Alarm Touch

Alarm Touch

สร้างสิ่งประดิษฐ์อันน่าฉงน แค่สัมผัสเส้นด้ายก็ส่งเสียงเตือน ไม่ต้องใช้เซนเซอร์อะไรให้ยุ่งยาก ติดตั้งเข้ากับกระเป๋าสะพายของน้องหนูกันหาย ใครหยิบเป็นต้องร้อง ดีมั้ยล่ะครับ หรือจะเอาไปแขวนไว้ที่ลูกบิดประตู
พอใครมาจับลูกบิด ก็จะส่งเสียงเพลงเตือนไม่ต้องเคาะประตูเลย

บ่อยครั้งที่บุตรหลานของท่าน มักประสบกับปัญหาของในกระเป๋าหายขณะอยู่ที่โรงเรียน ในเมื่อเราแก้ที่คนอื่นไม่ได้ ก็มาคิดวิธีเตือนง่ายๆ กันดีกว่า มองไปมองมา เจอด้ายนำไฟฟ้าที่ยังเหลืออยู่บนโต๊ะทำงาน เลยปิ๊งไอเดียในการใช้ด้ายนำไฟฟ้ามาเย็บไว้กับกระเป๋าในส่วนที่คนจะต้องจับ ก็คือหูหิ้ว แล้วก็ออกแบบวงจรอีกนิดหน่อยที่สามารถตรวจจับการสัมผัสได้ เพื่อซ่อนไว้ในกระเป๋า แล้วเอาด้ายนำไฟฟ้ามามัดเอาไว้ตรวจจับ

การทำงานของวงจร
จากวงจรในรูปที่ 1 เริ่มจากแหล่งจ่ายไฟที่ได้มาจากแบตเตอรี่ 4 ก้อนได้แรงดัน 6V ทำหน้าที่เลี้ยงวงจรทั้งหมดรวมทั้ง IC1 เบอร์ LM555 ที่ทำหน้าที่ 2 ประการด้วยกันคือ รับการกระตุ้นจากการสัมผัสและหน่วงเวลาเพื่อให้ไอซีเสียงเพลงทำงานด้วยระยะเวลาที่ต้องการ


รูปที่ 1 วงจรสมบูรณ์ของ Alarm Touch

ส่วนรับการกระตุ้นจากการสัมผัสจะมีตัวต้านทาน R1 และตัวเก็บประจุ C1 ต่อเป็นวงจรกรองความถี่ต่ำผ่าน เพื่อไม่ให้วงจรทำงานเมื่อเกิดสัญญาณรบกวนจากภายนอก เมื่อได้รับการกระตุ้น IC1 จะให้ขา 3 มีลอจิกเป็น “1” (แรงดันใกล้เคียงไฟเลี้ยง ) เป็นระยะเวลาประมาณ 11 วินาที ซึ่งคำนวณมาจากสูตรการหาค่าคาบเวลาของไอซี LM555

ค่าคาบเวลา = 1.1 x R2 x C2
แทนค่า C2 = 100 µF = 100 x 10-6
R2 = 100 kΩ
ค่าคาบเวลา = 1.1 x (100 x 10-6) x (100 x 103 )
= 11 วินาที

ซึ่งค่าคาบเวลานี้จะใช้เพื่อจ่ายไฟให้กับ IC2 ไอซีเสียงเพลงเบอร์ UM66 ขับเสียงเพลงไประยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะหยุดทำงาน โดยปกติไอซี UM66 สามารถขับลำโพงได้ทันทีโดยไม่ต้องต่อวงจรเพิ่ม แต่เสียงจะดังเบาเกินไปในที่นี้จึงใช้ทรานซิสเตอร์ Q1 เบอร์ BC547 ทำหน้าที่ขยายสัญญาณเสียง โดยมีตัวต้านทาน R3 ทำหน้าที่จำกัดกระแส

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/4w ±5% หรือ ±1%
R1 : 10kΩ 1 ตัว
R2 : 100kΩ 1 ตัว
R3 : 4.7kΩ 1 ตัว

ตัวเก็บประจุ
C1 : 33pF เซรามิก 1 ตัว
C2 : 100μF 16V อิเล็กทรอไลต์ 1 ตัว

อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 : ไอซี LM555 1 ตัว
IC2 : ไอซีเสียงเพลง UM66 1 ตัว
Q1 : ทรานซิสเตอร์ BC547 1 ตัว

อื่นๆ
ซ็อกเก็ตไอซี 8 ขา 1 ตัว
ลำโพง 0.5Ω 8W 1 ตัว
กะบะถ่านขนาด AAA 4 ก้อน 1 ตัว
แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ 1 แผ่น

การสร้าง
จากวงจรที่ไม่ซับซ้อน ใช้แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แผ่นเดียวก็เพียงพอ ก่อนอื่นหาแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ลักษณะดังแสดงในรูปที่ 2 ใช้สว่านเซาะเอาลายทองแดงออกบางส่วน จากนั้นตัดแผ่นวงจรพิมพ์ให้ครอบคลุมลายทองแดงตามเส้นประก็จะได้ขนาดที่เราจะนำไปใช้ลงอุปกรณ์


รูปที่ 2 ตัดแผ่นวงจรพิมพ์ตามเส้นประ (ด้านลายทองแดง)


รูปที่ 3 แสดงตำแหน่งการวางอุปกรณ์และการตัดลายทองแดง

การติดตั้งอุปกรณ์ลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ เริ่มจากลวดจั๊มก่อน แนะนำให้ใช้ขาของตัวต้านทาน แต่สำหรับจุดที่อยู่ใกล้กันมากๆ อาจใช้ตะกั่วถมลายทองแดงทั้งสองข้างให้เชื่อมถึงกันก็ได้ อ้อ อย่าลืมบัดกรีสายต่อระหว่างขา 8 และขา 4 ของไอซี LM555 ที่แผ่นวงจรพิมพ์ด้านล่างด้วยนะครับ

จากนั้นบัดกรีตัวต้านทาน,ตัวเก็บประจุ,ซ็อกเก็ตไอซี,ไอซี UM66 และทรานซิสเตอร์ตามลำดับ แล้วจึงค่อยบัดกรีสายไฟที่เชื่อมต่อไปยังกะบะถ่าน และลำโพง สุดท้ายให้ใช้ขาอุปกรณ์ทำเป็นห่วงดังรูปที่ 4 ตรงจุดสัมผัส จัดวางอุปกรณ์ทั้งหมดลงบนแผ่นเพลตพลาสติกเพื่อให้เป็นชิ้นเดียวกันจะได้สะดวกเวลานำไปใส่ในกระเป๋า

รูปที่ 4 การต่ออุปกรณ์เพื่อนำไปใช้งานจริง

จับ Alarm Touch ลงกระเป๋า
(1) เริ่มด้วยการหากระเป๋าใบเก่งของน้องหนู จากนั้นหาเศษผ้าที่มีสีโทนเดียวกันมาทำซองผ้าให้กับแผงวงจร อย่าลืมเย็บเก็บชายผ้ากันมันหลุดลุ่ยด้วย


รูปที่ 5 เย็บเป็นถุงผ้า

(2) เย็บ​แถบ​ตีนตุ๊กแก​ติด​ไว้​ด้านหลัง​ของ​ซอง​ผ้า​และ​อีก​ชิ้น​ที่​เป็น​คู่​ของ​มัน​ก็​เย็บ​ติด​ไว้​ด้านใน​ของ​กระเป๋า​ดัง​รูป​ที่ 6


รูปที่ 6 เย็บตีนตุ๊กแกติดซองผ้าและด้านในกระเป๋า

(3) นำ​ผ้า​มา​เย็บ​เป็น​ปลอกหุ้ม​ที่จับ​ของ​กระเป๋า​ส่วน​ที่​เอา​ไว้​หิ้ว​นั่นแหละ​ครับ แล้ว​ใช้​แถบ​ตีนตุ๊กแก​ติด​อีก​เช่นเคย แต่​ที่​พิเศษ​หน่อย​ก็​คือ​ให้​ใช้​ด้าย​นำ​ไฟฟ้า​เย็บ​เดิน​แนว​ดัง​รูป​ที่ 7 เหลือ​ปลาย​ด้าย​นำ​ไฟฟ้า​ให้​ยาว​ประมาณ 15 ซม.


รูปที่ 7 หุ้มปลอกผ้าตรงหูจับของกระเป๋า

(4) ร้อยปลายด้ายนำไฟฟ้าที่เหลือไว้เข้ากับเข็มเย็บผ้าเบอร์ 7 แทงทะลุกระเป๋าเข้าไป เพื่อนำไปผูกกับขาอุปกรณ์ที่ทำเป็นห่วงไว้บนแผงวงจร เป็นอันเสร็จสิ้น


รูปที่ 8 ผูกด้ายนำไฟฟ้าที่แทงทะลุเข้ามาในกระเป๋าเข้ากับห่วงบนแผงวงจรที่ทำไว้

(5) ใส่แบตเตอรี่ขนาด AAA 3 ก้อนลงในกะบะถ่านให้เรียบร้อย แล้วใส่แผงวงจร Alarm Touch เข้าไปในถุงผ้า แปะเข้ากับตีนตุ๊กแกที่เย็บไว้ในขั้นตอนที่ 2


รูปที่ 9 สอดแผงวงจรที่ผู้ด้ายนำไฟฟ้าแล้วเข้าไปในถุงผ้า


รูปที่ 10 รูปหลังจากติดถุงผ้าเข้าไปในกระเป๋าแล้ว

ประโยชน์ในการนำไปใช้งาน
(1) นำไป​แขวน​ไว้​กับ​ลูกบิดประตู​เมื่อ​มี​คน​มา​จับ​ลูกบิดประตู​อีก​ด้าน​หนึ่ง วงจร​ก็​จะ​ส่งเสียง​เพลง​ทำให้​เรา​รู้ว่า​มี​คน​กำลัง​จะ​มาเยี่ยม​แล้ว

(2) ใช้ในที่ส่วนรวม เช่น วางไว้ในล็อกเกอร์ หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีชอบมารื้อของในกระเป๋า พอจับที่หูหิ้วของกระเป๋า Alarm Touch ก็จะส่งเสียงให้เรารู้ตัว

เพียงแค่​วงจร​ง่ายๆ กับ​อุปกรณ์​ไม่​กี่​ตัว​แถม​ยัง​ไม่​ต้อง​ทำ​แผ่น​วงจร​พิมพ์ ก็​สามารถ​สร้าง​เป็น​อุปกรณ์​เตือน​คน​มือบอน​ได้​แล้ว​ครับ