เครื่องมือตรวจสอบไฟประจำบ้าน

เครื่องมือตรวจสอบไฟประจำบ้าน

เครื่องมือตรวจสอบไฟประจำบ้านที่ทุกคนคุ้นเคย แต่ไม่เคยได้ใช้ มันทำงานอย่างไร มาดูกัน

ปัจจุบันไขควงเช็คไฟมีรูปแบบที่ดูแปลกตามากขึ้น อีกทั้งยังมีชนิดที่ไม่ต้องสัมผัสกับตัวนำ(เส้นทองแดง) ก็สามารถทดสอบได้ ซึ่งไขควงประเภทไม่ต้องสัมผัสตัวนำนั้นจะเหมาะสำหรับงานซ่อมบำรุงเช่นสายไฟที่ฝังผนังอยู่ หรือในพื้นที่ที่ยากต่อการสัมผัสตัวนำไฟฟ้า โดยในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะไขควงเช็คไฟพื้นฐานที่ใช้หลอดนีออนเป็นตัวแสดงสถานะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ไขควงเช็คไฟ มีหลักการทำงานง่ายๆ คืออาศัยร่างกายของผู้ใช้เป็นสื่อ อ๊ะๆ อย่าเพิ่งตกใจว่าอาศัยร่างกายของเราเป็นสื่อก็อันตรายน่ะสิ! ที่ว่าอาศัยร่างกายเป็นสื่อน่ะเรื่องจริง แต่กระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกายของเราจะถูกลดทอนลงด้วยตัวต้านทานที่ทำหน้าที่จำกัดกระแสไว้ก่อนแล้ว

เรามาทำความรู้จักเจ้าเครื่องมือประจำบ้านตัวนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า ว่ามันมีหลักการทำงานอย่างไร จะได้เลิกกลัวเวลาที่ต้องนำไปตรวจสอบกระแสไฟในบ้านเสียที

หลักการทำงาน
ภายในไขควงเช็คไฟประกอบไปด้วย ปลายไขควง, ตัวต้านทาน, หลอดนีออน,สปริง และจุดสัมผัสทำจากโลหะ ดังรูปที่ 1


รูปที่ 1 แสดงอุปกรณ์ภายในไขควงเช็คไฟ

แต่ส่วนประกอบที่จำเป็นหรืออาจกล่าวได้ว่ามีแค่นี้ก็พอ นั้นก็คือตัวต้านทานสำหรับจำกัดกระแสไฟฟ้าและหลอดนีออนสำหรับแสดงสถานะเท่านั้น ส่วนเจ้าสปริงนั้นเอาไว้ดันให้อุปกรณ์ที่บรรจุภายในแท่งไขควงแนบสนิทกันอยู่ตลอดเวลา

หลักการของไขควงเช็คไฟนั้นอาศัยค่าความต่างศักย์ของกระแสไฟฟ้า นั่นก็คือกระแสไฟฟ้าจะไหลจากจุดที่มีศักย์มากไปยังที่ๆ มีศักย์น้อยกว่านั่นเอง โดยเมื่อปลายไขควงสัมผัสกับตัวนำที่มีกระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านตัวต้านทานเพื่อทำการจำกัดกระแสให้ลดลงเหลือเพียง 0.1 ถึงประมาณ 0.2mA เท่านั้นทำให้ไม่เกิดอันตรายกับผู้ใช้ แล้วจึงไหลผ่านไปยังหลอดนีออน (กระแสไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยก็สว่างแล้ว) ต่อไปยังร่างกายของผู้ใช้งานแล้วไหลลงพื้นเป็นอันครบวงจร ทำให้หลอดนีออนติดสว่างขึ้นมานั่นเอง


รูปที่ 2 แสดงวงจรของไขควงเช็คไฟ และทิศทางการไหลของกระแสไฟฟ้า

การใช้งานไขควงเช็คไฟ
(1) ใช้มือจับบริเวณด้ามของไขควง (ส่วนที่เป็นฉนวนพลาสติก) ระวังอย่าให้มือสัมผัสโดนส่วนปลายของไขควงเด็ดขาด
(2) นำปลายไขควงแตะกับเต้ารับไฟฟ้าหรือบนโลหะที่ต้องการทดสอบ
(3) ใช้นิ้วมือแตะบนจุดสัมผัส (เป็นโลหะสีตะกั่ว) ที่ส่วนหัวของไคขวง หากหลอดนีออนติด แสดงว่าช่องนั้นมีกระแสไฟฟ้า หรือเป็นเส้นไลน์นั่นเอง ดังรูปที่ 3


รูปที่ 3 การใช้งานไขคสวตรวจสอบไฟกับเต้ารับ

ต่อไปเราจะมาดูวิธีการตรวจสอบไฟอีกวิธี ในกรณีที่ไม่มีไขควงเช็คไฟ

วิธีการใช้มิเตอร์แทนไขควงเช็คไฟ
นอกจากการใช้ไขควงตรวจสอบไฟแล้ว ยังสามารถใช้เครื่องมืออื่นที่ง่ายและนักอิเล็กทรอนิกส์คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือการใช้มัลติมิเตอร์แบบเข็มนั่นเอง


รูปที่ 4 การตรวจสอบไฟด้วยมัลติมิเตอร์

วิธีการ
ตั้งมาตรวัดที่มัลติมิเตอร์ไปที่ย่านวัดไฟฟ้ากระแสสลับ AC VOLT ในช่วงการวัด 250V หรือ 1000V จากนั้นจับปลายสายวัดเส้นนึงไว้ (เส้นไหนก็ได้) ส่วนอีกปลายก็นำไปเสียบที่ช่องของเต้ารับ หรือตัวนำโลหะที่ต้องการตรวจสอบ หากเข็มชี้ขึ้นมาก็แสดงว่ามีกระแสไฟไหลอยู่

สำหรับใครยังไม่มีเครื่องมือประจำบ้านตัวนี้ก็ซื้อติดบ้านเอาไว้นะครับ เพราะมันจำเป็นมากๆ แถมราคาค่าตัวของมันเพียงไม่กี่สิบบาทจนถึงร้อยบาทต้นๆ เท่านั้น หรือนักอิเล็กทอนิกส์จะใช้วิธีสุดท้ายที่แนะนำนี้ก็ได้
ไม่ผิดกติกา แต่มันจะเกะกะไปสักหน่อยนะ จะบอกให้