วว. คว้ารางวัล Bronze Prize จากผลงานวิจัย “เครื่องอบแห้งอาหารและสมุนไพร ระบบพลังงานลมร่วมแสงอาทิตย์” ในเวที SIIF 2022

วว. คว้ารางวัล Bronze Prize จากผลงานวิจัย “เครื่องอบแห้งอาหารและสมุนไพร ระบบพลังงานลมร่วมแสงอาทิตย์” ในเวที SIIF 2022

นายวีรยุทธ  พรหมจันทร์  นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ  (ศนอ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  พร้อมด้วย นางเรวดี    มีสัตย์  นักวิจัยอาวุโส  ศนอ. ในฐานะผู้แทน วว. ได้รับรางวัล Bronze Prize จากการส่ง เครื่องอบแห้งอาหารและสมุนไพร ระบบพลังงานลมร่วมแสงอาทิตย์ (Vortex-Circulating Solar Dryer) ผลงานวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการครัวแบ่งปัน วว. เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและร่วมประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์  ในงาน  Seoul International Invention Fair 2022  (SIIF 2022)  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่  16-19  พฤศจิกายน  2565  กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี  โดย วว. ได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ให้เข้าร่วมกิจกรรมในเวทีดังกล่าว  ทั้งนี้งาน Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022)  เป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์นานาชาติของกรุงโซล เปิดตัวในปี .. 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการตลาดและส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์ อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของเกาหลี และได้รับการสนับสนุนในระดับสากล โดย องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และประเทศพันธมิตร  ปัจจุบันเป็นเวทีสำหรับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากทั่วโลก ในการร่วมแสดงความคิดและโชว์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ผลิต นักลงทุน และผู้จัดจำหน่าย

เครื่องอบแห้งอาหารและสมุนไพร ระบบพลังงานลมร่วมแสงอาทิตย์  เป็นผลงานบูรณาการวิจัยและพัฒนาโดยหน่วยงานของ วว. ได้แก่  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ   ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร   ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ และศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ  เหมาะสำหรับอบแห้งอาหาร ที่ใช้อุณหภูมิ ไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส  เช่น หมูแดดเดียว  ปลาเค็ม กุ้งแห้ง  ปลาหมึกแห้ง  ผลไม้ เช่น กล้วย มะม่วง  ลำไย  ขนุน  แก้วมังกร  และสมุนไพรประเภท เหง้า ลำต้น ใบและดอก  เช่น ขิง ขมิ้น ใบเตย ฟ้าทะลายโจร อัญชัน กระเจี๊ยบ บัวบก เป็นต้น  

คุณลักษณะเด่นของนวัตกรรม  ออกแบบโดยใช้หลักอากาศพลศาสตร์ Aerodynamics ช่วยให้การเคลื่อนที่ของกระแสลม และการกระจายความร้อนภายในห้องอบแห้งมีประสิทธิภาพสูงสุด การกระจายความร้อนภายในห้องอบแห้ง มีความสม่ำเสมอและทั่วถึง  มีถาดวางวัตถุดิบ จำนวน 10 ชั้น รองรับวัตถุดิบได้  5  กิโลกรัม/ชั้น  ประหยัดพื้นที่ใช้สอยโดยใช้พื้นที่ติดตั้งใช้งาน  2 x 2   ตารางเมตร   มีอัตราการอบแห้งสูงกว่าตู้อบแสงอาทิตย์ทั่วไป 5-10 เท่า และสามารถรองรับพลังงานความร้อนเสริมจากแก๊ส LPG ได้ในกรณีที่ไม่มีแสงแดด

ส่วนประกอบและหลักการทำงาน 1) โครงสร้างภายนอก แบบรูปทรงกระบอกแนวตั้ง ทำด้วยวัสดุ Polycarbonate Sheet ชนิดโปร่งแสง สามารถรับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้รอบทิศทาง เพื่อมาเก็บสะสมไว้ภายในห้องอบแห้ง 2) โครงสร้างภายใน ประกอบด้วย ถาดวางวัตถุดิบจำนวน 10 ชั้น ขนาดถาด  1 x 1 ตารางเมตร สามารถรองรับวัตถุดิบได้สูงสุด 50 กิโลกรัม/ครั้ง  3) ระบบเติมอากาศ ติดตั้งบริเวณส่วนล่างของตู้อบ ช่วยให้อากาศหมุนเวียนภายในห้องอบแห้ง สามารถควบคุมอัตราการเติมอากาศได้ด้วยฝา เปิดปิด  4) ลูกหมุนระบายอากาศ อาศัยพลังงานลมจากภายนอก ช่วยสร้างกระแสลมหมุนวนขึ้นภายในห้องอบแห้ง   เพื่อดูดความชื้นออกจากวัตถุดิบ    สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในห้องอบแห้งได้ด้วย Gate Valve และ 5) ระบบความร้อนเสริมในกรณีที่ไม่มีแสงแดด รองรับระบบแก๊ส LPG ติดตั้งบริเวณภายนอกห้องอบแห้ง โดยให้ความร้อนผ่านแผ่นกระจายความร้อน

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเชิงพาณิชย์  ติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว.  (วีรยุทธ  พรหมจันทร์) โทร. 0 2577 9000, 0 2577 9129  โทรสาร 0 2577 9009 อีเมล weerayuth_p@tistr.or.th