ลิขสิทธิ์

นับจากช่วง 1 – 2 ปีหลังมานี้ ผู้คนให้ความสนใจเรื่องของลิขสิทธิ์กันมาก หากนับจากเมื่อ 7 ปีที่แล้วในการรับบทบรรณาธิการนิตยสาร INVENTION ของผม ซึ่งต้องยอมรับว่าการออกนิตยสารเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้น โดยเฉพาะการนำเสนอความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในยุคนั้น
มันชั่งไม่มีใครสนใจเสียจริงๆ บางคนบอกว่าผมออกนิตยสารเร็วเกินไป อาจเป็นได้ว่ามันยังไม่ถึงเวลาของคนไทยเพราะวันนั้นการแข่งขันยังไม่สูง อีกทั้งกระแสของ Creative Economic ก็ยังไม่เห็นมีใครพูดถึง TCDC ก็พึ่งเริ่มสร้าง จึงทำให้ความตื่นตัวของผู้คนนั้นมีน้อยมาก

แต่วันนี้ผมคิดว่ามันเป็นยุคของนักประดิษฐ์ที่ไม่ใช่เอาแต่ประดิษฐ์แล้วคิดแต่เรื่องฟังก์ชั่นของชิ้นงาน แต่นักประดิษฐ์จำเป็นต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปให้มากกว่าแต่ก่อน
เพราะวันนี้ลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าแค่ประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียว แต่เขามองที่รูปลักษณ์ของสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ เอาล่ะครับเรามารู้จักกับคำว่า “ลิขสิทธิ์” กันดีกว่าว่าเราจะป้องกันความคิดสร้างสรรค์ของเราไม่ให้คนอื่นมาลอกเลียนไปโดยง่ายได้อย่างไร

ความหมายของลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น โดยการแสดงออกตามประเภทงานลิขสิทธิ์ต่างๆ
ลิขสิทธิ์ เป็นผลงานที่เกิดจาการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา”ประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเจ้าของผลงานทางลิขสิทธิ์จึงควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ลิขสิทธ์ เป็นทรัพย์สินประเภทที่สามารถ ซื้อ ขาย หรือโอนสิทธิกันได้ ทั้งทางมรดก หรือโดยวิธีอื่น ๆ การโอนลิขสิทธิ์ควรที่จะทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทำเป็นสัญญาให้ชัดเจน จะโอนสิทธิทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ได้ 

ลิขสิทธิ์มีได้ในงาน 9 ประเภทดังนี้ 

1. งานวรรณกรรม ได้แก่ หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา โปรแกรมคอมพิวเตอร์

2. งานนาฏกรรม ได้แก่ งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว การแสดงโดยวิธีใบ้ 

3. งานศิลปกรรม ได้แก่ งานจิตกรรม งานปฏิมากรรม งานภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม งานภาพถ่าย ภาพประกอบ แผนที่โครงสร้าง งานศิลปประยุกต์ และรวมทั้งภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าว 

4. งานดนตรีกรรม หมายถึง งานที่เกี่ยวกับเพลง ทำนองและเนื้อร้อง หรือทำนองอย่างเดียว และรวมถึงโน้ตเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว 

5. งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วิดีโอเทป แผ่นเลเซอร์ดิสก์

6. งานภาพยนตร์

7. งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทปเพลง แผ่นคอมแพ็คดิสก์

8. งานแพร่เสียงและภาพ เช่น งานที่นำออกเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์

9. งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

ผลงานที่ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์

1. ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

2. รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ หรือของท้องถิ่น

4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ

5. คำแปลและการรวบรวม ตามข้อ 1 – 4 ซึ่งทางราชการจัดทำขึ้น 

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์

สิทธิ์ ในลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยทันที นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ค์ได้สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องจดทะเบียน ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ของตนเอง โดยการเก็บรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้ทำการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์สิทธิ์ หรือความเป็นเจ้าของในโอกาสต่อไป

ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์นอกจากจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานแล้ว บุคคลอื่นอาจมีสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์นั้นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงต่างๆ ในการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ เช่นการสร้างสรรค์งานร่วมกัน การว่าจ้างให้สร้างสรรค์งาน การโอนสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ เป็นต้น ดังนั้นผู้มีลิขสิทธิ์จะเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ต่อไปนี้

1. ผู้สร้างสรรค์งานขึ้นใหม่ ทั้งที่สร้างสรรค์งานด้วยตนเองเพียงผู้เดียว หรือผู้สร้างสรรค์งานร่วมกัน

2. ผู้สร้างสรรค์ในฐานะพนักงาน หรือลูกจ้าง

3. ผู้ว่าจ้าง

4. ผู้รวบรวมหรือประกอบกันเข้า

5. กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือท้องถิ่น

6. ผู้รับโอนลิขสิทธิ์

7. ผู้สร้างสรรค์ซึ่งเป็นคนชาติภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญากรุงเบอร์น และประเทสในภาคีสมาชิกโองการค้าโลก

8. ผู้พิมพ์โฆษณางานที่ใช้นามแฝงหรือนามปากกกาที่ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ 

การคุ้มครองลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ ต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของตน ดังนี้

1. ทำซ้ำ หรือดัดแปลง

2. การเผยแพร่ต่อสาธารณชน

3. ให้เช่าต้นฉบับ หรือสำเนางาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

5. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ในการเช่าซื้อ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน และให้เช่าต้นฉบับ

6. อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์

ผลของการคุ้มครองลิขสิทธิ์

โดยทั่วไป การคุ้มครองลิขสิทธิ์ จะมีผลเกิดขึ้นโดยทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยความคุ้มครองนี้จะมีผลตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะคุ้มครองต้องไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต หากแต่มีงานบางประเภทจะมีการคุ้มครองที่แตกต่างกันไป โดยสรุปดังนี้

1. ในงานทั่วไป ลิขสิทธิ์ จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย กรณีเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม ก็ให้นับจากผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตาย กรณีเป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ที่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น กรณีผู้สร้างสรรค์ค์ใช้นามแฝง หรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ค์ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น

2. งานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น

3. งานที่สร้างสรรค์ โดยการว่าจ้าง หรือตามคำสั่งให้มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น

4. งานศิลปประยุกต์ ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 25 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น กรณีที่ได้มีการโฆษณางานเหล่านั้น ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่โฆษณาครั้งแรก ยกเว้นในกรณีงานศิลปประยุกต์ให้ลิขสิทธิ์มีอายุต่อไปอีก 25 ปี นับแต่โฆษณาครั้งแรก

ประโยชน์ของลิขสิทธิ์

1. ประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองตามกฏหมาย ลิขสิทธิ์ และมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้น หรือผลงานตามข้อใดข้อหนึ่งดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิ์ทำซ้ำ หรือดัดแปลง จำหน่าย ให้เช่า คัดลอก เลียนแบบ ทำสำเนา การทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ของตนทั้งหมด หรือแต่บางส่วนก็ได้ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

2. ประโยชน์ของประชาชนหรือผู้บริโภค การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ในผลงานลิขสิทธิ์มีผลให้เกิดแรงจูงใจแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าทางวรรณกรรมและศิลปกรรมออกสู่ตลาดให้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความรู้ ความบันเทิง และได้ผลงานที่มีคุณภาพ

ข้อมูล : จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์