Categories
บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

รวมเทคนิคมัลติมิเตอร์แบบเข็ม

หลายท่านคงเคยใช้มัลติมิเตอร์แบบเข็ม และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของมิเตอร์เข็มที่ใช้กันนั้น เป็นมิเตอร์ในแบบของญี่ปุ่น ซึ่งยี่ห้อที่นิยมใช้กันคงจะหนีไม่พ้น SANWA เป็นแน่ โดยเฉพาะรุ่น YX-360xxx (xxx หมายถึงรุ่นย่อยๆ ในรุ่นหลักนี้) กับรุ่น YX-361TR ซึ่งเป็นรุ่นยอดนิยมทั้งคู่

ดังนั้นขอนำเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการใช้งานมัลติมิเตอร์แบบเข็มมาฝาก เผื่อบางท่าน อาจจะยังไม่ทราบมาก่อน  อ้อ เทคนิคนี้อ้างอิงกับมิเตอร์ของ SANWA ทั้งสองรุ่นดังกล่าวครับ

 

TIPs 1. ใช้แทนไขควงวัดไฟ
คงจะรู้จักไขควงวัดไฟกันดีน่ะครับ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าใช้วัดไฟ ดังนั้นหน้าที่ของมันคือใช้วัดดูว่าสายเส้นไหนเป็นขั้วมีไฟหรือขั้ว L : Line และเส้นไหนเป็นสายดิน N : Neutral ถ้าหากวันไหนท่านอยากจะวัดไฟในลักษณะนี้บ้าง แต่ไม่มีไขควงวัดไฟมีแต่มิเตอร์ตัวเก่งจะทำไงดี? ถึงจะวัดหาขั้ว L กับ N ได้   ไม่ยากเลยครับ ลองทำดังนี้ดู ให้ท่านตั้งมาตรวัดไปที่ AC VOLT ที่ย่านวัด 250V หรือ 1000V จากนั้นให้ท่านจับปลายสายเส้นนึงไว้ (เส้นไหนก็ได้) ส่วนอีกปลายก็ไปแหย่ที่ช่องของเต้ารับ สลับทั้งสองช่อง แล้วดูว่าช่องใดที่ทำให้เข็มชี้ขึ้นมานั่นหล่ะคือขั้ว L ส่วนรูที่เข็มไม่ขึ้นเป็นขั้ว N  ดังรูปที่ 1 ครับ

TIPs 2. การวัดหาตำแหน่งเซ็กเม้นต์ของจอแอลซีดี
จอแอลซีดีที่จะทำการวัดนี้ เป็นจอแอลซีดีแบบเซ็กเม้นต์ ใช้ในวงจรนาฬิกาดิจิตอลบางแบบและในมิเตอร์แบบดิจิตอลทั่วไป ในการดูตำแหน่งเซ็กเม้นต์ที่ดีที่สุดคือการเปิดคู่มือดูขา แต่หากในกรณีที่ไม่มีคู่มือ ลองใช้วิธีนี้ดูครับ ง่ายๆแต่ใช้ได้ผลดี ซึ่งการวัดนั้นไม่สามารถตั้งที่มาตรโอห์ม เพื่อหาขาเหมือนแอลอีดี 7-เซ็กเมนต์นะครับ (ถึงแม้จะทำได้ในย่าน วัด R*10K ก็ตาม เพราะเนื่องจากแรงดันไฟตรงอาจจะทำให้จอแอลซีดีซึ่งมีโครงสร้างเป็นผลึกเหลวเสียหายได้) วิธีการวัดนั้นต้องใช้ไฟสลับครับ ทำได้โดยการตั้งที่ย่านวัด AC 1000V จากนั้นวางจอแอลซีดีไว้กับโต๊ะทำงานเฉยๆ นำสายมิเตอร์เส้นใดเส้นหนึ่งเสียบเข้ากับช่องเต้ารับไฟบ้านขั้ว L ส่วนสายอีกเส้น นำไปไล่แตะแต่ละขาของจอแอลซีดี จะเห็นตำแหน่งเซ็กเม้นต์ของแอลซีดีปรากฏขึ้นมา ดังรูปที่ 2

TIPs 3. การหาความไวของไมค์คอนเดนเซอร์
Electret Condenser Microphone หรือ ไมค์คอนเดนเซอร์ นั้น หลายท่านคงเคยใช้งานกันมาแล้ว โดยเฉพาะคนที่เคยทำไมค์ลอยเล่น ซึ่งมีทั้งแบบสองขาและสามขา แต่ปัจจุบันนิยมใช้แบบสองขากันมาก เนื่องจากสะดวกกว่า เพราะไม่ต้องใช้สายเป็นแบบสเตอริโอ คราวนี้เวลาไปเดินซื้อก็มีอยู่หลายยี่ห้อ หลายร้าน ทั้งขนาดจิ๋วๆ และขนาดปกติ แล้วจะเอาแบบไหนดีล่ะ ขึ้นชื่อว่าไมค์แล้ว เราก็คงอยากจะหาไมค์ที่มันมีความไวสูงๆ ไปใช้ คราวนี้ถ้าเราไม่ต่อใช้งานจริง เราจะรู้ได้ไงว่าไมค์รุ่นไหนไวกว่ากัน? ลองวิธีนี้ซิครับ ขอยืมมิเตอร์เข็มของทางร้าน แล้วให้ท่านตั้งมาตรวัดไปที่ย่านวัดความต้านทาน ที่ Rx10 หรือ Rx1k จากนั้นนำสายมิเตอร์สีแดง (มีไฟลบ) แตะที่ตัวถังหรือขั้วกราวด์ของไมค์ จากนั้นนำสายสีดำ (มีไฟบวก) จับที่ขั้วบวก จากนั้นก็ใช้ปากเป่าลมเข้าไปที่ ด้านรับเสียงของไมค์ หากไมค์ตัวไหนมีความไวมากกว่า ผลการแกว่งของเข็มจะแกว่งขึ้นลงได้มากว่าเมื่อถูกเป่าลมเท่าๆ กัน

TIPs 4. การวัดไดโอดเร็คติไฟเออร์
ไดโอดชนิดซิลิกอนที่เราใช้ในการเร็คติไฟเออร์ในวงจรไฟสลับทั่วไปนั้น (ที่ไม่ใช่แบบSchottky) มักจะมีอาการเสียในแบบรั่ว ขาด หรือช็อต ถ้าเสียแบบขาดหรือช็อตขึ้นมาเราสามารถวัดหาอาการเสียได้ง่าย โดยการตั้งมาตรวัดไปที่ย่านวัดความต้านทานย่านใดก็ได้แล้ววัด แต่ถ้าต้องการจะหาว่า ไดโอดตัวนั้นรั่วหรือไม่ล่ะ เราจะทำอย่างไร? ง่ายมากเลยครับ ให้ท่านตั้งไปที่ย่าน Rx10k แล้วหมุนปุ่มปรับศูนย์โอห์ม ไปทางขวาสุด แล้วให้วัดไดโอดในลักษณะไบอัสกลับ คือสายวัดสีแดง (มีไฟลบ) จับที่ขา Anode ส่วนสายสีดำ (มีไฟบวก) จับที่ขา Cathode ดังรูปที่ 4 หากผลการวัดทำให้เข็มมิเตอร์กระดิกแม้เพียงเล็กน้อย ให้ถือว่าไดโอดตัวนั้นรั่วทันที ซึ่งการรั่วเพียงเล็กน้อยนี้จะมีผลมากโดยเฉพาะกับวงจรแรงดันสูง ซึ่งจะวัดไม่พบที่ย่านวัดความต้านทานต่ำ

TIPs 5. การแยกแยะซีเนอร์ไดโอด
หากเคยประสบปัญหาเวลาประกอบวงจรที่ใช้ซีเนอร์ไดโอดหลายค่าในวงจรเดียวกัน แล้วดันเผลอเทอุปกรณ์รวมกัน พอถึงเวลาจะต้องบัดกรีซีเนอร์ เอาละซี ตัวไหนเป็นแรงดันไหนเนี่ย สีตัวถังก็ดันมาเหมือนกันอีก คราวนี้ถ้าอยากรู้ว่าซีเนอร์ตัวไหนแรงดันเท่าไหร่ก็ต้องดูที่เบอร์ใช่มั๊ยครับ แต่ถ้าบังเอิญสายตาคุณไม่ค่อยจะดี หรือบางทีเบอร์มันไม่ชัดคงจะยุ่งแน่ๆ แต่วิธีการที่จะแนะนำนี้ไม่ได้ใช้หาค่าแรงดันซีเนอร์นะครับ แต่ใช้แยกค่าของแต่ละตัวว่าตัวไหนควรจะเป็นช่วงแรงดันเท่าไหร่ และมีข้อแม้อยู่สองข้อถึงจะใช้วิธีการนี้ได้ คือข้อแรก ซีเนอร์ที่ใช้จะต้องไม่เสียและต้องมีแรงดันซีเนอร์ต่ำกว่า12โวลต์ลงมา ข้อสองไม่สามารถใช้กับมิเตอร์ที่ไม่ได้ใช้ถ่าน 9 โวลต์ในย่าน Rx10k ได้
เอาล่ะ หลักการคือตั้งย่านวัด Rx10k ซึ่งจะมีแรงดันขนาด 12โวลต์ ออกมา แล้วป้อนในลักษณะไบอัสกลับให้ซีเนอร์ไดโอด แล้วดูตำแหน่งเข็มของมิเตอร์ ถ้าเข็มชี้ไปทางขวามาก แสดงว่าแรงดันพังทลาย (Vz) ของซีเนอร์ตัวนี้มีค่าน้อยแต่ถ้าเข็มชี้ไปทางขวาน้อย แสดงว่าแรงดันพังทลายของซีเนอร์ตัวนี้มีค่ามาก และหากซีเนอร์ที่มีแรงดันพังทลายมากกว่า 12โวลต์ เข็มมิเตอร์จะไม่ขึ้นเพราะแรงดันจากมิเตอร์ไม่ถึงจุดพังทลาย (แต่อาจมีการขึ้นของเข็มเพียงเล็กน้อย ซึ่งนั่นเป็นเพราะความต้านทานภายในเอง) ลองดูผลการวัดเปรียบเทียบซีเนอร์ค่าต่างๆดังในรูปที่ 5 ได้ครับ

จากรูปซ้ายมือสุดคือการขึ้นของเข็มของซีเนอร์ 3.3V รูปกลางและขวาคือของซีเนอร์ 5.6V และ 8.2V ตามลำดับ


Exit mobile version