Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มช. กับ 5 เทคโนโลยีรับมือปัญหาหมอกควันและ PM.2.5

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ลอยปกคลุมตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของประชาชน โดยเฉพาะภาคเหนือ ที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างผลักดันให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงจัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เป็นการรวมตัวของคณาจารย์ผู้ชำนาญในหลายสาขาวิชา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ดำเนินงานศึกษาวิจัย เสนอแนวทาง และถ่ายทอดนวัตกรรม รวมถึงนำมาซึ่งการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยหน่วยงานและประชาชนสามารถติดตามคุณภาพอากาศเพื่อการรับมือและเฝ้าระวัง ดังนี้

1.ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล (Fire Management Decision Support System) หรือ FireD (ไฟดี) โดย FireD/ไฟดี เป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้แก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่จะ “อนุมัติ/ไม่อนุมัติ” ให้บางกิจกรรมการใช้ที่ดินที่มีความจำเป็นต้องพึ่งไฟในห้วงเวลาเฝ้าระวังของฤดูไฟป่า โดยใช้แนวคิดคือ “ไฟจำเป็น” หากใช้ถูกที่-ถูกเวลา จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศโดยรวมน้อยลง ซึ่งระบบประกอบไปด้วยข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการพยากรณ์ฝุ่นควัน ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลจุดความร้อน และข้อมูลอัตราการระบายอากาศ โดยหวังว่าระบบนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Regional Center for Climate and Environmental Studies : RCCES) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

2.ระบบการพยากรณ์คุณภาพอากาศประเทศไทย “Thai Air Quality” เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถแสดงผลพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้าสูงสุดได้ 3 วัน ครอบคลุมทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังแสดงข้อแนะนำทางด้านสุขภาพเกี่ยวกับการปฏิบัติตนจากสถานการณ์คุณภาพอากาศในแต่ละกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มกิจกรรม ซึ่งเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปใช้ได้ผ่านทั้งระบบ iOS และ Android พัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Regional Center for Climate and Environmental Studies : RCCES) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

3. NTAQHI (Northern Thailand Air Quality Health Index หรือ ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ) เพื่อตอบโจทย์การขยายเครือข่ายระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนจากผลกระทบของปัญหาหมอกควันต่อสุขภาพไปยังจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ที่แสดงผลในพื้นที่ทั้งแบบเวลาจริงทุกชั่วโมง และแบบค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงพร้อมคำอธิบายระดับดัชนีคุณภาพอากาศ รวมถึงคำเตือนเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของมลพิษอากาศต่อสุขภาพ พร้อมปรับโฉมให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญและทีมงาน IT ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

4. DUSTBOY เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์การตรวจวัดคุณภาพอากาศและการเตือนภัยมลพิษทางอากาศ รายงานสถานการณ์ฝุ่นแบบ Real Time ที่ติดตั้งทั่วประเทศแล้วกว่า 400 จุด ตั้งเป้าขยายเป็น 2000-3000 จุด ทั่วไทยในทุกตำบล เข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว ผ่านทางแอปพลิเคชัน “CMU Mobile” Application สำหรับภายใน มช. โดย รองศาสตราจารย์ เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์

5. เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับตรวจจับความร้อน (Thermal Imaging UAV) เพื่อการป้องกันและควบคุมไฟป่าในระดับพื้นที่ ระบบจะติดตามคุณภาพอากาศด้วยข้อมูลดาวเทียม ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาโดยการใช้เทคนิควิธีการด้านแผนที่ออนไลน์ (Web GIS Application) เพื่อรายงานข้อมูลเชิงสถานการณ์ของฝุ่นละออง PM2.5 และข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ด้วยการตรวจหาจากข้อมูลดาวเทียม NASA TERRA/AQUA ระบบ MODIS และ Suomi NPP ระบบ VIIRS โดย อาจารย์ ดร.พลภัทร เหมวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์และหัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) GISTNORTH คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงความสำคัญ และพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาหมอกควันและPM 2.5 ตลอดจนเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรับมือวิกฤตฝุ่นอย่างสร้างสรรค์ แบบครบทุกมิติ


 

Exit mobile version