เราลองมาทำความรู้จักกับเลื่อยอีกรูปแบบหนึ่งที่อาศัยพลังงานอย่างอื่นเข้ามาช่วยในการผ่อนแรงในขณะที่เรากำลังเลื่อยชิ้นงาน ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการทำงานมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้ นั้นก็คือ “เลื่อยไฟฟ้า (POWER SAW)” นั่นเอง
แต่สิ่งที่ช่วยให้เลื่อยไฟฟ้าสามารถทำงานได้อย่างเต็มความสามารถของมันนั้นคือ “มอเตอร์ไฟฟ้า(ELECTRIC MOTOR)” ถ้า ปราศจากเจ้าสิ่งนี้แล้วเลื่อยไฟฟ้าก็จะเหมือนเลื่อยมือธรรมดาเท่านั้นเอง ก่อนที่จะอธิบายถึงเลื่อยไฟฟ้า เราจะมากล่าวถึงการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
มอเตอร์ไฟฟ้า (ELECTRIC MOTOR)
มอเตอร์ไฟฟ้ามีอยู่หลายประเภทด้วยกัน แต่ที่กล่าวถึงในที่นี้จะกล่าวถึงมอเตอร์ไฟฟ้าแบบสองขั้ว (TWO-POLE DC ELECTRIC MOTOR) ซึ่งจะมีส่วนประกอบหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 6 ส่วน คือ แกนอาร์เมเจอร์หรือโรเตอร์ (Amature or rotor), คอมมิวเตเตอร์(Commutator), แปลงถ่าน (Brushes), แกนหมุน (Axle), สนามแม่เหล็ก (Field magnet) และแหล่งจ่ายไฟ (DC power supply)
การทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าจะเริ่มจาก ตัวมอเตอร์จะอาศัยสนามแม่เหล็กเป็นตัวช่วยในการหมุนของแกนมอเตอร์ โดยถ้าคุณเคยนำแท่งแม่เหล็ก 2 แท่ง มาชนกันโดยนำปลายของแม่เหล็กทั้งสองซึ่งมีขั้วที่เหมือนกัน ก็จะทำให้แม่เหล็กทั้งสองผลักกัน แต่ถ้านำปลายของแม่เหล็กทั้งสองซึ่งมีขั้วที่ต่างกัน ก็จะทำให้แม่เหล็กทั้งสองดูดกัน ภายในการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า ก็เช่นเดียวกัน แรงแม่เหล็กที่ถูกสร้างขึ้นโดยขดลวดก็จะทำให้มอเตอร์หมุนไปได้
เมื่อรู้จักการทำงานของมอเตอร์กันมาบ้างแล้ว มาคราวนี้เราก็มาทำความรู้จักกับเลื่อยไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ กันเลยดีกว่าครับ
เลื่อยฉลุไฟฟ้า (Jig Saw or Saber Saw)
เลื่อยไฟฟ้าชนิดนี้เป็นเลื่อยไฟฟ้าที่เราพบเห็นได้ ง่ายที่สุด และถือได้ว่เป็นเลื่อยที่ถูกนำมาใช้งานตามบ้านมากที่สุดด้วย จนเรียกเลื่อยชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “เลื่อยเอนกประสงค์” อันเนื่องมาจากใช้งานง่ายและมีความคล่องตัวในการใช้งานรวมไปถึงการพกพาที่ สะดวกด้วย ลักษณะของเลื่อยชนิดนี้จะมีลักษณะคล้ายเตารีด โดยที่ด้ามถือจะมีลักษณะเป็นห่วง ทำให้ในขณะใช้งานเราจึงสามารถถือเลื่อยชนิดนี้ ด้วยมือเพียงข้างเดียวได้ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งก็คอยประคองให้ตัวเลื่อยเคลื่อนที่ไปตามแนวที่เราต้อง การตัด ภายในของเลื่อยชนิดนี้จะประกอบไปด้วยชุดมอเตอร์และชุดฟันเฟืองที่ทำหน้าที่ ในการขยับใบเลื่อยให้ขึ้นและลงเป็นแนวตรงคล้ายกับจักรเย็บผ้า ที่บริเวณฐานของเลื่อยบางรุ่นยังสามารถปรับให้เลื่อยเอียงได้ถึง 45 องศา เพื่อทำการตัดไม้ในมุมเอียงได้ด้วย
ในการเลือกใช้ใบเลื่อยนั้น จะต้องเลือกให้ถูกต้องกับชนิดของงาน เพื่อให้งานที่ออกมานั้นมีความสวยงามและถูกต้อง โดยใบเลื่อยที่ใช้ในการตัดไม้จะมีจำนวนฟันประมาณ 3-14 ฟัน ต่อนิ้ว ถ้าจำนวนฟันมีความถี่มากจะทำให้เวลา ในการเลื่อยช้า แต่ชิ้นงานที่ได้จะมีความเรียบ ฟันเลื่อยแบบนี้จะเหมาะกับไม้เนื้อแข็ง ในขณะที่ฟันหยาบ จะใช้เวลาในการเลื่อยนั้นเร็ว แต่ชิ้นงานที่ได้จะมีผิวที่ไม่ค่อยเรียบ ฟันเลื่อยแบบนี้จะเหมาะกับไม้เนื้อแข็ง ส่วนใบเลื่อยตัดเหล็กจะมีจำนวนฟันประมาณ 14-32 ฟันต่อนิ้ว โดยในการตัดโลหะนั้นจะต้องให้ฟันเลื่อยอย่างน้อย 2 ซี่ สัมผัสกับความหนาของขอบชิ้นงานทุกครั้ง มิฉะนั้นอาจจะทำให้รอยตัดที่ออกมานั้นหยาบและใบอาจจะหักในขณะที่ทำการเลื่อย ได้ นอกจากใบเลื่อยทั้งสองที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีใบเลื่อยอีกหลายแบบ เช่น ใบเลื่อยชุบคาร์ไบด์ เหมาะสำหรับงานตัดชิ้นงานที่เป็นคอนกรีต กระเบื้องเซรามิก เหล็ก ไฟเบอร์กลาส และวัสดุอื่นๆ เป็นต้น
เลื่อยวงเดือน (Circular Saw)
เลื่อยชนิดนี้เป็นเลื่อยที่ใช้กับชิ้นงานที่มีขนาด ค่อนข้างจะใหญ่ และมีกำลังในการตัดชิ้นงานสูง โดยส่วนใหญ่แล้วเลื่อยวงเดือนจะมีกำลังงานตั้งแต่ 500-1,500 วัตต์ เพื่อให้เหมาะกับงานที่จะใช้ ขนาดของตัวเลื่อยจะกำหนดจากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของใบเลื่อย ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 3 3/8-16 5 /16 นิ้ว รุ่นที่นิยมใช้มากที่สุดจะเป็นรุ่นขนาด 7 ¼ นิ้ว ซึ่งมีความคล่องตัวในการใช้งานมากที่สุด ลักษณะภายนอกของตัวเลื่อยจะประกอบไปด้วย
ใบเลื่อย (Blade) จะ มีอยู่หลายแบบหลายชนิดด้วยกัน ขึ้นอยู่กับงานที่จะนำไปใช้งาน เช่น ใบเลื่อยผสม จะใช้สำหรับตัดไม้ทางขวางหรือตามเสี้ยนไม้ ใบเลื่อยชนิดนี้จะมีฟันเลื่อยขนาดใหญ่ทำให้ตัดไม่ได้อย่างรวดเร็ว แต่ขอบจะมีลักษณะหยาบ,ใบ เลื่อยตัด จะใช้สำหรับตัดขวางแนวเสี้ยนไม้ ลักษณะของฟันเลื่อยจะเป็นซี่ละเอียดสลับกับฟันลบมุมคม ทำให้ตัดได้นุ่มนวล เหมาะที่จะนำไปตัดไม้อัดและไม้บาง, ใบเลื่อยไส จะใช้สำหรับตัดขวางและตัดมุมเอียง,ใบ เลื่อยซอย ออกแบบมาสำหรับตัดตามเสี้ยนไม้ได้อย่างรวดเร็ว มีร่องฟันเลื่อยที่ลึก จึงทำให้คายเศษชิ้นไม้หรือขี้เลื่อยได้ดี เป็นต้น ในการติดตั้งใบเลื่อยจะต้องให้คมของใบเลื่อยหงายขึ้นทุกครั้ง
ฝาครอบกันใบเลื่อย (Blade Guard) จะติดตั้งอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนบนและส่วนล่าง มีไว้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในขณะกำลังเลื่อยชิ้นงานอยู่ โดยจะป้องกันอันตรายจากใบเลื่อยเองและเศษขี้เลื่อยที่อาจจะกระเด็นไปถูกผู้ ปฏิบัติงาน
คันยกครอบกันใบเลื่อยด้านล่าง ใช้ในการโยกให้ฝาครอบกันใบเลื่อยด้านล่าง เลื่อนออกมาจากใบเลื่อยเพื่อให้สะดวกในการถอดเปลี่ยนใบเลื่อย
ฐานเครื่อง จะมีลักษณะเป็นโลหะชิ้นเดียวกันทั้งแผ่น ใช้ในการรองเลื่อยวงเดือนให้วางอยู่บนชิ้นงานที่เราทำการตัดได้อย่างมั่นคงตัวล็อกฐาน (Tilt Adjustment) ใช้ในการปรับฐานเครื่องกับตัวเลื่อยให้ทำมุมกับชิ้นงาน โดยสามารถปรับได้สูงสุด 45 องศา กับตัวชิ้นงาน
ด้ามจับและไกสวิตซ์ (Handle and Power Switch) ลักษณะ ของด้ามจับจะมีรูปร่างที่สามารถให้มือสอดเข้าไปจับตัวด้ามจับได้ถนัด และบริเวณด้านในของด้ามจับจะมีไกสวิตซ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเปิดและปิดการทำ งานของเลื่อย โดยถ้าต้องการให้เลื่อยทำงานก็ให้กดสวิตซ์ลง แต่ถ้าต้องการหยุดการทำงานก็ให้ปล่อยไกสวิตซ์ ในเลื่อยบางรุ่นจะมีปุ่มกดเพิ่มขึ้นมาทางด้านข้างของไกสวิตซ์เมื่อทำการกด ปุ่มนี้แล้วไกสวิตซ์ก็จะถูกกดค้างไว้โดยที่เราไม่ต้องทำการกดไกสวิตซ์เลย
แท่นเลื่อยวงเดือน (Table Saw)
เป็นเลื่อยที่ได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายตาม โรงเลื่อยต่าง ๆ เพราะเนื่องมาจากสามารถตัดแผ่นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ๆ ได้อย่างสบาย และนอกจากนั้นยังสามารถที่จะตัดไม้ให้มีลักษณะต่าง ๆกัน ได้อย่างมากมาย เช่น การเซาะร่อง,การตัดทำเดือย,การบากชิ้นงาน,การตัดเฉียง เป็นต้น ลักษณะของเลื่อยชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นแท่นตัดผิวเรียบ
ด้านล่างติดตั้งมอเตอร์พร้อมใบเลื่อยวงเดือน บริเวณปลายของใบเลื่อยจะโผล่ขึ้นมาจากแท่นตัดโดยที่จะมีฝาครอบกันใบเลื่อย คอยป้องกันไม่ให้เศษขี้เลื่อยกระเด็นเข้าตาเราได้ ที่ปลายของใบเลื่อยที่โผล่พ้นมากหรือน้อยก็ได้ขึ้นอยู่กับความหนาของไม้ นอกจากนั้นใบเลื่อยยังสามารถปรับมุมเอียงได้สูงสุด 45 องศา ลักษณะของใบเลื่อยจะใช้เช่นเดียวกับเลื่อยวงเดือน ที่บริเวณแท่นตัดจะมีคานบังคับไม้สำหรับยึดไม้ เพื่อป้อนไม้ให้เป็นแนวเส้นตรง
ข้อควรระวัง : เนื่อง มาจากเลื่อยวงเดือนมีความสามารถในการตัดชิ้นงานที่สูง จึงควรใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการใช้งานทุกครั้ง เช่น เมื่อต้องการจะเปลี่ยนใบเลื่อยจะต้องทำการปิดสวิตซ์และถอดปลั๊กไฟก่อนทุก ครั้ง,สวมแง่นนิรภัยป้องกันดวงตาและหน้ากากกันฝุ่น พร้อมกับใส่ที่อุดหู ในขณะปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันเศษขี้เลื่อยและเสียงของตัวเลื่อย, เป็นต้น
เลื่อยตัดปรับมุม (Miter Saw)
เลื่อยชนิดนี้เป็นเลื่อยที่สามารถทำการปรับมุมได้ตั้งแต่ 45-90 องศา ได้คงที่ตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องทำการปรับตั้งมุมบ่อย ๆ จึงทำให้นิยมนำไปใช้ในการตัดไม้เพื่อทำวงกรอบ,คิ้ว บัวหรือกรอบรูป เป็นต้น ในจำนวนมากๆ ทำให้ประหยัดเวลาในการเลื่อยไม้ แต่เลื่อยชนิดนี้ไม่เหมาะที่จะนำไปเลื่อยวัสดุที่เป็นเหล็ก ลักษณะของเลื่อยโดยทั่วไปจะเหมือนกับเลื่อยวงเดือนแต่เลื่อยตัดปรับมุมจะมี ฐานโลหะและมีแท่นปรับมุมเพิ่มขึ้นมา ในการปรับมุมตัดให้ทำการหมุนแท่นตัดไปตามองศาที่ต้องการแล้วทำการล็อคแท่น ตัดให้แน่น เลื่อยตัดปรับมุมที่ขายอยู่ในท้องตลาดจะมีอยู่ด้วยกันหลายขนาด แต่ที่นิยมใช้กันจะเป็นขนาด 10 นิ้ว ใบเลื่อยที่ใช้โดยส่วนใหญ่จะเป็นใบเลื่อยแบบผสม อันเนื่องมาจากรอยตัดที่ได้จะเรียบพอสมควร แต่ถ้าเราต้องการงานตัดที่มีความเรียบเป็นพิเศษควรใช้ใบเลื่อยไสหรือชนิด ปลายคาร์ไบ
เลื่อยชักใบ (Reciprocating Saw)
เลื่อยชักใบเป็นเลื่อยที่ถือได้ว่ามีความคล่องตัวใน การใช้งานมากที่สุด ลักษณะของเลื่อยจะมีลักษณะคล้ายกับสว่านมือ การทำงานของใบเลื่อยจะขยับขึ้นลงตามแนวตรงเหมือนกับในเลื่อยฉลุไฟฟ้าจึงถือ ได้ว่าเลื่อยชนิดนี้เป็นเลื่อยเอนกประสงค์อีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำไปใช้งาน ตามสถานที่ต่าง ๆได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งยังสามารถที่จะนำไปตัดวัสดุได้แทบจะทุกชนิดเลยทีเดียว (ขึ้นอยู่กับใบเลื่อย) ตัว เลื่อยถูกออกแบบมาสำหรับการผ่าไม้แปรรูปและใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ตัดช่องเปิดเพื่อติดตั้งประตู หน้าต่าง ช่องแอร์ หรืองานประปา เป็นต้น
ความเร็วในการเคลื่อนที่ของใบเลื่อยในบางรุ่นไม่สามารปรับความเร็วได้จะมีเพียงความเร็วในระดับเดียว คือประมาณ 2,000รอบต่อนาที ในบางรุ่นสามารถปรับได้ถึง 2 ระดับ และในบางรุ่นก็สามารถที่จะปรับได้หลายระดับเลยทีเดียว โดยความเร็วในการเคลื่อนที่ของใบเลื่อยนี้จะต้องสัมพันธ์กับการตัดวัสดุด้วย นั่นก็คือ เมื่อต้องการตัดเหล็กจะต้องใช้ความเร็วที่ต่ำ แต่ถ้าต้องการตัดวัสดุจำพวกพลาสติกควรจะใช้ความเร็วปานกลาง และถ้าต้องการตัดวัสดุจำพวกไม้หรือไม้อัด ควรจะใช้ความเร็วที่สูง ใบเลื่อยที่ใช้นั้น จะมีความยาวตั้งแต่ 2 ½ – 12 นิ้ว ลักษณะของฟันเลื่อยจะมีลักษณะเหมือนกับใบเลื่อยฉลุ ลักษณะในการจับเลื่อย ให้ใช้มือข้างหนึ่งจับที่บริเวณด้ามจับ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งให้จับที่คอจับให้มั่นคง แล้วจึงทำการกดไกสวิตซ์เพื่อทำการเลื่อยชิ้นงาน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเลื่อยไฟฟ้าชนิดต่าง ๆที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ยังมีอีกหลายชนิดที่เรายังไม่ได้แนะนำ เช่นเลื่อยสายพานใช้ในการเลื่อยไม้ พลาสติก อะลูมิเนียม และแผ่นโลหะ เป็นต้น นอกจากนั้นใบเลื่อยบางชนิดที่กล่าวมานี้นอกจากจะใช้ไฟบ้านเป็นตัวจ่าย พลังงานแล้ว ยังมีแบบที่ใช้แบตเตอรี่อีกด้วย ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกในการใช้งานยิ่งขึ้นไปอีก สำหรับในการใช้งานในเลื่อยชนิดต่าง ๆ จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง และควรจะเก็บให้พ้นจากมือเด็กด้วยนะครับ