ตู้รับจดหมายแจ้งเตือนด้วย LED

ตู้รับจดหมายแจ้งเตือนด้วย LED

หากคุณเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับจดหมายและเอกสาร ไม่ควรพลาดโครงงานนี้ ตู้รับจดหมายกันฝนพร้อมมีแสงไฟแสดงสถานะจดหมายในตู้ติดสว่างในยามค่ำคืน

ชวนท่านนักประดิษฐ์สร้างตู้รับจดหมายกันน้ำสำหรับเกาะรั้วแบบมีไฟเตือนสถานะเมื่อมีจดหมายเข้า โดยใช้วงจรง่ายๆ ทำได้ทุกคน (ขอให้ใช้หัวแร้งเป็นก็พอ)

หลายท่านคงเคยเห็นโคมไฟสนามโซลาร์เซลที่ปัจจุบันมีขายกันตามห้างสรรพสินค้าและร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป สนนราคาก็ประมาณหนึ่งร้อยบาทปลายๆ จนถึงหลายร้อยบาทหรือหลักพันก็มี (แต่หลักพันนี่ไม่เคยใช้ครับ) โคมไฟเหล่านี้เหมาะสำหรับใช้ประดับสวนเพื่อความสวยงามและบอกตำแหน่งเป็นหลัก ที่น่าสนใจก็คือ ราคาค่าตัวของมันสุดแสนจะถูก เหมาะที่เราจะเอามารื้อประกอบเป็นสิ่งประดิษฐ์ของเรา ว่าแล้วก็มาดูอุปกรณ์ที่จะต้องใช้กันก่อนเลยครับ

เตรียมวัสดุและอุปกรณ์

1. ชุดโคมไฟโซลาร์เซลล์ (คลิกสั่งซื้อ) 
2. แลตชิ่งรีเลย์ เบอร์ AL-D 5 W-K (คลิกสั่งซื้อ)
3. กะบะถ่าน AA 3 ก้อน (คลิกสั่งซื้อ)
4. แบตเตอรี่ AA 3 ก้อน
5. ไมโคร (ลิมิต) สวิตช์แบบมีก้าน 2 ตัว
6. แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. (ขนาดที่ต้องใช้ดูจากรูปที่ 1)
7. เสารองโลหะยาว 1 นิ้ว 6 ตัว
8. สกรู 3×15 มม. 6 ตัว
9. แผ่น PVC สีขาวหนา 0.5 มม. แบบโปร่งแสง 1 แผ่น
10. กาวซิลิโคนสีขาว หรือใส (สั่งซื้้อคลิก)
11. กาวร้อน (สั่งซื้อคลิก)
12. ปืนยิงกาวร้อน (สั่งซื้อคลิก)
หมายเหตุ : แลตชิ่งรีเลย์มีจำหน่ายที่ บริษัท อีเลคทรอนิคส์ ซอร์ซ จำกัด โทร : 0-2623-9460-6

mailbox-003

รูปที่ 1 รูปวาดส่วนประกอบของตู้รับจดหมาย

mailbox-004

รูปที่ 2 แสดงการเชื่อมต่อวงจรกับอุปกรณ์จริง

หลักการทำงาน
จากรูปที่ 2 แสดงการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยการทำงานเริ่มจากไมโครสวิตช์ SW1 ตรวจจับการเปิดปิดฝาช่องใส่จดหมาย และ SW2 ตรวจจับการเปิดปิดฝาด้านหลังตู้ ปกติไมโครสวิตช์จะถูกกดอยู่ยังไม่มีกระแสไฟจ่ายให้กับขดลวดของรีเลย์ จนกระทั่งบุรุษไปรษณีย์มาเปิดฝาเพื่อใส่จดหมายช่วงเวลานี้เองก้านสวิตช์ SW1 จะถูกยกขึ้นทำให้มีกระแสไฟไหลผ่านขั้ว C และ NC ไปเลี้ยงขดลวดที่ 1 ของแลตชิ่งรีเลย์ที่ขา 10 ทำให้หน้าสัมผัสที่ขา 2 และ 3 ของแลตชิ่งรีเลย์ต่อถึงกันและยังคงต่อค้างอยู่อย่างนั้นแม้ SW1 จะถูกกดลงตามเดิมแล้วก็ตาม แต่ LED จะยังไม่ทำงานจนกว่าแสงสว่างภายนอกจะมืดลง

เมื่อถึงยามค่ำที่เรากลับถึงบ้านก็จะพบกับแสงสว่างจาก LED ที่เตือนเราว่ามีจดหมายอยู่ในตู้และเปิดฝาหลังตู้หยิบจดหมายก้าน SW2 จะถูกยกขึ้นทำให้มีกระแสไฟไปเลี้ยงขดลวดที่ 2 ของแลตชิ่งรีเลย์ที่ขา 1 และ 5 หน้าสัมผัสที่ขา 2 และ 3 จะแยกออกจากกันทำให้ LED ดับลง การทำงานของวงจรก็มีเพียงเท่านี้ ที่เหลือก็งานฝีมือล้วนๆ

การสร้างตู้จดหมายเกาะรั้ว
ก่อนอื่นต้องบอกว่าตู้รับจดหมายนี้ออกแบบเผื่อเอาไว้สำหรับบ้านทาวน์เฮ้าส์ที่ส่วนมากเหล็กสำหรับทำรั้วจะใช้เหล็กกล่องขนาดไม่เกิน 2 นิ้ว และที่สำคัญรั้วต้องเปิดแบบบานพับไม่ใช่รั้วแบบเลื่อนเหมือนบ้านเดี่ยว เอาล่ะครับก่อนอื่นทำการตัดแผ่นพลาสวูดตามแบบในรูปที่ 1 ให้ครบจากนั้นประกอบตามขั้นตอนต่อไปนี้

(1) นำแผ่น A1 , B1 และ B2 ประกอบกันยึดด้วยกาวร้อนเพื่อใช้เป็นโครงสร้างหลักดังรูปที่ 3 (ในรูปเป็นตัวต้นแบบยังไม่ได้แยกแผ่น A2 ออกมา)

mailbox-005

(2) นำแผ่น C1 และ C2 ประกอบด้านบนสำหรับเป็นช่องรับจดหมายดังรูปที่ 4

mailbox-006

(3) นำแผ่น E1, E2 และ E3 ติดด้านในตรงช่องของแผ่น A2 เพื่อกัน ฝาตู้ด้านหลังดังรูปที่ 5.2 และ 5.3

mailbox-007

 

mailbox-008

(4) ตัดเศษพลาสวูดเป็นแท่งขนาดกว้าง 0.5 ซม. ยาว 3 ซม. จากนั้นเหลาให้เป็นแท่งทรงกลมสำหรับใช้เป็นก้านกดไมโครสวิตช์ดังรูปที่ 6.2 หรืออาจใช้ไม้ตะเกียบกลมมาตัดก็ได้เช่นกัน

mailbox-009

(5) เจาะรูด้านขวาของแผ่น C2 ให้มีขนาดเท่ากับก้านพลาสวูดทรงกลมที่ทำจากขั้นตอนที่ 4 โดยให้ก้านพลาสวูดสามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงรูได้คล่อง จากนั้นนำเศษพลาสวูดขนาดเล็กติดเข้ากับก้านพลาสวูดทรงกลมด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 7.3 นำไมโครสวิตช์มาติดตั้งยึดด้วยปืนยิงกาว ใช้นิ้วทดลองกดเบาๆ เมื่อปล่อยมือ ก้านพลาสวูดจะต้องสามารถกระเด้งขึ้นเองได้สะดวก

mailbox-010

(6) ติดเศษพลาสวูดสำหรับเป็นตัวดันก้านไมโครสวิตช์ SW2 ที่แผ่น A2 ด้วยกาวร้อน (ฝาหลังตู้) ดังรูปที่ 8.1 แล้วติดตั้งไมโครสวิตช์ SW2 กับแผ่น A1 ด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 8.2

mailbox-011

(7) ติดตั้งแผ่น D1 ไว้ด้านบน โดยยึดด้วยบานพับเข้ากับด้านหลังตู้ (A1) ดังรูปที่ 9.2 จากนั้นติด D2, D3 และ D4 เป็นกันสาดด้านล่างแผ่น D1 ในตำแหน่งด้านซ้าย ขวา และหลัง

mailbox-012

(8) นำชุดโคมไฟสนามโซลาร์เซลมารื้อเอาเฉพาะแผงรับแสงอาทิตย์ และวงจร สำหรับกะบะถ่านต้องใช้คีมตัดค่อยๆ เล็มทีละนิดจดได้เฉพาะกะบะถ่านดังรูปที่ 10.4

mailbox-013

(9) ติดตั้งแผงรับแสงอาทิตย์ไว้บนแผ่น D1 (หลังคา) บริเวณมุมขวาโดยเจาะรูสำหรับสอดสายลงไปด้านล่างและเจาะอีกรูที่แผ่น A1 (หลังตู้) สำหรับสอดสายเข้าในตู้ดังรูปที่ 11.2 ยึดแผงรับแสงอาทิตย์ด้วยปืนยิงกาว จากนั้นใช้กาวซิลิโคนยาแนวให้รอบแผ่นรับแสงอาทิตย์เพื่อกันน้ำเข้า

mailbox-014

(10) ประกอบแผ่น J เข้ากับด้านหน้าดังรูปที่ 12.1 แล้วเจาะช่อง สี่เหลี่ยมสำหรับให้ LED ส่องแสงออกมาดังรูปที่ 12.2 จากนั้นตัดพลาสวูด เป็นกรอบนำแผ่น PVC สีขาวแบบโปร่งแสงติดกับช่องที่เจาะไว้ด้วยกาวร้อนแล้วแปะกรอบพลาสวูดทับลงไปอีกชั้น โดยขั้นตอนนี้อาจออกแบบเป็นรูปทรงอื่นเช่นวงกลม หรือฉลุลวดลาย ตามความชอบส่วนตัวได้เลย

mailbox-015

(11) ติดตั้งกะบะถ่าน AA 3 ก้อนไว้ด้านล่างของแผ่น C1 ส่วนแลตชิ่งรีเลย์ก็หาที่เหมาะๆ ติดไว้ด้วยปืนกาว ส่วนชุดวงจรไฟแสดงสถานะติดไว้ใต้แผ่น C2 โดยให้ LED ยื่นออกมากึ่งกลางของช่องแผ่น J ที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่ 10 ดังรูปที่ 13.2

เพิ่มเติมอีกนิดในรูปที่ 13.1 จะเห็นว่ามีแบตเตอรี่บรรจุไว้เพียง 2 ก้อน เป็นเพราะว่าขั้นตอนนี้ไมโครสวิตช์ถูกปล่อยลอยไว้ และเพื่อป้องกันไม่ให้มีกระแสไฟฟ้าไปเลี้ยงขดลวดรีเลย์ตลอดเวลาจึงต้องถอดแบตเตอรี่ออกก่อน

mailbox-016

(12) ประกอบแผ่น F , G ดังรูปที่ 14.1 และแผ่น H สำหรับปิดก้นตู้รับจดหมายด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 14.2

mailbox-017

(13) ประกอบแผ่น L1 และ L2 เข้ากับแผ่น K ดังรูปที่ 15

mailbox-018

(14) ประกอบชิ้นรั้วเข้ากับแผ่น i ด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 16

mailbox-019

(15) เจาะรูสำหรับยึดเสารองโลหะที่แผ่น K ด้วยสว่านแล้วยึดสกรูขนาด 3×15 มม. ดังรูปที่ 17.1 อาจเจาะหลายรูหน่อยเผื่อตอนติดตั้งไปเจอเอาแนวเหล็กรั้วเข้าจะได้เลี่ยงไปยึดรูอื่นได้ จากนั้นเจาะรูที่แผ่น G ให้ตรงกับแนวเสารองโลหะดังรูปที่ 17.3 และ 17.4

mailbox-020

(16) ประกอบชุดรั้วกับแผ่น K ที่เจาะรูและยึดเสารองโลหะไว้แล้วด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 18 ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการทำตู้รับจดหมายแล้วครับ

mailbox-021

การติดตั้ง
นำตู้รับจดหมายไปคล้องกับรั้วดังรูปที่ 19.1 จากนั้นนำชุดยึดที่มีแนวรั้วสำหรับปลูกต้นไม้ไปประกบดังรูปที่ 19.2 เปิดฝาหลังตู้ขันสกรู 3×15 มม. เข้าไปดังรูปที่ 19.3 ก็เป็นอันเรียบร้อย ขั้นตอนสุดท้ายก็นำไม้ดอกสวยๆ ไปลงปลูกในกะบะดังรูปที่ 20

mailbox-022

mailbox-023

mailbox-024

mailbox-025

การใช้งาน
บรรจุแบตเตอรี่ AA 3 ก้อน ลงในกะบะถ่านให้เรียบร้อย จากนั้นก็รอบุรุษไปรษณีย์มาเปิดตู้จดหมายแลตชิ่งรีเลย์ก็จะต่อหน้าสัมผัสให้กับ LED พอเวลากลางคืน LED ก็จะติดสว่างทำให้เรารู้ว่ามีจดหมายในตู้ และเมื่อเปิดฝาออกแลตชิ่งรีเลย์ก็จะตัดหน้าสัมผัสทำให้ LED ดับทันที

mailbox-002

ลองทำดูนะครับสำหรับคนที่ชอบแต่งบ้านและไม่ต้องการเหมือนใคร และที่สำคัญแทบไม่ต้องใช้ทักษะทางอิเล็กทรอนิกส์เลยก็สร้างได้แล้ว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ