depa MOU MI มุ่งส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล  ครอบคลุม 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

depa MOU MI มุ่งส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ครอบคลุม 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

29 ธันวาคม 2564กรุงเทพมหานคร – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จับมือ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (MI) ลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล มุ่งยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สู่ความแข็งแกร่งใน 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) พร้อมด้วย นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute : MI) ร่วมลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัล มุ่งยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region, GMS) โดยมี นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ depa และ นางสาวพรวิไล ภูมิรา Partnership and Resource Mobilization Manager, MI ร่วมเป็นสักขีพยาน

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย ไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมหาแนวทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จ ขยายผลสู่การพัฒนาขีดความสามารถในระดับอนุภูมิภาค รวมถึงต่อยอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมดิจิทัลผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาอย่างกว้างขวางสู่การปฏิบัติที่มุ่งเน้นให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ช่วยขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการทำงานแบบบูรณาการ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อแสดงถึงเจตจำนงที่เห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของระบบนิเวศอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในการก้าวเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัลสมัยใหม่ สู่ความแข็งแกร่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ด้าน นายสุริยัน กล่าวว่า สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ดำเนินงานภายใต้กรอบ 3 ด้าน คือ 1. การพัฒนาทางการเกษตรและการพาณิชย์ (Agricultural Development and Commercialization) 2. การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Facilitation) และ 3. พลังงานและนวัตกรรม สิ่งแวดล้อม (Sustainable Energy and Environment) โดยมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างศักยภาพในการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ให้แก่กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจการค้าชายแดน

ทั้งนี้ ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ ระบุ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน 2564 มีการส่งออกแล้ว 778,367 ล้านบาท ขยายตัว 38.06% ส่วนมูลค่าการค้ารวมทั้งส่งออกและนำเข้า 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 1,275,542 ล้านบาท โดยกระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าปี 2564 การค้าชายแดนและผ่านแดน ขยายตัว 3%  คิดเป็นมูลค่า 789,198 ล้านบาท