สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  เปิดใหญ่ศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ  ฉลอง 20 ปี

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดใหญ่ศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ ฉลอง 20 ปี

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานครบรอบ 20 ปี ชูแนวคิด “ขับเคลื่อนสู่มาตรฐานและนวัตกรรม” (Driving Toward Standardization and Innovation) พร้อมพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการทดสอบ 5 หวังรองรับการขยายงานบริการมาตรฐานและทดสอบในอนาคต หนุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสู่ Smart Electronics เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชื่อมโยงและต่อยอดไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เช่น Smart Farming, Smart Health, Smart Factory, Smart Vehicle เผยข้อมูลส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2561 มีมูลค่า 62,108.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 คาดปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 หรือมีมูลค่าราว 64,133.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกหลักจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษในงาน 20 ปี สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง “อุตสาหกรรมไทยกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตและนวัตกรรม (Thai Industry : Industry Transformation and Innovation)” ว่าสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงผันผวน โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของประชากรโลก และเข้ามามีบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่เรียกว่า Disruptive Technology เทคโนโลยีจะเข้ามาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทำให้แต่ละประเทศต้องคิดกลยุทธ์เพื่อรักษาระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศตนเอง โดยเร่งสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศในทุก ๆ ด้าน ต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ เป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับเปลี่ยนจากการให้บริการพื้นฐานเป็นบริการที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

“อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตมานานกว่า 40 ปี และเป็นห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปโดยเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น อุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ จึงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่ Smart Electronics ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงไปกับแทบทุกอุตสาหกรรมในอนาคต โดยจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ อาทิ Smart Farming, Smart Health, Smart Factory, Smart Vehicle เป็นต้น

และเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง กระทรวงฯจึงได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Industry Transformation Center : ITC ) มีการแบ่งปันเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นการลดต้นทุนการประกอบกิจการ เป็นศูนย์กลางที่ดึงความหลากหลายของหน่วยงานที่มีความชำนาญด้านการออกแบบและวิศวกรรมจากผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก จากสถาบันเครือข่ายผู้ประกอบการ จากสมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ มาให้บริการแก่ภาคเอกชน ซึ่งมีสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยร่วมที่สำคัญ และได้ดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Design Lab – EDL) เพื่อช่วยส่งเสริม พัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ครบวงจร ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเครือข่ายของศูนย์ ITC ด้วย”

นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวชี้แจงถึงข้อมูลสถานการณ์การส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ว่า ในปี 2561 ภาพรวมมีมูลค่าการส่งออก 62,108.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 แบ่งเป็น 1) สินค้าไฟฟ้า 17,491.67 ล้านเหรียญสหรัฐ(+1.01%) 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 38,063.26 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4.27%) และ 3)สินค้าไฟฟ้ากำลัง 6,553.59 ล้านเหรียญสหรัฐ(+2.63%) ทั้งนี้สัดส่วนประเทศตลาดส่งออกหลักในภาพรวม 5 อันดับ ได้แก่ อาเซียน ร้อยละ 18.47(+5.38%) สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 17.89(-2.30%) สหภาพยุโรป ร้อยละ 14.46(+8.64%) ญี่ปุ่น ร้อยละ 11.50(+12.19%) และจีน ร้อยละ 9.03(-0.49%) ตามลำดับ

นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยสินค้าไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ(+9.73%) โดยเฉพาะญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ส่วนสินค้าที่ปรับตัวลดลง อาทิ เครื่องอุปกรณ์สําหรับป้องกันวงจรไฟฟ้า(-3.19%) ปรับตัวลดลงในตลาดส่งออกหลัก อาทิ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก ตู้เย็น(-6.59%) ปรับตัวลดลงในจีนค่อนข้างมาก และญี่ปุ่นเล็กน้อย กล้องถ่ายบันทึกภาพ (-3.93%)ปรับตัวลดลงในตลาดส่งออกหลัก อาทิ จีน สหภาพยุโรป และอาเซียน เป็นต้น เนื่องจากผลกระทบมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา กับ จีน ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการปรับตัวลดลง

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาดส่งออกหลัก ยกเว้นตลาดจีนมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย อาทิ ญี่ปุ่น(+9.56) จากเครื่องโทรศัพท์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (Integrated Circuit) และเครื่องพิมพ์ เครื่องทำสำเนา เป็นต้น และสหภาพยุโรป(+8.91) จากอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (Integrated Circuit) และเครื่องพิมพ์ เครื่องทำสำเนา เป็นต้น ส่วนสินค้าไฟฟ้ากำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาดส่งออกหลัก ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกา อาทิ จีน(+19.71) จากแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้า และโซล่าเซลล์ เป็นต้น และญี่ปุ่น(+13.17) จากสายไฟฟ้า ชุดสายไฟ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และเครื่องเปลี่ยนไฟฟ้า เป็นต้น

“สำหรับแนวโน้มปี 2562 ประมาณการว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 โดยในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 และอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 ส่วนการส่งออก ในภาพรวมคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 หรือมีมูลค่าราว 64,133.26 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.55 เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกหลักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน”

ปัจจุบันอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีสถานประกอบการรวมทั้งสิ้น 2,419 ราย แบ่งเป็นขนาดเล็ก 1,503 ราย ขนาดกลาง 530 ราย และขนาดใหญ่ 386 ราย โดยสถานประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของผู้ประกอบการสัญชาติไทย มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมรวมจำนวน 753,357 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันไฟฟ้าฯ ได้จัดงานครบรอบ 20 ปี โดยชูแนวคิด “ขับเคลื่อนสู่มาตรฐานและนวัตกรรม” พร้อมจัดพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการทดสอบ 5 และจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ ภายในบริเวณศูนย์ปฏิบัติการและมาตรฐาน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นิคมอุตสาหกรรมบางปู

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สถาบันฯได้มุ่งมั่นในการดำเนินงานตามภารกิจหลักเพื่อขับเคลื่อน ส่งเสริม และสนับสนุนงานวิชาการและงานบริการ ด้านการมาตรฐาน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ได้พัฒนาขีดความสามารถและขยายขอบข่ายการให้บริการด้านการมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ซึ่งได้มีการพัฒนาและขยายขอบข่ายการให้บริการด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือ Product Testing และการสอบเทียบ หรือ Calibration โดยห้องปฏิบัติการทดสอบและการสอบเทียบได้รับการรับรองตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 การบริการด้านการตรวจคุณภาพโรงงาน หรือ Factory inspection โดยได้รับการรับรองตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17020 และการบริการด้านการรับรองผลิตภัณฑ์ หรือ Product Certification โดยได้รับการรับรองตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17065 นอกจากนี้ยังได้ดำเนินภารกิจด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับรองและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ภายใต้ข้อตกลงร่วม ASEAN EE MRA ทั้งยังได้สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยรับรองและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของ IECEE CB Scheme ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (HOUS) กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ส่องสว่าง (LITE) และกลุ่มมาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า(EMC)

ขณะเดียวกันยังมีภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากร ฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ทั้งหลักสูตรด้านพื้นฐานทั่วไป หลักสูตรด้านการบริหารจัดการและผลิตภาพ หลักสูตรด้านเทคโนโลยี นับจนถึงปัจจุบัน มีผู้ผ่านการอบรม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 190,000 คน รวมทั้งมีภารกิจหลักด้านการดำเนินการศึกษาวิเคราะห์วิจัยเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายของภาครัฐ และการพัฒนาจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และภารกิจในการบริการเกี่ยวกับระบบรับรองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้แก่ผู้ประกอบการตามมาตรการของรัฐเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและบรรเทาผลกระทบจากข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้การจัดสร้างอาคารห้องปฏิบัติการทดสอบ 5 ขึ้น เพื่อรองรับการขยายขอบข่ายการให้บริการด้านการมาตรฐาน การทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ของสถาบันฯในอนาคตได้อีกอย่างน้อย 3 – 5 ปี อาทิ การทดสอบอุปกรณ์ EV Charger การทดสอบเครื่องปรับอากาศระบบ Multi-Split รวมทั้งรองรับงานมาตรฐานอื่นๆ และ Smart Electronics เป็นต้น