ครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล เปิดคลินิกเฉพาะทางกายภาพบำบัดกับการกระตุ้นผ่านกระโหลกศรีษะด้วย TMS

10 กันยายน 2563 คณะกายภาพบำบัด เปิดคลินิกเฉพาะทางกายภาพบำบัด กับการกระตุ้นผ่านกะโหลกศีรษะด้วย TMS เป็นครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ ภายในงานได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในงานแถลงข่าว และรศ.ดร.กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แถลงการเปิดคลินิกเฉพาะทางในครั้งนี้ พร้อมกับบรรดาคณาจารย์ นักกายภาพบำบัด ของศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งนำไปสู่ความพิการในระยะยาวตามมาซึ่งการสูญเสียอย่างมหาศาลทางด้านเศรษฐกิจทั้งของโลกรวมทั้งประเทศไทย การคิดค้นวิธีการรักษาใหม่ๆ จะช่วยลดภาระของญาติหรือผู้ดูแล การได้มาซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักฐานเชิงประจักษ์ในงานวิจัยต่างๆ นั้นยังสามารถนำไปบูรณาการกับการเรียนการสอน ในหลักสูตรหลังปริญญา กับเพิ่มอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยให้มีอาการดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้

รู้หรือไม่ว่า ในบรรดาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้น มีผู้ป่วยเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถใช้แขนและมือในการเอื้อมหยิบจับของได้ใกล้เคียงปกติ สถิตินี้ชี้ให้เห็นถึงความจําเป็นในการคิดค้นกลยุทธ์เพื่อฝึกแขนและมือในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากผู้ป่วยยังต้องการความช่วยเหลือจากผู้ดูแลในการดำรงชีวิตประจำวัน

คณะกายภาพบำบัดเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ประกอบกับ คณะฯ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดที่เฉพาะเจาะจงที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์และประสบการณ์เกี่ยวกับเครื่องมือ TMS หรือ Transcranial Magnetic Stimulation มากว่า 12 ปี จึงเห็นควรว่า การเปิดคลินิกกายภาพบำบัดเฉพาะทางร่วมกับการกระตุ้นสมอง TMS นั้นจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีอาการที่ดีขึ้น และสามารถบูรณาการไปยังการเรียนการสอน และพัฒนางานวิจัยต่อไปในอนาคตในกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ เช่น พาร์กินสัน และออทิสซึม

TMS หรือ Transcranial Magnetic Stimulation เป็นเทคนิคการรักษาที่ใช้การส่งคลื่นแม่เหล็กไปยังสมอง โดยไม่มีการสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกาย เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อปรับสมดุลการทำงานของสมองทั้ง 2 ซีก ให้คืนสู่สภาพเดิม หลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การปรับสมดุลนี้ส่งผลให้แขนและมือข้างที่อ่อนแรงกลับมาการใช้งานได้ดีขึ้น

องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับชนิด ความหนักของการฝึก และตัวแปรต่างๆ ในการกระตุ้นสมอง ถูกถ่ายทอดจากห้องปฏิบัติการสู่รายวิชาต่างๆ ในหลักสูตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต การบูรณาการวิจัยและการศึกษาแบบนี้เป็นวิธีส่งเสริมการศึกษาให้มีมาตรฐานระดับสากล โดยองค์ความรู้นั้นเป็นองค์ความรู้แบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์

ในการรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือ TMS นั้น จะทำร่วมไปกับการรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Task specific training (TST) เทคนิคนี้เป็นเทคนิคการฝึกกิจกรรมที่จำเพาะกับอาการและปัญหาของผู้ป่วย โดย TST จะเป็นกิจกรรมการหยิบจับสิ่งของตามโจทย์ที่ได้รับ ซึ่งการรักษาในรูปแบบนี้จะช่วยลดความบกพร่องต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเคลื่อนไหว ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ร่วมทั้งเพิ่มแรงจูงใจในการฝึก โดยให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา TMS เหมาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่ไม่มีประวัติอาการชัก ไม่เคยถูกฝังโลหะในบริเวณที่กระตุ้น และไม่ได้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) การกระตุ้นด้วย

TMS ไม่มีอันตรายต่อระบบประสาทและร่างกาย อาจพบผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น รู้สึกไม่สบายบริเวณหนังศีรษะที่ได้รับการกระตุ้น เป็นต้น

ผู้สนใจเข้าใช้บริการการรักษาผ่านเครื่อง TMS สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ผ่านทางเว็ปไซต์: www.pt.mahidol.ac.th Facebook: ศูนย์กายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งนัดหมายทำการรักษาได้ที่ 063-520-5151 กด 2 ฝ่ายประชาสัมพันธ์