กาว ชนิดต่างๆ

กาว ชนิดต่างๆ

เมื่อมีการแตกหักของสิ่งของต่างๆ หรือว่าเราต้องการที่จะเชื่อมต่อวัสดุ 2 อย่างเข้าด้วยกัน เรามักจะใช้สารเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยประสานสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้ยึดติดกันด้วยดี โดยสารเคมีที่ช่วยในการประสานนี้เรามักจะเรียกมันว่า “กาว” นั่นเอง

glue_title

โดยกาวส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่มีส่วนผสมหลักคือโพลีเมอร์ (Polymer) ซึ่งจะประกอบด้วยหน่วยย่อยที่เรียกว่า โมโนเมอร์ (Monomer) มาเรียงต่อกันเป็นโมเลกุลสายยาว คล้ายกับนำคลิปหนีบกระดาษมาหนีบต่อกัน การที่กาวเหนียวได้นั้น ก็เนื่องมาจากโมเลกุลสายยาวๆ ที่ว่านี้พันกันไปมานั่นเอง ตอนนี้เรามารู้จักประวัติของกาวกันก่อนนะครับ

กาว ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษราวปี ค.ศ.1750 โดยในครั้งนั้นได้ใช้ปลามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกาวขึ้นและต่อมาจึงได้มีการพัฒนาโดยการนำเอายางจาก ธรรมชาติ,กระดูกสัตว์, แป้ง, และโปรตีนจากนมเป็นต้น มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกาวชนิดต่างๆ ด้วยวิวัฒนาการที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในปี ค.ศ.1942 Dr.Harry Coover ซึ่งในขณะนั้นได้ปฏิบัติงานอยู่ที่ห้องทดลองของ Kodak Research Laboratories ได้ค้นพบสารเคมีที่มีชื่อว่าไซยาโนอะคริเลต (Cyanoacrylate, C H NO) ที่มีคุณสมบัติเหนียวและติดแน่น เขาจึงได้ทำการเสนอให้กับทางบริษัท โกดัก แต่ทางบริษัทได้ปฏิเสธสารชนิดนี้ เนื่องมาจากสารชนิดนี้มีคุณสมบัติที่เหนียวและติดแน่นมากเกินไป

ในปี ค.ศ.1951 Dr.Harry Coover ได้ร่วมมือกับ Dr.Fred Joyner นำเอาสารไซยาโนอะคริเลตกลับมาทำการวิจัยใหม่ โดยในขณะนั้น Dr.Harry Coover ได้ย้ายจากบริษัทโกดัก มาอยู่ที่ The Eastman Company ในรัฐเทนเนสซี่สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่พวกเขากำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับความต้านทานทางด้านความร้อนของ อะคริเลตโพลิเมอร์ (Acrylate-polymer) สำหรับใช้ในการทำหลังคา (Canopies) ของเครื่องบินเจ็ต เมื่อ Dr.Fred Joyner กำลังขยายฟิล์มเพื่อดูสารเอธิลไซยาโนอะคริเลต (ethylcyanoacrylate) เขาได้เห็นผลึกของสารชนิดนี้จึงเกิดความสนใจขึ้นมา และได้ทำการวิจัยอย่างจริงจังกับคูเวอร์ จนกระทั่งฝันของคูเวอร์ก็เป็นจริงเมื่อเขานำเอาสารอะคริเลตโพลิเมอร์ผลิตออกมาเป็นสินค้าในปี ค.ศ.1958 ในชื่อของ “The Eastman Compound #910” และเรียกกันจนติดปากว่า “ซูปเปอร์กลู (Super Glue)”

หลังจากที่ได้รับทราบประวัติกันไปแล้ว เราก็มาทำความรู้จักกับกาวแต่ละชนิดกันเลยครับ

ชนิดของกาว

1.กาวติดผ้า (Fabric Glue)

fabricglue

ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับวัสดุที่เป็นผ้า โดยกาวชนิดนี้ขณะใช้จะไม่ทำอันตรายต่อผิวหนัง และใช้เวลาในการแห้งน้อย

2. กาวซูเปอร์กลู (Super Glue)

superglue

บางทีเราก็เรียกกาวชนิดนี้ว่า “กาว CA” ผลิตจากสารเคมีที่มีชื่อว่าไซยาโนอะคริเลต เป็นกาวที่มีคุณวมบัติติดยึดวัตถุได้ค่อนข้างแน่น และแห้งเร็ว ภายใน 10 ถึง 30 วินาที โดยกาวเพียง 1 ตารางนิ้วสามารถยึดติดวัสดุที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน ได้อย่างสบายๆ ลักษณะของกา่วจะมีลักษณะเป็นของเหลวหรือเจล สามารถนำไปใช้งานได้ทันที โดยถ้าเป็นชนิดเหลวจะใช้กับวัสดุจำพวกพลาสติก โลหะ ไวนิล ยาง และกระเบื้องเซรามิก สาวนกาวชนิดที่เป็นเจล จะใช้กับวัสดุจำพวกไม้และวัสดุที่มีรูพรุนต่างๆ การนำไปใช้งานก็เพียงแต่หยดกาวลงพื้นผิวที่ต้องการจะยึดติดเท่านั้น ปัจจุบันมีให้เลือกมากหมายหลายยี่ห้อและเรียกกาวประเภทนี้ว่ากาวร้อน

3. กาวขาว (White Glue)

whiteglue

หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่าโพลีไวนิลอะซีเทต (Polyvinylacetate , PVA) เนื้อของกาวมีลักษณะเป็นของเหลว ซึ่งสามาราถนำไปใช้งานได้ทันที เหมาะสำหรับงานกระดาษและงานไม้ งานซ่อมแซมภายในบ้าน งานเฟอร์นิเจอร์ งานตกแต่งภายในและเซรามิก เนื่องจากเป็นกาวที่ไม่มีสารเป็นอัตรายมาก จึงสามารถให้เด็กใช้งานได้ เมื่อแห้งแล้วเนื้อกาวจะแข็งพอประมาณ เนื่องจากกาวชนิดนี้ละลายน้ำได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้กับงานที่ต้องสัมผัสน้ำ

 

4. กาวอีพ็อกซี่ (Epoxy Glue)

epoxyglue

กาวชนิดนี้มีลักษณะพิเศษอยู่ตรงที่ ตัวกาวจะมี 2 ส่วนด้วยกัน โดยลักษณะของเนื้อกาวทั้งสองส่วนนี้จะมีลักษณะเหลวข้น บรรจุอยู่ในหลอดหรือกระบอกฉีดแบบ่อคู่ กาวอีพ็อกซี่เหมาะที่จะนำไปใช้กับวัสดุจำพวกไม้ โลหะ กระเบื้อง แก้ว และวัสดุอื่นๆ แถมยังสามารถยึดติดได้ดีกับวัสดุต่างชนิดกัน เช่น เหล็กกับแก้ว เป็นต้น ในการนำไปใช้งานจะต้องนำกาวทั้งสองส่วนมาผสมในอัตราส่วนที่เท่ากันเสียก่อน แล้วผสมหรือขยำให้เข้ากัน แล้วจึงนำไม้หรือเกียงโป๊สีปาดลงบริเวณที่ต้องการยึดติด โดยกาวจะแห้งภายใน 5 นาที ที่อุณหภูมิปกติ จนถึงข้ามคืนก็ขึ้นอยู่กับวัสดุ แต่เมื่อเนื้อกาวแห้งสนิทแล้วจะมีความแข็งแรงมาก บางชนิดแห้งช้า แต่จะมีแรงยึดสูงมากตัวกาวไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับพลาสติกจำพวกโพลีเอทีลีนหรือโพลีโพรพีลีน

5. กาวอะครีลิค (acrylic glue)

acrylicglue

ตัวกาวจะมีอยู่  2  ส่วนเหมือนกับกาวอีพ็อกซี่ แต่ส่วนหนึ่งเป็นของเหลวอีกส่วนเป็นผง แต่ก็มีบางยี่ห้อได้ทำการผสมกันไว้ให้แล้ว จึงสะดวกมากในการใช้งาน กาวชนิดนี้เหมาะที่จะนำมาใช้ติดไม้ เหล็ก กระจกและเฟอร์นิเจอร์ภายนอกอาคาร คุณสมบัติของกาว ก็คือ แห้งเร็วและยึดติดแน่น สำหรับการใช้งานนั้นจะต้องผสมตัวกาวทั้งสองส่วนให้เข้ากันเสียก่อนจากนั้น จึงนำไปทาที่ชิ้นงานทั้งสองชิ้นแล้วจึงนำมาประกบกันรอกาวแห้งประมาณ 5 นาที แต่ควรจะทิ้งไว้สักหนึ่งคืนเพื่อให้กาวเซ็ตตัว เมื่อกาวแห้งสนิทดีแล้วเนื้อกาวจะสามารถกันน้ำได้และติดแน่นมากๆ

6. กาวอะลิฟาติก (กาวเหลืองหรือที่บางคนเรียกว่ากาวยาง)

ถือได้ว่าเป็นกาวสารพัดประโยชน์ เหมาะสำหรับงานเฟอร์นิเจอร์และงานซ่อมแซมต่างๆ ลักษณะของเนื้อกาวเป็นของเหลวหนืด สามารถใช้งานได้ทันที ในการใช้งานเมื่อนำไปทากับชิ้นงานที่ต้องการแล้วกาวจะแห้งภายใน 1  ชั่วโมง แต่ควรจะทิ้งไว้ข้ามคืน เพื่อให้กาวยึดติดได้แน่นยิ่งขึ้น เนื่องจากกาวสามารถละลายน้ำได้ จึงไม่ควรนำไปใช้กับชิ้นงานกลางแจ้ง

 

7. กาวคอนแท็กซีเมนต์ (Contact Cement Glue)

contactcemen-glue

เหมาะสำหรับงานที่ต้องการติดวัสดุที่มีลักษณะ เป็นซีเมนต์หรืออาจจะนำไปใช้กับวัสดุอื่นก็ได้เช่นการติดกระเบื้องกับผนัง การติดพลาสติกกับไม้อย่างถาวรเป็นต้น สำหรับการใช้งานจะต้องทากาวกับพื้นผิวหรือวัสดุที่ต้องการติดยึดทั้งสองชิ้น ด้วยแปรงหรือลูกกลิ้งก่อนที่จะนำชิ้นงานทั้งสองมาประกบกัน เมื่อประกบกันปุ๊บก็จะติดกันปั๊บ

8. กาวหลอมร้อน (Glue Guns)

gluegun

เจ้ากาวชนิดนี้มีลักษณะเป็นแท่งกลมใสหรือขาว ขุ่นยาวและแข็ง ทำมาจากสารเคมีชนิดต่างๆ เช่น โพลิเอไมด์ (Polyamide), โพลิเอทิลีนไวนิลอะซิเทต (Polyethylene vinyl acetate) เป็นต้น กาวชนิดนี้จะต้องอาศัยปืนยิงกาวไฟฟ้าเป็นตัวช่วยในการละลายกาวจึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตัวกาวเหมาะที่จะนำไปใช้ในงานที่ต้องการยึดติดอย่างรวดเร็วและไม่ต้องการ ความแข็งแรงมากนัก เช่น งานเฟอร์พิเจอร์ ของเล่น รองเท้า พรมเป็นต้น

ในการใช้งานนั้น เราจะต้องใส่กาวลงไปในปืนยิงกาวเสียก่อน จากนั้นเสียบปลั๊กของปืนยิงกาวรอประมาณ 3-5 นาที ให้ปืนยิงกาวร้อน แล้วนำปลายของปืนยิงกาวไปจ่อบริเวณที่ต้องการ จากนั้นกดไกปืนกาวจะค่อยๆไหลออกมาจากปลาย ในการทากาวชนิดนี้ต้องใช้ความรวดเร็วก่อนที่กาวจะแข็งตัว สำหรับเทคนิคในการยึดติดชิ้นงานที่เป็นแนวยาวนั้น ให้ใช้ปืนยิงกาว ยิงกาวในลักษณะเป็นลูกคลื่นอย่างรวดเร็ว แล้วจึงนำชิ้นงานมาประกบ แต่ถ้ายึดชิ้นงานที่เป็นแผ่นกาวก็ควรจะยิงให้เป็นแนวซิกแซก แล้วจึงรีบยึดชิ้นงานและกดไว้ประมาณ 30 วินาทีหรือจนกว่าจะแน่ใจว่ากาวได้แข็งตัวแล้ว

9. แถบกาวพันท่อ

เป็นแถบกาวที่ทำมาจากเทปล่อน บนแถบจะไม่มีกาวติดอยู่ ลักษณะของแถบกาวชนิดนี้จะเป็นแถบบางสีขาว ใช้สำหรับพันเกลียวท่อน้ำหรือท่อลมในระบบนิวเมตริก เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำและลม ใช้ได้ทั้งท่อโลหะและท่อพลาสติก PVC

10. กระดาษกาว

เป็นกระดาษสีน้ำตาลหรือสีขาว มีเนื้อเหนียวแน่นและเคลือบกาวไว้ด้านใน ใช้สำหรับงานชั่วคราวต่างๆ

11. แถบกาวชนิดโฟม 2 หน้า (Foam Mouting Tape)

ทำมาจากแผ่นโฟมที่สามารถยืดหยุ่นได้ โดยแผ่นโฟมนี้จะถูกเคลือบกาวเอาไว้ทั้งด้านในและด้านนอก ใช้สำหรับยึดชิ้นงานที่มีน้ำหนักไม่มากนัก

12. แถบกาวพันสายไฟ

glue-tape

ทำจากไวนิลบาง ทนความร้อนและยืดตัวได้ เพื่อเป็นฉนวนป้องกันไฟรั่วหรือต่อสายไฟในกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่ควรนำไปใช้เป็นการถาวร (ส่วนมากช่างไฟในเมืองไทยก็ใช้กันอย่างถาวรทั้งนั้น) เพราะเมื่อใช้ไปนานๆ เนื้อกาวที่เคลือบไว้ก็จะเสื่อมสภาพลง จนทำให้แถบกาวหลุดออกจากสายทองแดง อาจทำให้เกิดอันตรายจากไฟดูดหรือลัดวงจรได้

จากรูปจะเห็นว่ามีสีต่างๆ มากมายให้เลือกใช้ แต่ที่มีสีหลากหลายไม่ใช่เพื่อความสวยงาม แต่ใช้เพื่อแยกระดับของแรงดันไฟฟ้าและแยกเฟสของสายในกรณีที่ใช้งานกับไฟหลายเฟส


เรื่องที่คุณอาจสนใจ