เซอร์โวมอเตอร์

เซอร์โวมอเตอร์

เซอร์โว​มอเตอร์  (servo motor)  เป็น​อุปกรณ์ แม่เหล็ก​ไฟฟ้า​แบบ​หนึ่ง​ที่​ใช้​ใน​การ​หมุนตัวขับ (actuator) ไป​ยัง​ตำแหน่ง​ต่างๆ  ด้วย​ความ​แม่นยำ โดย​ใช้สัญญาณ​พัลส์​เพื่อ​กำหนด​ตำแหน่ง​ในการ​หมุน​  มัก​นิยม​ใช้​ใน​รถ​บังคับ​วิทยุ เครื่องบิน​บังคับ​วิทยุ หรือ​ใช้​ควบคุม​แขนขา​ของ​หุ่นยนต์ ส่วนใหญ่​จะ​รู้จัก​กัน​ภายใต้​ชื่อว่า RC เซอร์โว​มอเตอร์ โดย​คำ​ว่า RC  มาจาก Radio Control หรือ​การ​บังคับ​ด้วย​วิทยุ เนื่องจากใน​ยุค​แรกๆ ของ​การ​พัฒนาเซอร์โว​มอเตอร์ จะ​ถูก​นำมาใช้​ใน​งาน​วิทยุ​บังคับ​เป็นหลัก

ปกติ​แล้ว​เซอร์โว​มอเตอร์​ที่​ยัง​ไม่​ได้รับการ​ปรับ​แต่ง​ใดๆ นั้น​จะ​ใช้​ใน​การ​ควบคุม​ตำแหน่ง​ของ​อุปกรณ์  เช่น  การ​บังคับ​เลี้ยว​ของ​รถ​บังคับ​วิทยุ หรือ​ใช้​สำหรับ​ปรับ​หางเสือ​ของ​เรือ​หรือ เครื่องบิน ซึ่ง​งาน​เหล่านี้​ต้องการ​แรง​บิด​
ของ​มอเตอร์​ที่สูง​พอสมควร  ดังนั้น​เซอร์โว​มอเตอร์​จึง​ต้อง​มี​อัตรา​ทด​ที่​มากพอ เพื่อให้​สามารถ​รองรับ​งาน​ดังกล่าว​ได้ เซอร์โว​มอเตอร์​มาตรฐาน​จะ​มี​มุม​ใน​การ​หมุน​อยู่​ระหว่าง 90 ถึง 180 องศา แล้วแต่ ผู้ผลิต แต่​ที่​นิยม​มาก​ที่สุด​คือ 0 ถึง 180 องศา และ​ใน​บาง​รุ่น​ของ​บาง​ผู้ผลิต​จะ​สามารถ​ดัดแปลง ให้​หมุน​ได้​ครบ 360 องศา​ด้วย

ปัจจุบัน​เซอร์โว​มอเตอร์​มี​ด้วยกัน  2  ชนิด​หลักๆ คือ ชนิดอะ​นา​ลอก​และ​ดิจิตอลรูปร่าง​ภายนอก​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​ทั้งสอง​ชนิด​จะ​คล้าย​กัน​มาก ความ​แตกต่าง​จะ​อยู่ที่​วงจร​ควบคุม​ที่อยู่ภายใน โดย​ใน​ชนิดอะ​นา​ลอก​จะ​ใช้​วงจร​อิเล็กทรอนิกส์​ที่​ประกอบด้วย​อุปกรณ์  สารกึ่ง​ตัวนำจำพวก ทรานซิสเตอร์ มอสเฟต หรือ​ไอซีออป​แอมป์​เป็นหลัก ในขณะที่​ชนิด​ดิจิตอล​จะ​ใช้ ไมโครโปรเซส​เซอร์​หรือ​ไมโคร​คอนโทรลเลอร์​เป็น​ตัวควบคุม​หลัก

โครงสร้าง​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์
ภายใน​เซอร์โว​มอเตอร์​ประกอบด้วย มอเตอร์​ไฟ​ตรง​ขนาดเล็ก,ชุด​เฟือง​ทด,  แผง​วงจร​ควบคุม และ​ตัว​ต้านทาน​ปรับ​ค่า​ได้  (POT : Potentiometer) โดย​แผง​วงจร​ควบคุม​จะ​มี​วงจร​ป้อน​กลับ เพื่อให้เซอร์โว​มอเตอร์​รับรู้​ตำแหน่ง​ของ​ตัวเอง​ได้ โดย​ผู้ใช้งาน​เพียง​ส่งสัญญาณ​พัลส์​ออกไป​ควบคุม​เท่านั้น ดัง​แสดง​ไดอะแกรม​การ​ทำงาน​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​ใน​รูป​ที่ 1 แกน​ของ​มอเตอร์​ไฟ​ตรง​จะ​ต่อ​เข้ากับ ชุด​เฟือง​เพื่อ​ลดความเร็ว​รอบ​ลง​ส่งผลให้​แรง​บิด​ที่​แกน​หมุน​มากขึ้น ทั้งหมด​ทำงาน​ร่วมกัน​ภายใต้ ความ​สัมพันธ์


รูปที่ 1 แสดงไดอะแกรมการทำงานของเซอร์โวมอเตอร์

P = kwg

โดย​ที่ P คือ พลังงาน​ที่​ป้อน​ให้​แก่​มอเตอร์
k คือ ค่าคงที่
w คือ ความเร็ว​รอบ ใน​หน่วย รอบ​ต่อ​นาที (rpm : round per minute)
g คือ แรง​บิด​หรือ​ทอร์ค (torque)

ถ้าหาก​พลังงาน​ที่​จ่าย​ให้​คงที่ เมื่อ​ลดความเร็ว​รอบ​ลง​นั่น​ย่อม​ทำ​ให้แรง​บิด​ของ​มอเตอร์​เพิ่มขึ้น การ​หมุน​ของ​มอเตอร์​ได้รับ​การ​ควบคุม​จาก​วงจร​ควบคุม โดย​มี​ตัว​ต้านทาน​ปรับ​ค่า​ได้​เป็นตัวกำหนด​ขอบเขต​ของ​แกน​หมุน ซึ่ง​หาก​ไม่มี​การ​ปรับ​แต่ง​ใดๆ แกน​หมุน​ของ​มอเตอร์​จะ​สามารถ​หมุน​ได้​ใน​ขอบเขต 0 ถึง 180  องศา (หรือน้อยกว่า​ขึ้นกับ​ผู้ผลิต) ดังนั้น​ใน​การ​ปรับ​แต่ง​ให้เซอร์โว​มอเตอร์สามารถ​ขับ​แกน​หมุน​ได้​รอบตัว​จึง​มักจะ​ใช้วิธีการ​ถอด​ตัว​ต้านทาน​ปรับ​ค่า​ได้​ออก แล้ว​แทนที่​ด้วย​ตัว​ต้านทาน​ค่าคงที่  2  ตัว  หรือ​ดัดแปลง​ให้​แกน​หมุน​ของ​ตัว​ต้านทาน​ปรับ​ค่า​ได้​สามารถ​หมุน​ได้​รอบตัว แกน​หมุน​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​จะ​มี​ส่วนปลาย​เป็น​ร่อง​เฟือง (spline) เพื่อให้​สามารถติดตั้ง​อุปกรณ์​ที่​ใช้​ใน​การ​เชื่อมโยง​ไป​ยัง​ตัว​ขับ​หรือ​กลไก​อื่นๆ อุปกรณ์​ที่​ใช้​เชื่อมโยง​นั้น​เรียกว่า ฮอร์น  (horn) ซึ่ง​มี​ด้วยกัน​หลาย​รูปแบบ​ทั้ง​แบบ​เป็น​แขน, เป็น​แท่ง, กากบาท, แผ่น​กลม เป็นต้น สำหรับ​ร่อง​เฟือง​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​แต่ละ​ยี่ห้อ​ก็​มีจำนวนไม่เท่ากัน โดย​ของ Hitec จะ​มี 24 ร่อง​เฟือง ส่วน​ของ Futaba มี 25 ร่อง​เฟือง ทำให้​ฮอร์น​ของ​ทั้งสอง​ยี่ห้อ​ไม่​สามารถ​ใช้​ร่วมกัน​ได้


รูปที่ 2 แสดงการจัดสายสัญญาณของเซอร์โวมอเตอร์


รูปที่ 3 ลักษณะคอนเน็กเตอร์ของเซอร์โวมอเตอร์

คุณสมบัติ​ทาง​เทคนิค​ที่​สำคัญ​ของ เซอร์โว​มอเตอร์
มี 2 ค่า​คือ ความเร็ว (speed) และ​แรง​บิด​หรือ​ทอร์ค (torque) ความเร็ว​หมายถึง ระยะเวลา​ที่​ทำให้​แกน​หมุน​ของ​มอเตอร์​เคลื่อนที่​สู่​ตำแหน่ง​มุม​ที่​กำหนด อาทิ เซอร์โว​มอเตอร ตัว​หนึ่ง​มี​ความเร็ว 0.15 วินาที​สำหรับ 60 องศา หมายถึงเซอร์โว​มอเตอร์​ตัว​นี้​สามารถ​ขับ​ให้​แกน​หมุน​เคลื่อนที่​ไป​ยัง​ตำแหน่ง​มุม 60 องศา​ภายใน​เวลา 0.15 วินาที ส่วน​แรง​บิด​มักจะ​ปรากฏ​ใน​หน่วย​ของ​ออนซ์-นิ้ว (ounce-inches : oz-in) หรือ กิโลกรัม-เซนติเมตร (kg-cm) เป็น​คุณสมบัติ​ที่จะ​บอกต่อ​ผู้ใช้งาน ว่า​เซอร์โว​มอเตอร์ตัว​นี้​มี​แรง​ใน​การ​ขับ​โหลด​ที่​มี​น้ำหนัก​ใน​หน่วย​ออนซ์​ให้​สามารถ​เคลื่อนที่​ไป​ได้ 1 นิ้ว หรือ​น้ำหนัก​ใน​หน่วย​กิโลกรัม​ให้​เคลื่อนที่ ไป​ได้ 1 เซนติเมตร  (น้ำหนัก 1 ออนซ์​เท่ากับ 0.028 กิโลกรัม​โดย​ประมาณ หรือ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 35.274 ออนซ์)

อย่างไร​ก็ตาม ค่า​ของ​ความเร็ว​และ​แรง​บิด ต้อง​สัมพันธ์กับ​แรงดัน​ไฟ​เลี้ยง​ที่​จ่าย​ให้​แก่เซอร์โว​มอเตอร์​ด้วย ซึ่ง​มักจะ​แรงดัน 4.8 หรือ 6V  นอกจากนั้น​ยังมี​ปัจจัย​เกี่ยวกับ​แรง เสียด​ทาน​ใน​ระบบ​เฟือง​ภายใน​เซอร์โว​มอเตอร์ การ​หล่อลื่น​การ​เชื่อมโยง​ระหว่าง​เฟือง​ต่อ​เฟือง​ใน​ชุด​เฟือง​ทด ที่​ส่งผลให้​ความเร็ว​และ​แรง​บิด​ของ เซอร์โว​มอเตอร์​เปลี่ยนแปลง​ไป​ได้

การ​ทำงาน​ของ​แผง​วงจร​ควบคุม​ใน เซอร์โว​มอเตอร์​ชนิดอะ​นา​ลอก
การ​หมุน​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​นั้น​จะ​ไม่ได้​หมุน​เป็นอิสระ​เหมือน​มอเตอร์​ทั่วๆ ไป​โดย​ช่วง​ระยะ​การ​หมุน​ปกติ​จะ​อยู่​ระหว่าง 90 ถึง 180 องศา ตำแหน่ง​การ​หมุน​ของ​แกน​มอเตอร์​ใน เซอร์โว​มอเตอร์​นี้​สามารถ​ควบคุม​ได้​อย่าง​แม่นยำ เนื่องจาก​ภายใน​เซอร์โว​มอเตอร์​มี​วงจร​อิเล็กทรอนิกส์​ทำหน้าที่​ตรวจสอบ​ตำแหน่ง​ของเซอร์โว​มอเตอร์​อยู่​ตลอด​เวลา ลักษณะ​การ​ตรวจสอบ​จะ​ใช้​การ​ป้อน​กลับ​ค่า​ตำแหน่ง​จาก​ตัว​ต้านทานปรับ​ค่า​ได้ แล้ว​นำ​ค่า​นี้​ไป เปรียบ​เทียบกับ​ค่า​พัลส์ที่​ป้อน​เข้าทาง​ขา​ควบคุม ​ค่า​ของ​ผล​ต่าง​ที่​ได้จะ​ไป​ปรับ​ตำแหน่ง​ของ​มอเตอร์ ​ค่า​ผล​ต่าง​ก็​จะ​ได้ตำแหน่ง​ของ​มอเตอร์​ที่​แม่นยำ


รูปที่ 4 ไดอะแกรมการทำงานของแผงวงจรควบคุมในเซอร์โวมอเตอร์ชนิดอะนาลอก

ใน​รูป​ที่ 4 แสดง​ไดอะแกรม​การ​ทำงาน​ของ​แผง​วงจร​ควบคุม​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์​ชนิดอะ​นา​ลอก สัญญาณ​พัลส์​ควบคุม​ที่​ส่ง​เข้ามา​ทาง​อินพุต จะ​ถูก​ส่งไปยัง​วงจร​กำเนิด​สัญญาณ​พัลส์​ภายใน​ด้วย โดย​มี​ความ​กว้าง​ที่​เป็น สัดส่วน​กับ​ตำแหน่ง​ของ​แกน​หมุน​ใน​ปัจจุบัน​ ทั้ง​สัญญาณ​พัลส์​ที่​กำเนิด​ขึ้น​ภายใน​กับ​สัญญาณ​พัลส์​ควบคุม​จะ​ถูก​ส่งไปยัง​วงจร​เปรียบเทียบ​เพื่อ​ทำการ​หักล้าง​สัญญาณ โดย​ทิศทาง​ของ​สัญญาณ​จะ​ขึ้นอยู่​กับ​ว่า ระหว่าง​สัญญาณ​พัลส์ควบคุม​ทาง​อินพุต​ก​ับสัญญาณ​พัลส์​ภายใน สัญญาณ​พัลส์​ใด​มี​ความ​กว้าง​มากกว่า โดย​เอาต์พุต​ที่​ได้​เป็น​สัญญาณ​ลอจิก “0” หรือ “1” แล้ว​ส่งไปยัง​วงจร​ขับ​มอเตอร์​แบบ  H-บริดจ์ เพื่อ​กำหนด​ทิศทาง​การ​หมุน ทาง​ด้าน​ค่าความ​แตกต่าง​ที่​เกิดขึ้น​ระหว่าง​พัลส์​ทั้งสอง​สัญญาณ​จะ​ถูก​ส่งไปยัง​วงจร​เพิ่ม​ความ​กว้าง​พัลส์ เพื่อ​สร้าง​สัญญาณ​พัลส์​สำหรับ​ส่งไปขับ​มอเตอร์ ผ่าน​วงจร​ขับ​มอเตอร์​แบบ  H-บริดจ์ โดย​ความ​แตกต่าง​ของ​ความ​กว้าง​พัลส์ 1% ทำให้เกิด​สัญญาณ​พัลส์​สำหรับ​ขับ​มอเตอร์ใน​ระดับ 50% และ​ความเร็ว​นี้​จะ​ลดลง​เมื่อ​แกน​หมุน​ของ​มอเตอร์​เคลื่อนที่​เข้าสู่​ตำแหน่งที่​กำหนด อัน​เป็นผล​มาจาก​ความ​แตกต่าง​ของ​ความ​กว้าง​สัญญาณ​พัลส์​เริ่ม​ลดลง และ​หยุด​ลง​เมื่อ​สัญญาณ​พัลส์​ที่​นำมา​เปรียบเทียบ​มี​ค่า​ความ​กว้าง​เท่ากัน


รูปที่ 5 แสดงลักษณะของสัญญาณพัลส์ที่ใช้ในการควบคุมเซอร์โวมอเตอร์

วัสดุ​ของ​เฟือง​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์
ชุด​เฟือง​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์​โดย​ส่วนใหญ่ผลิต​มาจาก​วัสดุ 3 ชนิด คือ

(1) ไน​ล่อน : เป็น​วัสดุ​ที่​นิยม​นำมาใช้​ผลิตเฟือง​มาก​ที่สุด เนื่องจาก​มี​น้ำหนัก​เบา​และ​มีเสียง​รบกวน​น้อย​เมื่อ​ทำงาน ความ​ทนทาน​พอสมควร​มัก​พบ​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์ขนาดเล็ก​และ​ราคาถูก

(2) โลหะ : เฟือง​ที่​ผลิต​ด้วย​โลหะจะ​มี​ความทน ทาน​สูง แข็งแรง สามารถ​ทน​แรงเสียดทาน​เมื่อ​เฟือง​ขบกัน​ได้​สูงมาก ทำให้​สามารถ​นำมา​สร้าง เซอร์โว​มอเตอร์​ที่​มี​แรง​บิด​สูงมาก​ได้ โลหะ​ที่​พบ​มาก​ที่สุด​ใน​การ​นำมา​ผลิต​เฟือง​คือ ทองเหลือง และ​ถ้าหาก​มี​งบประมาณ​มาก​เพียงพอ ควร​เลือก​ใช้​เซอร์โว​มอเตอร์​ที่​ใช้​เฟือง​ที่​ผลิต​จาก​ไทเทเนียม

(3)  คาร์บอ​ไนต์ (Karbonite) : เป็น​วัสดุ​พิเศษ​ที่​ทำ​มาจาก​คาร์บอน แล้ว​แปรรูป​มา​เป็นวัสดุที่​คล้าย​พลาสติก  Hitec  เป็น​ผู้​ที่​นำ​เทคโนโลยี​นี้​มา​ใช้​เป็น​วัตถุดิบ​ใน​การ​ผลิต​เฟือง โดย​คาร์บอ​ไนต์จะ​มี​ความ​แข็งแรง​และ​ทนทาน​มากกว่า​เฟือง​ไนลอน ในขณะที่​มี​น้ำหนัก​เบา ดัง​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์​สมัยใหม่​จึง​นิยม​ใช้​เฟือง​ที่​ผลิต​จาก​วัสดุ​ชนิด​นี้ โดยเฉพาะ​อย่างยิ่ง​ใน​เซอร์โว​มอเตอร์ชนิด​ดิจิตอล​ที่​ใช้​หุ่นยนต์ Humanoid

รูปแบบ​สัญญาณ​ที่​ใช้​ควบคุม​เซอร์โว​มอเตอร์
การ​ควบคุม​เซอร์โว​มอเตอร์ทำได้โดย​สร้าง​สัญญาณ​พัลส์​ที่​มี​คาบ​เวลา 20 มิลลิ​วินาทีป้อน​ให้​กับ​วงจร​ควบคุม​ภายใน​เซอร์โว​มอเตอร์ดัง​รูป​ที่ 5 แล้ว​ปรับ​ความ​กว้าง​ของ​พัลส์​ช่วง​บวก ที่​พัลส์​กว้าง 1 มิลลิ​วินาที มอเตอร์​จะ​หมุน​ไป​ตำแหน่ง​ซ้ายมือ​สุด  ถ้า​ส่ง​พัลส์​กว้าง 1.5  มิลลิ​วินาที แกน​หมุน​ของ​มอเตอร์​จะ​เคลื่อนที่​ไป​ยัง​ตำแหน่งกึ่งกลาง และ​ถ้า​ส่ง​พัลส์​กว้าง 2 มิลลิ​วินาที แกน​หมุน​ของ​มอเตอร์​จะ​เคลื่อนที่​ไป​ยัง​ตำแหน่งขวามือ​สุด การ​ป้อน​สัญญาณ​พัลส์​ที่​มี​คาบ​เวลา​ช่วง​บวก​ตั้งแต่ 1.5 ถึง 2 มิลลิ​วินาที​จะ​ทำให้​เซอร์โว​มอเตอร์​หมุน​ทวน​เข็ม​นาฬิกา โดย​ถ้า​ค่า​ความ​กว้าง​พัลส์​ยิ่ง​ห่าง​จาก 1.5 มิลลิ​วินาที​ มาก​เท่าใด ความเร็ว​ใน​การ​หมุน​ก็​จะ​มากขึ้น​เท่านั้น นั่น​คือ ความเร็ว​สูงสุด​ของ​การ​หมุน​ทวน​เข็ม​นาฬิกาจะ​เกิดขึ้น​เมื่อ​สัญญาณ​พัลส์ควบคุม​มี​ความ​กว้าง 2 มิลลิ​วินาที การ​ป้อน​สัญญาณ​พัลส์​ที่​มี​คาบ​เวลา​ช่วง​บวก​ตั้งแต่ 1 ไป​จนถึง 1.5 มิลลิ​วินาที ทำให้เซอร์โว​มอเตอร์​หมุน​ตาม​เข็ม​นาฬิกา ซึ่ง​ถ้า​ค่า​ความ​กว้าง​พัลส์​เข้าใกล้ 1 มิลลิ​วินาที​ความเร็ว​ใน​การ​หมุน​ของ​เซอร์โว​มอเตอร์​ก็​จะ​มาก นั่น​คือ ความเร็ว​สูงสุด​ของ​การ​หมุน​ตาม​เข็ม​นาฬิกา
จะ​เกิดขึ้น​เมื่อ​สัญญาณ​พัลส์​ควบคุม​มี​ความ​กว้าง 1 มิลลิ​วินาที