การได้รับฟังสื่อต่างๆ ที่ประโคมกันอยู่ทุกวัน เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ดี สิทธิบัตรก็ดี ท่ามกลางความสนใจของประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยการจับจ่ายของใช้ละเมิดลิขสิทธิเหล่านี้ เนื่องจากราคาถูกกว่าของที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมาย
อันนี้คงต้องเป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความจำเป็น ดังกล่าวมากขึ้น ก็ควรจะมากกว่าข่าวการจับแล้วทำลาย (อันนี้ถือเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ) บางคนอาจมองว่าการจดสิทธิบัตรทำให้ตนเองเสียเวลา เสียเงิน เสียประโยชน์จากการประกาศโฆษณา
:: ทำไมต้องจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ::
ตามความเข้าใจโดยทั่วไป การจดสิทธิบัตรก็เพื่อเป็นการป้องกัน มิให้ผู้อื่นสามารถนำแนวความคิดของเราที่สู้อุตส่าห์พัฒนาขึ้นมา ไปกระทำการใดๆ ในเชิงพาณิขย์ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่ายังมีความสำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก อันได้แก่
1. คุ้มครองเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ และกิจการ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ และป้องกันการถูกกล่าวหาในกรณี ขัดแย้งทางสิทธิบัตร
2. เครื่องมือในการสร้างพันธมิตร
3. เผยแพร่เทคโนโลยี เพื่อเป็นความรู้อันเนื่องจาก สิทธิบัตรนั้นมีอายุจำกัดอย่างเช่น จอแสดงผลชนิดบางที่ใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ แบบพกพา หรือ โน๊ตบุ๊ค ปัจจุบันหมดอายุสิทธิบัตรแล้ว ใครก็สามารถนำเทคโนโลยีเดิมนี้ไปพัฒนาต่อได้ ผลที่ได้รับก็คือ ราคาคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค ราคาถูกลง
4. ส่งเสริมการลงทุน ให้มีการตั้งฐานการผลิตในประเทศ และให้มีการส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัย
5. ปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้มีการมุ่งมั่นที่จะพัฒนา อย่างไม่หยุดนิ่ง ยังส่งผลต่อให้ราคาถูกลง การส่งออกมากขึ้นตามลำดับ
ทั้ง 5 ข้อนั้นก็เป็นอีกสาระหนึ่งที่นอกเหนือจากความเข้าใจเดิมในเรื่องของผล ประโยชน์ หากจะว่าไปแล้ว แค่ข้อ 1. ก็น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่เราจะได้ประโยชน์จาการจดสิทธิบัตร
:: ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร ::
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำ ๆ นี้ก่อน สำหรับคำว่า ” ทรัพย์สินทางปัญญา ” นั้นแท้จริงแล้วก็คือสิ่งประดิษฐ์ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่คนเราสร้างขึ้นมา ก็มีทั้งสังหาริมทรัพย์หรือสิ่งที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องคิดเลข หม้อหุงข้าว ฯลฯ และอสังหาริมทรัพย์ หรือสิ่งของที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น ตึกอาคาร บ้านเรือน หรือที่ดิน เป็นต้น เหล่านี้ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น แต่ก็แยกประเภทออกไปตามลักษณะของผลงาน ซึ่งโดยส่วนมากแล้วคนไทยมักจะคุ้นเคยกับคำว่า ” ลิขสิทธิ์ ” มาใช้เรียกทรัพย์สินปัญญาทุกๆ ประเภท แต่ที่ถูกต้องแล้วทรัพย์สินทางปัญญาจะมีการแบ่งแยกประเภทออกไปอีก สำหรับความเข้าใจผิดเรื่อง ” ลิขสิทธิ์ ” ก็มาทำความเข้าใจกันใหม่ในบทความนี้
ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม อันถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ด้านอุตสาหกรรม ก็คือการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบเครื่องหมายการค้า ตราสัญลักษณ์ ชื่อและที่อยู่ทางการค้า และการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
สิทธิบัตร (Patent)
เครื่องหมายการค้า (Trademark)
แบบผังภูมิของวงจรรวม (Latout – Designs of Integrated Circle)
ความลับทางการค้า (Trade Secrets)
ชื่อทางการค้า (Trad Name)
สิ่งที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication)
:: ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา ::
ได้กล่าวไปแล้วเมื่อตอนต้น เรื่องความเข้าใจผิด หรือการเหมารวมของคนไทยเรื่องลิขสิทธิ์ ในหัวข้อนี้เรามาดูรายละเอียดกัน
ลิขสิทธิ์ (Copy right) หมาย ถึง งานหรือความคิดสร้างสรรค์ ในสาขา วรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม งานภาพยนตร์ หรืองานอื่นใดใน แผนกวิทยาศาสตร์ เช่นค่ายเทปเพลงต่างๆ ที่ออกเทปมาจำหน่ายตามแผงนั้นก็จะได้รับความคุ้มครองทางด้านลิขสิทธิ์โดย อัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่เผยแพร่โดนไม่ต้องไปยื่นจดทะเบียนแต่อย่างใด ซึ่งผู้อื่นที่ไม่ใช้เจ้าของผลงานจะมาทำซ้ำในรูปแบบเดียวกันไม่ได้ แต่สามารถนำเอาเนื้อหาไปใช้ได้ และลิขสิทธิ์ยังรวมทั้งลิขสิทธิ์ข้างเคียง (Neigh bouning Right ) คือการนำเอางานด้านลิขสิทธิ์ออกแสดง เช่น นักแสดง ผู้บันทึกหรือถ่ายทอดเสียงหรือภาพ ที่สำคัญยังรวมไปถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลกระทบอย่างหนัก ต่อผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศในขณะนี้ ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไมโครซอฟต์ และอีกหลายราย ออกมาเอาจริงเอาจังกับผู้ที่นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง
สิทธิบัตร (Patent)
หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้ เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้างหรือกลไก รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม และยังรวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design ) หรือผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ต่างๆ (Utility Model) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า (Petty Patent) จะมีลักษณะคล้ายกับการประดิษฐ์ แต่จะมีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่สูงมากนัก
สำหรับสิทธิบัตรนั้น จัดว่าเป็นอาวุธที่สำคัญของนักประดิษฐ์ในการปราบปรามพวกสิงปืนไวชอบลอกเลียน แบบทั้งหลาย มีกรณีศึกษาอยู่หลายกรณี สำหรับนักประดิษฐ์ที่ไม่เห็นความสำคัญของการจดสิทธิบัตร ผลสุดท้ายคนที่ไม่ได้ประดิษฐ์ แต่นำผลงานไปจดสิทธิบัตรก็กลับกลายเป็นผู้มีอำนาจถือครองอย่างถูกต้องตาม กฏหมาย และยังสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ประดิษฐ์ตัวจริงได้อีกด้วย มีเพียงไม่กี่รายที่สามารถฟ้องร้องเรียกสิทธิของตัวเองกลับคืนมาได้
ดังนั้น นักประดิษฐ์ทุกท่านจึงไม่ควรจะนิ่งเฉย แต่กรณีที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงผลเสียอย่างหนึ่งที่กระทบต่อนักประดิษฐ์ เท่านั้น ยังมีผลกระทบทางอ้อมอีกมากหากเราไม่สนใจจดสิทธิบัตร เช่น เทคโนโลยีในการประดิษฐ์ของประเทศมีการเติบโตช้า หรือไม่มีการพัฒนาผลงานให้สูงขึ้น
แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout – Designs of Integrated Circuit)
หมายถึง ผังการเชื่อมต่อของวงจรไฟฟ้า หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การนำตัวนำไฟฟ้า หรือตัวต้านทาน มาต่อกันเป็นวงจรที่สมบูรณ์โดยที่ผู้ออกแบบบได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง และต้องไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ในอุตสาหกรรมวงจรรวม ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ ช่นวงจรไฟกระพริบ 2 ดวง หากนำมาเปลี่ยนแค่ LED แบบ 2 in 1 หรือ สองสีในหนึ่งดวง นั้นไม่สามารถได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากว่ายังไม่จัดเป็นการคิดค้นหรือออกแบบใหม่ ยังเป็นลักษณะวงจร โมโนสเตเบิล ที่เป็นมาตรฐานที่ใช้กันมานาน
เครื่องหมายการค้า (Trademark)
หมายถึง เครื่อง หมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้า หรือ ทรัพย์สินทางปัญญา อีกประเภทหนึ่ง ที่ต้องได้รับการคุ้มครอง เช่น โค้ก เป๊บซี่ ฯลฯ ทั้งนี้เครื่องหมายทางการค้า ยังหมายรวมไปถึง เครื่องหมายบริการ (Service Mark ) ที่แสดงถึงประเภทการบริการที่แตกต่าง จากการบริการประเภทอื่นๆ เช่น สายการบิน โรงแรม ฯลฯ เครื่องหมายรับรอง ( Certify caption Mark ) อันนี้ตรงตัว ก็อย่างเช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฯลฯ เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) เป็นเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ ที่ใช้โดยบริษัทหรือ รัฐวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน เช่น ตราช้าง หรือปูนซีเมนต์ไทย เป็นต้น
อย่าง เช่นที่ DTAC เปิดตัวใหม่ๆ ได้มีธุรกิจประเภทซีดีเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ นำเอาเครื่องหมาย DTAC ไปโชว์ไว้ตรงหน้าปกซีดี ก็กลายเป็นเรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีกันไปเป็นที่เรียบร้อย แท้จริงแล้ว หากจะกระทำการในลักษณะนี้ ก็ควรจะขออนุญาตเจ้าของเป็นลายลักษณ์อักษร ก็คงไม่มีปัญหาอะไร
ความลับทางการค้า (Trade Secrets)
หมายถึง ข้อมูลการค้าที่ไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป และมีมูลค่าในเชิงพานิชย์เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ และมีการดำเนินการกันตามสมควร
ชื่อทางการค้า (Trade Name)
หมายถึง ชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจการ เช่น โกดัก ฟูจิ เป็นต้น
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication)
หมายถึง ชื่อหรือสัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และสามารถ บ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดขึ้นมาจากแหล่งภูมิศาสาตร์นั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะ ของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เช่น ส้มบางมด ผ้าไหมไทย แชมเปญ เป็นต้น
จากรายละเอียด รวมทั้งข้อคิดต่างๆ ในบทความนี้ คงจะพอชี้ให้เห็นว่าการจดสิทธิบัตรนั้น แท้จริงแล้ว นักประดิษฐ์ทั้งหลายไม่ได้เสียประโยชน์แต่อย่างใด มันกลับจะเพิ่มความมั่นใจในการทำการค้ากับเรามากขึ้นเสียด้วยซ้ำ และยังเกิดข้อดีอีกมากมาย ในการพัฒนาการประดิษฐ์คิดค้น ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือช่วยเป็นแหล่งการสืบค้นข้อมูล สำหรับนักลงทุนที่กำลังต้องการ ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาจำหน่าย นักประดิษฐ์ก็จะได้รับเงินจากการอนุญาตให้นักลงทุนหรือพ่อค้าที่สนใจ สามารถใช้สิทธิจากสิทธิบัตรของตนไปผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายได้ (ในกรณีนี้สำหรับนักประดิษฐ์ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการหรือไม่มีเงินลงทุน เอง )
เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย : กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์