นศ. CIBA_มธบ. นำองค์ความรู้พลิกฟื้นชุมชนคลองศาลากุลเกาะเกร็ด สร้างเงิน สร้างรายได้ ชุมชนยั่งยืน
ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นองค์ความรู้และเทคนิคที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ สืบทอดและเชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน การสั่งสมความรู้ ประสบการณ์มาเป็นระยะเวลายาวนาน จะช่วยให้คนในรุ่นถัดไปปรับตัวและอยู่รอดได้ เฉกเช่นชุมชนคลองศาลากุล ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พื้นที่ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่คนละฟากฝั่งกับชุมชนปากเกร็ด ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำสวน เป็นหลัก บางครัวเรือนผลิตสินค้าพื้นถิ่น รวมถึงทำขนมไทยขายเป็นอาชีพเสริม บ้างก็นำสมุนไพรพื้นบ้านมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากชุมชนอีกฟากของเกาะที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการทำเครื่องปั้นดินเผา เดิมสินค้าที่ผลิตขึ้นในชุมชนคลองศาลากุลจะขายให้นักท่องเที่ยวเป็นหลัก ในพื้นที่วัดปรมัยยิกาวาส แต่ปัจจุบันไม่สามารถไปวางสินค้าขายได้ดังเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ
เมื่อช่องทางขายสินค้าในเกาะถูกตัดขาด ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น เพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มถูกคิดค้นมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อาทิ ชาสมุนไพรหน่อกะลา ชาสมุนไพรรางแดง เป็นต้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังช่วยกันหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า โดยส่วนใหญ่จะเป็นการออกร้านตามห้างสรรพสินค้า หรือตามมหกรรมแสดงสินค้าต่างๆ แต่ด้วยอุปสรรคที่สำคัญคือ การเดินทางลำบากเพราะต้องนั่งเรือข้ามฟาก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ขายประจำส่งผลให้การค้าขายไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้และการจัดการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนได้
จากปัญหาข้างต้นทำให้ธนาคารออมสินเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ผ่านโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ส่งเสริมให้นักศึกษานำองค์ความรู้ที่ได้เรียนจากภาคทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนารายได้และความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพ ผลิตภัณฑ์และบริการของวิสาหกิจชุมชนคลองศาลากุล ประกอบด้วย ชุมชนกระเป๋าผ้า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรและเบเกอรี่ 2 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนางรำ จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดอกไม้ผ้าใยบัว และกลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและรับทราบปัญหา พบว่าชุมชนต้องการให้พัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าให้มีความทันสมัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ยกระดับสินค้าชุมชนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าประเภทบริการ และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชนด้วย
นางสาวธันย์ชนก ทองนิ่ม (พัฟ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy :CIBA) ตัวแทนกลุ่มสมุนไพรชารางแดง เล่าว่า จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาพบว่า ชารางแดง เป็นสินค้าที่มีคุณภาพราคาไม่แพง แต่ขายไม่ค่อยได้จึงต้องการให้ช่วยหาช่องทางจัดจำหน่าย ทางทีมจึงนำข้อมูลต่างๆกลับมาวิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไข พบว่าชารางแดงมีกลิ่นที่ฉุนเกินไป จึงได้คิดค้นในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ด้วยการลดไฟในการคั่ว วัดอุณหภูมิและเพิ่มการนวดใบชา จนได้สูตรที่ลงตัว ได้กลิ่นชาที่หอมละมุน หลังจากปรับสูตรและออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น จึงรู้สึกดีใจที่ได้นำความรู้ที่เรียนมา มาช่วยชาวบ้านได้จริง ทั้งนี้สิ่งที่ได้รับคือประสบการณ์หลายด้าน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การหาช่องทางการตลาด รวมถึงการทำงานเป็นทีม ซึ่งประสบการณ์และความรู้จากการลงพื้นที่จริงจะช่วยต่อยอดการทำงานหลังจบการศึกษาได้
นายธนกร พ่วงกลิ่น(ออม) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลาบ้านนางรำ กล่าวว่า โจทย์คือช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 50% ทางทีมได้รับมอบหมายให้ดูแลการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา เนื่องจากแพ็กเกจเดิมใช้ต้นทุนสูง เราจึงช่วยกันออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่โดยใช้โทนสีที่เรียบง่ายใช้วัสดุที่เป็นกระดาษและนำรูปเจดีย์เอียงที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดมาเป็นจุดขาย หลังจากนั้นยังช่วยทำเพจและบูทเพจให้คนเห็นมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด ผลที่ได้รับหลังจากแก้ไขบรรจุภัณฑ์และบูทเพจกว่า 1 เดือนพบว่า มีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และหน้าร้านเพิ่มขึ้น 40% ซึ่งเป็นผลที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก จากการสะท้อนปัญหาของชาวบ้านที่ไม่มีหน้าร้านประจำ ทำให้พวกเราช่วยหาช่องทางขายใหม่ขึ้นจนประสบความสำเร็จและตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ได้ไปคลุกคลีกับชาวบ้านทำให้นักศึกษาที่ร่วมโครงการได้ประสบการณ์ที่ดี จึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป
“ต้องขอบคุณโครงการนี้ ที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปสัมผัสงานจริง เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาและพัฒนาไปพร้อมกับชุมชน จากผลงานที่ช่วยกันสร้างขึ้น ทำให้ทางทีมงานได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย เพื่อไปร่วมโชว์ผลงาน ในพิธีส่งมอบโครงการออมสินยุวพัฒนรักษ์ถิ่นด้วย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง”นายธนกรกล่าว
นางสาวธนภรณ์ เลิศศรีเทียนทอง (นุ่น) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา บ้านนางรำ กล่าวเสริมว่า บรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ออกแบบใหม่นั้นวัตถุดิบที่นำมาผลิตสามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 7-8 บาทต่อห่อ ส่งผลให้มีกำไรต่อชิ้นเพิ่มขึ้น สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก ทำให้มีโอกาสได้นำความรู้ที่เรียนมาช่วยเหลือชุมชนได้จริง และชาวบ้านในชุมชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป
นางสาวกนิษฐา เรืองฉาง(มุก) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการ วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกจักสาน กล่าวว่า การลงพื้นที่สำรวจผู้ประกอบการทำให้ทราบถึงปัญหาที่เขาต้องการให้ช่วย ส่วนปัญหาที่พบ ได้แก่ 1.ไม่มีสถานที่ขายสินค้า 2.รูปแบบของสินค้ายังไม่ตอบโจทย์ และ3.การจัดการขายยังไม่เป็นระบบ ทางทีมจึงนำความรู้ในสาขาการจัดการมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการออกแบบคู่สีให้อยู่ในโทนเดียวกัน พร้อมแนะนำระบบการขายผ่านระบบออนไลน์ และจัดจำหน่ายสินค้าหน้าร้าน โดยช่วยปรับภูมิทัศน์ให้กับศูนย์จักสานบนเกาะเกร็ด เพิ่มพื้นที่โชว์สินค้า ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาดูวิธีการจักสานและซื้อสินค้าเป็นของที่ระลึก ถือเป็นการสร้างจุดขายสินค้าในระยะยาวได้ หลังจากแนะนำวิธีแก้ปัญหาด้วยการบูรณาการวิทยาการสมัยใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาดั้งเดิม เกิดจุดเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งดูได้จากยอดขายและการสั่งสินค้าเข้ามาเป็นระยะ รวมถึงการสั่งสินค้าเป็นของชำร่วยในงานมงคลด้วย