การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

สำหรับขั้นตอนการยื่นจดเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ซับซ้อนเหมือนการจดสิทธิบัตร และมีค่าใช้จ่ายไม่มาก แต่เนื่องจากความง่ายในการจดทะเบียนจึงมีผู้ประกอบการจำนวนมากยื่นจด ทำให้คุณอาจพบกับอุปสรรคใหม่นั่นก็คือการถูกคัดค้านจากผู้ประกอบการรายอื่น

เช่นเครื่องหมายของคุณคล้ายคลึงกับของเขา หรือกระทั่งความคุ้มครองครอบคุลมมากเกินไปทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์เป็นต้น ดังนั้นคุณควรสืบค้นไปก่อนล่วงหน้าว่าเครื่องหมายที่คุณจะยื่นจดนั้น มีส่วนเหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นหรือไม่ จากนั้นเตรียมเอกสารและใบคำขอรวมทั้งหนังสือมอบอำนาจในกรณีที่ให้ผู้อื่นไปจดให้ก็เป็นอันใช้ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

tm-step

ขั้นตอนการขอจดทะเบียนโดยยื่นคำขอจดทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมตามจำนวนรายการสินค้าหรือบริการที่จะจดทะเบียนอย่างละ500 บาท และเมื่อรับคำสั่งให้จดทะเบียนสินค้า/บริการ ให้ชำระค่าธรรมเนียมตามจำนวนสินค้า/บริการอีก อย่างละ 300 บาท เพื่อนายทะเบียนสั่งรับจดทะเบียนภายหลังครบกำหนดประกาศโฆษณาและไม่มีผู้คัดค้านการจดทะเบียน มีรายละเอียดขั้นตอนการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังนี้

1) การตรวจค้น

แนะนำให้ผู้ยื่นดำเนินการตรวจค้นเครื่องหมายที่จะขอจดว่าเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายของผู้อื่นหรือไม่ ผู้ค้นต้องเสียค่าธรรมเนียมในการตรวจค้น 100 บาท/1 ชั่วโมง

2) การยื่นขอจดทะเบียน

– ผู้ยื่นต้องเตรียมเอกสารตามที่กฎหมายกำหนดและกรอกข้อความให้สมบูรณ์ ได้แก่

2.1) คำขอจดทะเบียน (ก. 01) 1 ฉบับ พร้อมสำเนา จำนวน 5 ฉบับ

2.1) คำขอจดทะเบียน (ก. 01) 1 ฉบับ พร้อมสำเนา จำนวน 5 ฉบับ

2.3) หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามีการมอบอำนาจ) ติดอากร 30 บาท ต่อผู้รับมอบอำนาจ 1 คน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับมอบอำนาจ

2.4) สำเนาบัตรประจำตัว (ถ้าผู้ขอเป็นบุคคลธรรมดา)

2.5) ต้นฉบับหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน นับจนถึงวันยื่นคำขอ (ถ้าผู้ขอเป็นนิติบุคคล)

2.6) ถ้าผู้ขออยู่ต่างประเทศให้โนตารี พับลิครับรองเอกสารด้วย

2.7) รูปเครื่องหมายจำนวน 8 รูป ขนาดไม่เกิน 5X5 เซนติเมตร (ถ้าเกินคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเซนติเมตรละ 100 บาท)

– ยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียม 500 บาท ต่อสินค้า/บริการ 1 อย่าง

3) การตรวจสอบ

– ในขั้นแรกเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary check) คือตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารเท่านั้น (Documentary check)

– ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและนายทะเบียนจะตรวจสอบว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียน มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ กล่าวคือ

3.1.1) ต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะ

3.1.2) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายและ

3.1.3) ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของผู้อื่นในชั้นนี้จะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 4 เดือนต่อ 1 คำขอ

– ภายหลังตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งผู้ยื่นคำขอทราบผลการตรวจสอบตามแต่กรณี ดังต่อไปนี้

3.2.1) การรับจดทะเบียน

3.2.2) ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน

3.2.3) ให้แก้ไขคำขอ

3.2.4) แจ้งผู้ยื่นคำขอว่า เครื่องหมายที่ขอจดทะเบียน มีผู้อื่นยื่นขอจดทะเบียนไว้เช่นกัน ขอให้ผู้ยื่นไปตกลงกันเองก่อน

4) การแจ้งให้แก้ไขคำขอ

ผู้ขอจดทะเบียนต้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ผิด ระบุข้อความไม่ครบถ้วน ไม่ได้ลงลายมือชื่อ ฯลฯ โดยคิดค่าธรรมเนียมคำขอละ 200 บาท

5) การแจ้งให้ตกลงกันก่อน

– ถ้าผู้ยื่นคำขอตกลงกันได้ และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าใครได้สิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นไป เจ้าหน้าที่จะดำเนินการประกาศโฆษณาต่อไป

– ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถตกลงกันได้คำขอจดทะเบียนที่ยื่นก่อนจะได้รับการจดทะเบียน ตามหลัก ใครยื่นก่อนมีสิทธิดีกว่า (first-to-file)

6) การแจ้งไม่ปฏิเสธคำขอ

– เจ้าหน้าที่จะดำเนินการประกาศโฆษณาต่อไป

– บางกรณีเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอสละสิทธิในคำขอบางส่วนเนื่องจากบางส่วนของเครื่องหมายเป็นสิ่งที่ใช้กับสามัญในการค้าขายหรือไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ

6.1) ถ้าผู้ยื่นคำขอยอมสละสิทธิ ผู้ยื่นคำขอต้องแจ้งนายทะเบียนทราบ

6.2) ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับนายทะเบียน ผู้ยื่นคำขออาจดำเนินการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ได้ ภายใน 90วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง โดยชำระค่าธรรมเนียมการอุทธรณ์คำขอฉบับละ 2,000 บาท

7) การแจ้งปฏิเสธ

– ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่อุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ นายทะเบียนก็จะจำหน่ายคำขอนั้นออกจากสารบบ

– ถ้าผู้ยื่นคำขอประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน90 วันนับตั้งแต่วันที่รับหนังสือแจ้งคำสั่ง โดยชำระค่าธรรมเนียมคำขอฉบับละ 2,000 บาท

8) แจ้งคำวินิจฉัยให้นายทะเบียน

เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยแล้ว จะแจ้งคำวินิจฉัยให้นายทะเบียนทราบดังนี้

– ถ้าวินิจฉัยเห็นควรให้จดทะเบียน นายทะเบียนจะดำเนินการประกาศโฆษณาต่อไป

– ถ้าวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียน นายทะเบียนจะจำหน่ายคำขอจดทะเบียนออกนอกสารบบและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถือเป็นที่สุด

9) การประกาศโฆษณา

– ถ้านายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียน นายทะเบียนมีคำสั่งประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนและมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนมาชำระค่าธรรมเนียมประกาศโฆษณาคำขอละ 200 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

9.1.1) ถ้าไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายใน 30 วันถือว่าละทิ้งคำขอ

9.1.2) เมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว นายทะเบียนจะประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนและจะรอการประกาศเอาไว้ 90 วัน

9.1.3) ถ้าไม่มีการคัดค้านการจดทะเบียนเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายนั้นต่อไป

9.1.4) ถ้ามีการคัดค้านการจดทะเบียน โดยเหตุหนึ่ง เหตุใดเช่น เครื่องหมายการค้าไม่มีลักษณะที่จดทะเบียนได้, เครื่องหมายการค้าไม่ได้เป็นของผู้จดทะเบียน หรือการจดทะเบียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านต้องยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่พร้อมแสดงหลักฐานและเหตุผล และชำระค่าธรรมเนียมค่าคำคัดค้าน 1,000 บาท

– เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบว่ามีบุคคล คัดค้านการจดทะเบียนคำขอนั้น

9.2.1) ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่ประสงค์จะโต้แย้งการคัดค้านนายทะเบียนจะจำหน่ายคำขอออกจากสารบบ

9.2.2) ถ้าผู้ยื่นคำขอประสงค์จะโต้แย้งการคัดค้านให้ยื่นคำโต้แย้งต่อนายทะเบียนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาการคัดค้าน

– นายทะเบียนจะพิจารณาในประเด็นที่คัดค้านนั้น เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้ว จะแจ้งไปให้คู่กรณีทราบ

– คู่กรณีที่เสียประโยชน์อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนได้โดนยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียน โดยชำระค่าธรรมเนียมคำขอฉบับละ2,000 บาท

– เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยแล้วนายทะเบียนจะแจ้งผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้แก่คู่กรณีทราบ

– ถ้าคู่กรณีฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ผู้นั้นอาจนำคดีขึ้นฟ้องศาลได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ทราบผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า

10) การจดทะเบียน

– เครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เมื่อผ่านการตรวจสอบจากนายทะเบียนและได้ประกาศโฆษณาแล้ว และผ่านกระบวนการคัดค้านและอุทธรณ์ จนถึงที่สุดเป็นเครื่องหมายที่สามารถจดทะเบียนได้ นายทะเบียนจะแจ้งไปยังผู้ยื่นคำขอทราบให้ดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเจ้ง

– เมื่อผู้ยื่นคำขอชำระค่าธรรมเนียม ผู้ยื่นคำขอจะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน โดยชำระค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการอย่างละ 300 บาท

จำพวกสินค้าของเครื่องหมายการค้า

ในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะต้องระบุจำพวกสินค้าให้ถูกต้องตามประเภทสินค้าที่ได้ขอยื่น ปัจจุบันจำพวกสินค้าของเครื่องหมายการค้ามีทั้งสิ้น 45 จำพวก ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2546 เป็นต้นมา