Categories
รีวิว

กาว ชนิดต่างๆ

เมื่อมีการแตกหักของสิ่งของต่างๆ หรือว่าเราต้องการที่จะเชื่อมต่อวัสดุ 2 อย่างเข้าด้วยกัน เรามักจะใช้สารเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยประสานสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้ยึดติดกันด้วยดี โดยสารเคมีที่ช่วยในการประสานนี้เรามักจะเรียกมันว่า “กาว” นั่นเอง

โดยกาวส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่มีส่วนผสมหลักคือโพลีเมอร์ (Polymer) ซึ่งจะประกอบด้วยหน่วยย่อยที่เรียกว่า โมโนเมอร์ (Monomer) มาเรียงต่อกันเป็นโมเลกุลสายยาว คล้ายกับนำคลิปหนีบกระดาษมาหนีบต่อกัน การที่กาวเหนียวได้นั้น ก็เนื่องมาจากโมเลกุลสายยาวๆ ที่ว่านี้พันกันไปมานั่นเอง ตอนนี้เรามารู้จักประวัติของกาวกันก่อนนะครับ

กาว ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษราวปี ค.ศ.1750 โดยในครั้งนั้นได้ใช้ปลามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกาวขึ้นและต่อมาจึงได้มีการพัฒนาโดยการนำเอายางจาก ธรรมชาติ,กระดูกสัตว์, แป้ง, และโปรตีนจากนมเป็นต้น มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกาวชนิดต่างๆ ด้วยวิวัฒนาการที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในปี ค.ศ.1942 Dr.Harry Coover ซึ่งในขณะนั้นได้ปฏิบัติงานอยู่ที่ห้องทดลองของ Kodak Research Laboratories ได้ค้นพบสารเคมีที่มีชื่อว่าไซยาโนอะคริเลต (Cyanoacrylate, C H NO) ที่มีคุณสมบัติเหนียวและติดแน่น เขาจึงได้ทำการเสนอให้กับทางบริษัท โกดัก แต่ทางบริษัทได้ปฏิเสธสารชนิดนี้ เนื่องมาจากสารชนิดนี้มีคุณสมบัติที่เหนียวและติดแน่นมากเกินไป

ในปี ค.ศ.1951 Dr.Harry Coover ได้ร่วมมือกับ Dr.Fred Joyner นำเอาสารไซยาโนอะคริเลตกลับมาทำการวิจัยใหม่ โดยในขณะนั้น Dr.Harry Coover ได้ย้ายจากบริษัทโกดัก มาอยู่ที่ The Eastman Company ในรัฐเทนเนสซี่สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่พวกเขากำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับความต้านทานทางด้านความร้อนของ อะคริเลตโพลิเมอร์ (Acrylate-polymer) สำหรับใช้ในการทำหลังคา (Canopies) ของเครื่องบินเจ็ต เมื่อ Dr.Fred Joyner กำลังขยายฟิล์มเพื่อดูสารเอธิลไซยาโนอะคริเลต (ethylcyanoacrylate) เขาได้เห็นผลึกของสารชนิดนี้จึงเกิดความสนใจขึ้นมา และได้ทำการวิจัยอย่างจริงจังกับคูเวอร์ จนกระทั่งฝันของคูเวอร์ก็เป็นจริงเมื่อเขานำเอาสารอะคริเลตโพลิเมอร์ผลิตออกมาเป็นสินค้าในปี ค.ศ.1958 ในชื่อของ “The Eastman Compound #910” และเรียกกันจนติดปากว่า “ซูปเปอร์กลู (Super Glue)”

หลังจากที่ได้รับทราบประวัติกันไปแล้ว เราก็มาทำความรู้จักกับกาวแต่ละชนิดกันเลยครับ

ชนิดของกาว

1.กาวติดผ้า (Fabric Glue)

ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับวัสดุที่เป็นผ้า โดยกาวชนิดนี้ขณะใช้จะไม่ทำอันตรายต่อผิวหนัง และใช้เวลาในการแห้งน้อย

2. กาวซูเปอร์กลู (Super Glue)

บางทีเราก็เรียกกาวชนิดนี้ว่า “กาว CA” ผลิตจากสารเคมีที่มีชื่อว่าไซยาโนอะคริเลต เป็นกาวที่มีคุณวมบัติติดยึดวัตถุได้ค่อนข้างแน่น และแห้งเร็ว ภายใน 10 ถึง 30 วินาที โดยกาวเพียง 1 ตารางนิ้วสามารถยึดติดวัสดุที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน ได้อย่างสบายๆ ลักษณะของกา่วจะมีลักษณะเป็นของเหลวหรือเจล สามารถนำไปใช้งานได้ทันที โดยถ้าเป็นชนิดเหลวจะใช้กับวัสดุจำพวกพลาสติก โลหะ ไวนิล ยาง และกระเบื้องเซรามิก สาวนกาวชนิดที่เป็นเจล จะใช้กับวัสดุจำพวกไม้และวัสดุที่มีรูพรุนต่างๆ การนำไปใช้งานก็เพียงแต่หยดกาวลงพื้นผิวที่ต้องการจะยึดติดเท่านั้น ปัจจุบันมีให้เลือกมากหมายหลายยี่ห้อและเรียกกาวประเภทนี้ว่ากาวร้อน

3. กาวขาว (White Glue)

หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่าโพลีไวนิลอะซีเทต (Polyvinylacetate , PVA) เนื้อของกาวมีลักษณะเป็นของเหลว ซึ่งสามาราถนำไปใช้งานได้ทันที เหมาะสำหรับงานกระดาษและงานไม้ งานซ่อมแซมภายในบ้าน งานเฟอร์นิเจอร์ งานตกแต่งภายในและเซรามิก เนื่องจากเป็นกาวที่ไม่มีสารเป็นอัตรายมาก จึงสามารถให้เด็กใช้งานได้ เมื่อแห้งแล้วเนื้อกาวจะแข็งพอประมาณ เนื่องจากกาวชนิดนี้ละลายน้ำได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้กับงานที่ต้องสัมผัสน้ำ

 

4. กาวอีพ็อกซี่ (Epoxy Glue)

กาวชนิดนี้มีลักษณะพิเศษอยู่ตรงที่ ตัวกาวจะมี 2 ส่วนด้วยกัน โดยลักษณะของเนื้อกาวทั้งสองส่วนนี้จะมีลักษณะเหลวข้น บรรจุอยู่ในหลอดหรือกระบอกฉีดแบบ่อคู่ กาวอีพ็อกซี่เหมาะที่จะนำไปใช้กับวัสดุจำพวกไม้ โลหะ กระเบื้อง แก้ว และวัสดุอื่นๆ แถมยังสามารถยึดติดได้ดีกับวัสดุต่างชนิดกัน เช่น เหล็กกับแก้ว เป็นต้น ในการนำไปใช้งานจะต้องนำกาวทั้งสองส่วนมาผสมในอัตราส่วนที่เท่ากันเสียก่อน แล้วผสมหรือขยำให้เข้ากัน แล้วจึงนำไม้หรือเกียงโป๊สีปาดลงบริเวณที่ต้องการยึดติด โดยกาวจะแห้งภายใน 5 นาที ที่อุณหภูมิปกติ จนถึงข้ามคืนก็ขึ้นอยู่กับวัสดุ แต่เมื่อเนื้อกาวแห้งสนิทแล้วจะมีความแข็งแรงมาก บางชนิดแห้งช้า แต่จะมีแรงยึดสูงมากตัวกาวไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับพลาสติกจำพวกโพลีเอทีลีนหรือโพลีโพรพีลีน

5. กาวอะครีลิค (acrylic glue)

ตัวกาวจะมีอยู่  2  ส่วนเหมือนกับกาวอีพ็อกซี่ แต่ส่วนหนึ่งเป็นของเหลวอีกส่วนเป็นผง แต่ก็มีบางยี่ห้อได้ทำการผสมกันไว้ให้แล้ว จึงสะดวกมากในการใช้งาน กาวชนิดนี้เหมาะที่จะนำมาใช้ติดไม้ เหล็ก กระจกและเฟอร์นิเจอร์ภายนอกอาคาร คุณสมบัติของกาว ก็คือ แห้งเร็วและยึดติดแน่น สำหรับการใช้งานนั้นจะต้องผสมตัวกาวทั้งสองส่วนให้เข้ากันเสียก่อนจากนั้น จึงนำไปทาที่ชิ้นงานทั้งสองชิ้นแล้วจึงนำมาประกบกันรอกาวแห้งประมาณ 5 นาที แต่ควรจะทิ้งไว้สักหนึ่งคืนเพื่อให้กาวเซ็ตตัว เมื่อกาวแห้งสนิทดีแล้วเนื้อกาวจะสามารถกันน้ำได้และติดแน่นมากๆ

6. กาวอะลิฟาติก (กาวเหลืองหรือที่บางคนเรียกว่ากาวยาง)

ถือได้ว่าเป็นกาวสารพัดประโยชน์ เหมาะสำหรับงานเฟอร์นิเจอร์และงานซ่อมแซมต่างๆ ลักษณะของเนื้อกาวเป็นของเหลวหนืด สามารถใช้งานได้ทันที ในการใช้งานเมื่อนำไปทากับชิ้นงานที่ต้องการแล้วกาวจะแห้งภายใน 1  ชั่วโมง แต่ควรจะทิ้งไว้ข้ามคืน เพื่อให้กาวยึดติดได้แน่นยิ่งขึ้น เนื่องจากกาวสามารถละลายน้ำได้ จึงไม่ควรนำไปใช้กับชิ้นงานกลางแจ้ง

 

7. กาวคอนแท็กซีเมนต์ (Contact Cement Glue)

เหมาะสำหรับงานที่ต้องการติดวัสดุที่มีลักษณะ เป็นซีเมนต์หรืออาจจะนำไปใช้กับวัสดุอื่นก็ได้เช่นการติดกระเบื้องกับผนัง การติดพลาสติกกับไม้อย่างถาวรเป็นต้น สำหรับการใช้งานจะต้องทากาวกับพื้นผิวหรือวัสดุที่ต้องการติดยึดทั้งสองชิ้น ด้วยแปรงหรือลูกกลิ้งก่อนที่จะนำชิ้นงานทั้งสองมาประกบกัน เมื่อประกบกันปุ๊บก็จะติดกันปั๊บ

8. กาวหลอมร้อน (Glue Guns)

เจ้ากาวชนิดนี้มีลักษณะเป็นแท่งกลมใสหรือขาว ขุ่นยาวและแข็ง ทำมาจากสารเคมีชนิดต่างๆ เช่น โพลิเอไมด์ (Polyamide), โพลิเอทิลีนไวนิลอะซิเทต (Polyethylene vinyl acetate) เป็นต้น กาวชนิดนี้จะต้องอาศัยปืนยิงกาวไฟฟ้าเป็นตัวช่วยในการละลายกาวจึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตัวกาวเหมาะที่จะนำไปใช้ในงานที่ต้องการยึดติดอย่างรวดเร็วและไม่ต้องการ ความแข็งแรงมากนัก เช่น งานเฟอร์พิเจอร์ ของเล่น รองเท้า พรมเป็นต้น

ในการใช้งานนั้น เราจะต้องใส่กาวลงไปในปืนยิงกาวเสียก่อน จากนั้นเสียบปลั๊กของปืนยิงกาวรอประมาณ 3-5 นาที ให้ปืนยิงกาวร้อน แล้วนำปลายของปืนยิงกาวไปจ่อบริเวณที่ต้องการ จากนั้นกดไกปืนกาวจะค่อยๆไหลออกมาจากปลาย ในการทากาวชนิดนี้ต้องใช้ความรวดเร็วก่อนที่กาวจะแข็งตัว สำหรับเทคนิคในการยึดติดชิ้นงานที่เป็นแนวยาวนั้น ให้ใช้ปืนยิงกาว ยิงกาวในลักษณะเป็นลูกคลื่นอย่างรวดเร็ว แล้วจึงนำชิ้นงานมาประกบ แต่ถ้ายึดชิ้นงานที่เป็นแผ่นกาวก็ควรจะยิงให้เป็นแนวซิกแซก แล้วจึงรีบยึดชิ้นงานและกดไว้ประมาณ 30 วินาทีหรือจนกว่าจะแน่ใจว่ากาวได้แข็งตัวแล้ว

9. แถบกาวพันท่อ

เป็นแถบกาวที่ทำมาจากเทปล่อน บนแถบจะไม่มีกาวติดอยู่ ลักษณะของแถบกาวชนิดนี้จะเป็นแถบบางสีขาว ใช้สำหรับพันเกลียวท่อน้ำหรือท่อลมในระบบนิวเมตริก เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำและลม ใช้ได้ทั้งท่อโลหะและท่อพลาสติก PVC

10. กระดาษกาว

เป็นกระดาษสีน้ำตาลหรือสีขาว มีเนื้อเหนียวแน่นและเคลือบกาวไว้ด้านใน ใช้สำหรับงานชั่วคราวต่างๆ

11. แถบกาวชนิดโฟม 2 หน้า (Foam Mouting Tape)

ทำมาจากแผ่นโฟมที่สามารถยืดหยุ่นได้ โดยแผ่นโฟมนี้จะถูกเคลือบกาวเอาไว้ทั้งด้านในและด้านนอก ใช้สำหรับยึดชิ้นงานที่มีน้ำหนักไม่มากนัก

12. แถบกาวพันสายไฟ

ทำจากไวนิลบาง ทนความร้อนและยืดตัวได้ เพื่อเป็นฉนวนป้องกันไฟรั่วหรือต่อสายไฟในกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่ควรนำไปใช้เป็นการถาวร (ส่วนมากช่างไฟในเมืองไทยก็ใช้กันอย่างถาวรทั้งนั้น) เพราะเมื่อใช้ไปนานๆ เนื้อกาวที่เคลือบไว้ก็จะเสื่อมสภาพลง จนทำให้แถบกาวหลุดออกจากสายทองแดง อาจทำให้เกิดอันตรายจากไฟดูดหรือลัดวงจรได้

จากรูปจะเห็นว่ามีสีต่างๆ มากมายให้เลือกใช้ แต่ที่มีสีหลากหลายไม่ใช่เพื่อความสวยงาม แต่ใช้เพื่อแยกระดับของแรงดันไฟฟ้าและแยกเฟสของสายในกรณีที่ใช้งานกับไฟหลายเฟส


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Exit mobile version