ทำแป้งปั้นที่คงตัวได้ แข็งแต่ไม่แข็ง มีความยืดหยุ่นเหมือนยาง ใช้กับงานต่างๆ ได้หลากหลาย เช่นทำตัวรองอุปกรณ์กันกระแทก ฐานยึดมอเตอร์กันสะเทือน หรือจะใส่ LED ไว้ภายในเพื่อสร้างเป็นโครงงานอาร์ตๆ
จากบทความแนะนำ Sugru ที่ผ่านมาหลายคนคงทึ่งและเริ่มสนใจในคุณสมบัติอันน่าอัศจรรย์ของมันที่เราสามารถปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ตามต้องการ หลายคนนึกค้านในใจว่า ก็ไปซื้อแป้งปั้นหรือดินญี่ปุ่นมาก็สิ้นเรื่องหาซื้อก็ง่าย ใช่ครับปั้นได้ หาซื้อง่าย แต่พอแข็งแล้วก็แข็งจริงๆ ไม่มีคุณสมบัติเหมือนยางซิลิโคน ทำให้ประโยชน์ของมันสิ้นสุดลงที่ความสวยงามเป็นหลัก
แต่สำหรับ i-Gru (เป็นชื่อเฉพาะที่ผมตั้งเองครับ ไม่ต้องไปค้นใน Google) ที่เราจะมาชวนท่านผู้อ่านทำกันนี้ จะมีคุณสมบัติคล้ายกับ Sugru ต่างที่การทนความร้อนทีี่ Sugru ทนได้ถึง 180oC แต่ i-Gru จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของซิลิโคนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำ ก่อนอื่นเรามาเตรียมวัตถุดิบกันก่อนดังรูป

ส่วนผสมและอุปกรณ์ประกอบด้วย
1. แป้งข้าวโพด
2. ซิลิโคนสีใส แนะนำให้ซื้อชนิดที่ไม่มีกลิ่น และห้ามใช้ชนิดแห้งเร็ว
3. ไม้ไอศครีมหรืออะไรก็ได้ที่ใช้กวนได้
4. ถ้วยหรือชาม
ขั้นตอนการทำ
(1) บีบซิลิโคนลงในภาชนะในปริมาณที่ต้องการดังรูปที่ 2 แนะนำว่าไม่ควรผสมเกิน 3 ช้อนโต๊ะ เพราะจะทำให้ส่วนผสมเข้ากันไม่ดี
(2) เทแป้งข้าวโพดลงไป ในอัตราส่วน 1:1 ดังรูปที่ 3 จากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องใช้ความเร็วในการคลุกหน่อยนะครับ คนให้เข้ากันจนรู้สึกว่าซิลิโคนและแป้งข้าวโพดเริ่มจับตัวกันดี (หากใครต้องการใส่สีก็ให้หยดลงไปในขั้นตอนนี้ โดยสีที่ใช้ควรเป็นสีน้ำมันหยดลงไปในอัตราส่วน 1:10 เพราะหากหยดมากเกินไปส่วนผสมจะเหลวมากและแห้งช้า) คลุกเคล้าต่ออีกสักครู่ก็จะเริ่มจับตัวเหมือนแป้งปั้นดังรูปที่ 3.4 ก็เป็นอันใช้ได้แล้วครับ
(3) ตอนนี้ท่านสามารถปั้นเป็นรูปทรงตามต้องการ ในตัวอย่างนี้เราจะนำมาห่อหุ้มแผงวงจร ZX-01 (แผงวงจรสวิตช์) เพื่อกันกระแทกและรองรับงานหนักๆ อย่างเช่นการทุบ โดยเริ่มจากผ่าครึ่งลูกปิงปองแล้วทา i-Gru เพื่อรองพื้นให้รอบ ดังรูปที่ 4.1 เมื่อทาจนทั่วแล้วก็นำ ZX-01 คว่ำหน้าลงไปดังรูปที่ 4.2 แล้วโปะ i-Gru เพื่อห่อหุ้มให้ทั่วทั้งแผงวงจรดังรูปที่ 4.3 รอให้แห้งประมาณ 10 นาที
(4) เมื่อชิ้นงานแห้งแล้วก็มาทำการแกะออกจากแบบ โดยการบีบขอบลูกปิงปองให้ชิ้นงานคลายตัวดังรูปที่ 5.1 แล้วค่อยๆ ดึงออกมาจะได้แป้นกดปุ่มยางซิลิโคนที่ฝังแผงวงจรสวิตจช์ไว้ภายใน นำไปใช้งานได้ทันทีดังรูปที่ 5.2 และ 5.3
(5) แถมท้ายด้วยการนำ i-Gru มาห่อหุ้ม LED แล้วปั้นเป็นรูปทรงที่เราต้องการ เมื่อจ่ายไฟให้ LED เราก็จะพบกับความสวยงามของแสง LED ที่ส่องผ่าน i-Gru ออกมาดังรูปที่ 6.2
เพียงเท่านี้ก็จะได้วัสดุใหม่ที่ใช้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการทำโครงงานอิเล็กทรอนิกส์อาร์ตของเราแล้ว
เรื่องที่คุณอาจสนใจ