียวเข้ากับฝาของกระป๋องพลาสติกและลูกบอล ใช้คีมบีบพับตะขอเข้ามาดังรูปที่ 7.1 จากนั้นนำหนังยางมาคล้องกับตะขอของลูกบอลแล้วสอดหนังยางเข้าทางปากขวดดังรูปที่ 7.2 แล้วดึงไปคล้องกับตะขอของฝาปิดกระป๋องดังรูปที่ 7.3 เป็นอันเสร็จขั้นตอนของส่วนบรรจุอาหารและกลไกปล่อยอาหาร

ส่วนโครงสร้างเครื่องให้อาหาร

(1) ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ให้ได้ขนาดและจำนวนตามรูปต่อไปนี้

 

(2) เริ่มประกอบแผ่นพลาสวูด SideA และ Back เข้าด้วยกันดังรูปที่ 9.1 นำกระบอกสำหรับใส่ช้อน (หาซื้อได้จากห้างสรรพสินค้าทั่วไป) ยึดกับแผ่นพลาสวูดด้วยสกรูเกลียวปล่อยขนาดเล็กสำหรับรองรับส่วนบรรจุและกลไกปล่อยอาหารดังรูปที่ 9.2 จากนั้นประกอบแผ่น SideB , Bottom และ F3 เข้าด้วยกัน ก็จะได้โครงสร้างหลักที่แน่นหนา

(3) ทำบานหน้าต่างเปิดปิดสำหรับซ่อมบำรุงโดยนำแผ่น F1 มาติดบานพับขนาดเล็กเข้ากับแผ่น SideB จำนวน 2 ตัว ดังรูปที่ 10.1 และติดตั้งบานพับในแนวราบดังรูปที่ 10.3 จากนั้นนำแม่เหล็กถาวรยึดกับแผ่น SideA ด้านในสำหรับดูดบานพันที่ติดไว้ในแนวราบดังรูปที่ 10.4 เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวล็อกบานหน้าต่าง

(4) เจาะแผ่น F2 เป็นช่องเพื่อติดตั้งโมดูลวัดระยะทางที่เราจะใช้เป็นตัวตรวจจับแมวดังรูปที่ 11.2 จากนั้นติดตั้งเข้ากับโครงสร้างด้วยกาวร้อน

(5) ตัดพลาสวูดเป็นก้านเล็กๆ แล้วยึดกับก้านของเซอร์โวมอเตอร์ดังรูปที่ 12.1 จากนั้นนำส่วนบรรจุอาหารและกลไกใส่ลงไปในกระบอกเก็บช้อนจะเห็นลูกบอลพลาสติกยื่นลงมาด้านล่าง ให้หาตำแหน่งที่ก้านพลาสวูดสามารถตีโดนลูกบอลได้ จากนั้นติดตั้งเซอร์โวมอเตอร์ในตำแหน่งดังกล่าวด้วยปืนกาวดังรูปที่ 12.2

(6) ติดตั้งแผงวงจรเชื่อมต่อเข้ากับด้านในบานหน้าต่าง เจาะรูด้านบนของบานหน้าต่างเพื่อติดตั้งแผงวงจร ZX-LED เพื่อใช้เป็นไฟแสดงสถานะเมื่อเซอร์โวมอเตอร์ทำงานดังรูปที่ 13.1 และสุดท้ายติดตั้งแผงวงจร ZX-SWITCH ไว้ด้านขวามือนอกตัวเครื่องสำหรับเป็นสวิตช์กดเทอาหารด้วยตัวเอง อ้อ! เกือบลืมแผ่น Tray ให้นำไปติดตั้งไว้ใต้ลูกบอลด้วยปืนยิงกาวทำมุมเอียงลงมาเพื่อใช้เป็นถาดบังคับให้อาหารไหลลงมาในถ้วยน้องเหมียวพอดีของผมใช้วงเวียนคัตเตอร์ตัดให้โค้งรับกับถ้วยดังรูปที่ 13.3 และ 13.4

สำหรับส่วนโครงสร้างก็มีเพียงเท่านี้ ต่อไปมาดูส่วนของการพัฒนาโปรแกรมกันบ้าง

การพัฒนาโปรแกรมควบคุม

สำหรับซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาโปรแกรมนี้ ผมใช้ Arduino เวอร์ชั่น 0022 ดาวน์โหลดได้จาก www.arduino.cc/en/Main/Software มีให้เลือกใช้ทั้ง Windows, MAC และ Linux

เมื่อติดตั้งซอฟต์แวร์เรียบร้อยแล้ว ให้เรียกโปรแกรมขึ้นมาแล้วเลือกประเภทของบอร์ดที่ต้องการใช้ ให้คลิกที่ Tools > Board > Arduino Mini ดังรูปที่ 14 และหากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไม่มีพอร์ตอนุกรมจะต้องใช้ตัวแปลงพอร์ต หากใช้ UCON-232 ของ INEX จะมีไดรเวอร์มาให้ในชุด แต่ในที่นี้ผมใช้ UCON-4 ที่มีหัวเป็นขั้วต่อพอร์ต USB และปลายเป็นปลั๊ก

โมดูล่าร์ 4 ขาที่เคยแนะนำการสร้างใน TPE ฉบับที่ 10 โดยต้องดาวน์โหลดไดรเวอร์ที่ http://www.parallax.com/tabid/530/Default.aspx มาติดตั้ง

เมื่อติดตั้งไดรเวอร์และเสียบ UCON-4 เข้ากับจุดต่อ USB ของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ให้เลือกพอร์ตให้ถูกต้อง หากเป็นเครื่อง MAC ให้ไปที่ Tools > Serial Port > /dev/tty.usbserial-A600eR3w ดังรูปที่ 15 หากเครื่องที่ใช้เป็น Windows ก็ทำเหมือนกันแต่จะเป็นการเลือกพอร์ต com แทน

 

 

เมื่อตั้งค่าต่างๆ เรียบร้อยแล้วให้นำโมดูล POP-168 ติดตั้งบนแผงวงจรเชื่อมต่อให้ถูกต้อง จากนั้นนำปลายสายอีกด้านต่อเข้ากับแจ็ก RJ-11 ที่ติดตั้งบนแผงวงจรเชื่อมต่อ จากนั้น ดาวน์โหลดโค้ดโปรแกรม catfeeder.pde

หลังจากดาวน์โหลดมาแล้วให้เรียกเปิดด้วยซอฟต์แวร์ Arduino แล้วทำการคอมไพล์โดยการกดปุ่ม เสร็จแล้วเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 7.5V  เพื่อจ่ายไฟเลี้ยงเข้าระบบ จะเห็น LED สีเขียวบนโมดูล POP-168 สว่างขึ้น เมื่อทุกอย่างพร้อม ให้ทำการกดสวิตช์กดติดปล่อยดับบนโมดูล POP-168 ค้างไว้ ตามด้วยการกดสวิตช์ RESET บนแผงวงจรเชื่อมต่อหนึ่งครั้งแล้วปล่อย ตามด้วยการปล่อยมือจากสวิตช์กดติดปล่อยดับบนโมดูล POP-168 จะเห็น LED สีน้ำเงินสว่างขึ้น แสดงว่าโมดูล POP-168 พร้อมรับโปรแกรมแล้ว ให้กดปุ่ม Upload ที่หน้าจอ เพื่ออัปโหลดโปรแกรมลงโมดูล POP-168

การทำงานของโปรแกรม

หลังจากอัปโหลดโปรแกรมเสร็จแล้ว ให้กดสวิตช์ RESET บนบอร์ดควบคุม โปรแกรมจะเริ่มทำงาน โดยรูปที่ 16 เป็นโฟลวชาร์ตแสดงการทำงานของโปรแกรมโดยจะเริ่มตรวจสอบเงื่อนไขหลัก 2 เงื่อนไขได้แก่

1. ตรวจสอบค่าจาก GP2D120 (เซนเซอร์วัดระยะทาง) ที่เราได้กำหนดไว้ในโปรแกรมคือ 270 หากเทียบเป็นระยะทางก็ได้ประมาณ 8 ซม. เมื่อรับค่าได้มากกว่าหมายความว่า มีวัตถุเข้ามาในระยะทำการ ให้เซอร์โวมอเตอร์หมุนไป-กลับเพื่อตีลูกบอลเปิดช่องให้อาหารหล่นลงมา แล้วหยุดหน่วงเวลา 25 วินาที เพื่อรอให้แมวกินอาหารเสร็จ เมื่อครบเวลาที่กำหนดแล้ว โปรแกรมจะกลับไปเริ่มตรวจสอบใหม่

2. ตรวจสอบการกดสวิตช์ที่แผงวงจร ZX-SWITCH ค่าที่ได้เป็น 0 หรือไม่ หากเป็น 0 จะสั่งให้เซอร์โวมอเตอร์หมุนเพื่อตีลูกบอลแล้วค้างไว้ จนกว่าจะปล่อยสวิตช์หรือมีค่าเป็น 1 เซอร์โวมอเตอร์จึงหมุนกลับ

อย่างไรก็ตาม แม้ GP2D120 (เซนเซอร์วัดระยะทาง) จะตรวจสอบพบวัตถุกีดขวางและเข้าสู่คำสั่งหน่วงเวลา 25 วินาที แต่หากขณะนั้นมีการกด ZX-SWITCH เกิดขึ้น โปรแกรมจะกระโดดไปสู่เงื่อนไขที่ 2 โดยไม่สนใจการหน่วงเวลานั้น แต่ยังคงนับเวลาของการหน่วงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปล่อย ZX-SWITCH หากยังอยู่ในช่วงของการหน่วงเวลาก็จะกลับมาหน่วงเวลาต่อ

การปรับแต่ง

จากการทดสอบพบว่า อาหารที่หล่นลงมาไม่สม่ำเสมอแต่มากสุดอยู่ที่ประมาณ 10 เม็ด และน้อยสุดคือไม่ออกมาเลยเนื่องจากรูปทรงของอาหารแมวเป็นรูปดาวทำให้บางจังหวะเกิดการติดขัด อาจต้องรอรอบการหมุนของเซอร์โวมอเตอร์วนมาอีกรอบ นั่นหมายความว่าแมวต้องมาดมที่ถ้วยอาหารอีกครั้งดังนั้นจึงไม่ควรหน่วงเวลานานเกิน 30 วินาที

การนำไปใช้งาน

เปิดฝาส่วนบรรจุอาหารแล้วใส่อาหารลงไปตามต้องการ เปิดสวิตช์ค้างเอาไว้เพื่อความสะดวกในการใช้งาน จากนั้นเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 7.5V รอแมวมาดมถ้วยใส่อาหาร GP2D120 จะพบสิ่งกีดขวางนั่นก็คือเจ้าเหมียว ระบบทำการจ่ายอาหารให้ ส่วน ZX-SWITCH มีไว้สำหรับทดสอบหรือกดปล่อยอาหารด้วยตนเอง

หวังว่าคงไม่ยุ่งยากเกินไปนะครับสำหรับคนรักแมวทั้งหลาย งานนี้อาจต้องฝึกเจ้าเหมียวนิดหน่อยให้มันเกิดความเคยชินกับเสียงฟืดฟาดของเซอร์โวมอเตอร์ แต่เจ้าเหมียวของผมแทบไม่ต้องฝึก มันไม่สนใจอะไรทั้งนั้น เพราะฉันจะกินซะอย่าง

*******************************************************************
รายการอุปกรณ์
*******************************************************************

ตัวเก็บประจุ
C1 – 0.1μF 67V โพลีเอสเตอร์
C2, C4, C5 – 470μF 25V อิเล็กทรอไลต์ 3 ตัว
C3 – 10μF 16V

อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 – LM2940-5.0
BD1 – ไดโอดบริดจ์ตัวถังกลมขนาด 1A 50V

อุปกรณ์ขั้วต่อและสวิตช์
K1 – แจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียแบบลงแผ่นวงจรพิมพ์
K2 – แจ็กโมดูล่าร์ RJ-11 แบบลงแผ่นวงจรพิมพ์
S1 – สวิตช์เลื่อน 3 ขา ลงแผ่นวงจรพิมพ์
S2 – สวิตช์กดติดปล่อยดับแบบลงแผ่นวงจรพิมพ์
J1 ถึง J3 – ขั้วต่อ JST 3 ขา สำหรับติดตั้งแผงวงจรต่างๆ 3 ตัว
คอนเน็กเตอร์ IDC 3 ขา ตัวผู้ ใช้เป็นขั้วต่อเซอร์โวมอเตอร์
คอนเน็กเตอร์ IDC 12 ขาตัวเมียแถวเดี่ยว สำหรับติดตั้งโมดูล POP-168 จำนวน 2 ตัว

อื่นๆ
โมดูล GP2Y0A41 , แผงวงจรสวิตช์ ZX-01ZX-LED, เซอร์โวมอเตอร์มาตรฐาน, สายต่อวงจร, UCON-4 ตัวแปลงพอร์ต USB เป็นพอร์ตอนุกรม

อุปกรณ์โครงสร้างและวัสดุการประดิษฐ์
กระป๋องพลาสติกเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 8.5 ซ.ม., กระบอกเก็บช้อน, ขวดน้ำดื่มพลาสติก, ลูกบอลพลาสติกหรือลูกปิงปอง, ตะขอเกลียวตัว L ขนาดเล็ก 2 ตัว, แม่เหล็กถาวรขนาดเล็ก, บานพับขนาดเล็ก, แผ่นพลาสวูดขนาด A4 จำนวน 5 แผ่น, กาวร้อน, ปืนยิงกาวพร้อมกาวแท่ง


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Electronics Arts Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

กระถางต้นไม้สื่ออารมณ์

มาฝึกให้เด็กๆ สนุกกับการดูแลต้นไม้ในบ้าน ไม่ให้เหี่ยวเฉาด้วยโครงงานนี้ Emotional POT ที่เหมือนมีต้นไม้เป็นเพื่อน โดยมันจะแสดงหน้าเศร้าบอกเรายามที่ดินเริ่มแห้ง และยิ้มยามดินชุ่มชื้น

โครงงานนี้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความชื่นชอบส่วนตัวจริงๆ ครับ เพราะการปลูกต้นไม้ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลายยามละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี และก็เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงรู้สึกเช่นเดียวกันที่สำคัญหากทำไว้ให้เด็กๆ ได้เล่นก็น่าจะเป็นของเล่นที่สอนให้พวกเขาได้รู้จักฝึกดูแลต้นไม้ได้อีกด้วย

เจ้า Emotional POT นี้ใช้หลักคิดง่ายๆ คือ เราจะตรวจสอบสภาพของดิน เมื่อดินชื้นจะให้มันแสดงหน้ายิ้ม และเมื่อดินแห้งจะต้องแสดงหน้าเศร้าหรือบึ้งนั่นเอง โดยใช้อุปกรณ์มาต่อกันเป็นวงจรง่ายๆ ที่นักอิเล็กทรอนิกส์มือใหม่และเก่าทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพื่อทำหน้าที่ตรวจจับความต้านทานของดิน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาออกแบบหน้าตากันเสียก่อนว่าจะให้ยิ้มยังไง และบึ้งแบบไหนจะได้รู้ว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

การออกแบบหน้าตา
สำหรับตัวต้นแบบผมใช้ LED แบบความสว่างสูงสีฟ้านำมาจัดเรียงกันบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบจุดไข่ปลาขนาดเล็กดังรูปที่ 1 จากนั้นบัดกรีขา K (แคโทด) ของ LED ทุกดวงเข้าด้วยกัน ส่วนขา A (แอโนด) บัดกรีแยกเป็นชุด จะได้ LED ทั้งหมด 5 ชุด ดังรูปที่ 2 เมื่อทำหน้าตาเสร็จแล้วก็มาดูวงจรที่จะใช้งานกันสักนิดนะครับ ดังรูปที่ 3

การทำงานของวงจร

วงจรนี้จะอาศัยทรานซิสเตอร์ Q1 และ Q2 เป็นตัวควบคุมการทำงานโดยที่จุด P ทั้งสองจุดจะถูกปักลงดิน โดยหากดินแห้งก็จะมีความต้านทานมาก กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านดินที่จุด P ได้ ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้ขา B ของ Q2 แทน ทำให้ Q2 ทำงานขับ Ry1 ให้ทำงาน รีเลย์ทำการต่อหน้าสัมผัส NO จ่ายไฟให้กับ LED 4 ดวงของชุดที่แสดงหน้าบึ้ง
ในทางกลับกันหากดินมีความชื้นค่าความต้านทานในดินต่ำ จึงมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจุด P ไปเข้าขา B ของ Q1 ทำให้ Q1 ทำงานและ Q2 จึงหยุดทำงาน หน้าสัมผัสของรีเลย์จึงกลับมาอยู่ที่ NC ซึ่งมีแรงดันจ่ายไปยัง LED 4 ดวงที่แสดงเป็นหน้ายิ้ม สำหรับความไวในการตรวจจับความชื้นปรับได้จาก VR1 ส่วน LED อีก 3 ชุดที่เหลือไม่มีผลใดๆ ต่อการทำงานของวงจรครับ เพราะมันจะติดตลอดเวลาที่เราจ่ายไฟเข้าวงจร

การติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์

เนื่องจากโครงงานนี้มีอุปกรณ์ไม่มาก จึงไม่ต้องเสียเวลาทำแผ่นวงจรพิมพ์ โดยวงจรตรวจจับความชื้นตัวต้นแบบนี้ผมใช้แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบไอซีบอร์ดมีลักษณะเป็นลายทองแดงแบ่งเป็นแถวยาวหลายแถว โดยมีจุดที่ต้องทำให้ลายทองแดงขาดจากกัน 3 จุด อยู่ใต้ตัวถังของรีเลย์ และจุดเชื่อมต่อที่เป็นเส้นสีดำตามรูปที่ 4 ใช้เศษขาอุปกรณ์ก็ได้ นอกนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับให้ดูการวางอุปกรณ์ตามรูปที่ 4 ได้เลย เมื่อบัดกรีอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วให้ตรวจดูความเรียบร้อย

โดยเฉพาะช่องระหว่างลายทองแดงที่มักจะมีเศษตะกั่วจากการบัดกรีไปติดอยู่ อาจใช้แปรงขัดออกก็ได้ ต่อไปทำการเชื่อมแผงวงจรส่วนหน้าเข้ากับส่วนควบคุมด้วยสายแพ 6 เส้น โดยเผื่อความยาวของสายแพให้เท่ากับความสูงของกระถางก็เป็นอันเรียบร้อย พร้อมรับการทดสอบ

ทดสอบการทำงานของวงจร

เริ่มทดสอบโดยการนำอะแดปเตอร์ไฟตรง 6 ถึง 9V มาต่อเพื่อจ่ายไฟ LED จำนวน 4 ชุดคือ คิ้วซ้าย,คิ้วขวา,ตา+กึ่งกลางปาก และ หน้าบึ้ง จะต้องติด และเมื่อนำปลายสายของจุด P มาสัมผัสกัน LED ชุดปากยิ้มจะติดแทน แสดงว่า วงจรพร้อมทำงานแล้วครับ ต่อไปก็เป็นการสร้างกระถางน่ารักๆ ให้วงจรพักพิง

การสร้างกระถางต้นไม้
ในขั้นตอนนี้ผมถือว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความอดทนพอสมควร แต่โชคดีที่ในโลกนี้มีพลาสวูด จึงทำให้งานของผมเสร็จได้อย่างรวดเร็ว มาเริ่มกันเลยครับ
(1) นำพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 ที่ซื้อมาจาก TPE Shop ตัดตามแบบดังรูปที่ 5 นำชิ้นส่วนที่เป็นผนังของกระถางทั้ง 4 ชิ้นมาเฉือนขอบด้านข้างด้วยคัตเตอร์ให้ได้มุมประมาณ 45 องศา จากนั้นเจาะช่องของชิ้น A ที่จะใช้เป็นด้านหน้า แล้วนำพลาสวูดทั้ง 4 ชิ้น (A, B, C และ D) มาประกอบกันโดยใช้กระดาษกาวแปะเพื่อช่วยประคองไว้ดังรูปที่ 6.3 จากนั้นยึดด้วยกาวร้อนหรือกาวตราช้างก็จะได้โครงสร้างกระถางที่แน่นหนา ต่อไปอุดร่องด้านในกระถางเพื่อเสริมความแข็งแรงด้วยกาวซิลิโคนสีขาวแบบแห้งเร็วดังรูปที่ 6.4 เสร็จแล้วรอให้ซิลิโคนแห้งประมาณ 1 ชั่วโมง
(2) นำพลาสวูดส่วนฐาน E มาบากเป็นร่องขนาด 5 x 20 มม. จากนั้นนำแผงวงจรแสดงอารมณ์และสายไฟสำหรับวัดความต้านทานในดินมาพาดไว้ที่ปากกระถางก่อน แล้วจึงวางแผ่นฐานลงไปในกระถางดังรูปที่ 7 โดยแผ่นฐานนี้จะไม่ลงไปสุดก้นกระถาง เพราะเราต้องการเหลือพื้นที่ส่วนล่างไว้ติดตั้งแผงวงจรควบคุมนั่นเอง จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แผ่นฐาน E ก็จะเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแรงของกระถางได้เป็นอย่างดี
(3) การสร้างห้องให้กับแผงวงจรแสดงอารมณ์ ให้ตัดแผ่น PVC สีขาวชนิดที่แสงผ่านได้ให้มีขนาดกว้างกว่าช่องด้านหน้าของผนังกระถางเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นแผ่นหน้ากากกรองแสง แล้วใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดด้านในกระถางดังรูปที่ 8.1 ต่อไปติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ด้วยการนำแผ่นพลาสวูด F ที่มีรูปทรงเหมือนผนังกระถางแต่สั้นกว่า (ดูจากแบบรูปที่ 5) มายึดเข้ากับแผ่นพลาสวูด G ด้วยกาวร้อน จากนั้นใช้ดอกสว่านขนาด 3 มม. คว้านรูของแผ่นวงจรพิมพ์เพื่อให้สามารถสอดสกรูเกลียวปล่อยขนาดจิ๋วเข้าไปได้ จากนั้นก็ขันสกรูยึดแผงวงจรแสดงอารมณ์ดังรูปที่ 8.2 แต่อย่าให้แน่นมากเพราะจะทำให้แผ่นวงจรพิมพ์แตกหักได้ ต่อไปให้วางแผ่นพลาสวูด F ที่ติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ให้ระยะห่างระหว่าง LED กับแผ่นPVC ห่างกันเล็กน้อยประมาณ 2 ถึง 3 มม. จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แล้วนำกาวซิลิโคนมาอุดตามร่องเพื่อความเรียบร้อยและกันน้ำรั่วซึมในกรณีที่นำกระถางไปปลูกพืชน้ำ
(4) การติดตั้งแผงวงจรควบคุมให้คว่ำกระถางลงแล้วใช้ดอกสว่าน 3 มม. คว้านรูแผ่นวงจรพิมพ์ จากนั้นนำสกรูเกลียวปล่อยตัวจิ๋วขันยึดเข้าไปได้เลย ต่อไปเจาะรูเพื่อติดตั้งตัวต้านทานปรับค่าได้และแจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียดังรูปที่ 9.2
(5) ทำฝาปิดด้านบนด้วยแผ่นพลาสวูด H ขนาด 3 x 8.9 ซม. และพลาสวูด i และ J เป็นขา 2 ข้างสำหรับเป็นตัวล็อกไม่ให้ฝาหลุดออกมาโดยง่าย นำมาประกอบกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 10.1 เพียงเท่านี้คุณก็จะได้กระถางต้นไม้เล็กๆ น่ารัก ที่สร้างด้วยฝีมือตัวเองแล้วล่ะครับ
การนำไปใช้งานและปรับแต่ง
หาพรรณไม้สำหรับปลูกในร่ม เช่น ว่านต่างๆ บอน เฟิร์น พลูด่าง ฯลฯพรรณไม้พวกนี้จะไม่มีรากแก้วและไม่ต้องการแสงแดดมาก จึงเหมาะที่จะปลูกในร่ม การให้น้ำก็จะให้เมื่อดินแห้งเท่านั้น จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโครงงานนี้
 
เมื่อเตรียมพรรณไม้แล้ว ก็นำดินปลูกใส่ลงในกระถาง ทำการเสียบแจ็กอะแดปเตอร์เข้าที่ด้านหลังกระถาง หากดินที่ใส่ลงในกระถางแห้ง กระถางจะต้องแสดงหน้าบึ้ง แต่หากพบว่าแสดงหน้ายิ้มอยู่ให้ค่อยๆ ปรับตัวต้านทานปรับค่าได้ด้านหลังกระถาง เพื่อปรับความไว้ในการตรวจจับว่าต้องการให้ดินแห้งขนาดไหนจึงจะแสดงหน้าบึ้ง ในทางตรงกันข้ามเมื่อลองฉีดน้ำ (แนะนำให้ใช้กระบอกฉีดเอานะครับเพราะหากใช้วิธีรดน้ำอาจมีปริมาณน้ำมากเกินไปทำให้ต้นไม้เฉาได้) กระถางจะแสดงหน้ายิ้มก็เป็นอันสำเร็จพร้อมใช้งาน จากนั้นนำพรรณไม้ลงปลูกได้เลยครับ
ทิ้งท้ายอีกนิดครับ จากหลักการทำงานของวงจร ท่านสามารถนำวงจรนี้ไปใช้ในงานระบบใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน เพราะโครงงานนี้ใช้รีเลย์เป็นตัวจ่ายไฟให้ LED ดังนั้นหากเปลี่ยนจากการจ่ายไฟให้ LED เป็นจ่ายให้ปั้มน้ำขนาดเล็กแทนเพื่อรดน้ำต้นไม้ในสวนหน้าบ้านของคุณก็ย่อมได้ แต่อย่าลืมว่า ปั้มน้ำต้องการกระแสไฟฟ้าสูงกว่า LED มาก ดังนั้นต้องคำนึงถึงการทนกระแสที่หน้าสัมผัสของรีเลย์ด้วย ขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกต้นไม้ครับ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Electronics Arts คุณทำเองได้ (DIY)

Creativity with Name Card

ใส่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มคุณค่าให้นามบัตรของคุณ

นามบัตรใครคิดว่าไม่สำคัญ เพราะในโลกของธุรกิจ คุณจำเป็นต้องมีสิ่งบ่งบอกความเป็นตัวตนว่าคุณคือใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน นามบัตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ในเมื่อมันมีความสำคัญอย่างมากและใครๆ ก็ต้องการแจกนามบัตรของตนให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ดังนั้นการออกแบบให้นามบัตรของเราควรค่าแก่การจดจำจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

จึงขอแนะนำไอเดียการออกแบบนามบัตรให้มีประโยชน์มากขึ้นโดยการเพิ่มความสามารถให้มันทำหน้าที่เป็นไฟฉาย โดยใช้อุปกรณ์หลักเพียง 2 ตัว คือแบตเตอรี่ CR2032 ขนาด 3V และ LED 3 มม. หนึ่งดวง

เตรียมอุปกรณ์
1. แบตเตอรี่ CR2032 ขนาด 3V
2. LED 3 มม. สีตามใจชอบ
3. กระดาษการ์ด 190 แกรม
4. เทปกาวสองหน้าอย่างบาง
5. กระดาษไขหรือกระดาษสา ขนาด 4×4 ซม.

ขั้นตอนการประดิษฐ์
(1) ออกแบบนามบัตรให้มีขนาดมาตรฐาน แต่มีรูปทรงดังรูปที่ 1 แล้วสั่งพิมพ์ลงบนกระดาษการ์ด 190 แกรม จะได้นามบัตรที่มีลักษณะเหมือนนามบัตร 2 ใบต่อชนกัน โดยมีปีกด้านข้าง จากนั้นตัดและเจาะรูกลมสำหรับให้แสงจาก LED ส่องสว่างออกมาได้ แล้วพับให้ได้รูปทรงดังรูปที่ 2

(2) ติดกระดาษไขทับรูด้านในเป็นตัวกรองแสง LED ด้วยเทปกาวสองหน้าอย่างบางดังรูปที่ 3

(3) นำแบตเตอรี่ CR2032 มาติดเทปด้านขั้วบวกไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อกันขาแอโนดของ LED ไม่ให้สัมผัสกับขั้วบวกของแบตเตอรี่ดังรูปที่ 4.1 จากนั้นนำ LED มาต่อคร่อมเข้ากับแบตเตอรี่ดังรูป 4.2 ติดเทปกาวใสยึดขาแคโถดกับขั้วลบของแบตเตอรี่ แล้วติดลงไปให้ตรงกับตำแหน่งของสัญลักษณ์ที่ได้ออกแบบไว้ดังรูปที่ 4.3

4. ติดเทปกาวสองหน้าบนปีกทั้ง 3 ด้านของนามบัตร ลอกแถบกาวออกแล้วพับประกบกันก็จะได้นามบัตรไฟฉายดังรูปที่ 4.4 แล้วครับ

เพียงง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน แต่เชื่อมั้ยครับว่ามันมีประสิทธิภาพในการสร้างการจดจำได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยผู้รับก็คงยังไม่ทิ้งจนกว่าแบตเตอรี่จะหมด แต่การจะแจกนามบัตรให้ใครก็ควรดูหน้าดูตาคนรับหน่อยก็แล้วกัน เพราะนามบัตรของเราไม่ใช่ใบละบาทนะครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Exit mobile version